ประวัติการศึกษาไทย : การศึกษาสมัยหลังตั้งกระทรวงธรรมการ/ศึกษาธิการ (20)


     กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้เมื่อ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ
      --------------------------------------
    
       เมื่อวันที่  1  เมษายน  พ.ศ. 2435 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการตั้งกรมธรรมการขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ  มีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์  แต่ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา  เป็นเสนาบดีคนแรก  มีกรมในสังกัดรวม  5  กรม คือ  1.  กรมธรรมการกลาง(คล้ายกับสำนักงานปลัดกระทรวงในปัจจุบัน)   2.กรมศึกษาธิการ  3.กรมพยาบาล  4.กรมพิพิธภัณฑ์  5.กรมสังฆการี
      
     สถานที่ตั้งกระทรวงธรรมการครั้งแรกอยู่ที่สำนักงานพระคลังข้างข้างที่ ริมประตูพิมานชัยศรี  ด้านตะวันออก อยู่มาได้หกปีจึงย้ายจากพระบรมมหาราชวังไปตั้งอยู่ที่ตึกสุนันทาลัย ปากคลองตลาด  เมื่อพ.ศ. 2441 อยู่มาได้จนพ.ศ. 2447 ย้ายจากปากของตลาดไปตั้งอยู่ที่ตึกสร้างใหม่ที่พระราชวังบวรสถานมงคล  ซึ่งขณะนี้เป็นที่ตั้งโรงละครแห่งชาติ  จนถึงพ.ศ. 2452  ย้ายไปตั้งอยู่ที่บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบอร์ ริมคลองโอ่งอ่าง  (ต่อมาเป็นที่ทำการกรมกสิกรรม)  จนกระทั่งพ.ศ. 2483 จึงได้ย้ายมาอยู่ที่วังจันทรเกษม ถนนราชดำเนินนอกอีกครั้งหนึ่งจนทุกวันนี้
        
    นายพิชิต  โสภณ  ปาลบุตร  อาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย  ได้เขียนสถานที่ตั้งของกระทรวงศึกษาธิการเป็นโคลงสี่สุภาพไว้ดังนี้

     หนึ่งเมษาสามสิบห้า              เป็นกระทรวง
ในพระราชวังหลวง                    ถิ่นยั้ง
ชื่อ “ธรรมการ”  ปวง                  ชนทราบ  ทั่วแฮ
เจ้าพระยาภาสฯ  ถูกตั้ง             แต่งให้ว่าการ
        มินานก็ถูกย้าย                   ออกมา
ตั้งที่ตึกสุนันทาฯ                       ชื่ออ้าง
ปากคลองตลาดปรา-                กฎต่อ  มาแล
ที่หนึ่งตุลสี่สิบสร้าง                   สืบท้ายพุทธกาล
      เสริมงานกอบกิจตั้ง            เป็นตรา
ทำนุกการศึกษา                        สืบไว้
ที่หกกรกฎา-                             คมมาส
สองสี่สี่แปดไซร้                       จึงย้ายอีกหน
      กังวลการโยกย้าย              สถานงาน
อยู่ราชวังบวรฐาน                    ที่กว้าง
กอบกิจศึกษาสาน                   เสริมประโยชน์
พอจักเป็นหลักบ้าง                 ถูกย้ายต่อไป
      ที่ใหม่คือที่บ้าน                  พระยารัตน์
คลองโอ่งอ่างนามชัด             แน่แท้
กระทรวงสืบการจัด               สิกขกิจ
เป็นหลักมั่นคงแล                   แต่นั้นหลายปี
      พอดีศกพ่วงท้าย               แปดสาม
ยี่สิบสี่มิถุนตาม                       โยกย้าย
วังจันทร์สถานงาม                  แดนใหม่
ตั้งมั่นคงมิย้าย                         อีกแล้วกระมัง

    ส่วนผู้ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีตั้งแต่เริ่มตั้งกระทรวงธรรมการ  จนถึงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 มีรายพระนามดังนี้

พ.ศ. 2435 - 2445  เจ้าพระยาภาสกรวงศ์

พ.ศ. 2445 - 2454  เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร

พ.ศ. 2454 - 2458  เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี

พ.ศ. 2458 - 2469  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

พ.ศ. 2469 - 2475  พระวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

   เมื่อตั้งกระทรวงธรรมการแล้ว  การจัดการศึกษาของไทยก็มีการเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น    

หมายเลขบันทึก: 677179เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2020 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2020 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท