COVID: Work from Home


COVID 19: ตั้งแต่ปลายมีนาคม เดือนที่แล้วจนถึงวันนี้ คนทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในมาตรการความร่วมมือหรือให้ใช้แนวปฏิบัติให้ทำงาน ณ ที่พักอาศัย บ้างก็มีมาตรการภายในให้สลับกันไปที่ทำงานวันเว้นวันหรือตามความเหมาะสมก็แล้วแต่หน่วยงาน  สำหรับคนทำงานฯ ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคระบาดในช่วงนี้ ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคระดับน้ำตาลสูง หรือเป็นผู้สูงอายุ เช่นผู้เขียน ก็จะได้รับการพิจารณาให้ปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย  เมื่อถึงสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดหมาย ไม่คุ้นชิน ก็คงต้องมีการปรับตัวกันหน่อยถึงมาก สุดแล้วแต่จริตของคนทำงานแต่ละคน

จริง ๆ แล้ว การปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยนี้ มีแนวคิดมานาน เท่าที่จำได้ราวทศวรรษที่ผ่านมา ก่อนและขณะอุทกภัยในประเทศไทย เข้าไปถึงกรุงเทพและปริมณฑล แต่ก็เงียบหายกันไปเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็มีแนวคิดเรื่อง Virtual office ในลักษณะทำงานที่เป็นสถานที่ที่ใดก็ได้ที่ไม่ใช่ที่ทำงาน และก็ได้เริ่มเห็นธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (working space) พื้นที่เล็ก ๆ มุมน้อย ๆ จนถึงห้องประชุมทุกขนาด เกิดขึ้นในระยะหลัง ๆ แต่ดูเหมือนไม่ค่อยจะได้รับการตอบรับนัก อาจเป็นเพราะว่าคนทำงานหลายคนก็ยังอาศัยพื้นที่ฟรี เช่น ร้านการแฟ หรือร้านอาหารฟาสต์ฟู๊ด นั่งแช่พร้อมโน๊ตบุคเป็นวัน ๆ

การปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยด้วยการดัดแปลงสถานที่เรียกว่าบ้านให้เป็นที่ทำงาน ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่าจะทำได้ถึงขนาดไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานประจำที่ใหญ่โตกว้างขวางก็ได้ต่อไปในอนาคตหลังจากสถานการณ์โรคระบาดได้ผ่อนคลายลงกระนั้นหรือ หรือพฤติกรรมคนเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตามที่ได้มีการคาดการณ์กันไว้หลังจากนี้

สำหรับสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงเช่นปัจจุบัน การปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยนี้ ได้รับการนำมาเป็นแนวปฏิบัติทั้งภาครัฐและเอกชนในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าว เราไม่ได้คิดถึงความพร้อมของคนทำงานในแต่ละครอบครัวหรือแต่ละคนภายใต้สถานการณ์โรคระบาดปัจจุบันหรือสถานการณ์อื่น เพราะโดยสภาพจะทำงาน ณ ที่พักอาศัยไม่ได้หากปราศจากการที่จะต้องเทียวไปเทียวมาเพื่อไปรับและเสนองาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงานของรัฐที่จะต้องอาศัยการบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้นหลายชั้น

ดังนั้น มาตรการที่ให้ปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ก็ยังต้องเดินทางไปมาอยูนั่นเอง  ออกจากบ้านไปรับงาน เสนองาน และตรวจงาน ฯลฯ

ในบริเวณแหล่งธุรกิจหรือศูนย์กลางส่วนราชการต่าง ๆ ก็ยังเห็นพนักงานเดินกันขวักไขว่พร้อมหน้ากากอนามัย แม้จะลดลงซึ่งจำนวนไปบ้าง

หลายครอบครัวไม่มีความกังวลในการเดินทาง แม้ระหว่างเส้นทางเสี่ยงต่อโรคระบาดติดต่อ เพราะมีความเป็นส่วนตัว มีรถยนต์ส่วนบุคคลอำนวยความสะดวก  หลายครอบครัวต้องเดินทางด้วยขนส่งมวลชนสาธารณะ และหรือจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งเสี่ยงต่อการติดต่อหรือระบาดของโรคอย่างยิ่งเพราะเป็นภยันตรายที่มองไม่เห็น รวมทั้งตัวผู้เขียนด้วยในหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งก็ไม่แน่ใจในตัวเองว่าจะเป็นพาหะนำโรคหรือไม่จากการเดินทางไปทำงาน

สองสามวันมานี้ ตอนเย็น จำนวนรถยนต์บนท้องถนนเริ่มพลุกพล่านหลังจากโล่งมาหลายสัปดาห์ คงคาดหวังไว่ว่าจะปลดการปิดล๊อคประเทศเสียทีกระมัง

หลายครอบครัวไม่มีปัญญาที่จะเสาะแสวงหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย เนื่องจากความสามารถทางเศรษฐกิจแต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เท่ากัน หน่วยงานหรือที่ทำงานก็ไม่มีสนับสนุนได้เพียงพอ จึงต้องเสาะแสวงหากันเอง

สัญญาณอินเตอร์เน็ตแม้จะครอบคลุมทั่วทัั้งประเทศ แต่ไม่ทุกคนที่จะสามารถมีอุปกรณ์สำหรับรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวได้เลย แม้กระทั่ง smart phone

เรามองข้ามมิติของความเหลื่อมล้ำ

ตั้งวงสนทนากันเรื่องนี้ (เว้นระยะห่าง) ก็มีแต่วาทกรรมสวยหรู เช่น ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองสิ ไม่เปลี่ยนตัวเองก็จะถูกเปลียน หรือ change or changed

ปัญหานี้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยและถูกมองข้าม และแม้สาธารณูปโภคบางประการได้พยายามสนับสนุน เช่น ลดค่าบริการ เป็นต้น แต่ก็เป็นมาตรการชั่วคราว

คนทำงานหรือเด็กรุ่นใหม่เท่าที่เห็นส่วนมากก็ไม่ได้มีปัญหาดังกล่าวเนื่องจากมีต้นทุนที่ดี มีครอบครัวที่มีรายได้ หรือได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากครอบครัวแม้จะทำงานแล้วมีเงินเดือนก็ตาม  แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวที่บ้านไม่เป็นบ้าน บรรยากาศทางบ้านไม่อำนวย ไม่ค่อยกล้าบ่นเพราะจะกลายเป็นตัวปัญหาหรืออาย เช่นตัวผู้เขียน บ่นแทนรวม ๆ ให้ฟังแล้ว คนฟังก็เงียบ เหมือนกับไม่ได้เป็นประเด็น เลยต้องเสาะแสวงหาเครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่างสำหรับการทำงานในสถานที่ไม่ใช่ที่ทำงานให้ทันโลก มิฉะนั้น จะถูกเปลี่ยน

ดูเหมือนผู้เขียนจะเป็นคนไม่ค่อยทันสมัยเท่าใดนัก ไม่มีเทคโนโลยี ไม่เคยซื้อเทคโนโลยี

จริง ๆ แล้ว ผู้เขียนไม่ถึงกับคนล้าสมัย กล่าวได้ว่าได้ใช้อินเตอร์เน็ตในยุคแรก ๆ เป็นคนแรก ๆ ของหน่วยงานทีเดียวนอกเหนือไปจากเจ้าหน้าที่ไอทีของหน่วยงาน ได้ใช้โปรแกรมวินโดว์ยุคแรก ๆ เป็น ใช้โปรแกรม mIRC สำหรับ Chat ข้ามโลกด้วยความมหัศจรรย์ตื่นเต้นในยุคนั้น แต่ก็เป็นเพราะองค์กรสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ลำพังคงไม่มีปัญญาเนื่องจากความสามารถทางเศรษฐกิจส่วนตัวผู้เขียนเอง ได้เท่าที่มีก็ว่าได้

บ้านอาจจะไม่ใช่สถานที่ทำงาน แต่บ้านคือวิมานของเรา

บ้านคือบ้าน สมาชิกในครอบครัวและสัตว์เลี้ยง คือจะต้องให้ความสำคัญเบื้องหน้า ที่ทำงานคือที่ทำงาน  หลายคนอาจไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร

และนี่คือความเหลื่อมล้ำในสังคมสำหรับมาตรการการทำงาน ณ ที่พักอาศัย ที่เราเรียกหรู ๆ ว่า Work from Home

หมายเลขบันทึก: 677163เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2020 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2020 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท