ประวัติการศึกษาไทย : การศึกษาตอนก่อนตั้งกระทรวงศึกษาธิการ (11)


      กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม

“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์ ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2512 ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ

--------------------------------------

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติในพ.ศ. 2411 พระชนมายุได้ 16 พรรษา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาจนพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะ ระหว่างนั้นได้ทรงศึกษาหาความรู้ตามแบบอย่างอารยประเทศ เพื่อปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันกับสมัยและเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เสด็จประพาสประเทศเพื่อนบ้านมี มลายู สิงคโปร์ ชวา สุมาตรา พม่าและอินเดีย เพื่อทอดพระเนตรการจัดบ้านเมืองที่พวกอังกฤษและฮอลันดากระทำอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์หลังจากทรงบรรลุนิติภาวะแล้วก็ได้เสด็จประพาสประเทศในยุโรปอีก 2 ครั้ง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงมุ่งทำการปฏิรูปประเทศชาติเป็นการใหญ่ ทั้งในด้านการปกครอง การสังคม การสุขาภิบาลและอนามัย การคมนาคม และการศึกษา ด้านการปกครองทรงแบ่งการบริหารส่วนกลางออกเป็นกระทรวง ทบวง กรม แบ่งแยกหน้าที่ออกจากกันเป็นสัดส่วน ส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ด้านการสังคมโปรดให้เลิกทาส ด้านการสุขาภิบาลและอนามัยทรงตั้งโรงพยาบาลและนำวิชาแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามาใช้ การคมนาคมโปรดให้ตัดถนนสร้างสะพาน สร้างทางรถไฟ และการไปรษณีย์โทรเลข พูดง่าย ๆ ก็คือทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทันสมัยตามแบบอารยประเทศนั่นเองในการปฏิรูปประเทศจำเป็น ต้องใช้บุคคลที่มีความรู้มารับราชการเป็นจำนวนมาก การศึกษาของไทยแต่เดิมมาจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อฝึกคนเข้าทำงานของรัฐเป็นประการสำคัญ

ดังจะเห็นได้จากพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลขอเรียนพระราชปฏิบัติว่า

"...ในกระทรวงราชการต่าง ๆ ก็ต้องการคนที่ได้เล่าเรียนมีวิชาความรู้ เข้าตำแหน่งรับราชการอยู่เป็นอันมากเหมือนกัน ให้คิดจัดเอาเป็นโรงเรียนชั้นสูงสำหรับพระราชวงศ์และผู้ที่จะเป็นข้าราชการ ให้เป็นประโยชน์กว้างขวางสำหรับข้าราชการบ้านเมืองทั่วไปเถิด...”

เมื่อก่อนจะมีการตั้งโรงเรียนตามแบบที่เรารู้จักกันนั้น บรรดาเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่นิยมนำบุตรหลานเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับใช้เป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงพระราชดำริว่า บรรดาผู้ที่มาถวายตัวเป็นมหาดเล็กส่วนใหญ่เป็นผู้มาจากตระกูลสูง แต่ความรู้ในทางหนังสือยังไม่มีพอที่จะรับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆต่อไปภายหน้าได้ จึงโปรดให้จัดตั้ง โรงสอนหรือโรงสกูล สอนพวกมหาดเล็กทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กภายในพระบรมมหาราชวัง (ตรงข้ามโรงละครเก่าในสนามต่อจากระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันตก) และโปรดให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่ครั้งยังเป็นหลวงสารประเสริฐ ปลัดกรมพระอาลักษณ์เป็นครูสอนหนังสือไทยเมื่อพ.ศ. 2413 นับเป็นครั้งแรกที่มีการสอนหนังสือไทยที่ไม่ได้สอนที่วัดหรือสอนที่บ้านหรือในราชสำนักตามแบบที่เคยกระทำกันมาตั้งแต่ก่อน และเป็นจุดแรกที่จะเริ่มเป็นโรงเรียนที่มีลักษณะเป็นโรงเรียนอย่างแท้จริง

เมื่อทรงเห็นว่าโรงสอนพวกมหาดเล็กและทหารมหาดเล็กมีเค้าโครงพอที่จะจัดตั้งรูปแบบโรงเรียนได้แล้ว จึงโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น ณ ที่เดิม เป็นโรงเรียนสอนภาษาไทยแห่งแรกในประเทศไทยโดยมีหลวงสารประเสริฐเป็นอาจารย์ใหญ่ และโปรดให้ประกาศชักชวนพระบรมวงศานุวงค์ และข้าราชการให้ส่งบุตรหลานเข้าศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนหลวงที่ตั้งขึ้น

การจัดตั้งโรงเรียนครั้งแรกนั้น ตั้งขึ้นสำหรับบุตรหลานของเจ้านายเชื้อพระวงศ์และข้าราชการเท่านั้น โดยให้เรียนหนังสือไทย เรียนเลข และขนบธรรมเนียมวิธีปฏิบัติราชการ เพื่อรับราชการต่อไปในภายหน้า รัฐจ่ายค่าเครื่องนุ่งห่มและค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนด้วย ดูคล้ายกับเป็นการจ้างเรียน โรงเรียนนั้นสังกัดอยู่กับทหาร และตั้งอยู่ในกรมทหาร

นอกจากโรงเรียนสอนหนังสือไทยแล้ว โปรดให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษสำหรับสอนพวกพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาและหม่อมเจ้าต่างกรมซึ่งรู้หนังสือไทยแตกฉานแล้วขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง สังกัดกรมทหารมหาดเล็กเช่นเดียวกัน ตั้งขึ้นที่ตึกสองชั้น ริมประตูพิมานชัยศรี ซึ่งเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ในปัจจุบัน มีนายฟานซิส ยอร์ช แพตเตอรสัน ชาวอังกฤษเป็นครูสอน แต่ตั้งอยู่ได้เพียง 5 ปีก็ต้องเลิกไปชั่วคราวเมื่อพ.ศ. 2419 เพราะครูกลับประเทศอังกฤษ จนกระทั่ง พ.ศ. 2422 จึงย้ายสถานที่ไปเปิดสอนที่พระราชวังเดิมสวนนันทอุทยาน มีนายเอส. จี. แมคฟาแลนด์ เป็นอาจารย์ใหญ่

ในตอนแรกๆชั่วระยะเวลา 10 ปีเศษ นับแต่ได้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414 เป็นต้นมา ได้ตั้งโรงเรียนในพระบรมมหาราชวังมีลักษณะเป็นโรงเรียนพิเศษขึ้นหลายโรงเรียนด้วยกัน ได้แก่โรงเรียนนายทหารมหาดเล็กเมื่อ พ.ศ. 2424 และต่อมาภายหลังได้ย้ายมาตั้งที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของพระบรมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. 2425 โรงเรียนทำแผนที่ (พ.ศ. 2425) ตั้งอยู่ที่โรงเรียนอังกฤษเดิม ริมประตูพิมานชัยศรี มีนายแมคคาร์ธี ช่างทำแผนที่กรมพระกลาโหมเป็นครู คัดเลือกนายและพลทหารมหาดเล็กมาเรียนวิชาแผนที่เพื่อเป็นกำลังไปตั้งกรมแผนที่ขึ้นในภายหลัง โรงเรียนสำหรับพระเจ้าลูกยาเธอ 4 พระองค์โดยเฉพาะ (มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทบุรีนฤนาท พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงปราจิณกิติบดี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช) เป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ส่วนโรงเรียนพระปริยัติธรรมเดิมซึ่งเริ่มมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ในพระมหาปราสาท และภายหลังได้ย้ายมาที่เก๋ง 4 เก๋งหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็ยังคงมีอยู่ สรุปความว่าในสมัยแรกเริ่มมี โรงเรียนหลวง โรงเรียนภาษาอังกฤษ โรงเรียนนายทหารมหาดเล็กที่พระตำหนักสวนกุหลาบ โรงเรียนทำแผนที่ โรงเรียนสำหรับพระเจ้าลูกยาเธอ (บางทีก็เรียกว่าโรงเรียนราชกุมาร) และโรงเรียนพระปริยัติธรรม

ในชั้นแรกโรงเรียนนายทหารมหาดเล็กที่ตำหนักสวนกุหลาบ รับนักเรียนที่เป็นชั้นหม่อมเจ้าและหม่อมราชวงศ์มีนักเรียนเพียง 10 คนเท่านั้น การสอนมีตั้งแต่ด้านวิชาทหารและด้านวิชาภาษาไทย ต้องออกฝึกแบบทหารธรรมดา เมื่อเสร็จการฝึกแล้วต้องเรียนหนังสือ ครูฝ่ายทหารคือ ร.ต. หลวงสุรยุทธโยธาหาญ (ดั่น) เป็นผู้บังคับการฝ่ายภาษาไทย โปรดให้พระยาโอวาทวรกิจ (แก่น โอวาทสารเปรียญ) แต่ครั้งยังเป็นหลวงโอวาทวรกิจ เป็นอาจารย์ใหญ่ ต่อมามีเจ้านายเชื้อพระวงศ์และข้าราชการนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนนายทหารมหาดเล็กมากขึ้น ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า ถ้ารับนักเรียนเข้ามากเกินไป จำนวนนายทหารมหาดเล็กที่ผลิตขึ้นจะมีมากจนเกินความต้องการของทางราชการทหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ จึงโปรดให้ขยายโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบให้กว้างขวางออกไปอีก โดยแปลงตึกยาวทางด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเตรียมไว้สำหรับเป็นโรงเก็บปืนใหญ่ ให้เป็นตึกสองชั้น ใช้เป็นที่พักและที่เรียน และเพราะทรงพระราชดำริว่า รัฐบาลยังต้องการผู้ที่มีความรู้มารับราชการอีกเป็นจำนวนมากไม่เฉพาะแต่นายทหารมหาดเล็กอย่างเดียวเท่านั้น จึงได้เปลี่ยนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบจากโรงเรียนนายทหารมาเป็นโรงเรียนที่เรียนวิชาสามัญ สอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พระยาโอวาทวรกิจดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ และโปรดให้พระลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์มาเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบรวมกับนักเรียนอื่น ๆ ด้วย โรงเรียนราชกุมารก็เลิกไปโดยปริยาย สำหรับผู้ที่จะเรียนเป็นนายทหารเมื่อได้เรียนวิชาขั้นต้นจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแล้ว ก็แยกไปเรียนทางวิชาการทหารต่างหาก ไม่ปะปนกันเหมือนเดิม การปรับปรุงโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเข้าเป็นรูปร่างโรงเรียนธรรมดาเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2427 มีลักษณะเป็นโรงเรียนประจำ และถ้าเจ้านายที่เป็นนักเรียนอายุยังเยาว์อยู่ก็อนุญาตให้มีพี่เลี้ยงไปนอนด้วยได้ หยุดเรียนในวันพระ

หมายเลขบันทึก: 676982เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2020 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2020 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท