วิถีปลูกและกิน “ผักอินทรีย์”เปลี่ยนชีวิตพลิกชุมชน “ศรีนคร”


            สายแก้ว บุญมี เป็นชาวสุโขทัย เริ่มต้นใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำงานใช้ชีวิตแบบนอนดึกตื่นสาย ไม่มีการดูแลสุขภาพอย่างที่ควรจะเป็นทั้งอาหารการกิน เมื่ออายุ 37 เธอต้องตกใจเมื่อผลตรวจสุขภาพพบว่าเธอเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 จึงต้องเข้ารับการรักษา โชคดีที่มะเร็งร้ายเธอรักษาหายได้ แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้อร้ายขึ้นมาอีก

        เธอรู้ดีว่าหากทานอาหารที่ไม่ปลอดภัยจะเป็นตัวไปกระตุ้นการเกิดเนื้อร้ายขึ้นมาอีก และรู้ดีว่าหากยังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ก็คงจะต้องกลับมาเป็นอีก จึงตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่บ้านที่ จ.สุโขทัย เพื่อใช้ชีวิตเรียบง่าย และดูแลสุขภาพด้วยตนเอง

            สายแก้ว ในวัย 44 ปี ณ ปัจจุบัน จึงอยากผลิตอาหาร อย่างเช่นการปลูกผักปลอดสารไว้กินเอง ซึ่งแม้เธอจะเป็นลูกชาวไร่ชาวสวนพอมีพื้นฐานการทำเกษตรอยู่บ้าง แต่เพราะสภาพพื้นที่แปลงเกษตรที่เคยใช้สารเคมีมานานส่งผลให้พืชผักที่ปลูกไม่งอกงามอย่างที่ใจคิด

          สายแก้ว เล่าให้ฟังว่า พอกลับมาบ้านก็มาศึกษาการปลูกผักอินทรีย์ ยอมรับว่าช่วงแรกมีการใช้สารเคมีร่วมอยู่บ้าง แต่เธออยากกินผักปลอดสาร เพราะหากยังกินแบบเดิมๆ สารเคมีในผักอาจไปกระตุ้นเชื้อร้ายได้ จึงลงมือปลูกเอง เพื่อให้มั่นใจว่าดีต่อสุขภาพแน่นอน

            ประจวบเหมาะกับปี 2560 ทางชาวบ้านหนองโสน หมู่ 5 ต.ศรีนคร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ได้รวมกลุ่มส่งเสริมการผลิตและบริโภคผักปลอดสารในครัวเรือน จึงเป็นโอกาสที่สายแก้วได้เข้าไปร่วมกิจกรรม ทำให้กระบวนปลูกผักของเธอได้ผล ขณะเดียวกันยังได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนสมาชิก

          เรื่องราวของ สายแก้ว บุญมี เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความจำเป็นที่ชาว ต.ศรีนคร ต้องหันมาใส่ใจการผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมี โดยมีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลศรีนคร เป็นพื้นที่องค์ความรู้ ตลอดจนส่งเสริมปัจจัยการผลิตทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยหมัก สารชีวภาพให้กับชาวชุมชน

            ณัฐณา รุ่งเรือง หรือ “รองฯณา” อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ศรีนคร ซึ่งผันตัวมาเป็นแกนนำขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ต.ศรีนคร เล่าถึงความเป็นมาของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลศรีนคร ว่ามีแนวคิดในการรวมกลุ่มทำเกษตรอินทรีย์เพื่อไว้บริโภคเอง เรามองเรื่องของสุขภาพเป็นหลักอันเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในหน้าที่ อสม. ได้รู้ถึงสถานการณ์ความเจ็บป่วยที่มาจากการกิน เพราะจากการตรวจสารพิษตกค้างในร่างกายใน 100 คน พบไม่ปลอดภัยมากถึง 70 คน

          ดังนั้นก็คิดว่าน่าจะเริ่มปลูก เริ่มกินผักปลอดสารเคมี และช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนอีกทางหนึ่ง จึงได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดทำโครงการผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีในครัวเรือน เมื่อปี 2560 ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการจำนวน 100 ครัวเรือน โดยมีเงื่อนไขหลักๆ คือ แต่ละครัวเรือนจะต้องปลูกผักปลอดสารเคมีไม่น้อยกว่า 5 ชนิด

            อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่ตำบลศรีนครเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ทำให้มีครัวเรือนที่ปลูกจริงจังจำนวน 30 ครัวเรือน แต่ที่เหลือแม้จะไม่ได้ปลูกตามเงื่อนไข แต่ก็มีความรู้ในการเลือกซื้อหรือบริโภคผักปลอดสารเคมีมากขึ้น เพราะคณะทำงานที่ทำโครงการไม่ได้สอนแค่วิธีปลูก แต่จะรู้ทุกกระบวนการของการบริโภคอาหารปลอดภัย

            “เมื่อเสร็จสิ้นโครงเราเห็นว่ามันดี จึงขอรับทุนต่อเพื่อเครือข่ายในการผลิตบริบริโภคผักปลอดสารเคมีครอบคลุมทั้งตำบลศรีนคร โดยขยายไปทั้ง 10 หมู่บ้าน รวม 345 ครัวเรือน โดยใช้ อสม.เป็นแกนนำ” รองฯณา กล่าว

            เป้าหมายในการขยายผลไปทั้งตำบล จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลศรีนครขึ้น เพื่อเป็นแหล่งองค์ความรู้และมอบปัจจัยการผลิตต่างๆ ให้ชาวบ้าน และเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้กับผู้สนใจ ซึ่งภายในศูนย์จะมีการแบ่งฐานการเรียนรู้ คือ 1.ความรู้เกษตรอินทรีย์ เศรษฐกิจพอเพียง พิษภัยจากสารเคมี 2.ฐานสาธิตการทำปุ๋ยหมัก และ3.ฐานการทำสมุนไพรไล่แมลง ซึ่งทุกวันนี้มีนักเรียนและผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เกือบทุกวัน

            สำหรับผลผลิตที่ได้นอกจากการบริโภคในครัวเรือนแล้วสุรีย์  สัตยาภรณ์ แกนนำเครือข่าย บอกว่า เมื่อชาวบ้าน หน่วยงานต่างๆ ทราบข่าวปากต่อปากก็มาติดต่อขอซื้อผักปลอดสาร ส่วนหนึ่งส่งให้กับโรงพยาบาลศรีนคร และวางขายสหกรณ์ ธกส. หรือเวลามีงานก็จะไปออกบูธจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเครือข่าย

            “เรามั่นใจเครือข่ายว่าทุกหมู่บ้านมีการทำจริงปลูกจริง สามารถเป็นวิทยากรเวลามีคนมาดูงานได้ ซึ่งปัจจุบันมีการทำข้อตกลงร่วมกันทั้งอำเภอในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลศรีนครเป็นพื้นที่ต้นแบบ และในอนาคตเราตั้งเป้าไปสู่หมู่บ้านท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์” สุรีย์ กล่าว

            โจทย์ท้าท้ายต่อไปของกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ตำบลศรีนคร คือ การรักษามาตรฐาน เพราะเมื่อผลผลิตเป็นที่ยอมรับ ความต้องการย่อมมีมากขึ้น การสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง อดีตรองนายก อบต.ศรีนคร บอกว่า จะเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ มุ่งเน้นสร้างกลุ่มให้เข้มแข็ง ไม่เน้นปริมาณหรือส่งขาย เพราะถ้าเอาตลาดเป็นตัวตั้ง ตลาดจะเป็นคนกำหนดและเปลี่ยนวิถีจากเดิม เพราะทุกคนก็มุ่งจะผลิตเพื่อตอบสนองตลาด พอไม่มีก็อาจจะแอบเอาผักเคมีมาผสมได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกลุ่ม ที่มุ่งเน้นบริโภคในครัวเรือนก่อนเป็นสำคัญ

            นอกจากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลศรีนครแล้ว ยังมีอีก 3 พื้นที่ที่ได้มีการส่งเสริมผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีในครัวเรือน ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ซึ่งได้มีการรวมกลุ่มชาวบ้านลงมือปลูกผักไว้บริโภคกันอย่างจริงจัง และมีวิธีการดำเนินงานที่น่าสนใจ เช่นที่บ้านป่ากระทุ่ม ม.1 ต.หนองบัว อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย มีการรวมกลุ่มชาวบ้านจำนวน 50 ครัวเรือนในการผลิตผักปลอดสารไว้ในครัวเรือน โดยมีวิธีจูงใจคือ จะลดค่าน้ำประปาหมู่บ้านให้จำนวน 1 หน่วย สำหรับครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจากการหันมาปลูกผักบริโภคเองช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักในครัวเรือนได้ 320 บาทต่อเดือน

          และที่บ้านวังไทร -บ้านหัวแรด ต.วังตะคร้อ อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ได้ใช้ 30 ครัวเรือนต้นแบบเป็นแกนนำในการขยายผลการส่งเสริมปลูกผักอินทรีย์ใน 143 ครัวเรือน มีการผลิตและทำปุ๋ยหมัก สารชีวภาพใช้ในการเกษตรอย่างครบวงจร พร้อมทั้งส่งเริมงานด้านอาหารปลอดภัยให้กับชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านตระหนักถือพิษภัยจากการบริโภค และหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

          ขณะที่บ้านไร่ ม.3 ต.ไกรนอก อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นชุมชนกึ่งเมือง โดยชุมชนที่ยังพึ่งพาการเกษตรมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตวิถีเคมีสูง โดยค่าปุ๋ยเฉลี่ย 450,000 บาทต่อปี และยาฆ่าแมลง 300,000 บาทต่อปี อีกทั้งยังพบคนป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ผู้ใหญ่บ้านตระหนักความสำคัญ จึงชักชวนลูกบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยการปลูกผักไว้บริโภค และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรอินทรีย์ด้านอื่นๆ ต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมจำนวน 150 ครัวเรือน

          การส่งเสริมผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีในครัวเรือนหลายๆ พื้นที่ใน จ.สุโขทัย ล้วนมีจุดเริ่มต้นของการมุ่งเป้าหมายเพื่อสุขภาพ แต่เมื่อได้ลงมือแล้วผลลัพธ์ที่ได้ยังสามารถขยายผลอีกมากมาย ทั้งการรวมกลุ่มเกิดเป็นเครือข่ายวงกว้าง ทำให้แนวคิดเกษตรอินทรีย์ได้แพร่หลาย เช่นเดียวกับผลผลิตอินทรีย์จะมีมากขึ้น คนก็จะเข้าถึงได้มากขึ้น ทำให้คนเมืองพ่อขุนมีสุขภาพดีจากการบริโภคผักปลอดสารเคมีอย่างยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 676847เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2020 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2020 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท