บ่อพักน้ำใต้ดินบ้านมะเกลือ แก้น้ำเสียเหลือทิ้งในครัวเรือน


         น้ำเสียที่ทิ้งจากครัวเรือน อาจจะมองเป็นเรื่องเล็ก แต่ใครจะเชื่อว่านี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก และเสียชีวิตได้  ที่บ้านมะเกลือ ต.มะเกลือ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เคยประสบปัญหาข้างต้นนี้มาแล้ว เมื่อน้ำเสียจากครัวเรือนที่ถูกปล่อยไหลลงดินจนเจิ่งนอง เฉอะแฉะ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพาหะโรคไข้เลือดออก จนมีผู้เสียชีวิต ขณะเดียวกันยังเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านที่น้ำเสียจากบ้านนั้นไหลไปบ้านนี้

    ปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้วยคนด้วยชุมชน และผู้นำชุมชนอย่าง ชุติมา สอนไว ผู้ใหญ่บ้านบ้านมะเกลือ ภายใต้โครงการการจัดการขยะและน้ำเสียใสชุมชนบ้านมะเกลือ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

            ชุติมา หรือผู้ใหญ่เอ๋ เล่าถึงสาเหตุให้ฟังว่า จากที่มีคนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกและเสียชีวิต ทางหมู่บ้านก็เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยน้ำเสียในครัวเรือนที่ปล่อยให้เฉอะแฉะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และยังมีเรื่องการทะเลาะกันในบางครัวเรือนที่น้ำเสียไหลไปบ้านข้างเคียงอีก เพราะน้ำเสียที่ชาวบ้านปล่อยทิ้งในบ้านของตัวเอง แม้จะไหลลงดิน แต่น้ำมากและและทิ้งทุกวันบ่อยๆ จึงซึมลงดินไม่ทัน ก็มีน้ำขัง เฉอะแฉะ

            เหมือนกับหมู่บ้านนี้ไม่มีท่อระบายน้ำ ผู้ใหญ่เอ๋ บอกว่า มี แต่ไม่ครอบคลุมทั้งชุมชน ขณะเดียวกัน น้ำเสียที่ไหลลงท่อ ก็ไม่สามารถเอาไปไหลลงแม่น้ำได้ ไปขังอยู่บ่อพัก ก็ไม่พ้นเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเช่นกัน ดังนั้นจึงมาคิดว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร จนสรุปว่าต้องแก้กันที่แต่ละครัวเรือน จึงเป็นที่มาของ “บ่อพักน้ำใต้ดินบ้านมะเกลือ”

          ธนาคารน้ำใต้ดินนั้น คือการกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน แต่สำหรับ “บ่อพักน้ำใต้ดิน” ของบ้านมะเกลือ ได้นำหลักคิดเดียวกันมาใช้ โดยนำน้ำเสียจากครัวเรือน ลงดินไปกักเก็บไว้ ไม่มีการนำน้ำออกไปใช้เด็กขาด ไม่ว่าจะใช้ทางการเกษตรหรือบริโภคเหมือนธนาคารน้ำที่พบเห็นทั่วไป เพราะบ่อพักนี้คือน้ำไม่ถูกสุขอนามัย หรือเป็นน้ำเสียจากครัวเรือนนั่นเอง

            ผู้ใหญ่เอ๋ อธิบายการทำบ่อพักน้ำใต้ดินบ้านมะเกลือ ว่าจะต้องขุดหลุมกว้าง 1.2 เมตร พร้อมกับทำสะดือ ใส่หินกรวด หรือยางรถยนต์ ขวดใส่น้ำลงไป เพื่อเป็นชั้นกรอง และใส่ท่อระบายอากาศช่วยการระบายน้ำอีกทางหนึ่ง โดยมีการต่อท่อน้ำเสียจากครัวเรือนมาด้วย ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณหลุมละ 2,000 บาท

          “น้ำเสียที่ไหลมาจะลงลึก เพราะมีที่กักเก็บเยอะในชั้นใต้ดิน แต่ถ้าเราไม่ทำมันก็จะเจิ่งนองบนชั้นหน้าดินเหมือนเดิม” ผู้ใหญ่เอ๋ บอก

          แต่ละครัวเรือนก็จะต้องทำอย่างน้อยคนละ 1 หลุม และจะต้องมีหลุมเก็บเศษอาหารอีกด้วยโดยจะใช้น้ำหมักดับกลิ่น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในระดับครัวเรือนได้ จึงเป็นการจัดการบ้านใครบ้านมันดีกว่าไปไหลลงท่อระบาย

            “วัดและโรงเรียนเป็นอีกสองแห่งที่เราไปช่วยกันทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียหมักหมม โดยเฉพาะที่โรงเรียนซึ่งแต่เดิมน้ำเสียจะถูกปล่อยไหลไปที่สนามฟุตบอลจนมีแต่น้ำขัง เด็กก็เล่นไม่ได้ พอเราเข้าไปแก้ปัญหาให้ก็ดีขึ้น ในชุมชนเองก็เห็นว่ายุงลดลงไปมากไม่เยอะเหมือนเมื่อก่อน ปีที่ผ่านมาก็ไม่พบคนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ส่วนการคัดแยกขยะก็มีการรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนทำการคัดแยกขยะไว้ เมื่อมีปริมาณพอสมควรก็แจ้งมาที่คณะกรรมการ เราก็จะไปรับซื้อ ช่วยลดปัญหาขยะในชุมชนได้” ผู้ใหญ่เอ๋ ทิ้งท้าย

            ถ้าไม่มีบ่อพักน้ำใต้ดิน นอกจากชาวบ้านมะเกลือยังจะเสี่ยงต่อโรคภัย และมลภาวะทางกลิ่นแล้ว ยังต้องเสียเงินไปไม่ได้ในการกำจัดน้ำเสีย เช่นที่บ้านของ ลุงสุวิท กระต่ายทองที่ต้องเสียเงินกำจัดน้ำเสียทุกสัปดาห์

          ลุงสุวิท บอกว่า ที่บ้านขุดบ่อพักน้ำเสียไว้ จะต้องจ้างรถดูดส้วมมาดูดน้ำเสียคราวละ 70 บาท ต้องดูดทุกสัปดาห์เพราะน้ำเต็ม เสียเงินรวมไปไม่น้อย แต่เมื่อมาเข้าร่วมโครงการจากคำชักชวนของผู้ใหญ่บ้าน ก็มาทำธนาคารน้ำใต้ดินไว้ที่หลังบ้าน ได้ผลดี ตอนนี้ไม่ต้องเสียเงินอีกแล้ว หลังบ้านก็ไม่แฉะ ไม่มีกลิ่นเหม็นอีกด้วย

            ขณะที่ นางทวี หนูน้อยซึ่งเปิดร้านอาหารตามสั่งเป็นอีกหนึ่งรายที่เข้าร่วมในการทำธนาคารน้ำใต้ดิน โดยน้ำเสียจากการล้างจานที่เคยปล่อยไหลไปริมรั้วซึ่งเต็มไปทั้งไขมันจากน้ำมัน จนเกิดเป็นตะไคร่เขียวตะไคร่ดำ ปัจจุบันนำเสียทั้งหมดไหลลงไปยังธนาคารน้ำใต้ดินจนเกือบหมด พื้นดินริมรั้วที่เคยแฉะก็แห้งสนิท ดูสะอาดสะอ้าน คนที่มาทานอาหารก็ชื่นชม

          จากจุดเริ่มต้นที่เพียงแค่หวังให้ชาวชุมชนห่างไกลโรคไข้เลือดออกและลดความขัดแย้งในชุมชน ณ ตอนนี้ บ่อพักน้ำใต้ดินบ้านมะเกลือ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างได้ผล กลายเป็นชุมชนที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นไป

หมายเลขบันทึก: 676843เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2020 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2020 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท