สองวัยร่วมใจสืบสาน “กลองอืด” ศิลปะล้านนาคุณค่าหลากมิติ


            หากเอ่ยถึงเครื่องดนตรีล้านนาแล้ว นอกจากสะล้อซอซึง ก็คงจะมีกลองที่มีเอกลักษณ์โด่นเด่นไม่แพ้กัน และกลองสะบัดชัยน่าจะเป็นกลองประเภทแรกที่หลายคงจดจำและเห็นบ่อยมากที่สุด ซึ่งความจริงแล้วกลองสะบัดชัยนั้นถูกพัฒนามาจากกลองปูจาหรือกลองบูชา ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยาก เช่นเดียวกับ “กลองอืด” ที่น้อยคนจะรู้จัก

  “กลองอืด” เป็นกลองชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายกลองหลวง แต่มีขนาดยาวกว่า ใช้ประกอบการฟ้อน แห่ขบวนต่างๆ ในงานบุญประเพณี หรือวันพระใหญ่ โดยมีเครื่องประกอบจังหวะร่วมด้วยเช่น ฆ้องใหญ่ ฆ้องกลาง ฆ้องเล็ก ฉาบใหญ่ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ตามวัดต่างๆ

            ในยุคความหลากหลายทางดนตรี โดยเฉพาะดนตรีสากล เยาวชนคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ชื่นชอบการเล่นเครื่องดนตรีสากลกันเสียมากกว่าที่จะมาสนใจศึกษาดนตรีไทย และถ้าเป็นเครื่องดนตรีล้านนาแล้วยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะไม่ค่อยได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ ช่องว่างอายุผู้ถ่ายทอดกับผู้สืบทอดเพิ่มมากขึ้น จนเสี่ยงสูญหาย

            ที่วัดไทยสามัคคี อ.แม่สอด จ.ตาก ยังคงมีกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งใช้เวลาว่าง รวมกลุ่มตีกลองอืด พร้อมฟ้อนรำ ฟ้อนดาบกันอย่างสนุกสนานเพื่อให้พร้อมสำหรับวันที่มีงานบุญประเพณีที่สำคัญ  เหนือไปกว่านั้น คือการสืบทอดให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชนได้มาหัดเล่น หัดตี เครื่องดนตรีล้านนา

            พ่อหนานดวงดี ใจพรมเมืองเล่าถึงการตีกลองอืดว่า สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย โดยจะตีกลองอืดฟ้อนรำกันในวันพระใหญ่ วัดเข้าพรรษา วันยี่เป็ง สงกรานต์ งานกฐิน ปกติจะตีกันในวัดเพราะกลองอืดมีขนาดใหญ่เคลื่อนย้ายลำบาก แต่ก็มีบ้างที่ในอดีตจะใส่เกวียนลากไปตีไปแห่รอบชุมชน” พ่อหนาน ในนามสมาชิกชมรมผู้สูงอายุวัดไทยสามัคคี

          กลองจะสนุกสนานก็ต้องมีเพื่อนช่วย คือพวกฉาบ ฆ้อง ซึ่งเครื่องดนตรีทุกชิ้นจะต้องเล่นสอดรับกันอย่างลงตัว รู้ใจ จะยิ่งทำให้วงสนุกสนาน แต่ชิ้นที่สำคัญสุด คือ ฉาบ ซึ่งจะเป็นคนกำหนดและคุมจังหวะว่าควรช้าหรือเร็ว และถ้ามีฟ้อนรำ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง ร่วมด้วยก็จะยิ่งครบเครื่องมากยิ่งขึ้น

            “แต่ก็นั่นแหละ ทุกวันนี้คนจะสืบทอดนั้นหายาก วัยรุ่นนั้นไม่มีแล้วที่จะมาสนใจ การอนุรักษ์และสืบทอดก็ต้องมุ่งไปที่เด็กๆ ช่วง 8-12 ขวบ อย่างตอนนี้ก็มีกลุ่มเด็กในชุมชนส่วนหนึ่งที่เรากำลังสืบทอดให้เขาอยู่” พ่อหนานดวงดี ในฐานะแกนนำคนสำคัญของชมรมผู้สูงอายุวัดไทยสามัคคี เอ่ยด้วยแววตาอย่างมีความหวัง

            ความยากง่ายในการถ่ายทอดให้กับเด็กๆ นั้น ทุกอย่างต้องใช้เวลาเล่นอย่างช่ำชอง ทางกลุ่มผู้สูงอายุจะให้เด็กฝึกเล่นเครื่องดนตรีทุกชนิด แล้วค่อยมาดูว่าคนไหนถนัดและควรจะเล่นชิ้นไหน เพราะไม่ใช่ว่าใครก็จะเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ ได้ เช่น กลองอืด จะใช้มือพันผ้าตีต่างจากลองชนิดอื่นๆ ที่ใช้ไม้ตี ซึ่งพ่อหนานดวงดี อธิบายเหตุผลนี้ว่า ถ้าใช้ไม้ตี พอไม้กระทบหนังกลองเสียงจะตังแป๊บเดียวก็จะเงียบและไม่ทรงพลัง แต่ถ้าใช้มือเสียงจะกังวานมีพลังและนุ่มนวลกว่า แต่ใช่ว่าใครก็ตีได้ เพราะคนเข้าใจเท่านั้นจะตีได้ บางคนตัวใหญ่ก็ตีไม่มีเสียงออกมาสู้คนตัวเล็กไม่ได้ก็มี เช่นเดียวกับที่ไม่มีการบันทึกจะหวะให้เป็นตัวอักษร ทำให้การเล่นต้องใช้ความจำ แบบครูพักลำจำ แต่ประยุกต์ได้ไม่ตายตัว ดังนั้นการจะคนเล่นได้ต้องมีใจรักจริงๆ

            ขณะเดียวกันทางชมรมผู้สูงอายุวัดไทยสามัคคียังได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น “ตีกลองอืด” เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการต่อยอดและสืบทอดการอนุรักษ์ดนตรีล้านนาจำเพาะนี้

          นายพิทักษ์ ใจพรมเมือง ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า กลองอืด เป็นศิลปวัฒนธรรมของคนล้านนาที่มีคุณค่า ไม่เพียงแต่สร้างความเพลิน บันเทิงใจ แก่ผู้เล่นและผู้ชมผู้ฟัง หากมองในแง่สุขภาพแล้วมีทั้งทางกายและทางใจ เพราะผู้เล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้นจะใช้แรง ใช้การเคลื่อนไหวในการเล่น ทั้งการตี การฟ้อน การรำ ทุกท่วงท่ามันแฝงด้วยออกกำลังกาย ขณะเดียวกันยังทำให้ผู้เล่นมีความบันเทิง มีความสุข และมีสมาธิ ความจำดี สุขุมและเยือกเย็น สร้างความรักความสามัคคี

            วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงเย็นบางวัน ก็จะมีพ่อหนานมาสอนเด็กให้เล่นเครื่องดนตรีล้านนา ซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ 8-10 คน อายุน้อยสุดคือ 7 ขวบ โดยถ่ายทอดมาแล้ว 2-3 รุ่น ทุกครั้งพยายามให้เด็กชักชวนเพื่อนๆ ให้มาใช้เลาว่างให้เกิดประโยชน์แบบเดียวกันนี้ ไม่ไปมั่วสุม หรือหมกมุ่นแต่การเล่นโทรศัพท์มือถือ คนแก่ก็ได้ใกล้ชิดกับเด็ก สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

            ตอนแรกผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ยอมรับว่าไม่อยากให้เด็กเล็กๆ มายุ่ง อยากสอนให้กลุ่มวัยรุ่นมากกว่า แต่ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจ ก็ต้องมาหันมาสอนเด็กๆ ระดับประถมศึกษาแทน เพราะถ้าไม่สืบทอด ศิลปะแขนงนี้ก็จะสูญหายไปจากชุมชน

            “อย่ารอให้มันสูญหายแล้วค่อยไม่ฟื้นหา เพราะมันยากกว่าการที่เรารักษาอย่างแน่นอน แม้มันจะค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม” นายพิทักษ์ ย้ำถึงความมุ่งมั่น

            ไม่ไกลจากวัดไทยสามัคคีมากนัก ยังมีกลุ่มเยาวชน ร.ร.วัดมาตานุสรณ์ พยายามสืบทอดการตี “กลองอืด” ไว้เช่นกัน ซึ่งเป็นการช่วยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมการตีกลองอืดให้แพร่หลายมากขึ้น โดย นายจรัญ ปัญญา ปราชญ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2562 เรารวมกลุ่มเด็กและเยาวชนได้จำนวนหนึ่งให้เขาได้มีกิจกรรมและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทุกเย็นหลังเลิกเรียนก็จะมีเด็กมารวมกลุ่ม เราจะสอนการเล่นดนตรีล้านนา และสอดแทรกการอบรมให้เขาเป็นคนดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

            สิ่งสำคัญอันเป็นความตั้งใจสูงสุดของปราชญ์ชาวบ้านรายนี้ คือไม่อยากให้ศิลปะการตีกลองอืด ต้องสูญหายไปจากแม่สอด ให้คงความเป็นเมื่อที่มีความหลากหลายทั้งผู้คนและวัฒนธรรม หากไม่รักษาไว้ ก็จะถูกกลืน และสูญหายไปแน่นอน

            ขณะที่ ด.ช.หยก อุดมสารี วัย 10 ขวบ บอกถึงความรู้สึกที่มาเล่นเครื่องดนตรีล้านนาว่า เคยลองเล่นกีตาร์มาแล้ว แต่ไม่ชอบ พอเพื่อนๆ เริ่มมาเล่นเครื่องดนตรีล้านนา ก็ตามเพื่อนมาลองเล่นดู รู้สึกสนุก ตอนนี้มีหน้าที่เป็นมือตีฆ้อง ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่กระทบการเรียนด้วย

          ปัจจุบัน “กลองอืด” จัดเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งแฝงไว้ด้วยคุณค่าหลายมิติ และเราคงไม่อยากให้สิ่งมีค่านี่ต้องสูญหายไป ดังเช่นที่กลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มเด็ก-เยาวชนวัดไทยสามัคคีและวัดมาตานุสรณ์กำลังร่วมกันสืบสานอยู่นี้

หมายเลขบันทึก: 676845เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2020 12:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2020 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท