ประวัติการศึกษาไทย : การศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 3 (4)


      กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ
            ---------------------------
    เมื่อสิ้นรัชกาลที่  2 แล้ว เหตุการณ์ในประเทศเริ่มผันแปรผิดแปลกไปจากที่เคยเป็นมาแล้วในอดีต เพราะสภาพการณ์ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก  บรรดาประเทศใกล้เคียงของเรากำลังประสบชะตากรรมจนกระทั่งในที่สุดถึงขั้นสูญเสียเอกราช  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพม่ากำลังมีเรื่องกับอังกฤษ  เพราะฉะนั้นเราจึงพบกับความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง  คงมีแต่การสงครามเล็ก ๆ น้อย ๆ กับชาติที่อ่อนแอกว่าพม่าข้าศึกเดิม  เช่น ปราบพวกเจ้าอนุวงศ์บ้าง  เขมรบ้าง  และกระทบกระทั่งกับญวนบ้าง 
    ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นไป เราต้องติดต่อกับชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ  เป็นการติดต่อกับชาติจักรวรรดินิยมที่กำลังกระหายอาณานิคมเป็นอันมาก  ฉะนั้นประเทศเราจึงตกอยู่ในฐานะที่ยากลำบากต้องระมัดระวังการดำเนินนโยบายการต่างประเทศเป็นพิเศษ  ถ้าหากพลาดพลั้งไปแม้แต่น้อยก็จะต้องตกไปเป็นอาณานิคมของพวกตะวันตกโดยไม่ต้องสงสัย  แต่เดชะบุญที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ สุขุมคัมภีรภาพ  ทรงรอบรู้เหตุการณ์ที่ผันแปรของโลก  และตระหนักในสมรรถภาพของชาติ เมื่อเปรียบเทียบกับของชาติตะวันตกว่ามีแค่ไหนเพียงไร  จึงดำเนินวิเทโศบายชนิดผ่อนผันสั้นยาวด้วยความรอบคอบระมัดระวัง  ยอมเสียเมื่อถึงคราวจำเป็นจะต้องเสีย  เพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้
     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้มีชาติตะวันตกเข้ามาติดต่อหลายชาติด้วยกัน อังกฤษเป็นชาติที่พยายามจะผูกไมตรีกับเราให้ดีที่สุดในตอนต้นรัชกาล เพราะกำลังทำสงครามกับพม่า  และเห็นว่าพม่ายังมีกำลังมากและเป็นปึกแผ่นแน่นหนา  ส่วนอังกฤษนั้นมีกำลังไม่พอเพียงแก่การที่จะทำสงครามขนาดใหญ่  จึงพยายามผูกมิตรไมตรีกับเราเพื่อเอาใจเราให้ไปช่วยรบกับพม่า  อังกฤษไม่ต้องการให้เราขัดเคืองเรื่องที่เกี่ยวกับเมืองไทรบุรี  ที่อังกฤษเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย  ต่อมาภายหลังเมื่ออังกฤษรบชนะพม่าโดยเด็ดขาดแล้ว  ท่าทีของอังกฤษที่มีต่อเราก็เริ่มแข็งกร้าวขึ้น 
     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ยังไม่ได้ครองราชย์  งานที่ทรงโปรดอย่างยิ่งก็คือการสร้างวัด  ปรากฏว่าในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดทั้งในพระนครและนอกพระนครถึง  35  วัด  สร้างขึ้นใหม่  4  วัด  เจ้านายและขุนนางสร้างขึ้นทั้งที่ถวายเป็นวัดหลวงและไม่ได้ถวายอีก  5  วัด  บูรณะปฏิสังขรณ์อีก  25  วัด  ที่เป็นวัดเล็ก ๆ  อีกมากมาย  จึงมีคำกล่าวว่าในรัชกาลที่  3  นั้น  ใครสร้างวัดเป็นคนโปรด  บรรดาเชื้อพระวงศ์และข้าราชการเศรษฐีมีทรัพย์นิยมการทำบุญให้ทาน 
    การสอบไล่พระปริยัติธรรมก็ทำกันอย่างจริงจัง  ให้พระภิกษุสามเณรเข้าไปศึกษาพระปริยัติธรรมได้ในพระมหาปราสาทและจัดการสอบไล่ภายในพระบรมมหาราชวัง มีภิกษุสามเณรสอบได้เปรียญเอก  โท  ตรี  คราวหนึ่ง ๆ  เป็นอันมาก  องค์ใดได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะ  บรรดาญาติโยมที่เป็นไพร่หลวงหรือไพร่สมอยู่ก็โปรดยกพระราชทานให้เป็นโยมสงฆ์ พ้นจากการเป็นไพร่  ที่เป็นทาสเขา  ทรงออกพระราชทรัพย์ไถ่ถอนจากนายเงินขึ้นเป็นไทแก่ตัว

หมายเลขบันทึก: 676726เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2020 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2020 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ติดโควิด ก็ติดตามบทความดีๆของพี่ทางนี้ครับ

ผอ.ปรีชา เป็นสมาชิก gotoknow ด้วยขอบใจนะน้องที่ติดตามอ่านบันทึกของพี่ ดูแลสุขภาพนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท