9 วิธีดูแลเท้าสำหรับคนไข้เบาหวาน


เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงเท้าเป็นเส้นประสาทที่ยาวที่สุดในร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อความเสื่อมสภาพจากเบาหวานมากกว่าเส้นประสาทอื่นๆ

คนไข้เบาหวานส่วนหนึ่งจะมีปัญหาเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน ภาวะนี้พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของคนไข้

ปัญหานี้มักจะแปรตามระยะเวลาหลังจากได้รับการวินิจฉัย ยิ่งเป็นเบาหวานนานก็ยิ่งมีโอกาสเกิดประสาทเสื่อมมากขึ้น

ปัจจัยเสริมที่สำคัญได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับน้ำตาลยิ่งสูงยิ่งเสี่ยงมาก ระดับน้ำตาลที่สูงมีส่วนทำลายได้ทั้งเส้นประสาท และทำลายเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาท

การรักษาเบาหวานให้ดีจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้ระดับหนึ่ง

ปัจจัยอื่นๆ ที่แก้ไขไม่ได้คือ ประวัติครอบครัวหรือปัจจัยทางพันธุกรรม ถ้ามีญาติเป็นเบาหวาน และมีอาการเส้นประสาทเสื่อมด้วย ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น

เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงเท้าเป็นเส้นประสาทที่ยาวที่สุดในร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อความเสื่อมสภาพจากเบาหวานมากกว่าเส้นประสาทอื่นๆ

การสูญเสียความรู้สึกบริเวณเท้าทำให้ไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดเวลาไปเหยียบย่ำสิ่งต่างๆ เช่น หินที่มีคม ฯลฯ ทำให้เกิดบาดแผลที่เท้าได้ง่ายกว่าคนทั่วไป บางครั้งเกิดเป็นแผลเรื้อรัง หายยาก และอาจถูกตัดนิ้วเท้าได้

เว็บไซต์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอลาบาม่า สหรัฐอเมริกา (www.health.uab.edu) มีคำแนะนำดีๆ สำหรับคนไข้เบาหวาน โดยเฉพาะเรื่องการดูแลเท้าดังต่อไปนี้...

1)      ตรวจเท้าทุกวัน                                               

ควรตรวจเท้าทุกวันทั้งฝ่าเท้า หลังเท้า นิ้วเท้าว่า มีแผลหรือไม่ ถ้ามีต้องรีบรักษา

วิธีตรวจเท้าที่สำคัญคือ ให้นำกระจกส่องดูด้านฝ่าเท้าซ้ำ และควรให้คนอื่นช่วยตรวจเท้าเป็นครั้งคราว เพื่อป้องกันโอกาสผิดพลาด

2)      ตรวจรองเท้า                      

ควรใช้รองเท้าที่สวมสบาย มีขนาดพอดี และควรใช้รองเท้าอย่างน้อย 2 คู่สลับกัน เพื่อลดแรงกดเฉพาะที่

รองเท้าแต่ละคู่มักจะ "ไม่เท่ากัน" ทุกประการ รองเท้าที่ดีหน่อยคือ รองเท้าหุ้มส้นแบบรองเท้าวิ่ง

ตรวจรองเท้าก่อนสวมทุกครั้งว่า มีของแข็ง โดยเฉพาะของมีคมอยู่ภายในหรือไม่ เช่น เศษกรวด เศษหิน ฯลฯ

3)      ทาโลชั่น                             

การทาโลชั่นช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นขึ้น ไม่แตกหรือปริง่าย

4)      สวมถุงเท้า                                                       

ควรสวมถุงเท้านุ่มๆ ก่อนใส่รองเท้า เพื่อลดโอกาสเกิดการเสียดสี และลดโอกาสเกิดแผล

5)      ห้ามเดินเท้าเปล่า                                            

คนไข้เบาหวานไม่ควรเดินเท้าเปล่า เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผล

6)      ตัดเล็บเท้าให้ตรง                

การตัดเล็บเท้าควรตัดให้สั้น และตัดให้ตรงเป็นรูปคล้ายจอบ ไม่ควรตัดเป็นรูปโค้ง

การตัดเล็บเท้าเป็นรูปโค้งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเล็บขบ ซึ่งอาจมีเนื้อเยื่อข้างเล็บอักเสบ หรือเป็นฝีหนองได้

7)      ตรวจน้ำอุ่นก่อนใช้               

ควรตรวจน้ำอุ่นก่อนใช้ทุกครั้ง โดยเฉพาะถ้าใช้อาบ หรือล้างเท้า ควรตรวจสอบด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิ(ถ้ามี) หรือใช้ผ้าแตะน้ำให้เปียก แล้วนำมาแตะหลังมือหรือข้อมือก่อนว่า ร้อนเกินไปหรือไม่

ไม่ควรใช้เท้าจุ่มลงไปทันที เนื่องจากประสาทสัมผัสส่วนเท้ามีโอกาสสูญเสียความรู้สึกมากกว่าส่วนมือ

8)      สวมถุงเท้านอน                   

การสวมถุงเท้านอนมีส่วนช่วยไม่ให้เท้าเย็นเกิน โดยเฉพาะเมื่ออากาศเย็น

การสวมถุงเท้านอนมีส่วนป้องกันผิวแห้ง ซึ่งอาจทำให้คัน และเกาจนเกิดแผลได้

9)      ไม่นั่งขัดสมาธิ                                                 

การนั่งไขว้ขา (cross-legged) หรือนั่งพับขา เช่น ขัดสมาธิ ไขว่ห้าง พับเพียบ ฯลฯ มีแรงกดเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนผ่านขาท่อนล่างและเท้าได้ลดลง ทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นประสาทเสื่อม หรือเกิดแผลที่เท้าเพิ่มขึ้น

การนั่งเก้าอี้น่าจะปลอดภัยมากกว่า

    แหล่งที่มา:                                      

  • ขอขอบคุณ > www.health.uab.edu/show.asp?durki=85959 (hospital university of Alabama at Birmingham campus) > Diabetic neuropathy defined > November 7, 2005
  • ขอขอบคุณ > www.health.uab.edu/show.asp?durki=61677 (hospital university of Alabama at Birmingham campus) > Diabetes foot care > November 7, 2005
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ > แก้ไข 29 พฤษภาคม 2550.
คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพ#เบาหวาน
หมายเลขบันทึก: 6765เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2005 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท