ปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา บทที่ 2


                       บทที่ 2

หลักการ แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา

หลักการและพื้นฐานกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

 “…กฎหมายทั้งปวงนั้น เราบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นปัจจัยสำหรับรักษา

ความยุติธรรม กล่าวโดยสรุปคือ ใช้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติปฏิบัติของ

มหาชนสถานหนึ่งกับใช้เป็น แม่บทในการพิจารณาตัดสินความประพฤติปฏิบัตินั้น ๆให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงตรงอีกสถานหนึ่งโดยที่กฎหมายเป็นแค่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรที่จะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆโดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องนึกถึงความยุติธรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ..11

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมรัฐในการรักษาสังคมให้สงบสุขและรักษาความปลอดภัยสาธารณะ บังคับใช้กฎหมายและคุ้มครองสิทธิประชาชน สาระสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ  การป้องกันอาชญากรรม  การคุ้มครองสาธารณะ การช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม การลงโทษผู้กระทำความผิดและ การช่วยเหลือผู้กระทำความผิดให้กลับคืนสู่สังคมและเป็นสมาชิกของสังคมที่เชื่อฟังหรือเคารพกฎหมาย

การดำเนินคดีอาญาควรอยู่ภายใต้หลักการตรวจสอบ หากขาดการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ ย่อมก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้โดยง่าย การศึกษาหลักการ แนวคิดและทฤษฎีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเต็มที่ เนื่องจากสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งและมีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของไทยทุกฉบับ ซึ่งหลักการดังกล่าวประกอบด้วยแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่สำคัญ ดังนี้ คือ

11พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักศึกษาเนติบัณฑิต 7 ส.ค. 2515

2.1 สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญ

ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล12 ผู้ต้องหาจึงเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดเท่านั้น แต่การที่จะทราบว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่นั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหลายโดยศาล  ซึ่งผู้ต้องหานั้นถือเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ประเทศไทยได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้

        1. การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดจะแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้

            2. การได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

3.การสอบสวนหรือพิจารณาคดีมีความถูกต้อง รวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม

             4. การช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหา

              5. การไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ตนเองถูกฟ้องคดี

              6. การได้รับการปล่อยตัวในกรณีที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

              7. การพิจารณาคำขอประกันอิสรภาพผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องรวดเร็ว และห้ามเรียกหลักประกันจนเกินควร การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามกฎหมายและต้องแจ้งเหตุให้ทราบโดยเร็ว

              8. การอุทธรณ์คัดค้านการไม่ให้ประกันตัว

              9. การมีล่ามหรือล่ามภาษามือ กรณีที่ผู้ต้องหาไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยหรือไม่สามารถพูดหรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้

10. การได้รับหลักประกันในเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดี ในกรณีที่เชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดี ได้              

11. ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้

เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก

12ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(2)

12. การพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว                                13. การให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจ เข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน

              14.  การเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร

             15. การรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย

              16. การได้รับโอกาสแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้ในชั้นสอบสวน

              17. การให้การหรือไม่ก็ได้ในชั้นสอบสวน ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

             18. การค้นตัว การจับและการคุมขังบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

หลักการควบคุมตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ

บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย  การจับและการคุมขัง

บุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ13การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี14 การจับ ขัง จำคุก หรือค้นในที่รโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลสำหรับการนั้น บุคคลซึ่งต้องขังหรือจำคุกตามหมายศาล จะปล่อยไปได้ก็เมื่อมีหมายปล่อยของศาล15การนำตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล หากจำเป็นต้องนำตัวบุคคลใดมาไว้ในอำนาจรัฐ ควรมีการพิจารณาในเหตุของความจำเป็นและกระทำการภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัดและเท่าที่จำเป็นเฉพาะในกรณีไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น16การกระทำดังกล่าวข้างต้นถือแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

13รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 28

14รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29

15ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 57

16คณิต ณ นคร, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พิมพ์ครั้งที่ 8 (กรุงเทพมหานคร:     

   สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2555), หน้า 383.

เนื่องจากมาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้โดยเท่าเทียม เสมอภาคกันและบุคคลซึ่งได้รับความ

เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาจากบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติคุ้มครองเช่นเดียวกันผู้ต้องหา จึงเป็นการคุ้มครองสิทธิทั้งฝ่ายผู้ต้องหาและฝ่ายผู้เสียหาย

หลักการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence)

คดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้17 ถือเป็นหลักการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ให้ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่และเป็นหน้าที่ของผู้รักษากฎหมายต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยอันสมควรว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด แม้จะถูกควบคุมหรือคุมขังระหว่างรอการสอบสวนหรือการพิจารณาไม่ว่าขั้นตอนใดจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นสอบสวน กระบวนการสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ และระหว่างการพิจารณาหรือพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี

จากหลักการดังกล่าวส่งผลให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติกฎหมายรองรับถึงสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่อยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดี และเป็นหลักการซึ่งนำไปสู่สู่การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย

การสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นหลักที่ให้การรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของประชาชนหรือบุคคลที่ต้องสงสัยหรือถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ  เมื่อผู้ต้องหาถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ผู้ต้องหาจึงอยู่ในฐานะที่จำเป็นต้องพิสูจน์ความผิดตามที่ถูกกล่าวหาและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ผู้ซึ่งตั้งข้อกล่าวหานั้น ต้องให้โอกาสในการแก้ข้อกล่าวหา นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ว่าผู้ต้องหาอาจไม่ใช่ผู้กระทำความผิด18ตามที่ถูก

17รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  มาตรา 29 วรรคสอง

18ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 

กล่าวหา จึงควรให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา รวมทั้งต้องรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย ไม่ว่าในชั้นสอบสวนหรือในชั้นศาล

แม้ปัจจุบันจะมีพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2545  ซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ในทางปฏิบัติพบว่าแนวทางการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย  ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ยังไม่ได้อยู่ในหลักของการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะจากการร้องขอค่าชดเชยของจำเลยในหลายคดี คณะกรรมการฯ ตีความว่าศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบศาลมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย19 ทั้งที่จำเลยไม่มีหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง เพราะเป็นหลักการตามรัฐธรรมนูญ ที่สันนิษฐานให้เป็นคุณแก่จำเลยว่าเป็นผู้บริสุทธิ์20 ดังนั้น การตีความของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม โดยผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด หรือจำเลยในคดีอาญาที่ต้องถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดีหรือจำเลยที่จำเป็นต้องควบคุมหรือคุมขังในระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด แต่ต่อมาภายหลังศาลยกฟ้องเพราะจำเลยไม่ได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ทั้งสองกรณีนี้ กฎหมายให้รัฐจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายและจำเลยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย ในฐานะที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา และในบางกรณีไม่อาจจับผู้กระทำความผิดมาลงโทษหรือบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ได้

19ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

20ณรงค์ ใจหาญ (2540) “หลักประกันสิทธิของประชาชนในคดีอาญาใหม่ : ปัจจุบันและทศวรรษหน้า(2540-2550)” บทบัณฑิตย์  น.64

หลักสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้ (Right against self – incrimination) ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคสี่  มีวิวัฒนาการมาจากการคุ้มครองผู้ต้องหา ไม่ให้ถูกพนักงานสอบสวนทำการบังคับ ขู่เข็ญ ทรมาน หรือกระทำมิชอบประการอื่น อันเป็นการกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอาจทำให้ผู้ต้องหาให้ถ้อยคำโดยไม่สมัครใจ ขณะอยู่ในอำนาจบังคับของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ จึงต้องมีกฎหมายสำหรับรองรับสิทธิ ขั้นพื้นฐาน กำหนดหลักเกณฑ์และความชอบธรรมในการใช้อำนาจของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจตามกฎหมาย ที่อาจไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาได้เท่าที่จำเป็น แต่จะ เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาไม่ได้

สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองในคดีอาญา ได้พัฒนามาจากระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณี (Common Law) จึงถือได้ว่า เป็นสิทธิในชีวิตส่วนตัว (right to privacy) ประเภทหนึ่ง ไม่อาจบังคับให้ผู้ต้องหาให้การเป็นปฏิปักษ์หรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา ในการตอบคำถามจากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานในคดีอาญา และยังเป็นการควบคุมอำนาจของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ผู้ต้องหา จนเกินขอบเขตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้

การคุ้มครองสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองในคดีอาญา ประเทศสหรัฐอเมริกามีบัญญัติในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 (Fifth Amendment) โดยศาลตีความขยายให้รวมถึงการคุ้มครองผู้ต้องหา โดยการควบคุมอำนาจของพนักงานสอบสวนในการสอบสวนคดี และผู้ต้องหาต้องรับรู้ถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหามีประสิทธิภาพ ส่วนในประเทศอังกฤษมีการควบคุมอำนาจของพนักงานสอบสวนจากกฎหมายการปฏิบัติงานของตำรวจและการแสวงหาพยานหลักฐานในคดีอาญา เพื่อให้ผู้ต้องหาได้รับความคุ้มครองตามสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองในคดีอาญา  ตามเจตนารมณ์จำเป็นต้องเตือนให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธินี้ ก่อนถามคำให้การด้วย โดยจะต้องมีการเตือนถึงสิทธิที่จะไม่ให้การและสิทธิในการมีทนาย ความก่อน เพราะสิทธิที่จะไม่ให้การนั้นผู้ต้องหามีอยู่แล้วตามธรรมชาติและยังมีการยอมรับตามกฎหมาย

สิทธิการมีทนายความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ผู้ต้องหาทุกคนมีสิทธิให้ทนายความอยู่ร่วมด้วยในการสอบปากคำ และเพื่อความเท่าเทียมกัน รัฐจะต้องจัดหาทนายความให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งทนายความย่อมเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของผู้ต้องหา โดยเฉพาะสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การ เนื่องจากทนายความเป็นคนกลางและรู้กฎหมายเป็นอย่างดี ย่อมทำให้การบังคับใช้สิทธิของผู้ต้องหามีประสิทธิภาพ และสามารถเป็นหลักประกันให้กับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย  ทำให้พ้นข้อครหาในทางที่มิชอบหรือหากมีการล่วงละเมิดต่อสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การ และสิทธิในการมีทนายความแล้ว ศาลอาจจะไม่รับฟังถ้อยคำที่ได้มานั้นเป็นพยานหลักฐาน  ผู้ต้องหาสามารถสละสิทธิการมีทนายความในชั้นสอบสวนได้ โดยชั้นสอบสวนการสละสิทธิในการมีทนายความจะแตกต่างกับชั้นพิจารณา ซึ่งเป็นการต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียมกัน และให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

ดังนั้น ในกรณีฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูง จำเลยจะสละสิทธิการมีทนายความมิได้ ศาลต้องแต่งตั้งทนายความให้จำเลยเสมอ ส่วนในชั้นสอบสวน สิทธิในการมีทนายความไม่ถือเป็นสิทธิเด็ดขาด เมื่อมีการเตือนให้ผู้ต้องหาได้รับรู้และเข้าใจ ในการเรียกร้องเพื่อใช้สิทธิของตนแล้ว ผู้ต้องหาก็สามารถตัดสินใจที่จะสละสิทธิในการมีทนายความ หรือให้การรับสารภาพได้ อันถือเป็นการใช้สิทธิในชีวิตส่วนตัว (right to privacy) ของผู้ต้องหาเอง การคุ้มครองสิทธิในการให้ถ้อยคำในระหว่างการสอบสวนคดีอาญา21โดยมีหลักประกันสิทธิที่จะไม่ให้การและสิทธิในการมีทนายความ ซึ่งมีการรองรับไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว แต่ยังไม่เป็นการเพียงพอ จึงเห็นสมควรปรับปรุง เพื่อคุ้มครองสิทธิ ของผู้ต้องหาในชั้นก่อนฟ้องคดีอาญาให้ครบถ้วน  ทั้งนี้เป็นไปตามหลักสากลในด้านสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน22 หมายรวมถึงการตั้งหรือจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาด้วย23

21 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคสี่

22มารุต บุนนาค (2515) “สิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในการต่อสู้คดีอาญา วารสารทนายความ 12 น.5

23คณิต ณ นคร ก (2534) “ฐานะหน้าที่ของทนายความในคดีอาญา วารสารอัยการ 4 น.56

ทฤษฎีเกี่ยวกับความรับผิดและโทษในทางอาญา

เฮอร์เบิร์ต แอล แพ็กเกอร์ (Herbert L. Packer) 24 ได้อธิบายถึงหลักการพิจารณาการกำหนความผิดในทางอาญาจากการกระทำ กล่าวโดยสรุปคือ การกระทำที่สมาชิกในสังคมเห็นว่ากระทบกระเทือนต่อสังคมและไม่ให้อภัยต่อการกระทำนั้น หรือถ้าการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดในทางอาญาแล้ว จะไม่ขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์แห่งการลงโทษทุกประการ หรือหากมีการปราบปรามการกระทำทางอาญาแล้วสมาชิกในสังคมเห็นชอบและต้องมีการใช้บังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัด เสมอภาค เท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ

ความผิดทางอาญา เกิดจากทฤษฎีสัญญาประชาคมที่ประชาชนมอบอำนาจให้รัฐดำเนินการออกกฎหมายเพื่อควบคุมความประพฤติของบุคคลในสังคมและป้องกันสังคมให้พ้นจากการกระทำที่เป็น “ภยันตรายต่อผู้อื่น” โดยมีการกำหนดข้อห้ามมิให้ปฏิบัติ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทางอาญา  ซึ่งความผิดทางอาญาในด้านกฎหมาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความผิดในตัวเอง และความผิดเพราะกฎหมายห้าม

โครงสร้างความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายระบบลายลักษณ์อักษร (Civil Law) เป็นกฎหมายที่ลงโทษการกระทำผิดของบุคคลในสังคม จึงต้องพิจารณาถึงตัวผู้กระทำและการกระทำของบุคคลนั้น โดยมีลำดับการพิจารณา 3 ขั้นตอนคือ  (1) พิจารณาว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบตามองค์ประกอบของความผิดของความผิดฐานนั้นหรือไม่ (2) พิจารณาว่าการกระทำนั้นผิดหรือไม่ผิดต่อกฎหมาย (3) พิจารณาถึงความรู้ผิดชอบชั่วดีของบุคคลผู้กระทำเรียกว่าเป็นการพิจารณาถึงส่วนที่เรียกว่า “ความชั่ว” ของผู้กระทำ

โครงสร้างความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายระบบจารีตประเพณี (Common Law) วางโครงสร้างความรับผิดทางอาญาออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และส่วนที่เป็นเจตนาร้ายหรือจิตใจที่ชั่วร้าย

ความผิดอาญาอาจแบ่งพิจารณาออกเป็น 4 ประเภท คือ ความผิดอาญาในแง่ของกฎมาย ความผิดอาญาในแง่ของการกระทำ  ความผิดอาญาในแง่ของเจตนา ความผิดอาญาในแง่ของการดำเนินคดี

24ณัฐฐวัฒน์ สุทธิโยธิน “ทฤษฎีความรับผิดทางอาญา ” ใน เอกสารประกอบการสอนชุด กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยาชั้นสูง หน่วยที่ 2 สาขาวิชานิติศาสตร์.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ทฤษฎีการจัดรูปแบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ความยุติธรรม หมายถึง ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม และความชอบด้วยเหตุผล25  ส่วนความยุติธรรมตามกฎหมาย คือต้องมีความชอบธรรม (legitimacy) ทั้งการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องเป็นการแก้ไขคุณลักษณะที่ตายตัว (rigidity) และลดความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากกฎหมายขัดแย้งกับความไม่ยุติธรรมจากตัวบทบัญญัติของกฎหมายหรือผู้บังคับใช้ตัวบทกฎหมายที่ยุติธรรมอย่างไม่ยุติธรรม (Misconduct) กรณีดังกล่าวการใช้ดุลยพินิจจะเป็นการบรรเทาเบาบางความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงหมายถึง การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ในการบังคับใช้กฎหมายทางอาญา เช่น หน่วยงานตำรวจ อัยการ ศาล หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น  เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในการปฏิบัติตามกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการวินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นไปตามกฎหมาย ตั้งแต่กระบวนการชั้นสืบสวน สอบสวน พิจารณาพิพากษาหรือบังคับคดีหรือกระบวนการอื่นใดเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาคือ รากฐานสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสังคมให้เที่ยงธรรม สงบสุข และปลอดภัย ด้วยการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ บังคับใช้กฎหมายและคุ้มครองสิทธิประชาชน โดยสาระสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาประกอบด้วย (1) การป้องกันอาชญากรรม (preventing crime) (2) การคุ้มครองสาธารณะ (protecting the public) (3) การช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ครอบครัวของเหยื่อและพยาน (supporting victims of crime, their families and witnesses)  (4) การลงโทษผู้กระทำความผิด (holding people responsible for crimes they have committed) (5) การช่วยเหลือผู้กระทำความผิดให้กลับคืนสู่สังคม และเป็นสมาชิกของสังคมที่เชื่อฟังกฎหมาย (helping offenders to return to the community and become law abiding members of the community)26

25พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542

26 อุทัย อาทิเวช “แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและบทบาทขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ใน เอกสารประกอบการสอนชุด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและพยานชั้นสูง หน่วยที่ 3 สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

รัฐ  (State) ใดที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย  จำเป็นต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการดำเนินชีวิตอย่างเสรี  รัฐจะจำกัดสิทธิได้ ต้องมีกฎหมายให้อำนาจตามหลักนิติรัฐ (Legal state) เท่านั้น หากเกิดการละเมิดกฎหมายอาญาตามที่รัฐกำหนดห้ามแล้ว รัฐจำเป็นต้องมีกระบวนการคุ้มครองความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนในรัฐเพื่อไม่ให้ถูกกระทบจากการละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าวและต้องมีกระบวนการนำผู้กระทำผิดต่อกฎหมายอาญามาลงโทษ 

กระบวนการพิจารณาคดีอาญานี้ เฮอเบิร์ด แพคเกอร์ ( Herbert Packer)  ได้กล่าวถึงรูปแบบของกระบวนการทางอาญาในสหรัฐอเมริกาและยุโรปไว้ 2 รูปแบบ คือทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) และทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย  (Due Process Model)   ซึ่งต่างมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน แต่มีวิธีปฏิบัติ  ความคิดเห็นและแนวทางในการดำเนินการที่แตกต่างกัน26  คือ

ทฤษฎีควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model)

 ทฤษฎีนี้เน้นประสิทธิภาพในการดำเนินคดี โดยใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เด็ดขาด  มุ่งปราบปรามอาชญากรรมและไม่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นทฤษฎีที่ต้องการส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเป็นหลักและเชื่อว่าการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถจะควบคุมและปราบปรามอาชญากรรมหรือจับกุมอาชญากรมาลงโทษตามกฎหมายได้ ย่อมกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและเสรีภาพของประชาชนผู้สุจริต  กระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องมีสถิติการจับกุมจำนวนมากเป็นหลักที่เน้นประสิทธิภาพ คือ การประสบผลสำเร็จโดยการลงแรงและลงทุนน้อยที่สุด  การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็วและเด็ดขาด ด้วยการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรม ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่องและถือเป็นการปฏิบัติงานประจำ  โดยให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมมีดุลยพินิจในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเต็มที่ ทั้งต้องรวบรัด และมีประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นเป็นเรื่องสำคัญน้อยกว่า  การแสวงหาพยานหลักฐานแม้ไม่ชอบด้วย กฎหมาย แต่หากสามารถพิสูจน์ถึงความผิดของจำเลยได้ ศาลก็อาจจะรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้

26Herbert L.Packer (1968) “The limits of the Criminal Sanction pp.154-173

การค้นหาข้อเท็จจริงตามทฤษฎีนี้  เริ่มตั้งแต่คดีอาญาทั้งปวงที่เข้าสู่ระบบงานยุติธรรมทางอาญาและต้องดำเนินไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกระบวนการกลั่นกรอง (Screening Process) ในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การสืบสวนก่อน

การจับกุม การสอบสวนภายหลังการจับกุม การเตรียมคดีเมื่อฟ้องต่อศาล การพิจารณา

คดี และการพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดและการปลดปล่อย ขั้นตอนดังกล่าวในกระบวนการยุติธรรมจึงต้องรวดเร็ว แน่นอน ซึ่งทฤษฎีนี้ หมายถึงโอกาสที่ผู้กระทำความผิดจะหลุดพ้นจากการที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษได้น้อยที่สุด การค้นหาข้อเท็จจริงในคดี ควรยุติในขั้นตอนของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ มากกว่าการนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยไม่จำเป็น การดำเนินตามขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพ  ทำให้การวินิจฉัยคดีแล้วเสร็จไปตั้งแต่ขั้นตอนแรกของกระบวนการยุติธรรม  สงผลให้ผู้ต้องสงสัยหรือผู้บริสุทธิ์ถูกกลั่นกรองออกไป และผู้กระทำความผิดต้องถูกดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมอาจมีผล  2 ประการ คือ  การปลดปล่อยผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัยหรือผู้บริสุทธิ์โดยเร็วและการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาที่มีพยานหลักฐานมั่นคง หรือผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ

ทฤษฎีกระบวนการนิติธรรม (Due Process Model)

ทฤษฎีนี้มีแนวความคิดว่าบุคคลจะต้องไม่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมเพียงเพราะว่ามีพยานหลักฐานว่าได้กระทำเท่านั้น แต่จะมีความผิดก็ต่อเมื่อมีผู้มีอำนาจตามกฎหมายได้พิจารณาพิพากษาชี้แจงแล้วว่า บุคคลนั้นมีความผิด นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็จะต้องปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของบุคคลนั้นอย่างเต็มที่ และไม่ควรปล่อยให้องค์กรอื่นมาวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีก่อนที่จะนำคดีขึ้นไปสู่ศาล เนื่องจากเห็นว่า มีแต่องค์คณะผู้พิพากษาที่เป็นกลางและไม่ลำเอียงเท่านั้นที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้มิได้หมายความว่า อุดมการณ์ของทฤษฎีนี้แตกต่างจากทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม แต่ทฤษฎีกระบวนการนิติธรรมยึดหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรมมากกว่าความคิดในเรื่องการควบคุมอาชญากรรม และไม่เชื่อว่า ความคิดในการควบคุมอาชญากรรมนั้นจะมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการค้นหาข้อเท็จจริง ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหรืออัยการหรือฝ่ายปกครองจะเชื่อถือได้เพียงใด เพราะวิธีการปฏิบัติของตำรวจและอัยการนั้นเป็นการปฏิบัติงานที่รโหฐาน ซึ่งอาจจะใช้วิธีการล่อลวง ขู่เข็ญ หรือการสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาใหม่ได้

ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) และทฤษฎีกระบวนการนิติธรรม  (Due Process Model) นั้น แม้จะมีขึ้นมาเพื่อให้สังคมนั้นอยู่รวมกันอย่างสงบสุขและปลอดภัยจากอาชญากรรมซึ่งแตกต่างกันในแนวความคิด หากรัฐมุ่งที่จะควบคุมอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็จะลดน้อยลงและหากรัฐมุ่งที่จะให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนมาก ประสิทธิภาพของการควบคุมอาชญากรรมก็อาจลดน้อยลง

สรุปได้ว่า ทฤษฎีว่าด้วยการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) เป็นรูปแบบที่เน้นประสิทธิของกระบวนยุติธรรม โดยมุ่งควบคุม ระงับ ปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก ทำให้มีสถิติการจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดสูง นอกจากนี้มีการดำเนินคดีตามขั้นตอน จับ ควบคุมตัว การสอบสวน การฟ้องร้อง การพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยต้องเป็นขั้นตอนที่รวบรัด และมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อว่าการค้นหาความจริงโดยพนักงานตำรวจฝ่ายสอบสวนหรือพนักงานอัยการก็เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้กระทำมีความผิดจริงและเน้นการการปราบปรามอาชญากรรมเป็นเรื่องหลัก เรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเป็นเรื่องรองลงไป ดังนั้นถ้าประเทศใดเน้นการควบคุมอาชญากรรมเป็นหลัก กฎหมายวิธีพิจารณาความของประเทศนั้นจะมีบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าหน้าที่มาก

              ส่วนทฤษฎีกระบวนการนิติธรรม  (Due Process Model) นั้นยึดหลักกฎหมาย (rule of law) และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ กระบวนขั้นตอน การจับ การค้น การควบคุมตัว การพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยต้องเป็นธรรม ต่อต้านการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบ ซึ่งตรงข้ามกับทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) ดังนั้น ถ้าประเทศใดเน้นความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย การเป็นหลัก กฎหมายวิธีพิจารณาความของประเทศนั้นจะมีบทบัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากกว่าบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าหน้าที่

รัฐจึงต้องหาจุดสมดุล ระหว่างแนวคิดทั้ง 2 ทฤษฎี เพื่อให้กระบวนการดำเนินคดีอาญามีประสิทธิภาพในการควบคุมอาชญากรรมและ ในขณะเดียวกันก็กระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลให้น้อยที่สุด เนื่องจาก สิทธิเสรีภาพนั้นนับเป็นสิ่งสำคัญในอันที่จะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงการดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษยชน สิทธิเสรีภาพจึงเป็นสิ่งมีค่าและน่าหวงแหนของมนุษย์

    หลักกระบวนการนิติธรรม (Due Process)

     หลักกระบวนการนิติธรรมมีที่มาจากทฤษฎีกระบวนการนิติธรรม ((Due Process Model) ซึ่งเป็นหลักที่ตรงข้ามกับทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) นั่นคือ เจ้าพนักงานและศาลในกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักนิติธรรม และคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนขั้นพื้นฐาน (Fundamental Right and Freedom) เป็นหลักการ โดยไม่มุ่งเน้นเฉพาะการป้องกันอาชญากรรม

แนวคิดของหลักกระบวนการนิติธรรม มุ่งส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ด้วยการควบคุม ระงับและปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก เพื่อให้สังคมสงบเรียบร้อยและเสรีภาพของประชาชนผู้สุจริตได้รับความคุ้มครองและมุ่งเน้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักเพื่อถ่วงดุลการชิอำนาจรัฐของเจ้าพนักงานในกระบวนยุติธรรม จึงถูกนำไปเกลื่อนกลืนกับแนวคิดของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Human rights protection in criminal justice system) สอดคล้องกับแนวคิดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นประธานแห่งคดี (Subject of the case) ไม่ใช่กรรมแห่งคดี (Object of the case) คือ ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องได้รับสิทธิและความเสมอภาคในการต่อสู้คดีตามอาวุธที่เท่าเทียมกัน (Equal footing)27

หลักกระบวนการนิติธรรมจึงเป็นที่มาของของสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย ตั้งแต่การแจ้งหา การแจ้งสิทธิ สิทธิการมีทนายความ สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง  สิทธิเข้าถึงข้อมูลในการดำเนินคดี สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาทบทวนคดีในศาลสูง ฯลฯ

         หลักการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม (Access Justice)

            เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่กฎหมายรับรองมนุษย์ทุกคนต้องได้รับจากศาลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมด้วยการคุ้มครอง การช่วยเหลือและการอำนวยความยุติธรรมซึ่งถือเป็นสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและมีการรับรองจากกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ข้อ 10 และ 11 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิ มนุษยชน ค.ศ.  1948 ข้อ 14-16 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 และกฎหมายภายในอย่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่

26อุทัย อาทิเวช   “อ้างแล้ว”

เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาความ จากแนวความคิด “บุคคลทุกคนย่อมเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย” (equality of persons before the law) โดยมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสำนวน การสอบสวนหรือสำนวนการพิจารณาคดีชั้นเจ้าพนักงานในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน27

 เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายว่า 28 หากพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อขอทราบสรุปพยานหลักฐานพร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสั่งคดี  ทั้งนี้ ภายในกำหนดอายุความฟ้องร้องแต่หากพนักงานอัยการสั่งฟ้องคดี 29จำเลยก็ได้การรับรองสิทธินับแต่เวลาที่ยื่นฟ้องแล้ว จำเลยมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม สามารถแต่งทนายความแก้ต่างในทุกชั้นที่พิจารณาคดี สามารถปรึกษาทนายความและทนายความนั้นย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับจำเลย   สามารถตรวจและคัดสำเนาสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐานหรือในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตนหรือสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล ซึ่งจะเห็นได้ว่า จำเลยมีสิทธิตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การหรือเอกสารประกอบคำให้การของตนในชั้นสอบสวนแต่ไม่สามารถตรวจหรือคัดสำเนาของผู้กล่าวหาได้       

2.6 หลักการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (Rights to Fair Trial)

เป็นหลักการพื้นฐานของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ย่อมได้รับการรับรองและคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยมิต้องคำนึงถึงคุณสมบัติอื่นหรือบุคคลทุกผู้ทุกนามย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกระบวนของกฎหมายอย่างเป็นธรรมโดยการได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและ

เท่าเทียมตามกฎหมาย หรือการไม่ถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ (non-discrimination)

หลักการดำเนินคดีที่เป็นธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่นำไปสู่การดำเนินคดีและความยุติธรรมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ป้องกันการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Abuse of Power) ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจและเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสามารถนำมาตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการได้

27พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540มาตรา 15(2) และ(4)

28ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2475 มาตรา 146 วรรคสอง

29ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  84 

หลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองโดยหลักนิติธรรม คือ บุคคลทุกคนมี

ความเสมอภาคตามกฎหมาย โดยเฉพาะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกระบวนของกฎหมายอย่างเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมตามกฎหมาย หรือการไม่ถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ ทั้งหลักการและในทางปฏิบัติ   การปกป้องความเสมอภาคตามกฎหมายจำเป็นต้องขจัดอุปสรรคในเรื่องการเข้าถึงความยุติธรรม ซึ่งหมายถึงการขจัดอุปสรรคใด ๆ ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถบังคับใช้สิทธิของตนเองได้ เพราะการเข้าถึงความยุติธรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเสมอภาคตามกฎหมาย  ส่วนอุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรมที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม หรือการขาดความเสมอภาค เป็นประเด็นปัญหาด้านปฏิบัติมากกว่าปัญหาเรื่องแนวคิดหรือหลักการ แนวทางในการจัดการกับสิ่งที่กีดขวางการเข้าถึงความยุติธรรมจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการในทางปฏิบัติการพัฒนาการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างยั่งยืนถือเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศไทย30

การใช้อำนาจรัฐในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยเจ้าหน้าที่รัฐย่อมส่งผล

กระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกฝ่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงความยุติธรรมและรักษาความสงบสุขของสังคม ทั้งต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานและสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของหลักสิทธิ

มนุษยชน โดยมนุษย์ทุกคนที่เกิดมานั้นมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน การลดคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือการดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้  การดำเนินคดีที่เป็นธรรม (Rights to Fair Trial) เป็นหลักการพื้นฐานของความยุติธรรมและสันติภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นเครื่องมือที่จะป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจ (Abuse of Power) เป็นหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับการปฏิบัติด้วยกระบวนการทางกฎหมายที่แน่นอน คาดหมายได้และเป็นธรรมซึ่งเป็นหลักการพื้นฐาน

ของหลักการปกครองโดยกฎหมายหรือที่รู้จักกันว่าหลักนิติธรรม (The Rule of Law)31

30.ประพิน  นุชเปี่ยม  “การเข้าถึงความยุติธรรมและธรรมาภิบาล” ชุดวิชา การพัฒนามนุษย์ในบริบทโลก หน่วยที่14 คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

31น้ำแท้ มีบุญสล้าง “หลักการพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ.2557

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 3ได้มีข้อมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นเอกสารประวัติศาสตร์รากฐานและเป็นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนถือเป็นมาตรฐานที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ร่วมกันจัดทำเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนทั่วโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสี่สิบแปดประเทศแรกที่ลงคะแนนเสียงร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สาระสำคัญของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จะประกอบไปด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิ ผนวกกับเรื่องหน้าที่และการตีความรวมทั้งสิ้น 30 มาตรา ในทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนได้จำแนกสิทธิในปฏิญญาสากลฯ ที่สำคัญออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Civil and Political Rights) และสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม (Economic, Social and Culture Rights)32 มีทั้งหมด 30 ข้อบท แบ่งได้เป็น 4  ส่วน (1) เจตนารมณ์และหลักการ ปรากฏตามคำปรารภ (Preamble) และข้อ 1-2  (2) สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นสิทธิที่จำเป็นและสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ (สิทธิที่มีมาแต่ดั่งเดิม) ปรากฏตามข้อ  3-21 (3)  สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นสิทธิที่ทำให้มนุษย์สะดวกสบายในการดำรงชีวิต  (สิทธิที่มีมาแต่ภายหลัง) ปรากฏตามข้อ 22-27 (4) ข้อบังคับและการบังคับใช้ปรากฏตามข้อ 28-30 ส่วนเจตนารมณ์และหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย (1) ศรัทธาต่อสิทธิมนุษยชนว่าจะเป็นรากฐานแห่งเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพ (freedom, justice and peace) (2) สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่มีมาแต่กำเนิด  เสมอภาค และโอนให้แก่กันมิได้ (3)  รัฐต้องมีมาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (4) การบริหารราชการแผ่นดิน การบัญญัติกฎหมาย และการใช้กฎหมายต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม  (5) รัฐที่กระทำต่อพลเมืองขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนได้ชื่อว่าเป็นรัฐทรราช  (6) ขอบเขตของคำว่า "รัฐ" ขยายตัวออกไปสู่ทุกองคาพยพของสังคม เริ่มจากตนเอง ครอบครัว คนใกล้ชิด หมู่บ้าน ชุมชน สังคม ประเทศ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ทั้งภาครัฐและเอกชน กล่าวคือ ทุกองคาพยพของสังคมต้องอยู่ภายใต้บริบทแห่งสิทธิมนุษยชน

32จรัญ โฆษณานันท์, สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน, หน้า 289-293.

นอกเหนือจากการแบ่งประเภทสิทธิอย่างกว้างดังกล่าวแล้ว ศาสตราจารย์เรเน แค

สซิ่น (Rene Cassin) ซึ่งเป็นตัวแทนชาวฝรั่งเศสและมีบทบาทอย่างสำคัญในการร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและได้รับการยกย่องให้เป็นเสมือนบิดาของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Father of the Declaration)33โดยแบ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน34 ประเภทของสิทธิมนุษยชน แบ่งได้ 5 ประเภท35 ได้แก่

1. สิทธิพลเมือง (Civil Rights) ได้แก่ สิทธิในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพและความมั่นคงในชีวิต ไม่ถูกทรมาน ไม่ถูกทำร้ายหรือฆ่า สิทธิในความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย สิทธิที่จะได้รับสัญชาติ เป็นต้น

2. สิทธิทางการเมือง (Political Rights) ได้แก่ สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นพรรคการเมือง เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ สิทธิการเลือกตั้งอย่างเสรี

3. สิทธิทางสังคม (Social Rights) ได้แก่ สิทธิการได้รับการศึกษา สิทธิการได้รับหลักประกันด้านสุขภาพ ได้รับการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างเต็มที่ ได้รับความมั่นคงทางสังคม มีเสรีภาพในการเลือกคู่ครอง และสร้างครอบครัว เป็นต้น

4. สิทธิทางเศรษฐกิจ (Economic Rights) ได้แก่ สิทธิการมีงานทำ ได้เลือกงานอย่างอิสระ และได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เป็นต้น

  5. สิทธิทางวัฒนธรรม (Cultural Rights) ได้แก่ การมีเสรีภาพในการใช้ภาษาหรือสื่อความหมายในภาษาท้องถิ่นของตน มีเสรีภาพในการแต่งกายตามวัฒนธรรม การปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของตน การปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา การพักผ่อนหย่อนใจทางศิลปวัฒนธรรมและการบันเทิงได้โดยไม่มีใครมาบีบบังคับ เป็นต้น

คุณค่าสากลแห่งสิทธิมนุษยชน (core values) แบ่งได้เป็น (1) การไม่เลือกปฏิบัติ (non discrimination) คือ การที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมี

33Antonio Cassese, “Human Rights in a Changing World”, Op.cit., p.38; Imre Szabo,

“Historical Foundation of Human Rights and Subsequent Development”, Op.cit., p.23.

34Antonio Cassese, “Human Rights in a Changing World”, Op.cit., p.38-39.

35กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กรกฎาคม 2551 ออนไลน์ สืบค้นได้จาก http://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/udhr-th-en.pdf  20-2-2562

ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศภาษา ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง สถานภาพทางการเกิดหรือสถานภาพอื่น แต่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกัน ให้เกียรติกัน (respect) และยอมรับว่าผู้คนในสังคมล้วนมีความแตกต่าง หลากหลาย (diversity) การไม่เลือกปฏิบัติกับบุคคลในทุก ๆ ชนชาติ สีผิว เชื้อชาติที่กำเนิด อายุความพิการหรือเพศ Covered California ไม่ได้ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลใดหรือปฏิบัติต่อบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างแตกต่างเพียงเพราะไม่เหมือนกันในเรื่องของเชื้อชาติสีผิวชาติกำเนิด อายุความพิการหรือเพศ (2) หลักความยุติธรรม (justice) คือการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรมจากการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริงด้วย (3) หลักความเสมอภาค เท่าเทียม (equity) คือ การปฏิบัติต่อทุกคนโดยเท่าเทียมกัน การให้โอกาส การไม่แบ่งแยกและการไม่เลือกปฏิบัติอย่างไมเป็นธรรม (4) หลักเสรีภาพ (freedom) หมายถึง ความอิสระที่จะกระทำหรือไม่กระทำโดยอิสระไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลอื่น (5) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) คือ การให้คุณค่าแก่ความเป็นคนว่า คนทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน เป็นสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ใครจะละเมิดไม่ได้ และไม่สามารถ่ายโอนให้แก่กันได้ สิทธินี้คือสิทธิในการมีชีวิตและมีความมั่นคงในการมีชีวิตอยู่ คนทุกคนที่เกิดมาบนโลกมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการปฏิบัติต่อกันของผู้คนในสังคมจึงต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ห้ามทำร้ายร่างกาย ทรมานอย่างโหดร้าย หรือกระทำการใดๆ ที่ถือเป็นการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ (6) หลักการไม่ใช้ความรุนแรง  (nonviolence) คือ การปฏิบัติต่อกันอย่างสันติวิธี ฉันท์พี่น้อง ไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา ดังนั้น กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหมดความชอบธรรม

ปัจจุบันการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่ทั่วโลก

กำลังให้ความสนใจที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความไม่เสมอภาคและการเลือกปฏิบัติของคนในสังคม รัฐจึงต้องรีบแก้ไข สร้างโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและขจัดการเลือกปฏิบัติให้เร็วที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค โดยรัฐและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันดำเนินการให้ความช่วยเหลือและวางมาตรการให้ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเร่งรัดการดำเนินคดีและการปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้สิ้นสุดโดยรวดเร็วที่สุด

หมายเลขบันทึก: 676382เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2020 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2020 12:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท