ปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา


บทนำ

จากตารางแสดงผลการดำเนินงานของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤตมิชอบทั่วราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ.  2560  หน่วยงานที่ถูกฟ้องอันดับ หนึ่ง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจอาจยังมีการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะสิทธิของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนของไทยนั้น อาจยังมิได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร ซึ่งยังไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องดังนี้

1.1 สิทธิตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหา

การจับกุม เป็นขั้นตอนในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และกระทบกระเทือนต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การดำเนินคดีกับผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดเกิดจากการขาดกระบวนการกลั่นกรองในชั้นจับกุมของพนักงานสืบสวนฝ่ายตำรวจ จึงควรมีการตรวจสอบการจับกุมเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชน

1.2 สิทธิของผู้ต้องหาชั้นสอบสวน

        พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจต้องรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับความผิดที่ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาและ เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา แต่ระบบการสอบสวนที่บกพร่อง จำเลยอาจถูกสั่งจำคุกและสูญเสียอิสรภาพ หรืออาจถูกประหารชีวิต

1.3 สิทธิการมีทนายความของผู้ต้องหา

    ทนายความมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมและผู้ต้องหาทุกคนควรได้รับการแต่งตั้งทนายความเพื่อช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

แต่สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาของไทย อาจยังคงมีความบกพร่อง ควรต้องมีการตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ไม่มีหมายจับ ผู้ต้องหาชั้นสอบสวน

ที่ต้องให้โอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนรวมทั้งสิทธิในการมีทนายความของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ควรจะต้องใช้ “หลักสิทธิเด็ดขาด”

2 วัตถุประสงค์ของการศึกษา

2.1. เพื่อศึกษาความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

2.2  เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

2.3  เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ของปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาตามกฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศ

2.4   เพื่อวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

2.5 เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและเสนอรูปแบบที่เหมาะสมกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา รวมทั้งเสนอปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

3. สมมติฐานของการศึกษา

กฎหมายของไทยนั้นแม้จะมีบทบัญญัติชัดเจนในเรื่องมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ บทบัญญัติดังกล่าวที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องในคดีอาญา

4. ขอบเขตการศึกษา

เกี่ยวกับแนวความคิด ประวัติความเป็นมา และหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาตามหลักกฎหมายของไทยเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศเป็นสำคัญ

5. วิธีการดำเนินการศึกษา

ค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร (Documentary Research)  ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ

6. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษา

6.1. ทำให้ทราบความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

6.2 ทำให้ทราบถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

6.3 ทำให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ของปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาตามกฎหมายของต่างประเทศและประเทศไทย

6.4   ทำให้ทราบถึงปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

6.5   ทำให้ทราบถึงแนวทางแก้ไขปัญหาและเสนอรูปแบบที่เหมาะสมกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา รวมทั้งเสนอปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

วิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

ปัญหาดังกล่าวอาจมาจาก “ดุลพินิจ”ตั้งแต่ชั้นสอบสวน อัยการ และศาล จำเป็นต้องนำหลัก “สิทธิเด็ดขาด” มาใช้ปรับบทบัญญัติตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนที่มีฐานะยากจน ไม่รู้ซึ่งบทบัญญัติหรือข้อกฎหมายและอาจเป็นความล้มเหลวของรัฐในด้านการจัดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  โดยวิเคราะห์จากปัญหาดังนี้

สิทธิตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหา

การจับ เป็นมาตรการสำคัญเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชนมากที่สุด การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้พ้นจากการถูกจับโดยอำเภอใจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากการจับโดยไม่มีหมายจับ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์และกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

สิทธิของผู้ต้องหาชั้นสอบสวน

การสอบสวนคือการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิด และเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ การสอบสวนคดีอาญาโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจซึ่งใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามกฎหมายอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหามีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้เช่นเดียวกับผู้กล่าวหา

สิทธิการมีทนายความของผู้ต้องหา

ทนายความเป็นนักกฎหมายวิชาชีพหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมของสถาบันกฎหมาย อันประกอบไปด้วย ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ราชทัณฑ์ และทนายความ จึงควรกำหนดการมีทนายความให้เป็น” สิทธิเด็ดขาด”

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยน่าจะมีความบกพร่อง  เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์และกระทำการละเมิดสิทธิ ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องติดคุกเสียอิสรภาพและชื่อเสียง ต้องถูกรัฐดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม จากการศึกษาปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา ผู้เขียนสามารถสรุปปัญหาได้ดังนี้

สิทธิตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหา

การจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมักเกิดจากการจับโดยไม่มีหมายจับของศาลซึ่งการจับประเภทนี้จะผูกพันกับความผิดซึ่งหน้าซึ่งกฎหมายกำหนดไว้อย่างกว้าง จึงยากที่จะควบคุมการจับกุมให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงควรมีการตรวจสอบเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชน

สิทธิของผู้ต้องหาชั้นสอบสวน

การบังคับ ข่มขู่ กดดัน การซ้อมทรมานหรือการไม่แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาชั้นสอบสวนหรือการหลอกล่อให้ผู้ต้องหาเขียนคำรับสารภาพยังคงมีปรากฏให้เห็น จึงควรมีบทบัญญัติของกฎหมายให้เป็นสิทธิเด็ดขาดและชัดเจน

 สิทธิการมีทนายความของผู้ต้องหา

แม้ว่าผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบปากคำ แต่ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจมักไม่แจ้งสิทธิให้ทราบก่อนการสอบปากคำจนผู้ต้องหาไม่เข้าใจและไม่ทราบสิทธิในการมีทนายความหรือผู้ซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบปากคำ

ดังนั้นจากการศึกษาค้นคว้ามาแล้ว ผู้เขียนขอนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้

สิทธิตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหา

เห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติม (5) (6) ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา โดยการเพิ่มข้อความดังนี้ (5)  ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันที  ทั้งนี้ ภายในเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาผู้ถูกจับจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย

(6) เมื่อผู้ต้องหาอยู่ต่อหน้าศาลในขณะที่พนักงานสอบสวนต้องขออำนาจ

ศาลฝากขัง ให้ศาลตรวจสอบว่าเป็นผู้ต้องหา ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ การจับและการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการจับเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป

สิทธิของผู้ต้องหาชั้นสอบสวน

โดยเห็นสมควรเพิ่มเติมข้อความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 131 วรรคสอง ดังนี้ ในการพิสูจน์ให้เห็นความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและบันทึกข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ตามที่ผู้ต้องหาประสงค์

สิทธิการมีทนายความของผู้ต้องหา

โดยเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมและตัดทอนข้อความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 134/1 วรรคแรกและวรรคสาม ดังนี้ มาตรา 134/1  ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือในคดีที่มีอัตราโทษปรับขั้นต่ำหนึ่งแสนบาท …..

เมื่อได้จัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง วรรคสองแล้ว ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากทนายความไม่อาจมาพบผู้ต้องหาได้ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้พนักงานสอบสวนทราบหรือแจ้งแต่ไม่มาพบผู้ต้องหาภายในเวลาอันสมควร ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาไปได้โดยไม่ต้องรอทนายความ แต่พนักงานสอบสวนต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวนและต้องจัดหาทนายความมาลงชื่อยอมรับในการสอบสวนในภายหลังด้วย           

หมายเลขบันทึก: 676380เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2020 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2020 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท