เสียงจากคนค่าย : จากใจ “คนทำสอยดาว” (เกศรินทร์ ภักดีวงค์)


ค่ายนี้แตกต่างจากค่ายที่ผ่านมาค่อยข้างมาก นับตั้งแต่การที่หนูได้รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนมากกว่าครั้งก่อน หนูได้ประสบการณ์ตรงจากการทำงานด้วยตนเองมากขึ้น ถึงแม้คนมาร่วมค่ายไม่เยอะ มีเวลาทำงานน้อย แต่ทั้งจำนวนคนและเวลาที่จำกัด กลับเป็นข้อดีที่สอนให้หนูได้พัฒนาตนเองมากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเป็นผู้นำที่ต้องอดทน รับผิดชอบ และต้องสร้างความสามัคคีให้เกิดกับหมู่คณะ รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ภายในค่ายร่วมกันอย่างเป็นระบบ

ไปค่ายครั้งนี้ หนูได้รับมอบหมายให้เป็นแกนนำจัดกิจกรรมเรื่อง “สอยดาว”  เดิมคิดหนักพอสมควร  เพราะไม่แน่ใจว่าจะไปค่ายได้หรือไม่ เพราะติดเรียนและงานในวิชาเรียนก็เยอะมาก จึงคิดแค่ว่าช่วยเตรียมงานต่างๆ เป็นคนข้างหลังน่าจะดีกว่า  แต่ท้ายที่สุดโชคดีมาก ทั้งเรียนและงานคลี่คลายลง จึงได้ไปค่าย

ค่ายครั้งนี้มีชื่อว่า “ค่ายต้านลมหนาวสานปัญญา : จิตอาสาเรียนรู้คู่บริการ”  จัดขึ้นในวันที่ 13-15 มีนาคม 2563 ณ โรงเรียนบ้านหนอง ตำบลบ้านม่วง จังหวัดหนองคาย 

เหตุที่เรียกค่าย “ต้านลมหนาวสานปัญญา” ก็เพราะว่าเป็นค่ายต่อเนื่องจากที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคมเคยไปจัดมาแล้วในช่วงหน้าหนาว จากนั้นก็จะไปจัดต่อเนื่องอีกครั้ง แต่ด้วยเหตุผลหลายข้อจึงเลื่อนมาเรื่อยๆ 

ส่วนคำว่า “สานปัญญา” เท่าที่ฟังมาก็หมายถึงการไปเติมความพร้อมด้านการศึกษาของนักเรียน ผ่านลานกีฬาอเนกประสงค์ การสร้างลาน BBL การเขียนป้ายสำนาวนสุภาษิต การมอบอุปกรณ์การเรียนการสอนและกีฬาให้กับโรงเรียนและชุมชน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หนูได้มาที่นี่ ครั้งแรกมาออกค่ายทำทางเดินขึ้นภูหนอง  ครั้งที่สองมาสำรวจพื้นที่กับที่ปรึกษาโครงการ (พี่พนัส ปรีวาสนา) และครั้งนี้คือครั้งที่สาม

ค่ายอาสาพัฒนาในครั้งนี้  หนูเป็น “แกนนำ” ในเรื่องกิจกรรม “สอยดาว” ที่เดิมไม่มีใครอาสาที่จะทำงานในสายนี้ พอไม่มีคนอยากทำ หนูเลยอาสาที่จะทำงานนี้ด้วยตนเอง

“พี่บิ๊ก” หนึ่งในแกนนำที่รับผิดชอบค่ายครั้งนี้บอกกับหนูว่า “พี่พนัส” แนะนำในทำนองว่า แทนที่จะแจกสิ่งของต่างๆ ก็ให้จัดในรูปแบบการสอยดาวระดมทุนเข้าวัดและโรงเรียน จะได้เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับคนในชุมชน ดีกว่า “ให้” ในแบบ “แจก” หรือที่เรียกๆ กันว่า “สงเคราะห์” 

พอได้ฟังแบบนั้นก็พอเข้าใจในเจตนารมณ์มากขึ้น  คิดในมุมบวกว่าแม้จะไม่เคยจัดกิจกรรมสอยดาวในค่าย  แต่หนูก็เคยจัดกิจกรรมสอยดาวในวัดมาแล้วก็น่าจะประยุกต์ใช้ด้วยกันได้  นั่นคือสิ่งที่หนูคิด – คิดในแบบให้กำลังใจตัวเองไว้ก่อน

จะว่าไปแล้ว งานที่ได้รับมอบหมายอาจจะดู “ง่ายๆ” ในสายตาคนอื่น  แต่สำหรับหนู มันไม่ง่ายเลยนะคะ เพราะเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน  แต่หนูก็อยากจะทำงานให้งานออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่หนูจะทำได้  เพราะจากค่ายที่ผ่านๆ มา หนูเป็นเพียง “ผู้ตาม”มาโดยตลอด  ซึ่งปกติหนูจะเป็นคนไม่ค่อยกล้าพูดกับคนอื่น หนูจะพูดแต่กับเฉพาะเพื่อน พี่ หรือน้องที่สนิทกันเท่านั้น  พอมารับหน้าที่นี้จึงกลายเป็นความท้าทายใหม่ของหนู

การเตรียมงานสอยดาว พวกเราเตรียมกันไม่กี่คน เช่น พี่มดเอ็กซ์ พี่บิ๊ก พี่แบ็งค์

เหตุที่เตรียมงานกันเพียงไม่กี่คน ไม่ใช่เพราะเราปิดกั้น แต่เพราะคนไปค่ายมีไม่เยอะ จึงต้องใช้คนเท่าที่มีอยู่ให้ดีและคุ้มค่าที่สุด  ส่วนเหตุผลที่คนไปค่ายอาสาพัฒนาไม่เยอะ  ไม่ใช่ว่านิสิตไม่อยากไปค่ายกับพวกเราหรอกนะคะ  แต่เพราะติดเรียน  ติดทำงานส่ง ที่สำคัญคือกลัวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมถึงคณะกรรมการศูนย์ประสานงานฯ มีมติลดจำนวนคนลง เพื่อมิให้สุ่มเสี่ยงในสถานการณ์ของเชื้อโควิด-19

การเป็น “ผู้นำค่าย”ไม่ใช่ท้าทายแค่เรื่องที่หนูไม่ค่อยกล้าพูด กล้าคุย กล้าตัดสินใจเท่านั้น  แต่ข้อจำกัดของงบประมาณก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของหนู  พวกเราจึงออกแบบที่จะนำเสื้อผ้ามือสองสภาพดีมาเป็นรางวัล ขอรับบริจาคตุ๊กตา หรืออื่นๆ จากนิสิต  ชวนเพื่อนๆ ที่เป็นกรรมการศูนย์ฯ ซื้อหรือนำสิ่งของมาบริจาค พร้อมๆ กับการออกรับบริจาคที่ตลาดน้อยอันเป็นโรงอาหารของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม –

แต่เอาเข้าจริงๆ ยิ่งใกล้วันที่จะไปค่าย ปัญหาแรกๆ ที่พบก็คือข้าวของที่มีก็มีแค่เสื้อผ้าเป็นหลัก เพราะพวกเรายังไม่ได้ไปขอรับบริจาคอย่างเต็มตัวแต่โชคดีมากที่ก่อนการเดินทางหนึ่งวัน น้องๆ และพี่ๆ ส่วนหนึ่งได้ออกไปขอรับบริจาคจากร้านต่างๆ ที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นดินสอสี  ตุ๊กตา ของเล่นของใช้

สิ่งที่ได้มา ไม่ใช่แค่จะมาทำสอยดาวเท่านั้น แต่มากพอที่จะแบ่งไปมอบให้กับทางโรงเรียนได้ด้วยอีกต่างหาก

นี่คือสิ่งที่หนูเรียนรู้ว่าคนทุกคนต้องช่วยกัน เรื่องจิตอาสาเป็นเรื่องดีงาม เราต้องไม่อายที่จะทำ คนหลายคนอยากทำแต่ไม่มีโอกาส  พอเห็นเราไปขอรับบริจาคก็มอบสิ่งของให้เป็นจำนวนมาก เขาได้ทำบุญ เราก็เป็นสะพานบุญให้กับพวกเขา นี่คือจิตอาสาง่ายๆ นี่คือการทำดีง่ายๆ ขอให้ “มีใจ” เป็นพอ

กระนั้นก็ต้องขอบคุณน้องๆ พี่ๆ ที่เสียสละเวลาไปขอรับบริจาคข้าวของแทนหนู จนช่วยให้มีสิ่งของมาจัดกิจกรรม ไม่เช่นนั้นหนูคงแย่แน่ๆ

ก่อนการเดินทางพวกเราบรรจุสิ่งของลงในกล่อง  แต่ละกล่องเขียนประเภทของสิ่งของไว้ชัดเจน  จะได้ง่ายต่อการนำออกมาใช้ ที่เหลือคือการไปจัดหาหมู่บ้าน เช่น  กิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่จะใช้เป็นที่ผูกสลากสอยดาว

กิจกรรมสอยดาวจัดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 15 มีนาคม 2563 ณ วัดป่าบ้านโนนสว่าง  ที่ต้องจัดในช่วงเช้าก็เพราะเรื่องเจ้าโรคโกวิด-19 นั่นแหละที่ทำให้เราไม่สามารถจัดกิจกรรมภาคกลางคืนในค่ายได้  จึงยกมาจัดกันที่วัด  ซึ่งเป็น “แผนสอง” ที่เราและอาจารย์ที่ปรึกษาได้วิเคราะห์ไว้ล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยระดมทุนผ่านการสอยดาวได้เกือบๆ จะ 6 พันบาทเลยทีเดียว

สำหรับหนูแล้ว ค่ายนี้แตกต่างจากค่ายที่ผ่านมาค่อยข้างมาก  นับตั้งแต่การที่หนูได้รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนมากกว่าครั้งก่อน  หนูได้ประสบการณ์ตรงจากการทำงานด้วยตนเองมากขึ้น  ถึงแม้คนมาร่วมค่ายไม่เยอะ มีเวลาทำงานน้อย  แต่ทั้งจำนวนคนและเวลาที่จำกัด กลับเป็นข้อดีที่สอนให้หนูได้พัฒนาตนเองมากกว่าที่ผ่านมา  โดยเฉพาะการเป็นผู้นำที่ต้องอดทน รับผิดชอบ และต้องสร้างความสามัคคีให้เกิดกับหมู่คณะ รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ภายในค่ายร่วมกันอย่างเป็นระบบ

เช่นเดียวกับการได้เรียนรู้วิธีการสอนของอาจารย์ที่ปรึกษาที่พยายามสอนให้หนูคิดและทำอะไรๆ ด้วยตนเองให้มากที่สุด  แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การนับจำนวนเงินสอยดาว การยืดหยุ่นเวลา การดูแลชาวบ้านที่เข้ามาสอยดาว วิธีชักชวนคนมาระดมทุน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่หนูสัมผัสได้ว่ากำลังถูกสอนในทำนองนั้น

และที่หนูประทับใจมากอีกเรื่องก็คือ ค่ายนี้เป็นอะไรที่ง่ายๆ ไม่มีกฎค่ายให้เคร่งเครียด เน้นแต่ละคนทำหน้าที่ตนเองให้เต็มที่ ซึ่งก็เห็นชัดว่าทุกคนพยายามเต็มที่และเมื่อว่างแล้วก็มาช่วยงานกันอย่างไม่อิดออด นี่คืออีกเรื่องที่หนูประทับใจ


นางสาวเกศรินทร์ ภักดีวงค์
ประธานฝ่ายกิจกรรมสอยดาว
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 676215เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2020 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2020 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท