“...มา... ผ่านมาแล้วแวะตรงนี้ก่อน ... ดีใจจริงๆ มาเยี่ยมกันถึงเรือน ฉันเป็นคนบางกอกน้อย วันนี้จะพาไปเยี่ยมชมให้ทั่วทีเดียว...” หากใครแวะเวียนมาเที่ยวถึงพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานแล้วละก็ จะได้ยินเสียงทักทายของคุณหลวง ข้าราชการชาวบางกอกน้อย ท่านให้เกียรติเป็น มัคคุเทศก์ มาเล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คนในละแวกชุมชนนี้ ให้ผู้ที่ผ่านมาเยี่ยมเยือนได้ฟัง เพราะบางกอกน้อยเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งไทยพุทธ จีน และมุสลิม ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คุณหลวงยังเล่าต่ออีกว่า...
“...สุนทรภู่ ท่านเป็นคนวังหลัง เป็นกวีเอกของโลกเชียวนา ... ไปฟังเสียงขับโคลงกลอนที่บ้านท่านกันด้วยนะ” ...จากนั้นไฟส่องสว่างไปยังส่วนจัดแสดงบ้านสุนทรภู่ ตามด้วยเสียงทำนองเสนาะ คลอเบาๆ ซึ่งผู้ชมสามารถรับฟังบางส่วนของบทประพันธ์ร้อยกรอง ที่ได้ชื่อว่าเป็น วรรคทองของสุนทรภู่ จากจอสัมผัส (Touchscreen)
เมื่อเอ่ยถึง “สุนทรภู่” น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักมหากวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเกิดในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่๑ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๘ปี มะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลาล่วงมา ๒๓๐ ปีแล้ว อย่างที่คุณหลวงเล่า...สุนทรภู่ เกิดที่วังหลังบ้านอยู่เรือนแพปากคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ในวัยเด็ก ท่านเรียนหนังสือที่วัดชีปะขาวปัจจุบันคือวัดศรีสุดาราม แม่ของท่านเป็นนางนมในพระธิดา ของกรมพระราชวังหลัง ความฉลาดและความสามารถในการอ่านเขียนฉายแววมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้น ท่านเข้ารับราชการในกรมวังหลัง หลังจากกรมพระราชวังหลังทิวงคต สุนทรภู่อายุราว ๒๓ ปี โอนไปรับราชการในวังหลวงซึ่งตรงกับแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ ในตำแหน่ง “ขุนสุนทรโวหาร” นักปราชญ์ราชบัณฑิต ในกรมพระอาลักษณ์
ต่อมาได้เป็น “พระสุนทรโวหาร” ราชบัณฑิตในกรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่นั่น ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ตลอดชีวิตของสุนทรภู่ได้ประพันธ์วรรณกรรมไว้มากมาย ผลงานหลายเรื่องของท่านได้รับเลือกให้บรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาวรรณคดี-ภาษาไทย ทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา อาทิ นิราศสุพรรณ นิราศพระบาท บทขับเสภาขุนช้างขุนแผน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องพระอภัยมณีวรรณคดีคลาสสิกที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านจำนวนมากมาตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน เรื่องพระอภัยมณี ได้รับการยกย่องให้เป็นยอดวรรณคดีชิ้นเอกประเภทกลอนนิทาน ที่มีคุณค่าด้านวรรณศิลป์ ทั้งความไพเราะสนุกสนาน แฝงไปด้วยคติสอนใจที่ทันสมัยไม่เคยตกยุค
”...โรงหุ่นเขาเล่นเรื่องพระอภัยมณีกันอยู่นะดูบ่อยๆไม่เบื่อเลย...”คุณหลวงสาธยายต่อจากนั้นแสงไฟ ก็ส่องสว่าง ไปที่ ส่วนจัดแสดงโรงหุ่นกระบอก เสียงเพลงเชิดหุ่นกระบอกดังแว่วมา
ฝั่งขวาถัดมาจากหน้าบ้านสุนทรภู่เป็นโรงหุ่นกระบอกขนาดย่อมของนายเปียก ประเสริฐกุลแห่งบ้านขมิ้น ตรงกลางมีที่ให้ผู้ชมนั่งชมการแสดง และมีหุ่นกระบอก ตัวละครจากเรื่องนี้ วางให้ชมอยู่หน้าโรงหุ่นด้วย
พิพิธภัณฑ์ศิริราช ได้นำเรื่องราวของสุนทรภู่มาจัดแสดงในส่วนของชุมชนบางกอกน้อย เพื่อสดุดีเกียรติคุณผลงานของท่านที่ได้สร้างสรรค์มรดกวัฒนธรรมในเชิงวรรณศิลป์อันทรงคุณค่าให้ เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวโลก โดยองค์การศึกษาวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์แห่ง สหประชาชาติ (UNESCO) ยกย่องให้สุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทย ที่ มีผลงานดีเด่นทาง ด้านวัฒนธรรมประจำปี๒๕๒๙ นอกจากนี้ ผู้ชมที่สนใจยังสามารถเดินอ่าน ป้ายจำหลักข้อความบนแผ่นทองแดง แสดงเรื่องราวที่เกี่ยวกับผลงานของสุนทรภู่ท่ามกลาง บรรยากาศสบายๆ เลียบเลาะริมคลองบางกอกน้อยได้อีกด้วย
หมายเหตุ งานในหน้าที่กรมพระอาลักษณ์ เกี่ยวข้องกับหนังสือราชการสำคัญในราชสำนักยุคนั้น เช่น ร่างราชโองการ หมายรับสั่ง ตลอดจนชำระพระราชพงศาวดารกับถวายรายงานเรื่องราวต่างๆ ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมฯลฯ
อ้างอิง
1.สุนทรภู่ ในประวัติศาสตร์สังคมรัตนโกสินทร์ มุมมองใหม่ : ชีวิตและผลงาน
2.บทบรรยายเรื่องสุนทรภู่ ในคู่มือนำชมพิพิธภัณฑ์ศิริราช
3.สิริรัตนกวี
4.สุนทรทรรศน์ : นัยพินิจผ่านชีวิตและงานสุนทรภู่
5.สุนทรภู่เกิดวังหลัง ผู้ดีบางกอก มหากวีกระฎุมพี มีวิชารู้เท่าทันโลก
#พิพิธภัณฑ์ศิริราชมีมากกว่าที่คุณคิด #26มิถุนายน #วันสุนทรภู่
ไม่มีความเห็น