ประชาธิปไตยกับการใช้อำนาจ


ประชาธิปไตยกับการใช้อำนาจ      Democracy Action

กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย ทั้งรูปแบบทางการปกครอง ทั้งการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยภาคประชาชน ผ่านเส้นทางและเวลาที่ยาวนาน แต่ทว่าในสังคมไทยวันนี้ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยอยู่อีกมากมายและหลายแง่หลายมุม โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยทั้งหลาย ทั้งกลุ่มคนภาคการเมืองในระบบ กลุ่มคนการเมืองภาคประชาชน และกลุ่มกลไกอำนาจรัฐ ต่างให้ความสำคัญตามแนวคิดประชาธิปไตยของตนเองเป็นหลัก ในขณะที่รูปแบบการปกครองประชาธิปไตยในสังคมไทยเดินทางผ่านมามากกว่า 80 ปี แม้ว่าระยะทางที่ผ่านมามากว่าครึ่งสังคมไทยจะถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยมก็ตาม  และผ่านการใช้รัฐธรรมนูญใช้มาถึง 20 ฉบับ นับได้ว่ามีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆของโลก หรืออาจเป็นด้วยเหตุนี้จึงทำให้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยของผู้คนหลากหลายในสังคมเราไม่ค่อยจะตรงกัน

ในความเป็นจริงประชาธิปไตยเป็นรูปแบบทางการปกครองที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล หากจะนำหลักการในอดีตมาเปรียบเทียบกับโลกปัจจุบันคงไม่ได้ทั้งหมดเสียที่เดียว  และหากจะตีความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" ไปตามที่ตนคิดตนเข้าใจตามหลักการว่าถูกต้องแล้ว โดยไม่นำเอาหัวใจหรือแก่นแกนของประชาธิปไตยมาเป็นหลักของความหมายแล้ว  สิ่งที่คิดว่านั้นคือหลักการที่ถูกต้องที่สุด ก็ไม่น่าจะครอบคลุมความหมายทั้งหมด ดังนั้นจึงขอยกคำกล่าวของ อริสโตเติล ที่อธิบายเรื่องของประชาธิปไตยไว้ว่า  "Democracy is when the indigent, and not the men of property, are the rulers".....Aristotle  ซึ่งมีความหมายถึง การปกครองที่คนทุกชนชั้นมีสิทธิ์เข้าถึงการปกครองนั้น โดยผ่านการแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างเสรีภาพของคนจนและทรัพย์สินของคนรวย เพื่อเป็นการแบ่งอำนาจการปกครอง และเมื่อนำมาอธิบายถึงแก่นแกนของหลักการประชาธิปไตย 3 ส่วนคือ

1.หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (Sovereignty of people)หมายถึงประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ แต่ในกระบวนการปกครอง การเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของอำนาจคือประชาชนและผู้ใช้อำนาจคือผู้ปกครองรัฐ โดยสามารถสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ดังนั้นการได้มาซึ่งผู้มีอำนาจของรัฐ จำเป็นต้องมาจากกระบวนการที่มีรูปแบบหลากหลาย แตกต่างกันตามวัฒนธรรมทางสังคมของแต่ละรัฐ ซึ่งความเหมาะสมในการออกแบบความเชื่อมโยงของอำนาจ จำเป็นต้องคำนึงหลักความเห็นต่างใน 2 ด้านเสมอ เช่นรูปแบบของการเลือกตั้งที่มีผลคะแนนทั้งการเลือกตั้ง (Electoral Vote) และความนิยม (Popular Vote) หรือ กระบวนการสรรหา การคัดสรร โดยทางตรงหรือทางอ้อม (Recruiting) โดยผ่านการใช้ทฤษฎีสร้างสมมติฐาน อุปนัย / นิรนัย (inductive / deductive) ก็ล้วนเป็นรูปแบบในการสร้างกระบวนการปกครองทั้งสิ้น แต่สาระสำคัญของหลักการอำนาจอธิปไตยในข้อนี้ ต้องสามารถอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของอำนาจคือประชาชน และผู้ใช้อำนาจคือผู้ปกครองรัฐ โดยกระบวนการใช้อำนาจบนพื้นฐานของหลักแห่งคุณธรรม / จริยธรรม (ethics) ได้อย่างมีเหตุผลและสอดคล้อง

2.หลักความเสมอภาค (Equality) หมายถึง ทุกคนเกิดมามีความเท่าเทียมกันในสังคม หลักการนี้ให้สำคัญที่ความเท่าเทียมของคน ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดมามีความแตกต่างทั้งสริระและกายภาพเช่น ชายหญิง ผิวสีเชื้อชาติ สติปัญญาความสามารถ แต่ทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเสมอโดย อริสโตเติลกล่าวว่า “ไม่ว่าคนจะมีทรัพย์สินหรือไม่มีทรัพย์สินใดๆ แต่ทุกคนก็ยังต้องมีความเสมอภาพ” เช่นนั้นแล้วความเสมอภาพของมนุษย์ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง มีสาระสำคัญอยู่ที่การทำให้ประชาชนในรัฐมีโอกาสการเข้าถึงปัจจัยด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ผู้นำรัฐไม่สามารถได้ทำให้ประชาชนมีทรัพย์สินเสมอภาคกัน แต่ผู้นำรัฐต้องทำให้ประชาชนในรัฐเข้าถึงปัจจัยต่างๆ โดยเท่าเทียมกัน โดยหลักความเป็นธรรม

3.หลักนิติธรรม (Rule Of Law)  หมายถึงหลักการของกฎหมายที่มีความเป็นธรรม เป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องสามารถทำให้คนทั้งสังคมอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข อริสโตเติลเห็นว่า “หลักนิติธรรมเป็นสิ่งสำคัญของรัฐ เพราะการปกครองด้วยเหตุผล มีความสมเหตุสมผลมากกว่าการใช้หลักของกฎหมายเพียงอย่างเดียว หรือหลักนิติรัฐ (Rule By law)” ที่ซึ่งรัฐและกลไกลระบบอำนาจรัฐส่วนใหญ่เคยชินกับการปกครองรัฐ ปกครองประชาชนในรัฐด้วยหลักกฎหมาย ดังนั้นหลักของนิติรัฐ คือแนวคิดการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตาม   และสร้างระเบียบทางสังคมตามแนวคิดแห่งรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐในรูปแบบประชาธิปไตย หรือรัฐในรูปแบบเผด็จการ ก็มีสภาพไม่ต่างกัน

การละเลยหลักการนิติธรรม  (Rule Of Law) หรือการใช้หลักการทางนิติศาสตร์ที่ปราศจากการผสมผสานหลักการทางรัฐศาสตร์ โดยใช้กฎหมายบังคับให้เกิดความยุติธรรมในสังคม มีแต่จะทำให้เกิดกรณีข้อพิพาททั้งระหว่างประชาชนกับรัฐ หรือ ประชาชนกับประชาชน ดังนั้นการสร้างมาตรฐานความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางปกครอง หรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือการสร้างการมีส่วนร่วมในการปกครอง และหลักกฎหมายกับหลักความเป็นธรรม ในโลกยุคปัจจุบันถือว่า การบริหารรัฐตามหลักสากลคือความหมายของ หลักการนิติรัฐนิติธรรม ที่เดินไปควบคู่กันอย่างเหมาะสม

ปัจจุบันในสังคมโลกมีรัฐจำนวนมากที่ใช้และยอมรับการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย แต่ในโลกของความเป็นจริง สังคมประชาธิปไตยแต่ละประเทศก็แต่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น ประชาธิปไตยในสิงคโปร์ ที่ผู้นำรัฐในรูปแบบประชาธิปไตย สามารถสืบทอดอำนาจต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 50 ปี จะมีฝ่ายค้านอยู่ก็น้อยมากและแทบไม่มีบทบาท แต่สิงคโปร์ยังสามารถสะท้อนแก่นแกนประชาธิปไตยสามด้านออกมาได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะ ความเสมอภาค หลักนิติรัฐนิติธรรม และที่สำคัญคือหลักคุณธรรม/จริยธรรมของผู้ปกครองรัฐ ซึ่งเป็นความสำคัญที่ทำให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ชาติตะวันตก ส่วนประชาธิปไตยแบบรัสเซีย ที่ผู้นำรัฐสามารถกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แม้ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ช่วงเว้นการดำรงตำแหน่ง แต่ผู้นำรัฐก็มีอิทธิพลเหนือการปกครองภายในอย่างต่อเนือง  ยังที่รัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างทางการใช้อำนาจ และกระบวนการปกครองอีกมาก

เช่นนั้นแล้วประชาธิปไตยในสังคมโลกจึงมีรูปแบบแตกต่างไปตามปัจจัยภายในแห่งรัฐนั้นๆ รูปแบบของประชาธิปไตยเป็นเพียงรูปแบบทางการปกครองรูปแบบหนึ่งที่พยายามแบ่งปันอำนาจระหว่าง คนจนกับคนรวย ชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง นายทุนกับอำนาจรัฐ เพื่อไม่ให้เข่นฆ่ากันเมื่อต้องการอำนาจ  และในความเป็นจริงสาระสำคัญของการปกครองรัฐ อยู่ที่ผู้ปกครองได้ใช้อำนาจตอบสนองอะไรบ้าง เพราะรัฐส่วนใหญ่ในโลก ผู้ปกครองรัฐเป็นเพียงกลุ่มคนส่วนน้อย เป็นกลุ่มคนที่ส่งต่ออำนาจ  ดังนั้นระบบการปกครองรัฐที่เข้มแข็งจึงอยู่ที่กลไกอำนาจรัฐหรือที่เรียกว่า ระบบราชการ และหากสังเกตจากการใช้อำนาจเพื่อการตอบสนอง กลุ่มพวกพ้อง กลุ่มผลประโยชน์ ถือเป็นประเด็นหลักของการเข้าแสวงหาอำนาจ ประเด็นต่อมาคือการใช้อำนาจเพื่อเฉลี่ยความสมบูรณ์ ความมั่งคั่งไปสู่คนจน สู่ชนชั้นล่างเพื่อลดความขัดแย้ง และประเด็นสุดท้ายคือการใช้อำนาจเพื่อสร้างความเจริญ สร้างความสุข สร้างโอกาสให้คนทั้งสังคม ที่กล่าวมาเป็น 3 ประเด็นสำคัญที่ผู้มีอำนาจ จำเป็นต้องจัดสรรปั่นส่วนทรัพย์กรของสังคมให้ได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะไม่ทำให้ประชาชนผู้ถูกปกครองรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่มีส่วนร่วมในสังคม 

ประชาธิปไตยกับการใช้อำนาจ จึงจำเป็นยิ่งต้องเดินคู่กันอย่างเหมาะสม

ภาสกร  อรรถสิษฐ

หมายเลขบันทึก: 675889เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2020 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2020 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท