ชีวิตที่พอเพียง 3640. PMA 2020 : PMAC 2020 / UHC 2020 : PL 0 – Accellerating Progress towards UHC


ปีนี้การประชุม PMAC 2020 จัดร่วมกับ UHC 2020 ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ และตกลงกันว่า ให้ฝ่ายญี่ปุ่นรับผิดชอบดูแลด้านเนื้อหา และผู้พูดใน PL 0    ผู้พูดเป็นผู้มีตำแหน่งสูงหรือมีความรู้สูงทั้งสิ้น    ดูรายละเอียดได้ที่ (๑)    แต่ก่อนการประชุม ก็มีการถกเถียงเรื่องลำดับผู้พูดระหว่างคุณหมอสุวิทย์ กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายญี่ปุ่น    ที่ต้องการให้พิธีกรรมในการประชุมให้เกียรติผู้ใหญ่ฝ่ายตน ผมไม่เข้าไปยุ่ง    ปล่อยให้เขาตกลงกันเอง    โดยผมยึดถือแนวทางเป็นประธานแบบ hand-off     

 อ่านจากเอกสารประกอบการประชุม (๑) จะเห็นว่ามีความท้าทายสูงมากต่อการบรรลุเป้าหมาย SDG  ด้าน UHC ในปี 2030   โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดทำสถิติและสังเคราะห์ออกมาเป็นรายงาน Primary Health Care on the Road to Universal Health Coverage : 2019 Global Monitoring Report    กล่าวสรุปอย่างสั้นที่สุด หากแนวโน้มการดำเนินการยังเป็นอย่างในปัจจุบัน    ก็จะไม่บรรลุเป้าหมาย UHC ตามที่ระบุใน SDG    ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายคือ การเมือง   

การประชุม UN General Assembly High-Level Meeting on UHC เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๒   ระบุว่า UHC ไม่ได้มีผลแคบเฉพาะต่อสุขภาพและสุขภาวะเท่านั้น    ยังมีผลดีต่อการพัฒนาในวงกว้าง ได้แก่ ลดความยากจน  ลดความเหลื่อมล้ำ  และการพัฒนาเศรษฐกิจ   และเสนอแนะการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อการบรรลุ UHC ได้แก่  (๑) การลงทุนพัฒนานวัตกรรมด้าน เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ  การให้บริการ  และระบบข้อมูล  (๒) พัฒนาระบบสุขภาพบนฐานของ สุขภาพมูลฐาน  (๓) สร้างความเข้มแข็งของระบบการเงินการคลังเพื่อสุขภาพ โดยการประสานงานหลาย sector ของภาครัฐ  (๔) ภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมือง  (๕) สร้างความเข้มแข็งขององค์กรในท้องถิ่น และสร้างความร่วมมือของทุกฝ่ายในพื้นที่  

การประชุมช่วงนี้มีเป้าหมายเอาการปฏิบัติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ผู้กล่าวปราศรัยคือ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสาธารณสุขของไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล   ตามด้วย Mr. Kaku Hashimoto รัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุข ญี่ปุ่น

มีผู้อภิปราย ๗ คน    ผู้ดำเนินรายการ ๑ คน   รวมผู้พูดในช่วงนี้ ๑๐ คน ภายในเวลา ๙๐ นาที   ดูรายชื่อวิทยากรได้ที่ (๑)

ท่านรองนายกอนุทินพูดดีมาก    ใช้ PowerPoint ประกอบ    ทราบจากท่านรัฐมนตรีช่วย สาธิตว่า ผู้จัดการเรื่อง PowerPoint คือ ดร. วลัยพร    ท่านรองนายกฯ กล่าวถึงความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือ Wuhan Corona Virus ที่กำลังระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ    แล้วกล่าวตาม PowerPoint (

ตามมาด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ที่กล่าวย้ำ commitment ของรัฐบาลญี่ปุ่นในการส่งเสริม UHC-based Health Systems    ที่จะต้องมีการสร้างนวัตกรรมในการดำเนินการ รวมทั้งต้องมีระบบ health financing ที่เข้มแข็ง     รวมทั้ง commitment ของรัฐบาลญี่ปุ่นในการร่วมมือกับทั่วโลกในการดำเนินมาตรการควบคุม Corona Virus   

รายการหลักเป็นการอภิปราย    ในประเด็นความเห็นว่าปัจจัยหลักที่จะนำไปสู่การบรรลุการมีระบบ UHC ทั่วโลก คืออะไรบ้าง

องค์การอนามัยโลกรองผู้อำนวยการใหญ่ Naoko Yamamoto   บอกว่าปัจจัยสำคัญที่สุด ๒ ประการคือ (1) Local public financing  (2) Monitoring, data    โดยมีเงื่อนไขว่า UHC ต้องเป็น political choice ของประเทศนั้น    และมี social systems ที่เห็นคุณค่าของ UHC

ธนาคารโลก   Daniel Dulitzky, Regional Director, USA   แนะนำให้ไปอ่านสิ่งที่ Bun Ki-moon  และ Dina Mired พูด    หัวใจคือต้องลงทุน    และใช้เงินให้เกิดผล  หาทางป้องกันการใช้เงินอย่างไร้ผล    ซึ่งมีรายงานจาก OECD ว่าเงินที่ใช้ด้านสุขภาพ ร้อยละ ๒๐ สูญเปล่า  (มีงานวิจัยชิ้นอื่นบอกว่า ร้อยละ ๒๐ - ๔๐ ของเงินที่ใช้จ่ายเพื่อสุขภาพทั่วโลก เป็นการจ่ายที่ไร้ประโยชน์ หรือบางกรณีเกิดโทษ)   

Youth in Action   Evalin K. Karijo ซึ่งมาจาก Amref Health Africa   ประเทศเคนยา    พูดแทนคนหนุ่มสาวว่า เวลานี้ คนอายุ ๓๕ หรือต่ำกว่า  มีสัดส่วนเป็นร้อยละ ๕๖   ดังนั้น UHC จึงต้องจ่ายเพื่อดูแลสุขภาพของคนหนุ่มสาวมากกว่านี้    เวลานี้จ่ายดูแลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากไป    ผมเถียงว่า นี่เป็นมุมมองระยะสั้น    ในระยะยาว คนหนุ่มสาวก็ต้องสูงอายุและมีโอกาสเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกันแทบทุกคน (อย่างที่ผมร่ำรวยโรคอยู่ในเวลานี้)    ต้องส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวสะสมสุขภาพดีเอาไว้ย่ามแก่ (อย่างที่ผมได้สั่งสม)

      สวีเดน  Anders Noedstrom, Ambassador of Global Health, Ministry of Foreign Affairs    บอกว่าเมื่อ ๓ สัปดาห์ก่อน ตนเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่โรงพยาบาล  จ่ายค่าบริการเพียง ๒๐ ดอลล่าร์    เพราะสวีเดนมีระบบ UHC เมื่อ ๗๐ ปีก่อน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง    และมีพัฒนาการเรื่อยมาอย่างน่าภูมิใจ    โดยทุกคนไม่ว่าจนหรือรวยเข้าถึง UHC อย่างเท่าเทียมกัน    แต่ก็ยังมีความท้าทาย ที่ช่องว่างของผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ระหว่างคนรวยกับคนจน    การพัฒนาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม    ซึ่งเป็นเรื่องของความเสี่ยงด้านสุขภาพ   

Prof. Ariel Pablos-Mendez ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย    ผู้ช่ำชองในงานนโยบายสุขภาพโลก    และเป็นเพื่อนสนิทของทีมไทย     เล่าเรื่องฟื้นความหลังการขับเคลื่อนพัฒนาการของระบบสุขภาพประเทศ และระบบสุขภาพโลก    ตั้งต้นตั้งแต่ปี 2007    เน้นที่ UHC  และใช้พลังสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา    

Khuat Thi Hai Oanh, Executive Director, Asia Pacific Council of AIDS Service Organizations, Vietnam    บอกในฐานะ เอ็นจีโอ ว่าหลักการ UHC – SDG ดีมาก    แต่ political will ต่ำ    ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลกคือ    ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกไม่ได้รับการคุ้มครองสุขภาพ   ความยากลำบากทางการเงินที่เกิดจากความเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น    political declaration เป็นเพียงการโฆษณาหลอกๆ ไม่ได้ทำจริง    เสนอว่าไม่ต้องมีการประชุม UHC อย่างนี้อีก จนกว่าจะมีข้อมูลว่า   ผลของ UHC ดีขึ้น    ผู้อภิปรายท่านนี้พูดดีมากในฐานะ เอ็นจีโอ    ที่ทำหน้าที่สะท้อนด้านลบหรือความท้าทาย    และเรียกร้องการลงมือทำ     

รอบสอง ถาม Evalin K. Karijoจาก Youth in Action ว่าคนหนุ่มสาวคาดหวังอะไรจากขบวนการ UHC   ได้รับคำตอบว่า คาดหวัง ๓ อย่าง

  1. 1. เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวมีส่วนร่วม
  2. 2. มีระบบการเงินสนับสนุน benefit packages    มีความร่วมมือข้ามกระทรวง    และมีการดำเนินการในโรงเรียน
  3. 3. พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี  

ผมมีความเห็นในใจว่า  ระบบการศึกษาต้องพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็น “ผู้กระทำ” (agent)  ไม่ใช่ผู้รอรับการกระทำ    เพื่อสร้างความพร้อมให้เด็กละเยาวชนเป็นพลังของ UHC ด้วย   ไม่ใช่เป็นภาระเท่านั้น   

 มีการขอให้สมาชิกของ panel ให้ความเห็นเพิ่ม    ตามด้วยรายการถามตอบ    สรุปได้ว่า UHC เป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการเพื่อสุขภาวะของผู้คน    ต้องการการดำเนินการแบบบูรณาการ    การบรรลุ UHC ยังไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย    ดังตัวอย่างประเทศสวีเดน  ญี่ปุ่น  เยอรมนี    ส่วนที่ท้าทายมากคือการจัดการเรื่อง  social determinants of health   และ commercial determinants of health    เป็นเรื่องที่สังคมในประเทศ และสังคมโลกต้องรวมพลังกัน

ปัจจัยหลักของประเทศคือ นโยบาย และการดำเนินการที่เอาจริงเอาจัง    การจัดสรรเงินงบประมาณสาธารณะเพื่อสนับสนุนระบบ UHC   มีวิธีใช้เงินให้เกิดผลแท้จริง ไม่สูญเปล่า     รวมทั้งการขจัดปัจจัยลบด้านสังคม และธุรกิจ

วิจารณ์ พานิช  

๖ ก.พ. ๖๓

Keynote anutin charnvirakul from Pattie KB
หมายเลขบันทึก: 675802เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2020 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2020 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท