ชีวิตที่พอเพียง 3639. PMA 2020 : 6. พิธีเปิด PMAC 2020 / UHC 2020



การประชุม PMAC 2020 จริงๆ จัดระหว่างวันที่ ๓๑ มกราคม - ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓    เป็นเวลาสองวันครึ่งเหมือนทุกปี แต่ปีนี้จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากถล่มทลาย    มีคนมาขอเข้าอีกจำนวนมากแต่รับไม่ได้

หลังจากผมอ่านรายงานถวาย และกรมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ กล่าวเปิด    ก็เป็น opening speech  ของ ๔ ท่านดังนี้

Professor Ralf F.W. Bartenschlager

ผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๖๒  สาขาการแพทย์ จากผลงานการพัฒนายารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี  เพื่อป้องกันโรคตับแข็งและมะเร็งตับ    เล่าว่าผลงานของท่านมาจากความหลงใหลในวิชาชีววิทยา และพฤกษศาสตร์    ตอนเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย ไฮเดลแบร์ก ท่านอยากทำวิจัยด้านอณูชีววิทยาของพืช    แต่ที่มหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์กไม่มีสาขานั้น    ท่านจึงหันไปทำด้านอณูชีววิทยาของไวรัสแทน    ได้ศึกษาวิธีเปลี่ยนแปลงจีโนมของไวรัส   

เมื่อจบปริญญาเอกก็ได้จับทำวิจัยจีโนมของไวรัสตับอักเสบ ซี    ที่ห้องปฏิบัติการของบริษัทเอกชน    ได้ศึกษาจีโนมของไวรัส    แล้วย้ายไปมหาวิทยาลัย Mainz   เพื่อหาวิธีพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบ ซี    ซึ่งในการนี้ต้องเพาะเลี้ยงไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยงให้ได้ไวรัสจำนวนมาก    แต่หาวิธีอยู่ ๖ ปี ก็ไม่สำเร็จ    ต่อมาได้ลองปรับเปลี่ยนยีนของไวรัสเล็กน้อย จึงเพาะเลี้ยงไดหสำเร็จ    นำไปสู่การค้นพบโปรตีนของไวรัสที่ใช้เป็นเป้าของยาต้านไวรัสได้

จึงพัฒนายาจำพวก DAA (Direct Acting Antiviral) สำหรับบำบัดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ได้    คนที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส ซี   เมื่อได้รับยานี้ ๑๒ สัปดาห์ หายขาดร้อยละ ๙๕    ท่านบอกว่า การค้นพบ DAA   ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวัคซีน    ที่จะช่วยคนที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังที่โรครุนแรงมากแล้วได้    จะเห็นว่า ท่านยังเห็นลู่ทางทำวิจัยเรื่องไวรัสตับอักเสบ ซี ต่อไปอีก               

Professor David Mabey

ผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๖๒  สาขาสาธารณสุข   เล่าเรื่องเหมือนๆ กับที่เล่าในการบรรยายที่ศิริราช เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม    

Mr. Ban Ki-moon

อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ชาวเกาหลี บอกว่า PMAC ได้เป็นเวทีที่สำคัญที่สุดเวทีหนึ่งของโลก ในเรื่อง Global Health   ซึ่งการระบาดของ Wuhan Corona Virus ที่กำลังขยายตัวในปัจจุบัน เตือนว่า เรื่องสาธารณสุขได้เป็นเรื่องระดับโลกชัดเจนแล้ว    โลกจะต้องร่วมมือกันในการดำเนินการยกระดับสุขภาวะของผู้คน    ไม่ใช่แต่ละประเทศดำเนินการแบบแยกส่วนกัน    และเป็นการย้ำเตือนความสำคัญของ UHC  

 ท่านมาพูดในฐานะรองประธานของหน่วยงาน The Elders    ซึ่งมีเป้าหมายรณรงค์ UHC   โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง        แต่สภาพของ UHC ยังมีอีกหลายประเทศที่ดำเนินการไม่จริงจัง     มีผลการวิจัยบอกว่า ประเทศที่ประชาชนต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษาพยาบาล (ที่เรียกว่า out-of-pocket spending) สูง  อัตราการเกิดเชื้อดื้อยาจะสูงด้วย    นอกจากนั้น    มาตรการ UHC ยังจะช่วยการบรรลุเป้า SDG ตัวอื่นๆ ด้วย เช่นการลดความยากจน   

ท่านบอกว่า มีตัวอย่างประเทศที่ดำเนินการ UHC ประสบความสำเร็จ รวมทั้งประเทศไทย    ทำให้รู้ว่ามาตรการใดได้ผล มาตรการใดไม่ได้ผล    ประเด็นที่ถกเถียงกันมานานคือเรื่องเงินสนับสนุนระบบ UHC   ว่าควรมาจากภาครัฐ (public)  หรือจากประชาชน (Private) เอง  เป็นหลัก    บัดนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เงินสนับสนุนหลักต้องมาจากภาครัฐ ซึ่งก็คือมาจากภาษีที่เก็บจากประชาชน   หรือมาจากเงินที่รัฐกับประชาชนร่วมกันจ่ายสะสมไว้  ที่เรียกว่าระบบประกันสังคม (social insurance)    ต้องทำให้การจ่ายโดยตัวประชาชนเองน้อยที่สุด    ยิ่งจ่ายจนสิ้นเนื้อประดาตัว (เขาเรียกว่า catastrophic illness) ต้องไม่มี    คือต้องมีระบบดูแลสุขภาวะของคนทั้งสังคม  ต้องไม่ปล่อยให้มีคนที่ต้องดิ้นรนจ่ายเงินบำบัดรักษาโรคของตนเอง ที่เรียกว่า leave no one behind  

ย้ำว่า เงินสนับสนุนระบบ UHC ต้องเป็น “เงินส่วนรวม” (public money)    ไม่ใช่เงินส่วนบุคคลของแต่ละคน    ผมตีความว่า ปัจจัยหลักที่สนับสนุนระบบการเงินเพื่อ UHC คือ collective mind   ซึ่งตรงกันข้ามกับ individual mind

ระบบ UHC ของประเทศต่างๆ เริ่มจากการจัดระบบการเงิน    เกาหลีใต้เริ่มปี ค.ศ. 1977, สหราชอาณาจักรปี 1948, ญี่ปุ่น 1961, ไทย 2002 โดยที่ประเทศไทยเริ่มทันทีหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ    และดำเนินการตรงกันข้ามกับคำแนะนำของธนาคารโลก    ซึ่งในที่สุดก็พิสูจน์ว่า ธนาคารโลกแนะนำผิด   

ท่านให้คำแนะนำแก่ประเทศยากจน ที่เวลานี้งบประมาณภาครัฐด้านสาธารณสุขน้อยกว่า 1% GDP    ให้เตรียมเพิ่มสองถึงสามเท่าภายในสิบปี    โดยให้ลำดับความสำคัญต่อค่าใช้จ่ายไปที่บริการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care)    ประเทศยากจนเหล่านี้มักอยู่ในอัฟริกาส่วนใต้ทะเลทรายสะฮารา  และในเอเชียใต้    แต่ก็มีตัวอย่างประเทศในพื้นที่นี้ที่มีระบบบริการสุขภาพที่ดี  เช่น ศรีลังกา   

ท่านบอกว่าตัวอย่างของประเทศที่แสดง political commitment ต่อ UHC คือ จีน กับไทย    ตรงตามคำของเลขาธิการองค์การอนามัยโลกท่านปัจจุบัน คือ Dr. Tedros ว่า UHC เป็น political choice    ท่านยกตัวอย่างหลายประเทศที่ผู้นำทางการเมือง ริเริ่มดำเนินการระบบ UHC   หากประเทศใดที่ political commitment ต่ำ ขอให้บอก    The Elders จะช่วยเข้าไปร่วมผลักดัน    เพื่อร่วมกันทำให้โลกมีสุขภาพดีขึ้น    

ผมขอเพิ่มเติมว่า ระบบ UHC ของประเทศไทยเกิดจากการผลักดันของคนในระบบสุขภาพเอง    ที่ทำงานวิจัยเชิงระบบ และเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เตรียมข้อมูลเอาไปเสนอนักการเมือง    เสนอรัฐบาลแรกเขาไม่รับ   พอเปลี่ยนรัฐบาลเสนอใหม่ คราวนี้รับ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคการเมืองนั้นได้เสียงเลือกตั้งสูงมากมาจนปัจจุบัน

             

HRH Princess Dina Mired

เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์จอร์แดน (๑)   และเป็นนักรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องมะเร็ง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง     คำปราศรัยของท่านมีพลังสมความเป็นนักรณรงค์    ว่าเราต้องช่วยกันกดดันรัฐบาลต่างๆ ให้ดำเนินระบบ UHC    ท่านอ้างข้อมูลจาก WHO Healthcare Monitoring Report 2019 ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของพลเมืองโลก เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ    และแต่ละปี คน ๑๐๐ ล้านคนในโลก ตกเข้าสู่สภาพยากจน จากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล    และหากสภาการณ์ยังดำเนินไปอย่างเดิน ในปี 2030  จะมีคนถึง ๕ พันล้านคน ที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ   

ท่านเอ่ยถึง UNGA ในปี 2019 ที่เรียกร้องทุกประเทศให้ดำเนินการ UHC   ท่านเสนอ key success factors ของ UHC ของประเทศดังนี้

  1. 1. Political commitment และมีเป้าหมายระยะยาว ของคณะรัฐมนตรีทั้งชุด
  2. 2. ดำเนินการอย่างครบด้าน (comprehensive)   ในรูปแบบที่ transform ระบบสุขภาพ และระบบการเงินเพื่อสุขภาพ    ดูแลสุขภาพตลอดวงจรชีวิต   และใช้ PHC เป็นแกน 
  3. 3. มีระบบจัดการที่เน้นผลระยะยาว  และฟันฝ่าอุปสรรค    ซึ่งผมขอเพิ่มเติมว่า “และมี double learning loop” 
  4. 4. Longtern vision ของ UHC   และมีกลไกวางแผนและดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์ ที่เรียกว่า transformation team   พร้อมกับมี M&E    ให้เป็นระบบที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง    สร้างศรัทธาของผู้คน    มองว่า health is a right, not a gift    เปลี่ยนจุดเน้นากเน้นโรค ไปเน้นคน  
  5. 5. แชมเปี้ยน ผู้ลงมือทำ    ที่ต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมตามบริบทของแต่ละประเทศ    ไม่ใช่ตามสูตรสำเร็จที่ลอกเลียนมาจากประเทศอื่น   ต้องมีนวัตกรรมการจัดการด้านการเงิน     เช่น “ภาษีดี” ที่เก็บจากสินค้าที่ทำลายสุขภาพ เช่นยาสูบ เหล้า อาหารทำลายสุขภาพ น้ำตาล เกลือ ที่เป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง     ภาษีเหล่านี้มีประโยชน์สองต่อคือ ได้เงินมาใช้สนับสนุน UHC    และช่วยลดภาระของ UHC    เพราะจะช่วยลดอุบัติการของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง     ในเรื่องการเงินนี้ มีลู่ทางทั้งด้านประหยัดเงิน  และด้านหาเงินมาใช้จ่ายเพื่อ UHC    ท่านบอกว่า การมีมาตรการวินิจฉัยโรค NCD แต่เนิ่นๆ และดำเนินการบำบัด จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ๓๕,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์  ตั้งแต่ปัจจุบันถึงปี 2030    การหาเงินมาใช้จ่ายโดยขึ้นภาษีน้ำมัน นอกจากได้เงินมาใช้ในกิจการ UHC แล้ว   ยังจะช่วยลดมลภาวะในอากาศ  ลดภาระโรคเรื้อรัง    ในเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อ UHC   ท่านเน้นว่า ใช้อย่างฉลาด สำคัญกว่า ใช้มากขึ้น         

เจ้าหญิงย้ำคำของ Dr. Tedros, WHO DG,  ว่า Health is a political choice      

วิจารณ์ พานิช  

๔ ก.พ. ๖๓



1 Ralf Bartenschlager

2 David Mabey

3 Ban Ki-moon

4 HRH Princess Dina Mired

หมายเลขบันทึก: 675796เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2020 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2020 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท