กตัญญูแบบต่างตอบแทน


เป็นไปได้ไหม จริยธรรมที่เข้าใจไม่ถึงแก่น จะเป็นเหมือนดาบสองคมที่อาจทิ่มแทงผู้จะใช้ดาบเล่มนี้ได้ เช้านี้ ความคิดเรื่องกตัญญูเข้ามาวนเวียนอยู่ในสมอง ดังนั้น จึงขอเก็บความคิดดังกล่าว ณ หน้าบันทึกนี้

กตัญญูคืออะไร?

เมื่อมีคำถามเกี่ยวกับคำและความหมายเกิดขึ้น สิ่งที่นึกก่อนคือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในเมื่อไม่มีหนังสืออยู่ในมือ ที่มีอยู่เป็นฉบับเก่าและอยู่ไกลมือประมาณ ๑-๒ กิโลเมตร การเดินทางไปหยิบหนังสือมาอาจคุ้มค่ากับการได้อ่านและคิด แต่อาจไม่ทันหากความคิดที่มีอยู่ในเวลานี้จะหายไประหว่างทาง สิ่งที่ทำได้คือ "หน้าจอ" ซึ่งมีพื้นที่ www.royin.go.th อยู่ แต่เมื่อพยายามเข้าไปใช้บริการ พบว่าเข้าใจไม่ได้ในเช้านี้ ความคิดวิ่งไปสู่หนังสืออะไรบ้างที่สามารถให้คำตอบได้ "กตัญญู" เป็นศัพท์ที่วัฒนธรรมแบบพุทธใช้อยู่ ดังนั้น ต้องไปหาความหมายจากหนังสือที่อยู่ในวัฒนธรรมแบบพุทธ หนังสือที่นึกได้นี้คือ พจนานุกรมพุทธศาสน์ แต่อยู่ห่างไกลมือประมาณ ๑-๒ กิโลเมตรอีกเช่นกัน ดังนั้น ต้องหาพื้นที่หน้าจอ พบว่า เว็บ 84000.org มีการบรรจุหนังสือฉบับนี้ไว้ เมื่อใส่คำค้นลงไป มีชุดคำสองคำให้อ่านคือ กตัญญูกตเวทิตา แปลว่า ความเป็นคนกตัญญูกตเวที และ กตัญญูกตเวที แปลว่า ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน โดย กตัญญู = รู้คุณท่าน, กตเวที = ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน, ความกตัญญูกตเวทีว่าโดยขอบเขต แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีคุณความดีหรืออุปการะต่อตนเป็นส่วนตัว อย่างหนึ่ง
กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์หรือมีคุณความดีเกื้อกูลแก่ส่วนรวม เช่นที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้าโดยฐานที่ได้ทรงประกาศธรรมยังหมู่ชนให้ตั้งอยู่ในกุศลกัลยาณธรรม เป็นต้น อย่างหนึ่ง 
(http://84000.org/tipitaka/dic/index_dd.php) จากเอกสารนี้ "กตัญญู" เป็นคำที่อยู่คู่กับ "กตเวที/กตเวทิตา" จึงรวมเป็น "กตัญญูกตเวที/กตัญญูกตเวทิตา" ถ้าแปลตามจารีต กตัญญูกตเวที แปลว่า ผู้รู้คุณที่ท่านทำแล้วและทำตอบ ส่วน กตัญญูกตเวทิตา แปลว่า การที่บุคคลรู้คุณที่ท่านทำแล้วและทำตอบ โดยเนื้อความคือ รู้คุณท่านและตอบแทนคุณท่าน 

ขอละความลึกของคำที่สัมพันธ์กับสภาวะในตนไว้ก่อน ระหว่างที่เดินไปล้างภาชนะใส่ข้าวต้ม ความคิดเกิดขึ้นว่า "-เวที" คำนี้มีปัญหาอะไรหรือไม่ หลังจากกลับมาอยู่หน้าจอคอมฯ นึกถึงหนังสือ ธาตุปฺปทิปิกา ที่สามารถจะทำให้เรารู้ว่า รากศัพท์/ธาตุศัพท์ของคำมาจากรากใด และรากนั้นให้ความหมายว่าอย่างไร แต่คงต้องใช้รูปแบบเดิมคือ ค้นหาจากเว็บ พบเว็บหนึ่งคือ http://www.palidict.com/ ก่อนนั้นในภาษาไทย สมองสั่งการอ่านว่า "บาลีคิด" แต่เมื่ออ่านผ่านภาษาอังกฤษและกลับไปอ่านซ้ำ คำอ่านที่แท้จริงคือ "บาลีดิค" ข้อค้นพบอย่างหนึ่งคือ "เมื่อไม่ละเอียดก็หาความถูกต้องไม่ได้" ครั้นใส่คำค้นลงไปว่า "เวที" ไม่ปรากฎความหมายใดๆให้ จึงทบทวนว่า "-เวที" น่าจะมาจากอะไร เข้าใจว่า รากศัพท์/ธาตุศัพท์น่าจะเป็น "วิท" จึงใส่คำค้นลงไป พบคำแปล/ความหมายของศัพท์ให้อ่านหลายตัว คำนี้ ใช้ในหลายความหมาย เช่น ซึมซับ (เสวย) พูด มีอยู่ เป็นอยู่ พิจารณา ยินดี มีศัพท์หนึ่งที่ท่านยกตัวอย่างคือศัพท์ "เวที" แปลว่า นักปราชญ์ ผู้รู้ โดยศัพท์ในอยู่ในกลุ่มศัพท์ที่มาจากรากศัพท์คือ "วิท" ที่มีความหมายว่า "รู้" "รู้แจ้ง" ทำให้ต้องเกาศีรษะเพิ่ม เส้นผมที่ดูจะบอบบางก็ยิ่งบอบบางลงไปอีก เหตุเพราะ ถ้า "เวที" แปลว่า ผู้รู้ ต่อกับศัพท์ "กต" เป็น กตเวที ก็จะแปลว่า ผู้รู้สิ่งที่ท่านกระทำ ดังนั้น ก็ต้องแปลซ้ำๆ กันว่า "กตัญญู" (กต+ญู) แปลว่า รู้สิ่งที่ท่านทำ และ กตเวที (กต+เวที) แปลว่า รู้สิ่งที่ท่านทำ ดังนั้น กตัญญูกตเวที จึงแปลว่า "รู้สิ่งที่ท่านทำและรู้สิ่งที่ท่านทำ" คำค้านคือ "ถ้าแปลเหมือนกันแล้วจะนำคำซ้ำมาทำให้ซ้ำทำไม ถ้า "กตัญญู" แปลว่า รู้คุณที่ท่านกระทำ ดังนั้น "กตเวที" ต้องแปลอย่างอื่น  มีความคิดผุดขึ้นว่า เป็นไปได้ไหมที่ "เวที" ตัวนี้ แปลว่า "ปรากฏ" ค้นไปค้นมาเพื่อจะหาเหตุผลว่าทำไมจึงแปลว่า "ปรากฎ" พบว่า ในไวยากรณ์ภาษาบาลี ว่าด้วยเรื่อง "นามกิตก์" มีศัพท์หนึ่งที่ท่านวิเคราะห์ และศัพท์นั้นก็ตรงกับศัพท์ที่กำลังกล่าวถึงนี้ กตเวที = "กตํ (อุปการํ) เวเทติ สีเลนาติ กตเวที" นี้คือบทเคราะห์ที่ท่านเสนอไว้เป็นแบบ โดยท่านแปลว่า "ผู้ยังบุคคลอื่นให้รู้ซึ่งอุปการะอันท่านทำแล้วโดยปกติ" ดังนั้น การแปลว่า "ปรากฎ" น่าจะใช้ได้ เพราะ คำว่า "ปรากฏ" ก็คือการที่บอกให้คนอื่นซึ่งอาจจะคือสังคมได้รับรู้ ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตแบบเสมอต้นเสมอปลาย (สีเลน=ปกติ) 

ปัญหาต่อมาคือ "การทำให้ปรากฏ" กับ "ตอบแทนคุณ" มีขนาดพื้นที่ในมิติความคิดเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?

ดูเหมือนว่า "การทำให้ปรากฏ" เรียกร้องพื้นที่การมองเห็นจากสังคมและ/หรือสังคมมองเห็นการกระทำนั้น ขณะที่ "ตอบแทนคุณ" เรียกร้องความเป็นปัจเจก อย่างที่ท่านแปลคือ เมื่อท่านทำประโยชน์ให้เกิดกับเรา เราก็ต้องทำประโยชน์ให้เกิดกับท่าน จะเท่ากับ กตัญญูแบบนี้เป็นกตัญญูแบบ "ต่างตอบแทน" สิ่งที่น่าคิดคือ ถ้าเป็นกตัญญูแบบต่างตอบแทน กตัญญูดังกล่าวมีจุดจบ/ไม่ต้องตอบแทนอีก เหตุเพราะตอบแทนหมดแล้ว จึงไม่ต้องตอบแทนอีก 

กตัญญูกตเวทีอยู่ในกลุ่มจริยธรรมว่าด้วย "บุคคลที่หาได้ยาก" ซึ่งมีอยู่ ๒ ประการคือ (๑) บุพการี ผู้ทำความดีหรือทำประโยชน์ให้แต่ต้นโดยไม่ต้องคอยคิดถึงผลตอบแทน - one who is first to do a favor; previous benefactor และ (๒) กตัญญูกตเวที (ผู้รู้อุปการะที่เขาทำแล้วและตอบแทน, ผู้รู้จักคุณค่าแห่งการกระทำดีของผู้อื่น และแสดงออกเพื่อบูชาความดีนั้น - one who is grateful and repays the done favor; grateful person) (คำแปลนี้คัดมาจาก http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=29) ซึ่งดูจะสอดคล้องกับคำอธิบายที่เหล่าคณาจารย์ชั้นรองคัมภีร์หลักลงมา (อรรถกถาจารย์) ท่านแปลว่า  "...บทว่า ปุพฺพการี ได้แก่ ผู้ทำอุปการะก่อน บทว่า กตญฺญูกตเวที ได้แก่ ผู้รู้อุปการะที่เขาทำแล้วตอบแทนภายหลัง.ในสองท่านนั้น ผู้ทำอุปการะก่อน ย่อมสำคัญว่าเราให้กู้หนี้. ผู้ตอบแทนภายหลัง ย่อมสำคัญว่าเราชำระหนี้" (คำแปลนี้คัดมาจาก http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=363) คำอธิบายของเหล่าคณาจารย์ชั้นรองคัมภีร์ ดูเหมือนจะเห็นแนวคิดแบบ "ต่างตอบแทน" โดยตรง โดยเฉพาะข้อความว่า ผู้ทำอุปการะก่อน (บุพพการี) = เจ้าหนี้ให้กู้ยืม (รู้ตัวเองอยู่นะว่าเราให้กู้หนี้) ส่วน กตัญญูกตเวที/ผู้ตอบแทนภายหลัง = ลูกหนี้ที่ต้องชำระคืน ถ้าตีความแบบนี้โดยมีตัวเงินเป็นตัวตั้ง สิ่งที่ต้องทำคือ จ่ายคืนในสิ่งที่รับมาโดยมีดอกเบี้ย/จ่ายคืนสิ่งที่รับมาทั้งหมด ดังนั้น แม้แต่ชีวิตที่รับมาจากเขาก็ต้องส่งคืนให้เขาด้วยตามสภาพที่รับมา การตีความแบบนี้อาจไม่ได้สร้างคุณค่าให้กับสังคมหากแต่สร้างสิ่งต่างตอบแทนระหว่างผู้ให้กับผู้รับเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาการแปลก่อนนั้นในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ข้อความที่ว่า "บุพการี คือ ผู้ทำความดีหรือทำประโยชน์ให้แต่ต้นโดยไม่ต้องคอยคิดถึงผลตอบแทน" ข้อความที่ขีดเส้นใต้คล้ายจะเป็นการตีกรอบบุพพาการีว่า เมื่อทำแล้วก็ปล่อยไป ไม่คิดจะรับสิ่งใดตอบแทน จึงดูเหมือนจะแย้งจากคำอธิบายของเหล่าคณาจารย์ชั้นรองคัมภีร์

เมื่อพิจารณาการกระทำที่น่าจะเป็นตัวเชื่อมระหว่าง "บุพการี" และ "กตัญญูกตเวที" ที่คิดได้ในเวลานี้คือ "ทาน" "จาค" และ "สงฺคห" ทั้ง ๓ คำนี้มีลักษณะของ "การให้" "การเสียสละ/บริจาค" และ "การสงเคราะห์" ที่มีลักษณะแบบ "ให้เปล่า" เข้าใจว่าน่าจะตรงกับ "free give" ดังนั้น คำที่ขีดเส้นใต้ไว้ตอนต้นจึงน่าจะมีที่มาจาก ๓ คำนี้ 

บุพการี/บุพพการี คือใคร? กลุ่มบุคคลแรกที่ได้รับการตีความเข้าสู่คำนี้คือ "พ่อแม่/มารดาบิดา" เมื่อพิจารณาจากจริยธรรมในหลักทิศ ๖ พ่อแม่จะทำหน้าที่ ๕ อย่างคือ "ห้ามปรามไม่ให้ทำชั่ว ส่งเสริมให้ทำความดี ส่งเสียให้ศึกษาหาความรู้ (ศิลปวิทยา) หาคู่ครองที่เหมาะสมให้ และมอบทรัพย์มรดกให้ในวาระที่เหมาะสม" ซึ่งอยู่ในกรอบของ "การให้" และ/หรือ "ส่งเสริมให้เขายืนอยู่ได้ท่ามกลางสังคมโดยไม่เดือดร้อน ขณะเดียวกันมีทุนรอนสำหรับสืบสานวงตระกูลต่อไป" ซึ่งเป็นการก้าวไปข้างหน้า โดยไม่คาดหวังการหวนกลับมาดูแล อย่างไรก็ตาม ในหลักทิศ ๖ ท่านระบุถึงหน้าที่ของผู้เป็นบุตรธิดาไว้ ๕ ประการเช่นกันคือ "เมื่อท่านเลี้ยงเรามาแล้วควรเลี้ยงท่านตอบแทน ช่วยเหลือทำการงานของท่าน ดำรงรักษาวงศ์ตระกูล ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน"  คณาจารย์มักจะตีความว่า บุตรธิดาคือกตัญญูกตเวทีบุคคล ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ตอบแทนคุณของพ่อแม่ ในหลักทิศ ๖ จึงมองเห็น สิ่งต่างตอบแทนเฉพาะกตัญญูกตเวทีบุคคล/บุตรธิดา แต่ไม่พบสิ่งต่างตอบแทนในบุพพการี นอกจากนั้น สิ่งที่น่าพิจารณาคือข้อ ๑ ที่ระบุว่า "เมื่อท่านเลี้ยงมาแล้วต้องเลี้ยงท่านตอบแทน" ชุดข้อความนี้ น่าจะหมายถึง การสนับสนุนปัจจัยการดำรงชีวิตพื้นฐานคือ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม และ ข้อ ๒ ที่ระบุว่า "ช่วยเหลือทำการงานของท่าน" น่าจะหมายถึง ภาระหน้าที่ของท่านคืออะไร บุตรธิดาสามารถเยียวยาได้ไหมโดยการเยียวยาดังกล่าวจะไม่ทำให้ความก้าวหน้าของบุตรธิดาต้องชะงัก เมื่อพิจารณา มโนทัศน์เรื่อง บุตร ๓ จำพวก ดูเหมือนบุตรที่น่าชื่นชมจะมีอยู่ ๒ จำพวกคือ อภิชาตบุตร และ อนุชาตบุตร (บุตรที่ตั้งอยู่ในศีลธรรมตามอย่างบิดามารดา) 

จากที่กล่าวมา เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า หน้าที่ของพ่อแม่ตามหลักทิศ ๖ มีท่าทีชี้ไปถึง "ความก้าวหน้าของลูกท่ามกลางสังคม/ส่งลูกที่มีคุณภาพ (อภิชาตบุตรและอนุชาตบุตร) ออกสู่สังคมโดยไม่หวังการตอบแทน" โดยพิจารณาผ่าน "ทาน" "จาค" และ "สังคห" ขณะที่บุตรธิดาควรหวนกลับมาดูเพื่อรักษาฐานหลักคือพ่อแม่ให้มั่นคงอันเป็นการส่งเสริมตนไปในตัว สิ่งที่น่าคิดคือ ถ้าพ่อแม่สร้างภาระไว้มาก ขณะเดียวกันคาดหวังการหวนกลับมาของลูกและกลายเป็นจารีตว่า "ลูกจะต้องมาแทนคุณ" และ/หรือ "ลูกควรมาแทนคุณ" ภาระหนักนั้นจะตกไปที่ลูกจึงอาจไม่สอดคล้องกับหน้าที่ตามหลักทิศ ๖ ขณะเดียวกัน ไม่สอดคล้องกับ "กตเวที" (หาก กตเวที สามารถแปลได้ว่า ทำสิ่งที่ท่านทำไว้ก่อนแล้วให้ปรากฏ/แสดงศักยภาพความเป็นอภิชาตบุตรและ/หรืออนุชาตบุตรที่ผ่านการสนับสนุนจากพ่อแม่ให้ปรากฏต่อสาธารณะ) 

เป็นที่น่าสังเกตว่า วัฒนธรรมบางแห่ง พ่อแม่คาดหวังจะให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน ในความหมายว่า เข้ารับราชการ เมื่อลูกทำได้ตามนั้นแล้ว พ่อแม่จะกลายเป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้าน บางค่านิยมจะคาดหวังว่า ลูกไปทำอะไรก็ได้ ต้องส่งเงินมาให้พ่อแม่เพื่อตอบแทนบุญคุณ โดยไม่ได้รับรู้ว่าลูกอยู่อย่างยากลำบากเพียงใด โดยเฉพาะในยุคข้าวยากหมากแพง ขณะที่ลูกไม่เคยบอกพ่อแม่ว่าเหนื่อยหนักเพียงใด การกลับมาที่บ้านเพื่ออยู่กับพ่อแม่ลูกมีแต่รอยยิ้มเพราะอยู่กับพ่อแม่แล้วมีที่พึ่งทางใจ พ่อแม่เห็นลูกยิ้มก็นึกว่าลูกสบายใจ การงานดี อยากได้อะไรก็ขอจากลูก/สร้างภาระเกินกำลังที่ตัวเองจะสานต่อ สุดท้ายเป็นภาระของลูก ค่านิยม/วัฒนธรรมแบบนี้อาจไม่สอดคล้องกับหลักทิศ ๖ และกตัญญูกตเวทิตาธรรม

หมายเหตุ (๑) คำแปลที่สอดคล้องกับคำนั้น "กตัญญู" น่าจะแปลว่า ตระหนักรู้/สำนึกรู้ในสิ่งที่คนอื่นกระทำ (กต=สิ่งที่คนอื่นกระทำ, ญู=รู้) ซึ่งมีลักษณะลึกกว่ารับรู้ (๒) เป็นการเขียนสด ยังไม่มีการตรวจสอบความถูกต้อง ทั้งคำ ข้อความ ความหมาย และความเป็นหนึ่งเดียวของเนื้อหา


ขอบคุณครับ

๐๗.๐๐-๐๙.๐๐ และ ๑๔.๐๐-๑๖.๑๐ น. 

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

 

หมายเลขบันทึก: 675546เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2020 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2020 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท