ชีวิตที่พอเพียง 3626. การเมืองเรื่องรัฐ-ราษฎร์



หนังสือ Political Order and Political Decay : From the Industrial Revolution to the Globalization of Democracy  (2014)  โดย Francis Fukuyamaปราชญ์ด้านประวัติศาสตร์การเมือง     บอกว่าประชาธิปไตยถึงคราวเสื่อม    ไม่สามารถอำนวยชีวิตที่ดี ที่น่าพอใจ ให้แก่คนส่วนใหญ่ได้      

 นี่คือผลการวิเคราะห์ภายใต้ความคิด USA-centric นะครับ ผมไม่คิดว่าสภาพนี้เป็นประเด็นหลักสำหรับสังคมไทย     ผมจะบอกตอนท้ายว่าผมมองการเมืองเรื่อง รัฐ-ราษฎร์ ในบริบทไทยอย่างไร    

แต่การอ่านความคิดของ ฟรานซิส ฟูกูยามา ประเทืองปัญญายิ่ง     ผมจึงให้เขาช่วยเคาะกะโหลกของผม และนำมาเผื่อแผ่    หากผมตีความผิดก็ขออภัยนะครับ    

เขาบอกว่า สังคมอเมริกันรุ่งเรืองเพราะความเข้มแข็งของคนชั้นกลาง     แต่บัดนี้คนชั้นกลางของอเมริกาอ่อนแอลง    ระบบเศรษฐกิจและการเมืองเอื้อต่อคนชั้นกลางน้อยลง     และรายได้ของคนชั้นกลางลดลงในมุมของการเปรียบเทียบ    และคนชั้นกลางจำนวนหนึ่งถอยลงไปเป็นคนจน    คนชั้นกลางเป็นกลุ่มคนที่นิยมชมชอบประชาธิปไตย และเสรีภาพส่วนบุคคล    สังคมที่มีคนชั้นกลางในสัดส่วนที่มาก จะมีผลให้เศรษฐกิจเติบโต การศึกษาดี สุขภาพดี และสังคมมั่นคง     สภาพดังกล่าวเชื่อมโยงกับการที่คนชั้นกลางมีวินัยในการทำงาน  มีวินัยในตนเอง  และเน้นการออกหรือการลงทุนระยะยาว    

ที่สำคัญในช่วงนั้น เทคโนโลยีสร้างงานให้แก่คน    แต่สมัยนี้เทคโนโลยีทำให้คนตกงาน

นั่นคือสภาพที่ขึ้นสูงสุดตอนกลางศตวรรษที่แล้ว     ตอนผมไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมือง แอนน์ อาเบอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1967 ก็ยังเห็นสภาพนั้นอยู่    แต่ต่อมาอีก ๔ ปี อ. หมอสรรใจ แสงวิเชียร ไปเรียนที่เดียวกัน    เล่าให้ผมฟังว่าสังคมเสื่อมลงไปมาก       

หลังจากนั้น สถานะด้านรายได้และการมีงานทำของคนชั้นกลางอเมริกันก็เสื่อมลง    ส่วนหนึ่งเพราะโลกาภิวัตน์ งานไหลไปสู่ประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่า     อีกส่วนหนึ่งเพราะเงินไหลไปที่คนรวย     ในปี 1970 คนรวยที่สุดร้อยละ ๑ ของประชากร มีรายได้ร้อยละ ๙ ของ จีดีพี    ในปี 2007 ตัวเลขนี้เท่ากับ ๒๓.๕  

การเมืองอเมริกันค่อยๆ ก้าวสู่ระบบ lobbyist    ที่ธุรกิจใหญ่ จ้างนักวิ่งเต้นให้เจรจากับนักการเมือง    ให้ออกนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของตน    ไม่ใช่ผลประโยชน์ของส่วนรวม    การเมืองอเมริกันจึงเอื้อประโยชน์คนรวยมากขึ้นเรื่อยๆ     ผมขอเพิ่มเติมว่า ระบบดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นพิษร้ายต่อประเทศอื่นๆ ในโลกด้วย     ดังกรณีธุรกิจยาสูบ  ยา  และสารเคมีเป็นพิษ    ผมเคยได้ยินว่า ทูตอเมริกันคนหนึ่งเคยขอพบ รมต. สาธารณสุขไทยท่านหนึ่ง    และต่อว่าเรื่องนโยบายยาของไทยฉอดๆ    เมื่อที่ปรึกษา รมต. ที่รู้จริง มีหลักฐานว่าเราทำถูกกติการะหว่างประเทศ เขาก็เงียบ   

มีตัวอย่างระบบผลประโยชน์ทางการเมืองที่ทำลายระบบเพื่อส่วนรวม แสวงประโยชน์ส่วนย่อยเป็นหลัก อีกมากมาย     เป็นระบบการเมืองที่ถดถอย    จากการเมืองเพื่อประชาชน เป็นการเมืองเพื่อคนรวย หรือธุรกิจใหญ่    สถาบันการเมืองจึงอ่อนแอลง    ราษฎรเสื่อมศรัทธาการเมือง  เห็นไส้ประชาธิปไตยจอมปลอม   

ปัจจัยเสื่อมประการที่สาม    สถาบันการเมืองปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ของสังคมและของคน   

กลับมาที่ประเทศไทย    ระบบการเมืองของเรายังไปไม่ถึงประชาธิปไตยแท้    แต่คนชั้นกลางของเราก็เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว    ข้อสงสัยคือ คนชั้นกลางของเรามี work ethics  และ personal ethics สูงอย่างอเมริกันในอดีตค่อนศตวรรษก่อนหรือไม่     คำตอบชัดเจนคือไม่   

คุณภาพพลเมืองสร้างได้    นั่นคือความเชื่อของผม    และนั่นคือสิ่งที่ผมตั้งหน้าตั้งตาทำให้แก่สังคม ในชีวิตยามชรา    แต่ก็ยังมีประเด็นสำคัญคือระบบต่างๆ ในสังคม    ที่จะต้องเข้มแข็งในการทำงานเพื่อคนส่วนใหญ่    ที่เรายังไปไม่ถึง     แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำให้ดีขึ้นไม่ได้   

เราจะช่วยกันทำได้ เมื่อคนไทยส่วนใหญ่ทำตัวเป็น agent – ผู้กระทำ     ลงมือทำเพื่อประโยชน์สังคมอย่างขยันขันแข็ง    ไม่มุ่งรอความช่วยเหลือ      

วิจารณ์ พานิช

๖ ม.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 675487เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2020 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2020 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท