สภาพลเมืองสุรินทร์ตั้งเป้า“อยู่ดีมีสุข” ระดมกำลังเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัด


ภาคประชาสังคมสุรินทร์ เร่งขับเคลื่อนสุขภาวะคนพื้นที่ให้ “อยู่ดีมีสุข” ผ่าน 25 โครงการ ใน 5 ประเด็นหลัก 3 ยุทศาสตร์จังหวัด ระบุทำงานเชื่อมร้อยทั้งสภาพลเมืองและจังหวัด โดยสนใจกระบวนการเรียนรู้ระหว่างทางมากกว่าผลลัพธ์ เพื่อให้เป็นโมเดลอีกแบบหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือเชิงนโยบาย


      นางวิจิตรา ชูสกุล ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยจัดการระดับจังหวัดขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์สุขภาวะจังหวัดสุรินทร์ (Node Flagship) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงภารกิจหลักว่า เป้าหมายคือการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะคนสุรินทร์ให้อยู่ดีมีสุขตามยุทธศาสตร์สภาพลเมืองสุรินทร์ โดยในการทำงานจะมีภาคีที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนมาเชื่อมร้อยกัน และขับเคลื่อนทั้งหมด 25 โครงการใน 5 ประเด็นหลักได้แก่ 1.อาหารปลอดภัยในโรงเรียนและชุมชน 2.การจัดการขยะ 3.การลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ เน้นในผู้สูงอายุ สุขภาวะพระสงฆ์ และการลดละเลิกแอลกอฮอล์ในงานบุญประเพณี 4.สิทธิด้านสุขภาพ และ 5.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย พร้อมกับขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์ 3 ยุทธศาสตร์ คือยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ลดปัจจัยเสี่ยง

            “ทั้งสามยุทธศาสตร์ได้เชื่อมร้อยกับยุทธศาสตร์จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเราจะต้องทำให้โมเดลที่เราขับเคลื่อนเป็นอีกโมเดลหนึ่งที่ช่วยให้ยุทธศาสตร์จังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่น่าพอใจมากขึ้น” นางวิจิตรา Node Flagship สุรินทร์ กล่าวและขยายความต่อไปว่า อย่างบางประเด็น เช่น การลดละเลิกปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพให้กับพระสงฆ์ ก็ถือเป็นมิติใหม่ของการขับเคลื่อน ซึ่งทางสภาวัฒนธรรมหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์อาจจะทำส่วนหนึ่ง แต่โมเดลของภาคประชาสังคมอาจทำให้เห็นผลชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันเรื่องนี้ยังเชื่อมกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย เพราะมีการขับเคลื่อนประเด็นพระสงฆ์ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้วย ดังนั้นจะเห็นว่ากระบวนการพัฒนา ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐที่ทำ ภาคประชาสังคม หน่วยงานต่างๆ ก็ทำ และเป็นโมเดลอีกแบบหนึ่งที่จะเชื่อมร้อยไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือเชิงนโยบายของจังหวัดด้วย

“ในฐานะ Node Flagship จะสนใจเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ระหว่างทาง บางทีตั้งเป้าหมายไว้ 100 แต่ระหว่างทางอาจพบว่าไปไม่ถึง 100 เมื่อเป็นแบบนี้เราต้องรู้ว่าที่ไปไม่ถึง 100 เป็นเพราะอะไร มีปัญหาอุปสรรคอะไร และเกิดการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงปัญหาอุปสรรคนั้นไหม เพื่อให้โครงการในระยะต่อไป หรือโครงการใหม่บรรลุเป้าหมายได้ นั่นคือถ้ามีจุดอ่อน ก็ไปแก้ไขจุดอ่อนได้ ถ้ามีจุดแข็ง ก็ขยายจุดแข็งไปสู่คนอื่นๆ ให้เกิดการเรียนรู้” นางวิจิตรา กล่าว

หมายเลขบันทึก: 674421เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2020 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2020 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท