พลิกฟื้นทะเลสาบสงขลาตอนกลางคืนทรัพยากรใต้น้ำหล่อเลี้ยงชุมชน


          แหล่งน้ำขนาดใหญ่พื้นที่มากกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตรอย่างทะเลสาบสงขลา มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือน้ำในทะเลสาบแบ่งเป็น 3 ตอน มี 3 น้ำ ทะเลสาบตอนบนจะเป็นน้ำจืด  ตอนกลางเป็นน้ำกร่อย และตอนล่างเป็นน้ำเค็ม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพัทลุงและสงขลา ความพิเศษนี้ช่วยหล่อเลี้ยงหลายชีวิตในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามาช้านาน

        แต่เกือบสิบปีที่แล้ว ชาวประมงพื้นบ้าน ต.ฝาละมี อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ต้องเผชิญปัญหาทรัพยากรชายฝั่งทะเลสาบสงขลาตอนกลางซึ่งพวกเขาอาศัยเป็นแหล่งทำมาหากินมีปริมาณสัตว์น้ำลดลง จากที่เคยออกเรือได้ปลามาขายสร้างรายได้ให้ครอบครัวและชุมชน กลายเป็นออกเรือเปล่าไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือเมื่อเข้าฝั่ง

            “เมื่อก่อนเราเห็นความอุดมสมบูรณ์ แต่ปี 2550 เป็นต้นมามันเรื่อยลดน้อยลง กระทั่งปี 2555-2556 มันหายไปเกือบหมด ไม่เหลืออะไรเลย เพราะเราใช้สอยทรัพยากรโดยไม่มีการบริหารจัดการ ใช้เครื่องมือแบบล้างผลาญ ใครมือยาวสาวได้สาวเอา” นายสุรสิทธิ์ สุวรรณโร ผู้ใหญ่บ้าน บ้านบางขวน ต.ฝาละมี เผยถึงสาเหตุความเสื่อมโทรมและการลดน้อยลงของสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาตอนกลาง พร้อมทั้งอธิบายให้เห็นภาพชัดต่อว่า ออกเรือไปลงอวน 10 กว่าปากก็ไม่ได้ปลาสักตัว

            ชาวประมงอยากอยู่รอดก็ต้องออกเรือไปไกลเกือบ 10 กิโลเมตร เช่นใกล้เขตสัมปทานรังนก เกาะสี่ เกาะห้า จึงจะพอจับสัตว์น้ำได้บ้าง เช่นเดียวกับการข้ามเขตไปหาปลาบริเวณบ้านช่องฟืน ต.เกาะหมาก ซึ่งมีการจัดการทรัพยากรชายฝั่งได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน แต่นั่นก็ทำให้มีการร้องเรียนมายังผู้ใหญ่บ้าน ว่า ประมงพื้นบ้านหมู่อื่นมาแย่งจับสัตว์น้ำ

            “การที่ชาวบ้านไปหาปลาในเขตบ้านช่องฟืนเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชน เพราะเขาฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งจนมีความอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อเป็นเรือบ้านอื่นเข้าไป ก็เหมือนว่าเราไปแย่งจากสิ่งที่เขาทำ” นายสุรสิทธิ์ หรือผู้ใหญ่แดง ที่ชาวบ้านเรียก กล่าวอย่างนั้น

            แน่นอนว่าวิกฤตทรัพยากรในทะเลสาบสงขลาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับหลายชีวิต หากไม่มีการจัดการอย่างเร่งด่วน วิถีชีวิตและชุมชนก็จะสูญสลาย เพราะนี่คือ แหล่งอาหารสำคัญ ชาวชุมชนจึงลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

            ผู้ใหญ่แดง เล่าว่า อย่างแรกที่ต้องทำ คือ ใช้โอกาสการประชุมหมู่บ้านแต่ละเดือน แจ้งให้ชาวชุมชนรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยกันฟื้นฟู เพื่อให้ลูกหลานได้มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ดำรงชีพต่อไป จึงขอรับการสนับสนุนจากแผนสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านหน่วยจัดการพื้นที่ Node Flagship พัทลุง มาให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยง โดยเริ่มจากการทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำบ้านบางขวน เพื่อให้เป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ ซึ่งนำเอาการบริหารจัดการของบ้านช่องฟืนมาเป็นต้นแบบ พร้อมทั้งประชาคมตั้งกฎ กติกาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย

            1.ห้ามทำประมงด้วยเครื่องมือทุกชนิดในระยะ 500 เมตรจากชายฝั่ง ยกเว้นช่วงเปิดอนุโลมที่ให้สามารถใช้เครื่องมือขนาดเล็กหาปลาเพื่อยังชีพสำหรับชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ 2.หากฝ่าฝืนจะถูกว่ากล่าวตักเตือนและยึดเครื่องมือทำประมง 3.หากฝ่าฝืนทำผิดซ้ำซากก็จะถูกยึดเครื่องมือทำประมงได้ทุกชนิด รวมถึงเรือและเครื่องยนต์  4.ผู้ใดวางกัดหรืออวนทับเสาเขตอนุรักษ์ต้องชดใช้ค่าเสียหายและยึดเครื่องมือ 5.ห้ามทำประมงอวนล้อมใกล้แนวเขต และ 6.ห้ามใช้เครื่องมือทำประมงผิดกฎหมายทุกชนิดภายในอาณาเขตพื้นที่ ม.6

            นอกจากนี้ยังได้ช่วยกันสร้างบ้านปลาตลอดแนวเขตเพื่อให้ปลาได้มีที่อยู่อาศัย หลบคลื่น วางไข่ เพื่อให้พร้อมเจริญเติบโตก่อนออกไปเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาต่อไป

            “เราจัดทีมออกลาดตระเวน เพื่อป้องกันการลักลอบทำประมงในเขตอนุรักษ์ ซึ่งหากมีการตรวจพบก็จะมีการตักเตือน หากละเมิดก็จะยึดเครื่องมือรวบรวมไว้เพื่อนำไปประมูล รายได้เข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามมีพื้นที่อนุโลมให้คนที่ไม่มีเรือ สามารถจับสัตว์น้ำได้ เพราะการบังคับกติกาหรือห้ามหมด ก็จะไปกระทบกับวิถีชีวิตเขาด้วย” ผู้ใหญ่แดง กล่าว

            หากทุกหมู่บ้านทุกชุมชน ช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งพร้อมกันอย่างแข็งขัน ทะเลสาบสงขลาก็จะอุดมสมบูรณ์ สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตคนบนผืนดินตลอดชายฝั่งที่ทอดยาว

            เช่นเดียวกับ บ้านบางเค้ขัด (แหลมไก่ผู้) หมู่ 8 ต.ฝาละมี อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ชาวบ้านพร้อมใจกันทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำร่วมกับบ้านบางขวนอย่างขะมักเขม้น เพื่อให้พื้นที่ของตัวเองได้มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ และไม่ต้องไปแย่งทำประมงในพื้นที่อื่นเช่นกัน  

นายเจริญ สุวรรณเจริญ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านบางเค้ขัด (แหลมไก่ภู่) กล่าวว่า ปัญหาแก่งแย่งทรัพยากรมันจะเกิดขึ้นแน่นอนหากไม่ช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยเฉพาะในพื้นที่ของตัวเอง ชุมชนริมทะเลสาบจึงชวนกันทำแนวเขตอนุรักษ์ ในระยะ 300-800 เมตร โดยจะขยายไปเรื่อยๆ ให้ครอบคลุมทั้งตำบล และมีการจัดตั้งสมาคมชาวประมงพื้นบ้านรักษ์ทะเลสาบสงขลาตอนกลาง เพื่อมาช่วยกันบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ สร้างกติการ่วมกัน

            ภายหลังการอนุรักษ์และฟื้นฟูเข้าสู่ปีที่ 2 เริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งทั้งผู้ใหญ่แดงและผู้ใหญ่เจริญ พูดเป็นเสียงเดียวกันกว่า เพียงปีเดียวปลาเริ่มมากขึ้น เช่น ปลาขี้ตั้ง ที่เมื่อก่อนแทบจะไม่มี หรือ ปลากระบอก ก็จะหาได้ง่ายขึ้น ชาวบ้านออกเรือไปนอกเขตก็ได้กลับมา บางรายคืนเดียวได้เงิน 2-3 หมื่นบาท

            “ทะเลมีความหลากหลายมากขึ้น นกเริ่มมาอาศัยอยู่หากิน ซึ่งปลา สัตว์น้ำที่มีอยู่ล้วนมาจากการที่เราช่วยกันเขตอนุรักษ์ และส่วนหนึ่งคือมีการปล่อยพันธุ์ปลาอยู่เป็นประจำ ทำให้ทุกอย่างอุดมสมบูรณ์ รวมถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศด้วย” ผู้ใหญ่แดง ย้ำ

            สิ่งที่ทั้งสองคนคาดหวังต่อไป คือ การมี 1 ชุมชน 1 แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำรอบทะเลสาบสงขลา เพื่อเป็นแหล่งอนุบาล ช่วยคืนสัตว์น้ำทะเลสงขลาให้ได้มากที่สุด

            จากความร่วมมือร่วมใจกันอย่างแข็งขันของชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านจนช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในทะเลสาบสงขลาตอนกลางให้กลับคืนมา คือตัวอย่างความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่หน่วยจัดการพื้นที่ Node Flagship พัทลุง มุ่งสร้างเป็นพื้นที่ต้นแบบในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์และปริมาณสัตว์น้ำ ตามยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง เพื่อเป้าหมาย “พัทลุง Green City คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

          “ต้นแบบ” ที่เกิดขึ้นนี้จะถูกส่งต่อไปยังชุมชนอื่นๆ ให้เกิดการอนุรักษ์ตลอดชายฝั่งของทะเลสาบสงขลาตอนกลางที่ยาวกว่า 40 กม.ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คนทั้งจังหวัดพัทลุงอยากจะเห็น

หมายเลขบันทึก: 674415เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2020 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2020 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท