“พืชร่วมยาง” ของคนรักสวนรก สร้างรายได้ ให้แหล่งอาหาร อนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นถิ่น


               สภาวะราคายางพาราตกต่ำกระทบต่อชาวสวนยางมานานหลายปีแล้ว โดยเฉพาะภาคใต้ ในสภาวการณ์เช่นนี้เกษตรกรจึงต้องปรับตัว และปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรให้สอดคล้องกับปัจจุบันเพื่อความอยู่รอด

        สหจร ชุมคช หรือ “พี่ไก่” เกษตรกรบ้านขาม ตำบลลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ถือเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ มุ่งมั่นการทำเกษตรแบบ “พืชร่วมยางพารา” มาเกือบ 10 ปี จนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว และเป็นวิทยากรให้กับผู้สนใจ

            พี่ไก่ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรแบบปลูกพืชร่วมยางพาราว่า ตอนทำงานอยู่กรุงเทพฯ ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวนเกษตรมาต่อเนื่อง กระทั่งได้กลับมาอยู่บ้าน เมื่อปี 2551 จึงคิดที่อยากจะทำบ้างในสวนของครอบครัว เพราะราคายางพารามันเริ่มตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ถ้ายังอยู่แบบเดิมก็ลำบา เขาจึงปรับเปลี่ยนสวนยางด้วยการปลูกพืชอื่นเสริมเข้าไปในแปลงยางพารา

            ตามปกติ สวนยางพาราที่เห็นจนชินตา จะโล่งโปร่งแสง มีต้นยางพาราเรียงรายเป็นทิวแถวสวยงาม แต่ไม่ใช่กับสวนยางของพี่ไก่ เพราะสวนที่นี่ รกทึบเต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด อาจจะเรียกว่าป่าเสียด้วยซ้ำ

            “เมื่อก่อนความสมบูรณ์ในสวนยางไม่ใช่มีแต่ต้นยางพาราแบบเชิงเดี่ยวเหมือนทุกวันนี้ ดังนั้นสิ่งที่เคยเห็นเคยมีในอดีตมันลดน้อยลง หรือเริ่มสูญพันธุ์ ทั้งการใช้สารเคมีอันตราย การพัฒนาไร้จิตสำนึก เราจึงอยากกลับมาทำ แค่อยากจะเอาของที่มันหายไปกลับคืนมา” พี่ไก่ บอกและขยายความต่อว่า “แต่ก่อน ไม่รู้จักปุ๋ยเคมี พืชผักผลไม้ หวานกรอบน่ากิน เรากลับมาเป็นเหมือนเก่าดีกว่าไหม อาศัยภูมิปัญญา เหนื่อยหน่อย ไม่ต้องไปแก่งแย่งแข่งขันสู้ราคากับคนอื่น เราทำเรื่อยๆ อาศัยธรรมชาติช่วย และบริหารจัดการอีกนิดหน่อย”

            ทว่า-เริ่มต้นก็ไม่ง่าย เพราะเมื่อคนในหมู่บ้านไม่เชื่อในสิ่งที่เขาทำ แม้กระทั่งคนในครอบครัวที่ไม่ยอมคุยด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งคือ ความเชื่อที่ว่า หากมีการปลูกพืชอื่นปะปนจะทำให้ผลผลิตน้ำยางลดลง ซึ่งจริงๆ แล้วหากมีการปลูกพืชที่สามารถเติบโตร่วมกับยางพาราได้ดีก็จะไม่เกิดผลกระทบอย่างแน่นอน

            พี่ไก่ยังเชื่อมั่นที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็น ว่าสิ่งที่เขาคิดเป็นสิ่งถูกต้อง

            กระทั่งเมื่อผลผลิตที่พี่ไก่ลงมือปลูกเองทั้งสิ้น เริ่มผลิดอกออกผล สร้างรายได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ ไม้ประดับ พืช ผัก สมุนไพร ซึ่งไม่มีการใช้ยาฆ่าหญ้า หรือปุ๋ยเคมี อาศัยระบบธรรมชาติพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน คนในหมู่บ้านจึงยอมรับในแนวคิดนี้ในที่สุด

            วันที่เข้าสวนเพื่อเก็บผลผลิต เช่น ดอกดาหลา ใบเฟิร์น ลูกฉิ่ง ใบเหลียง ผักเหนียง กระวาน  ว่านสาวหลงหรือค้างคาวดำ และอื่นๆ อีกสารพัดชนิด และส่วนหนึ่งจะเพาะกล้าไว้จำหน่าย ทำให้มีรายได้ต่อครั้งไม่น้อยกว่า 1,000 บาท หากมีออเดอร์ออกงานก็จะได้ไม่น้อยกว่า 5,000 บาท

            สำหรับการทำเกษตรแบบพืชร่วมยางนั้น พี่ไก่ให้คำแนะนำว่า ไม้ที่จะปลูกต้องเป็นพืชท้องถิ่นก่อนเป็นลำดับแรก เพราะทนกับสภาวะอากาศ สิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ ถ้าเป็นไม้ต่างถิ่นอ่อนไหวเจอสภาพอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ก็จะตายง่ายๆ  ไม่เหมือนไม้พื้นถิ่นตายยาก

สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การจัดระบบภายในสวน มีการปลูกพืชชั้นนอก เพื่อเป็นเหมือนแนวกำแพงควบคุมความชุ่มชื้นภายในสวน โดยใช้ไม้แตกกอ ซึ่งบริหารจัดการง่าย ถ้าตายก็ย้อยสลายไปเป็นปุ๋ย ภายในสวนก็จะต้องมีไม้หลักที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ทั้งให้ร่วมเงา และให้ความชุ่มชื้น โดยใช้ต้นยางเดิมก็ได้ เช่นเดียวกับต้องรู้ว่าที่เราจะปลูกนั้นเป็นพืชชอบแดดมาก หรือชอบแดดแบบรำไร จะต้องดูสภาพพื้นที่ควบคู่ด้วย

            เมื่อขอคำยืนยันเรื่องรายได้จากสวนพืชร่วมยาง พี่ไก่ บอกว่า รายได้ดีกว่าปลูกยางเชิงเดี่ยวมาก มีกิน มีขาย โดยเฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ดีกว่ายางพาราถึง 10 เท่า

            “เอาแค่ปีที่แล้วผมเพาะเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้าขาย ได้เงินมาเกือบ  1 แสนบาท ยังไม่รวมที่เก็บขายทุกวัน” พี่ไก่ บอกก่อนทิ้งท้าย ว่าการทำเกษตรแบบพืชร่วมยาง ทำได้ง่าย แต่คนทำต้องตั้งใจจริง รู้จักสวน รู้จักพื้นที่ของตัวเองเป็นอย่างดี และประเมินตลาดของตัวเองให้ได้ ว่าปลูกแล้วจะเอาไปขายที่ไหน

          จากสวนพืชร่วมยางรกทึบเนื้อที่เพียง 7 ไร่  สู่ “สวนการเรียนรู้พันธุกรรมตำบลลำสินธุ์” ที่เปิดให้เกษตรกรและผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้แนวคิด และจากการสนับสนุนของแผนสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านหน่วยจัดการพื้นที่ Node Flagship พัทลุง ทำให้ปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มของชาวสวนพืชร่วมยาง มีพื้นที่รวมแล้ว 485 ไร่ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น “ต้นแบบ” ในการสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย และสร้างความมั่นคงด้านพันธุกรรมพืชท้องถิ่น ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ “พัทลุง Green City คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

คำสำคัญ (Tags): #พืชร่วมยาง#สสส.
หมายเลขบันทึก: 674410เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2020 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2020 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท