ข้าวสู้แล้งด้วยสารชีวภาพ สูตรทำนาชาวบ้านดอนตะเคียน


      หลังจากรอมาเกือบ 4 เดือนในที่สุดข้าวในนาก็ถึงเวลาเก็บเกี่ยว แม้ว่าปีนี้ สภาพอากาศได้แปรเปลี่ยน ฟ้าฝนไม่ตกตามฤดูกาล ตกน้อยหรือตกไม่ทั่วฟ้า ดูจะเป็นอุปสรรคสำหรับเกษตรกรนอกเขตชลประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชาวนา” ที่จำเป็นต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยหลักหล่อเลี้ยงต้นข้าว

        นอกจากปัจจัยที่เหนือการควบคุมอย่างภัยแล้ง ยังมีเรื่องของภาวะต้นทุนสูง ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ยิ่งทำให้ผลผลิตที่ได้ตกต่ำ ซ้ำร้ายขายไม่ได้ราคา ขาดทุนต้องเป็นหนี้เป็นสิน

            แต่สำหรับชาวนาบ้านดอนตะเคียน ต.หนองยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ โดยเฉพาะกลุ่มวิสากิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน กลับไม่ยี่หระกับภัยแล้งงาม และไม่ง้อสารเคมีให้เปลืองต้นทุน เพราะที่ชุมชนแห่งนี้ทำนาอินทรีย์ด้วยการใช้สารชีวภาพที่คิดค้นขึ้นเองในการหล่อเลี้ยงต้นข้าวให้งอกงาม แม้ว่าจะผ่านช่วงภัยแล้งมาอย่างหนักหนาสาหัส แต่ข้าวสามารถยืนต้นออกรวงให้ผลผลิต จนพร้อมเก็บเกี่ยวได้อย่างน่าทึ่ง

            สาธิตา ศิลป์อยู่ รองประธานกลุ่มวิสากิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน เปิดเผยถึงการทำนาสู้ภัยแล้ง ว่าการทำนาของกลุ่มใช้สูตรเกษตรหาร 3 คือ แบ่งเป็น 3 ช่วงในการดูแล เริ่มตั้งแต่การเตรียมดินด้วยการใช้ปุ๋ยหมักและจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง (อีแดง) ร่วมด้วยสารชีวภาพที่ทำขึ้น เช่น ไลลา และ N1 เมื่อข้าวอายุได้ 3 วัน ก็จะฉีดสารคุมเลนยับยั้งการเติบโตของหญ้า จากนั้นก็จะให้สารชีวภาพซึ่งเปรียบเหมือนวัคซีนเป็นธาตุอาหารให้พืช เช่น เขียวแตกกอ เขียวใบใหญ่ ดันรวง เร่งแป้ง จนกระทั่งข้าวออกรวงและพร้อมให้เก็บเกี่ยวเมื่อถึงเวลา

สำหรับสารชีวภาพของชาวบ้านดอนตะเคียน ที่สำคัญสุด คือ “จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง” หรือที่ชาวดอนตะเคียนเรียกว่า “อีแดง”เป็นทั้งฮอร์โมนบำรุงและสารตั้งต้นในการทำน้ำหมักชีวภาพอีก 30 สูตรที่ใช้ในการเกษตรอย่างครบวงจรทั้งไร่นา สวนผักและผลไม้  

 “อีแดง” ที่นี่เป็นสูตรจำเพาะ แตกต่างจากที่อื่น คือ ใช้น้ำสะอาดที่มาจากการเพาะเชื้อจุลินทรีย์จากน้ำในพื้นที่ จึงเป็นจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่มีความเหมาะสมในการทำเกษตรพื้นที่นั้นๆ

            ในฤดูฝนที่ผ่านมา จังหวัดนครสวรรค์เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง ฝนตกน้อยมาก ดินแตกระแหง ทำให้ข้าวในนาหลายแห่งยืนต้นตาย แต่สำหรับข้าวในนาของชาวดอนเคียนหลายคนสามารถอยู่รอดได้ โดยรองประธานกลุ่มวิสากิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน อธิบายเหตุผลที่นาข้าวของบ้านดอนตะเคียนอยู่รอดได้นั้น ว่า ข้าวจะได้อาหารทางใบจากสารชีวภาพที่ฉีดพ่นในแต่ละครั้ง แม้ว่าปีที่ผ่านมาฝนจะตกแค่ 3 ครั้งแบบพอพรมหน้าดิน แต่ข้าวในนาของยังอยู่ได้ ส่วนคนที่เป็นนาเคมีนั้นนาข้าวเหลืองแห้งตายกันหมด

            “เมื่อข้าวได้รับอาหารทางใบจะทำให้ต้นข้าวแข็งแรงสมบูรณ์ สามารถอยู่ได้ทุกสภาวะไม่ว่าจะแล้งหรือน้ำท่วม และไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี หรือรอฟ้าฝนให้เป็นใจ”

            สำหรับข้าวของชาวบ้านดอนตะเคียนปลูกนั้นจะเป็นข้าวหอมมะลิโกเมนซึ่งเป็นข้าวที่มีราคาสูง เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งสาธิตา ยืนยันว่า ข้าวอินทรีย์ที่เธอทำจะมันวาวกว่าข้าวเคมีและกินอร่อยกว่ามาก

สำหรับชาวนาที่สนใจการทำนาสู้ภัยแล้ง สามารถมาศึกษาเรียนรู้ ซึ่งกลุ่มวิสากิจชุมชนสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน พร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้ทั้งหมด ขอเพียงมุ่งมั่นในเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง

          บ้านดอนตะเคียน เป็น 1 ใน 6 พื้นที่ต้นแบบที่ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์วิถีปลอดภัย ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดนครสววรรค์ เพื่อพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบให้ชุมชนที่สนใจได้นำรูปแบบและแนวคิดไปใช้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 674413เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2020 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2020 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท