พัทลุงกับยุทธศาสตร์สุขภาวะ สู่ Phatthalung Green City คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี


        “พัทลุงเมืองสีเขียว ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีสิ่งแวดล้อมที่ดี” คือวิสัยทัศน์ของจังหวัดเล็กๆ ที่คนส่วนใหญ่ยังมีวิถีชีวิตเรียบง่าย และยังคงพึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลัก ควบคู่กับการเป็นเมืองรองการท่องเที่ยวที่พร้อมต้อนรับผู้คนให้มาเยือน

        ภายใต้ยุทธศาสตร์ ปี 2561-2564 “พัทลุง เมืองคนคุณภาพ สิ่งแวดล้อมดี ชุมชนเข้มแข็ง เติบโต และมั่งคั่งจากฐานการเกษตร วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยั่งยืน”และดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ “Phatthalung Green City คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

            หน่วยจัดการพื้นที่จังหวัดพัทลุง หรือ Node Flagship พัทลุง จากการสนับสนุนของแผนสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นแกนหลักสำคัญประสานความร่วมมือกับภาคประชาชน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาวะ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อมดีชุมชนปลอดมลพิษ 2.ทรัพยากรชายฝั่งเพิ่มขึ้น ลองสวยน้ำใสมีปลาเพิ่ม 3.อาหารปลอดภัยและ 4.การท่องเที่ยวส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

            โดยระยะแรกเน้นใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรชายฝั่ง  2.สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการจัดการขยะ และ 3.อาหารปลอดภัย ด้วยการผลิต เช่นการเพิ่มพื้นที่อาหารในสวนยาง และการบริโภคที่ปลอดภัย ซึ่งการขับเคลื่อนภาคประชาชน และ Node Flagship พัทลุง จะเป็นตัวหนุนเสริมให้กับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดเป็นไปอย่างสมบูรณ์

            นายไพฑูรย์ ทองสม คณะทำงาน Node Flagship พัทลุง เปิดเผยถึงเหตุผลที่เลือกเป้าหมาย 3 ประเด็นดังกล่าวว่า จ.พัทลุง ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองรองที่ภาครัฐให้การสนับสนุนลำดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มุ่งหวังมาชม วิถีวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม ซึ่งถ้าหากไม่พัฒนาในส่วนนี้ให้มีความพร้อมก็จะกระทบต่อด้านอื่นๆ อย่างเช่น การท่องเที่ยว

            “เราให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตคน เพราะคนป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs มีอัตราสูง เราจึงต้องมาขับเคลื่อนเรื่องอาหาร เพราะอาหารเป็นปัจจัยของการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งการขับเคลื่อน 1 ปีที่ผ่านมาเกิดพื้นที่ต้นแบบการผลิตอาหารปลอดภัยสอดคล้องกับการประกาศ พัทลุงเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ โดยเราสร้างโมเดลพื้นที่ต้นแบบผลิตข้าวอินทรีย์ได้มากกว่า 100 ไร่” ไพฑูรย์ กล่าว

            ต่อมาคือการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่อาหารในสวนยางพารา โดยเปลี่ยนจากการทำพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นป่าสวนยาง หรือ วนเกษตร หรือ พืชร่วมยาง เพื่อให้มีความหลากมากขึ้นด้วยการปลูกพืชอาหาร พืชสมุนไพรเข้าไปในสวนยาง เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับชุมชน ซึ่งเราสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการบริโภคปลอดภัยต่อไป

การจัดการสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการจัดการขยะเป็นลำดับแรก มีเป้าหมายลดขยะลงร้อยละ 50 โดยเข้าไปส่งเสริมหลายโครงการจนเกิดเป็น 4  โมเดล คือ 1.การจัดการขยะระดับชุมชนด้วยรูปแบบธนาคารความดี 2. การจัดการระดับท้องถิ่นโดยใช้ อปท.เป็นแกนในการจัดการขยะระดับตำบล  3.การจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ที่ อ.กงหรา ด้วยการใช้วัฒนธรรมในการจัดการขยะ และ 4.การจัดการขยะโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน โดยให้โรงเรียนเป็นผู้เรียนรู้ก่อนขยายผลไปยังชุมชม

 ต่อมาคือเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อย่างแรก คือ การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ไม่ท่วม ไม่แล้งด้วยความร่วมมือของชุมชน ในส่วนของการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง มีบ้านช่องฟืนเป็นต้นแบบในการจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำแล้วในหลายหมู่บ้านรวมระยะทางแนวชายฝั่งไม่น้อยกว่า 40 ก.ม. ช่วยฟื้นคืนอาชีพชาวประมงพื้นบ้าน คนมีอาหารได้บริโภค เศรษฐกิจครอบครัวที่ดีขึ้น

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยจัดการพื้นที่จังหวัดพัทลุง หรือ Node Flagship พัทลุง ได้สนับสนุนให้ชุมชนที่มีศักยภาพดำเนินโครงการตามประเด็นต่างๆจนสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบเพื่อนำไปเผยแพร่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งทุกโมเดลที่เกิดขึ้นนี้ ในปีต่อไปจะต้องเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สามารถสร้างเครือข่าย ซึ่งหน่วยงานและองค์กรที่ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดสามารถหยิบจับโมเดลที่เกิดขึ้นไปใช้ได้ และสุดท้ายคือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายระดับจังหวัดต่อไป เพื่อให้พัทลุงเป็นเป็นเมืองที่มีสุขภาวะ

หมายเลขบันทึก: 674416เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2020 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2020 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท