๑,๐๗๗ เพลงฉ่อยกับแอโรบิค..ในงานโคบาล


รายการเพลงพื้นบ้านผ่านไปด้วยดี..ทุกทีต้องกลับบ้าน แต่วันนี้ขอโชว์ชุดพิเศษ ที่คนเลาขวัญไม่เคยชมมาก่อน นั่นคือการเต้นแอโรบิคประกอบบทเพลงสากล ที่เร้าใจแบบออกกำลังกายก็ได้ หรือจะใช้เป็นการเต้นเพื่อนันทนาการและบันเทิงก็ได้เหมือนกัน..

         โรงเรียนได้รับมอบหมายจากทางอำเภอให้จัดการแสดง ๑ ชุด ในงานโคบาล ครั้งที่ ๑๓ ประจำปี ๒๕๖๓ และแสดงในคืนวันที่ ๑๓ มกราคม...      

      บนเวทีใหญ่ที่จัดไว้เฉพาะศิลปวัฒนธรรม...ตามกำหนดให้แสดง ๑ ทุ่ม แล้วรายการต่อไปก็จะเป็นการประกวดขับร้องเพลงไทยลูกทุ่ง...

        ผู้กำกับเวทีบอกผมว่า..อยากให้มีคนดูเยอะๆ จึงจะให้นักร้องมาขับกล่อมเกริ่นนำก่อนสัก ๕ – ๖ เพลง เอาเข้าจริงร้องเรียกแขกไป ๑๐ เพลง ทำให้เด็กๆต้องขึ้นแสดงในเวลา ๒๐.๑๐ น. ดึกกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

        นับเป็นครั้งแรก..ที่อำเภอขอรายการแสดง ๑ ชุด แล้วผมจัดให้เขา ๓ ชุด เหมือนว่าจ้างแบบเหมาจ่าย ๓,๐๐๐ บาท โรงเรียนเล่นให้ ๕,๐๐๐ บาท แบบจัดเต็มกันไปเลย

        ผมยังใช้ชุด “เพลงฉ่อย” เป็นชุดนำร่องแบบว่าทิ้งไม่ได้ การละเล่นของไทยต้องช่วยกันสืบสานไว้ คนดูอาจไม่สนุก แต่เด็กจะได้ประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

        ร่ำเรียนและฝึกฝนในห้องเรียน ได้นำเสนอด้านหน้าเวที มีผู้ปกครองมาให้กำลังใจ ยังไงก็ชนะใจคนดูแน่นอน และปีนี้ไม่ได้เล่นตอนหัวค่ำ ทำให้คนดูคึกคักมากเป็นพิเศษ

        ปีนี้..เพลงฉ่อย ไม่สร้างความหนักใจ แม้ว่าผู้ขับร้องที่เป็นเด็ก ป.๖ จะเป็นเด็กใหม่ทั้งหมด รวม ๙ คนด้วยกัน..ร้องคนละ ๔ บท เป็นกลอนไลและกลอนลา

        กลอนไล คือกลอนเพลงฉ่อยที่ลงท้ายด้วยสระไอ ส่วนกลอนลา จะลงท้ายวรรคด้วยคำที่มีสระอา..เด็กร้องได้ราบรื่น ออกท่าทางได้ไม่เคอะเขินเพราะซ้อมกันหลายวัน

        ที่สำคัญก็คือ เป็นบทกลอนเพลงฉ่อย ที่นักเรียนแต่งกันเอง แล้วส่งเป็นการบ้านตั้งแต่ภาคเรียนที่ ๑ พอมาถึงวันนี้ ทุกคนจึงจำได้อย่างขึ้นใจ..มีความมั่นใจในการร้อง

        ในส่วนที่แตกต่าง เพิ่มสีสันบนเส้นเสียง ก็คือกลองและเครื่องประกอบจังหวะ ครบชุด กลองเสียงไม่เหมือนเดิม เสียงดังฟังชัดกว่าเดิม เพราะผมใช้ตะโพนเป็นครั้งแรก..

        รายการเพลงพื้นบ้านผ่านไปด้วยดี..ทุกทีต้องกลับบ้าน แต่วันนี้ขอโชว์ชุดพิเศษ ที่คนเลาขวัญไม่เคยชมมาก่อน นั่นคือการเต้นแอโรบิคประกอบบทเพลงสากล ที่เร้าใจแบบออกกำลังกายก็ได้ หรือจะใช้เป็นการเต้นเพื่อนันทนาการและบันเทิงก็ได้เหมือนกัน..

        ใช้ผู้แสดงชุดเดียวกันทั้ง ๒ เพลง..ใส่เสื้อขาว สวมถุงมือสีขาว เข้ากับแสงสีบนเวทีอย่างมากมาย..ส่ายสะโพกโยกย้าย ตั้งแต่เพลงเริ่มขึ้น..เหมือนมีกำลังใจที่ได้เห็นผู้คนมาชม เด็กทุกคนเต้นพร้อมกัน จังหวะดีมาก..ไม่มีใครต้องมองใครแสดงว่าซ้อมถึง..จริงๆ

        สีหน้าท่าทางของแต่ละคน..สดชื่นแจ่มใส ใส่เต็มๆ เพราะรู้ว่าผู้ปกครองกำลังถ่ายคลิ๊ปวีดีโอ เมื่อเสร็จสิ้นไปทั้ง ๒ เพลง แต่เด็กไม่เหนื่อย ไม่มีอาการอ่อนล้า คงเป็นเพราะซ้อมบ่อยจนเข้าฝัก และเด็กก็คงรักการเต้นเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้วด้วย..

        ความรู้สึกของผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก พาเด็กออกงานใหญ่ได้ขึ้นเวทีของอำเภอ ที่มีคนดูอยู่นอกเขตโรงเรียน ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโรงเรียน ที่เรามิได้เรียนหนังสืออย่างเดียว

        แต่เรามีกิจกรรมฝึกทักษะที่หลากหลาย..เป็นทักษะชีวิตขั้นพื้นฐาน ที่จะช่วยต่อยอดไปสู่การเป็นเยาวชนที่สมบูรณ์แบบ ที่รักดี รักการแสดงออกทางศิลปวัฒนธรรม

        ผมคิดเสมอว่า “เพลงฉ่อย” หรือเพลงพวงมาลัย” ยังเข้ากันได้ดีกับเวทีโคบาล ส่วนแอโรบิค..ผมมาแถมให้เพื่อให้เห็นศักยภาพ หรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีงามของโรงเรียนขนาดเล็ก

        อย่างน้อยก็ช่วยสื่อไปถึง..คาวบอย..ทุกคน เพราะการจะเป็นโคบาลได้ต้องแข็งแรง แล้วการที่จะแข็งแรงได้ก็ต้องดูแลตนเองให้ดีที่สุด ด้วยการออกกำลังกาย

        ผมแนะนำให้เต้น.แอโรบิค..ได้เหงื่อชุ่มกายเพราะเหนื่อย แต่รับรองว่า..จะเร้าใจอย่างแน่นอน...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๓  มกราคม  ๒๕๖๓


       

หมายเลขบันทึก: 674400เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2020 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2020 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท