สัมปชัญญะทั้ง ๔ เกี่ยวกับชีวิตประจำวันแง่ไหน


ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัส ก็เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ที่เราทุกคนสามารถนำมาใช้ได้ ดังเช่น ๒ คำที่ว่า สติ และ สัมปชัญญะ ที่มักใช้คู่กันเป็นสติสัมปชัญญะ

เมื่อเราได้ยินคำว่าสติสัมปชัญญะนี้ เราส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาเพื่อการหลุดพ้นจากชาติชรามรณะ มักไม่ใคร่ได้มองว่า ทั้งสติสัมปชัญญะนั้น เราสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันได้ และมักไม่ทราบว่า หากปราศจากทั้งสติและสัมปชัญญะ เราจะถึงกับทำการไม่สำเร็จ ขาดความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ หรือเป็นอันตรายได้เลยทีเดียว

สตินั้นคือการระลึกได้ การไม่ลืม แต่การระลึกได้จะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่รู้ว่าเราระลึกหรือไม่ลืมหลงไปเพื่ออะไร ดังนั้น การระลึกได้ จึงต้องมีการรู้ชัดหรือสัมปชัญญะอันเป็นปัญญาประกอบการระลึกไปกันด้วยเสมอ

โดยการรู้อย่างชัด ท่านจำแนกไว้เป็น ๔ ลักษณะ

ซึ่งจะขออุปมาง่ายๆอย่างนี้ว่า

รู้ว่าเป็นประโยชน์(สาตถกสัมปชัญญะ)

รู้ว่าสามารถทำได้ง่าย ทำอย่างไรจึงจะผ่อนคลายในขณะทำ ทำอย่างไรจึงไม่สร้างความลำบากจนเป็นเหตุให้ทำงานไม่สำเร็จหรือความไม่สบายตามมา(สัปปายสัมปชัญญะ)

รู้ว่าควรวางใจอย่างไร ปฏิบัติตออินทรีย์ทั้งหลายอย่างไรเพื่อให้ทำงานนั้นสำเร็จ(โคจรสัมปชัญญญะ-โค บาลีแปลว่าอารมณ์ อาหาร การทำมาหากิน สถานที่อันควรไป)

และ

รู้ว่าไม่หลงลืมความถูกต้องตามธรรม รู้ความเป็นธรรมชาติ ธรรมดา เหตุที่มา ผลที่ไป(อสัมโมหะสัมปชัญญะ)

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เรากำลังอ่านหนังสือสอบ

---เมื่อสติระลึกได้ว่าเรามีหน้าที่ศึกษา และการศึกษาต้องมีการวัดผล และเราต้องการเรียนรู้อย่างประสบผลสำเร็จ จึงเริ่มต้นอ่านหนังสือ ขณะอ่าน เราก็ต้องรู้ว่าเราอ่านเพื่อทำความเข้าใจกับเนื้อความในหนังสือ เพื่ออาจใช้ประโยชน์จากเนื้อความนั้นในชีวิตประจำวันได้ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น เพื่อความพร้อมสำหรับการวัดผล(สาตถกสัมปชัญญะ)

เมื่อรู้ชัดอย่างนี้ เมื่ออ่านพบส่วนไหนที่ไม่เข้าใจ ก็จะค้นคว้าเพิ่ม สอบถามผู้รู้ ครู อาจารย์ จนกว่าจะเข้าใจ

---รู้ว่าควรจัดสรรเวลาอย่างไร เวลาไหนควรอ่านหนังสือ เวลาไหนควรทำงานอื่น ขณะอ่าน หากใจแว่บไปคิดถึงเรื่องอื่นก็รู้และรักษาใจให้แน่วแน่ต่อการอ่านได้ต่อไป (โคจรสัมปชัญญะ)

รู้ว่าทำอย่างไรใจจึงสบาย การตี้งความปรารถนา การอยากได้ผลสำเร็จที่เกินกว่าความเป็นจริงในปีจจุบันมีผลให้ใจร้นรน ไม่สบาย และรู้ว่าการทำงานทั้งหมดนอกจากจะบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ในภายหลังด้วย(สัปปายสัมปชัญญะ)  

เพราะรู้อย่างนี้ เมื่อนั่งอ่านหนังสือสักชั่วโมงก็ลุกขึ้นเดินผ่อนคลายหรือทำงานเล็กๆน้อยๆสัก ๕ นาที เพื่อนอกจากจะช่วยให้ร่างกายคลายความตึงเครียด ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ยังช่วยป้องกันโรคกลุ่ม NCDs  ป้องกันอาการกระดูกสันหลังทรุดเนื่องจากนั่งนานเกินไป นั่งตัวตรงเพื่อป้องกันการบิดผิดรูปของกระดูกสันหลัง อันเป็นเหตุของความเจ็บป่วยในอนาคต

หรือเมื่อรู้ว่าอ่านมากเกินไป สมองล้า ก็หยุดพัก หาทางผ่อนคลายด้วยการทำอย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้ความคิดมากทำ เช่น ทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน อาบน้ำ

หรือรีบทำงานที่ค้างอยู่ให้เรียบร้อยก่อนการอ่าน เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลจนอ่านหนังสืออย่างไม่สบายใจ กระสับกระส่ายขณะอ่านจนไม่สามารถทำความเข้าใจกับสิ่งที่กำลังอ่านได้

จัดบ้าน มุมที่นั่งอ่านหนังสือให้สะอาด เพื่อนอกจากจะถูกสุขอนามัยแล้ว ยังชวนให้น่าอยู่ ให้อ่านได้อย่างสบาย

รู้ว่าควรหาพื้นที่ลักษณะไหนเพื่อให้นั่งอ่านหนังสือได้ทั้งรู้เรื่องและสบาย เช่น หามุมสงบหากต้องการอ่านเพียงลำพัง หรืออ่านกับกลุ่มหากต้องการความช่วยเหลือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

---มีสติระลึกเสมอว่า ในขณะที่กำลังอ่าน จะไม่หลงลืมวัตถุประสงค์ของการอ่าน(อสัมโมหะสัมปชัญญะ) เช่น เมื่อเพื่อนชวนคุย ก็หาทางตัดบทอย่างสุภาพและชวนเพื่อนให้เห็นคุณค่าของเวลา เห็นคุณค่าของการเตรียมตัวสอบ อันนอกจากจะเป็นการถนอมน้ำใจมิตรแล้ว ยังช่วยปกป้องมิตรจากความเสียหาย

หรือในขณะที่อ่าน จิตกระหวัดไปถึงเรื่องอื่น เมื่อสติระลึกได้ ก็นำใจมาจดจ่ออยู่กับการอ่านอย่างเดิม ไม่ปล่อยใจให้เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวที่จรเข้ามาให้คิดถึง

หรือขณะที่ค้นคว้าเพิ่มเติม แม้พบบางเรื่องราวน่าสนใจ แต่ถ้าเห็นว่าการไปศึกษาเรื่องนั้นจะทำให้เสียเวลามากไป เวลาที่มีอยู่อาจไม่พอสำหรับการเตรียมตัวสอบ ก็อาจวางเรื่องที่พบว่าน่าสนใจใหม่นั้นไว้ก่อน หลังจากที่สอบเสร็จแล้ว มีเวลาว่างมากแล้ว จึงค่อยนำเรื่องนั้นๆมาศึกษาต่อ

เมื่อมีทั้งสติและสัมปชัญญะอย่างนี้ การอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบก็จะประสบผลสำเร็จในแง่ต่างๆตามต้องการ

หมายเลขบันทึก: 674387เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2020 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2020 04:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท