ค่ายเครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม : อีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้จิตอาสาทำดีเพื่อพ่อทำดีเพื่อแผ่นดิน


ผมแค่ตั้งประเด็นให้นิสิตนักศึกษาได้นำไปใคร่ครวญและตัดสินใจด้วยตนเอง และผมก็ไม่อธิบายเชิงลึกอะไรให้มากความถึงต้นน้ำของแนวคิดเช่นนั้น เพราะเจตนาอยากให้พวกเขาได้วิเคราะห์และค้นหาคำตอบเหล่านั้นร่วมกัน - แต่ในความจริง ผมก็แอบซ่อนแผนสำรองไว้เงียบๆ เช่น เตรียมกล่องบัตรคำไว้ให้ แอบไปประสานงานคณะศิลปกรรมศาสตร์เกี่ยวกับนิสิตที่จะมาช่วยตกแต่งห้องสุขาและการเขียนป้ายคำสุภาษิต

การไปออกค่ายเนื่องในโครงการ “เครือข่ายจิตอาสาเพื่อชุมชน”  เมื่อวันที่ 12-14 ตุลาคม 2562 ณ โรงเรียนบ้านสมศรี ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม  โดยหลักๆ แล้วเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อทำดีเพื่อแผ่นดิน) จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เครือข่ายนิสิต ๙ต่อ Before After มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับนักศึกษาจิตอาสาจากสาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร  มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

วัตถุประสงค์หลัก คือการออกค่ายอาสาพัฒนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล  เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9  ประกอบด้วยกิจกรรมอันหลากหลายกิจกรรม  หนึ่งในนั้นก็คือการปรับปรุงซ่อมแซมห้องสุขา และการจัดทำป้ายสุภาษิตต้นไม้พูดได้

ทั้งสองกิจกรรมเกิดขึ้นบนฐานความต้องการของชุมชนเป็นหลัก  ผ่านเวทีการ “พัฒนาโจทย์” ร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชนและนิสิต-นักศึกษาชาวค่าย

ในทางกิจกรรมนั้น  ผมให้คำแนะนำกับชาวค่ายฯ เกี่ยวกับทั้งสองกิจกรรมในหลายประเด็น เช่น  มอบหมายภารกิจให้นิสิต-นักศึกษา จัดหาคนมารับผิดชอบเป็นแกนหลัก  โดยให้เจาะจงถึงคนที่มีความรู้และทักษะในด้านงานศิลปะ ทั้งในทางการวาดและการเขียน  รวมถึงคนที่มีความรู้เรื่อง “สี” และ “ประสบการณ์ในการระบายสี”

เช่นเดียวกับการแนะนำให้ทำกระบวนการภายในค่ายเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสำนวนต่างๆ ไม่ใช่คิดเอง เลือกเอง 

รวมถึงสืบค้นหาสำนวนภาษาอีสานด้วยยิ่งดี เสมือน “คำคมสอนลูกหลาน” ยกตัวอย่างเช่น  การสร้างเวทีเล็กๆ ในแบบโสเหล่ร่วมกับชาวบ้าน หรือไม่ก็ล้อมวงเล่านิทาน หรือสืบค้นคำคมผ่านปากคำของปราชญ์ชาวบ้าน โดยมีนิสิตนักศึกษาและนักเรียนอยู่ในวงโสเหล่ด้วย

พร้อมๆ กับการกระตุ้นในคนในวงโสเหล่ได้ร่วมคิดร่วมเลือกคำคมมาเขียนเป็นป้ายฯ และนั่นยังรวมถึงแนะนำให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการตัดแต่งแผ่นไม้ ระบายสี หรือแม้แต่เขียนสำนวนด้วยลายมือของนักเรียนเอง

ที่แนะนำเช่นนั้น  ผมต้องการกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทั้งที่เป็นนักเรียนและชาวบ้าน  หนุนเสริมให้เกิดมิติความสัมพันธ์อันสร้างสรรค์ของคนในชุมชน รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้บนฐานของวัฒนธรรมชุมชนไปในตัว

ในทำนองเดียวกัน  ผมก็ยังแนะนำให้นิสิตนักศึกษาชาวค่ายได้ทำการสืบค้นประมวลคำคมต่างๆ มาล่วงหน้าด้วยเหมือนกัน  ส่วนจะสืบค้นผ่านช่องทางใด  เป็นเรื่องที่เขาต้องคิดเอง –

ผมแนะนำเช่นนั้นจริงๆ ส่วนนิสิตนักศึกษาชาวค่าย จะออกแบบกระบวนการเรียนรู้  หรือขับเคลื่อนงานได้หรือไม่  รวมถึงเลือกที่จะทำหรือไม่ – ผมไม่ได้บังคับ  

เฉกเช่นกับการปรับปรุงซ่อมแซมห้องสุขาก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน  

ผมแนะนำในลักษณะเดียวกัน  นับตั้งแต่การให้จัดหาคนที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านการวาดภาพ  รู้เรื่องโทนสี  รู้เรื่องการซ่อมแซมอาคารมาสักคนสองคน  พอให้เป็นแกนหลักในการทำงานค่าย  ผูกโยงกับการทำงานร่วมกับชาวบ้าน  หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “ช่างชุมชน” หรือ “พ่อช่าง-แม่ช่าง”

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ผมแค่ตั้งประเด็นให้นิสิตนักศึกษาได้นำไปใคร่ครวญและตัดสินใจด้วยตนเอง  และผมก็ไม่อธิบายเชิงลึกอะไรให้มากความถึงต้นน้ำของแนวคิดเช่นนั้น  เพราะเจตนาอยากให้พวกเขาได้วิเคราะห์และค้นหาคำตอบเหล่านั้นร่วมกัน -

แต่ในความจริง  ผมก็แอบซ่อนแผนสำรองไว้เงียบๆ เช่น  เตรียมกล่องบัตรคำไว้ให้  แอบไปประสานงานคณะศิลปกรรมศาสตร์เกี่ยวกับนิสิตที่จะมาช่วยตกแต่งห้องสุขาและการเขียนป้ายคำสุภาษิต

ในช่วงที่พวกเขาตระเตรียมงาน  ผมก็จะทักถามเป็นระยะๆ ว่าจัดหาคนได้ไหม  พอได้รับการยืนยันว่า “หาคนไม่ได้”  ผมก็เฉลยคำตอบไปว่า “ไม่ต้องวิตก  ผมจัดหาไว้ให้แล้ว”  จากนั้นจึงมอบหมายให้ประธานค่ายได้ไปติดต่อประสานงานด้วยตนเอง และทำการนัดหมายประชุมร่วมอย่างเป็นทางการร่วมกัน

ครับ- นี่คือกระบวนการที่ผมแนะนำ และแอบเฝ้ามอง  หรือประเมินงานเป็นระยะๆ อย่างเงียบๆ  ไม่ถึงขั้นสั่งการณ์ หรือกะเกณฑ์ให้ทำตามที่ผมคิด  และเปิดพื้นที่ให้เขาตัดสินใจร่วมกัน  พร้อมๆ กับการออกแบบแผน 2 ไว้รองรับอย่างเงียบๆ 

แต่ยอมรับว่า  มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมมอบหมายให้รังสรรค์ขึ้นมา  นั่นคือ  การพานักเรียนมาช่วยวาดรูป เขียนรูปลงในผนังห้องสุขา  รวมถึงการนำนักเรียนมาทำกระถางดอกไม้ประดับห้องสุขา  ผ่านระบบและกลไกของการรีไซเคิลขวดพลาสติก หรือไม่ก็ผ่านวัตถุดิบในชุมชน

ครับ – ถึงแม้จะมอบหมายให้จัดกิจกรรมเช่นนี้  แต่ก็ไม่ได้อธิบายถึงเหตุผลของการให้ทำเหมือนประเด็นอื่นๆ อยู่ดี  เพราะยังยืนยันว่าอยากให้นิสิตนักศึกษาได้ค้นหาคำตอบผ่านการลงมือทำด้วยตนเองเป็นสำคัญ

ด้วยเหตุนี้  จึงอาจกล่าวได้ว่า  ผมออกแบบการเรียนรู้กิจกรรมนอกหลักสูตรครั้งนี้บนฐานคิดหลวมๆ  เน้นให้นิสิตนักศึกษาชาวค่ายได้เรียนรู้ด้วยตนเอง (นิสิตคือศูนย์กลาง)  ในมิติของการมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตนักศึกษากับชุมชน  ยึดโยงในแบบบันเทิงเริงปัญญาและการเรียนรู้คู่บริการ  การใช้ Hard skills มาหนุเสริมในบางกิจกรรมของค่ายอาสาพัฒนา  การเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชน ฯลฯ

ส่วนเรื่อง Soft skills ไม่ต้องพูดถึงเลยก็ได้  เพราะที่สุดแล้ว  เขาจะเรียนรู้ด้วยตนเองว่า ค่ายครั้งนี้ก่อเกิดมรรคผลเช่นใดบ้าง –

...
เขียน : 25 ธันวาคม 2562

องครักษ์ –  นครนายก



ความเห็น (2)

กระบวนการที่ผมแนะนำ และแอบเฝ้ามอง หรือประเมินงานเป็นระยะๆ อย่างเงียบๆ ไม่ถึงขั้นสั่งการณ์ หรือกะเกณฑ์ให้ทำตามที่ผมคิด และเปิดพื้นที่ให้เขาตัดสินใจร่วมกัน พร้อมๆ กับการออกแบบแผน 2 ไว้รองรับอย่างเงียบๆ

ชอบวิธีการออกแบบกิจกรรมคุณพนัส พี่แก้วก็เรียนรู้และพยายามไปออกแบบกิจกรรมให้พยาบาลค่ะ

สวัสดีปีใหม่ ‘๒๕๖๓ ครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท