ในหลวงในดวงใจ - หมู่บ้านของฉัน : ภาพวาดอันง่ายงามจากค่ายเครือข่ายจิตอาสาเพื่อชุมชน


วาดภาพชุมชนของตนเอง (หมู่บ้านของฉัน) เพื่อสำรวจทัศนคติมุมมองของเด็กๆ ที่มีต่อหมู่บ้านของตนเอง รวมถึงการเชื่อมโยงไปสู่เรื่อง “สำนึกรักษ์บ้านเกิด” โดยเสนอแนะกระบวนการง่ายๆ ประมาณว่า “เมื่อวาดเสร็จแล้ว ให้นักเรียนแต่ละคนทำการบอกเล่าเรื่องราวในภาพให้เพื่อนๆ พี่ๆ ได้ร่วมซึมซับ” ที่สำคัญคือการเจาะจงให้วาดภาพ “ในหลวงในดวงใจ” เพื่อสร้างพื้นที่ทางความคิดให้กับนักเรียนในวาระอันสำคัญอันเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของการทำค่ายฯ ในครั้งนี้ โดยให้ใช้กระบวนการเดียวกัน คือการเล่าเรื่องและจัดแสดงภาพวาดไว้ในค่าย เพื่อให้พี่ๆ น้องๆ หรือแม้แต่ครูและผู้ปกครองได้ร่วมชื่นชมงานศิลปะของลูกหลาน -

ค่าย “เครือข่ายจิตอาสาเพื่อชุมชน”  ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12-14 ตุลาคม 2562  ณ โรงเรียนบ้านสมศรี ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม  เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมอันสร้างสรรค์ที่จัดขึ้น  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9  เนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ท่าน

ค่ายครั้งนี้  ผู้รับผิดชอบหลักคือ “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม”(ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน)  จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  โดยผนึกกำลังกายและใจร่วมกับเครือข่ายอีกจำนวนหนึ่ง  คือ  นักศึกษาสาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และเครือข่ายจาก ๙ ต่อBefore After


กิจกรรมครั้งนี้ขับเคลื่อนด้วยกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีของการ “เรียนรู้คู่บริการ”  ผ่านกลไก “ค่ายอาสาพัฒนา” ในแบบสหกิจกรรม  เน้นการมีส่วนระหว่างนิสิต-นักศึกษากับชุมชน  และดำเนินงานบนหลักคิดอันเป็นความต้องการ (โจทย์) ของชุมชน ภายใต้ศักยภาพของชาวค่ายที่พึงรังสรรค์ขึ้นได้



ด้วยเหตุแห่งการทำงานบนฐานความต้องการของชุมชน  ทั้งผมและนิสิตนักศึกษา  จึงลงพื้นที่สำรวจความต้องการ และประชุมร่วมกับชุมชนทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการไม่น้อยกว่า 5-6 ครั้ง  เพื่อให้แน่ใจถึงสภาพปัญหา-ความต้องการ  ต้นทุนในชุมชน  หรือความร่วมมือของชุมชน 

ที่แน่ๆ เฉพาะผมเอง  ผมลงพื้นที่ด้วยตนเอง 3 ครั้ง  -

ทุกครั้งที่ลงชุมชน ผมจะพานิสิตนักศึกษาไปด้วยเสมอ  เพื่อสอนงานผ่านเวทีจริงตรงนั้นแบบสดๆ  ทันทีที่ขึ้นรถ  ผมจะพยายามพูดคุยซักถามทั้งเรื่องราวส่วนตัว ประสบการณ์ชีวิต การเรียน-กิจกรรม  รวมถึงงานค่ายที่ตระเตรียม  กึ่งซักซ้อม หรือเตรียมความพร้อมก่อนพบปะกับชุมชน

ใช่ครับ – ผมหนักแน่นกับแนวคิดการออกแบบการเรียนรู้ให้กับนิสิตนักศึกษา  โดยใช้สถานการณ์จริงให้พวกเขาได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องบริบทชุมชน  การติดต่อประสานงาน การวิเคราะห์ข้อมูล-สถานการณ์  การสื่อสาร  การตัดสินใจ ฯลฯ


ค่ายครั้งนี้ขับเคลื่อนแบบสหกิจกรรม  มีกิจกรรมหลักๆ เช่น

  • การซ่อมแซมห้องสุขา  
  • การซ่อมแซมสนามเด็กเล่น  
  • การตีเส้นสนามกีฬา  
  • การจัดทำป้ายสุภาษิตต้นไม้พูดได้  
  • การส่งมอบอุปกรณ์การศึกษาและกีฬา
  • นวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • แจกถุงผ้าลดภาวะโลกร้อน
  • ฯลฯ


ตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน  ผมไม่มีโอกาสได้ไปพักค้างคืนในค่าย  เพราะมีภารกิจสำคัญที่ต้องจัดงานในทำนองเดียวกันในรั้งมหาวิทยาลัย  กระนั้นก็ยังแวะเวียนเข้าไปใช้ชีวิตในห้วงสั้นๆ ในค่ายในเช้าวันที่ 12 และอีกครึ่งวันของวันที่ 14

สิ่งหนึ่งที่ผมเน้นหนักแน่นกับนิสิตนักศึกษาก็คือ  การนำนักเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม  ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นอะไร  ขอให้นำนักเรียนเข้ามาร่วมด้วยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพราะนั่นคือหลักการมีส่วนร่วม และปลูกฝังให้เขาได้รู้สึกร่วมกับกิจกรรม  บ่มเพาะความรู้สึกร่วมแห่งการเป็นเจ้าของ  ซึ่งเมื่อนิสิตนักศึกษากลับออกไปแล้ว นักเรียนเหล่านี้ คือผู้ที่ต้องใช้ประโยชน์และดูแลรักษาด้วยตนเอง


เช่นเดียวกับอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมได้เสนอแนะให้แกนนำชาวค่ายนำมาบูรณาการใช้กับนักเรียน  นั่นก็คือ การวาดภาพชุมชนของตนเอง  (หมู่บ้านของฉัน)  เพื่อสำรวจทัศนคติมุมมองของเด็กๆ ที่มีต่อหมู่บ้านของตนเอง  

รวมถึงการเชื่อมโยงไปสู่เรื่อง “สำนึกรักษ์บ้านเกิด”  โดยเสนอแนะกระบวนการง่ายๆ ประมาณว่า  “เมื่อวาดเสร็จแล้ว  ให้นักเรียนแต่ละคนทำการบอกเล่าเรื่องราวในภาพให้เพื่อนๆ พี่ๆ ได้ร่วมซึมซับ”

ที่สำคัญคือการเจาะจงให้วาดภาพ “ในหลวงในดวงใจ”  เพื่อสร้างพื้นที่ทางความคิดให้กับนักเรียนในวาระอันสำคัญอันเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของการทำค่ายฯ ในครั้งนี้  โดยให้ใช้กระบวนการเดียวกัน  คือการเล่าเรื่องและจัดแสดงภาพวาดไว้ในค่าย  เพื่อให้พี่ๆ น้องๆ  หรือแม้แต่ครูและผู้ปกครองได้ร่วมชื่นชมงานศิลปะของลูกหลาน -   

พร้อมๆ กับการเสนอแนะให้พี่ๆ นิสิตนักศึกษาทำการประเมินผลให้รางวัล  ทั้งที่เป็นทุนการศึกษา และอุปกรณ์การเรียนการสอนเล็กๆ  อย่างเหมาะสม  รวมถึงส่งมอบภาพเหล่านั้นให้กับทางโรงเรียน เพื่อพิจารณาใช้ประโยชน์ตามเห็นสมควร


สิ่งหนึ่งที่ผมเกริ่นแบบกว้างๆ ไว้กับแกนนำชาวค่ายเกี่ยวกับกิจกรรมเหล่านี้  หากไม่นับเรื่องหลักที่ว่าด้วย “ในหลวง”และ “สำนึกรักษ์บ้านเกิด” ก็เป็นเรื่องในทำนองนี้แทบทั้งสิ้น  เป็นต้นว่า

  • การเรียนรู้หรือพัฒนาการทางสมองของเด็กผ่านงานศิลปะ 
  • โทนสีกับพัฒนาการของเด็ก 
  • พลังของงานศิลปะ 
  • การเสริมสร้างเรื่องจินตนาการ
  • การสื่อสารผ่านภาพและคำพูด (เล่าเรื่อง) 
  • การกล้าแสดงออก
  • การฝึกสมาธิ


แต่ทุกประเด็นที่ผมเกริ่นไป  เอาจริงๆ  ผมยังไม่มีเวลาพอที่จะลากความหยั่งรากลงลึกถึงรายละเอียดใดๆ  เพราะติดขัดกับเงื่อนเวลา  และแก่นคิดของตัวเองที่ “มุ่งอยากให้นิสิต-นักศึกษา ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง”  เสียมากกว่า  


ผมก็ไม่รู้หรอกว่า  กิจกรรมที่จัดขึ้นนี้  ผลลัพธ์เป็นเช่นใดบ้างทั้งต่อตัวนักเรียนและพี่ๆ นิสิตนักศึกษา  หากแต่ในส่วนตัวที่เดินเที่ยวชมภาพเหล่านั้น  พร้อมๆ กับการแอบสังเกตกระบวนการเล่าเรื่องของนักเรียน  ปฏิเสธไม่ได้ว่า  ผมอิ่มเอมใจกับภาพและถ้อยคำของพวกเขาเป็นที่สุด 

จนพูดกับตัวเองอย่างเงียบๆ ว่า “ผมไม่จำเป็นต้องถามพวกเขาหรอกว่า ได้เรียนรู้อะไรจากการได้วาดภาพเหล่านั้นบ้าง”



ครับ – ผมไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามใดๆ กับพวกเขาหรอก  ปล่อยให้พวกเขา ทั้งที่เป็นนักเรียนและนิสิตนักศึกษาได้ตั้งคำถามและให้คำตอบกับตัวเองจะดีกว่า 

แค่นี้ผมก็สุขใจ อิ่มเอมใจมากแล้ว

..
ภาพ : พนัส  ปรีวาสนา
เขียน : 14 พฤศจิกายน 2562

หมายเลขบันทึก: 673105เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท