เก็บตกวิทยากร (59) บัตรคำ : กระจกที่สะท้อนความเป็นชีวิตและองค์กร


แน่นอนครับ ผมเลือกที่จะสำรวจบรรยากาศขององค์กรผ่านบัตรคำอย่างไม่ต้องสงสัย การจะให้แต่ละคนพูดตรงๆ ออกมาเป็นการยากลำบากพอสมควร เพราะจะโดยความเขินอาย เกรงใจ หรือไม่เคยชินกับการวิพากษ์องค์กรของตนเองก็อาจเป็นได้ ยิ่งมีผู้บริหารนั่งอยู่ในห้องนี้ด้วย ยิ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะสื่อสารความคิดความรู้สึกออกมา

ช่วงบ่ายวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2562  แทนที่จะจัดกิจกรรมละเลยพฤติกรรมในแบบ “บันเทิง”  ผมตัดสินใจละลายพฤติกรรมผ่าน “บัตรคำ”ในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา”  เพราะเหตุผลในหลายประการ เช่น จำนวนคนที่ลดลง  เนื่องจากหลายท่านมีภารกิจร่วมกับชุมชน  รวมถึงเวลาที่มีอยู่ถูกปรับแต่งใหม่  ไม่สามารถใช้เวลาได้เต็มตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น


เช่นเดียวกับการออกแบบกิจกรรมใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อบรรยายของวิทยากรในภาคเช้าที่ว่าด้วย “การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล”  หรือแม้แต่การบอกเล่าประสบการณ์ของบุคลากรที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว –


ทบทวนชีวิต ทบทวนบรรยากาศองค์กรผ่านบัตรคำ

ผมให้โจทย์ง่ายๆ กับบุคลากรเทศบาลตำบลหัวนา (อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู)  ประมาณว่า “ลองทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ ในองค์กร แล้วเลือกบัตรคำที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่ว่านั้น”

ตอนแรก  ผมใช้กระบวนการแค่ 2 กระบวนการ คือ (1) ทบทวนชีวิตการงาน หรือเหตุการณ์ในองค์กร (2) เลือกบัตรคำที่ตรงกับเรื่องราวที่ทบทวน


พอแต่ละคนเลือกบัตรคำเสร็จสิ้นแล้ว  ผมก็ให้เวลาแต่ละคนครุ่นคิดอยู่กับตัวเองและบัตรคำอีกรอบ  หากอยากเปลี่ยนใจ ผมก็อนุญาตให้เลือกใหม่ได้อีกครั้ง  

ครั้นเลือกเสร็จ  ผมก็ให้เวลาอีกเล็กน้อยในการใคร่ครวญชีวิตและบัตรคำ  ก่อนจะเผยกระบวนการที่ 3 ออกมาว่า “ให้เล่าเหตุผลของการเลือกบัตรคำนั้นๆ พร้อมยกตัวอย่างจริงประกอบให้เห็นเป็นรูปธรรม”  ผ่านเครื่องมือของการ “เล่าเรื่อง” หรือ “บรรยาย” โดยให้แต่ละคนนำเสนอประมาณ 2-4 นาที  โดยจะใช้ไมโครโฟนประกอบการนำเสนอหรือไม่ก็แล้วแต่ “จะถนัด”




บัตรคำ : กระจกที่สะท้อนความเป็นชีวิตและองค์กร

การนำเสนอของแต่ละคน  ผมไม่ได้ตั้งกฎว่าจะเริ่มจากใคร หรือจุดใดดี  แถมชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตัดสินใจเองเสียด้วยซ้ำว่าจะเริ่มยังไง  แต่สุดท้าย  ผมก็เลือกที่จะใช้ “ความสบายใจ”  เป็นที่ตั้ง กล่าวคือ ใครสะดวกใจ-สบายใจ  หรือมีความพร้อมจะนำเสนอเรื่องราวก็ยกมือขึ้นเลย  หากแต่มีกติกาง่ายๆ ร่วมกัน คือ “มีคนพูด-มีคนฟัง”  

และก่อนพูด  หรือหลังพูด “เราทุกคนจะปรบมือให้เกียรติ และกำลังใจต่อกัน"



และนี่คือ ส่วนหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เลือกบัตรคำขึ้นมา

  • ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
  • น้ำนิ่งไหลลึก
  • ผ่อนสั้น ผ่อนยาว
  • จับปูใส่กระด้ง
  • หวานนอก ขมใน
  • พายเรือในอ่าง
  • รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง
  • หนังหน้าไฟ
  • น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก
  • ฯลฯ

แน่นอนครับ  ผมเลือกที่จะสำรวจบรรยากาศขององค์กรผ่านบัตรคำอย่างไม่ต้องสงสัย  การจะให้แต่ละคนพูดตรงๆ ออกมาเป็นการยากลำบากพอสมควร  เพราะจะโดยความเขินอาย เกรงใจ  หรือไม่เคยชินกับการวิพากษ์องค์กรของตนเองก็อาจเป็นได้  

ยิ่งมีผู้บริหารนั่งอยู่ในห้องนี้ด้วย  ยิ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะสื่อสารความคิดความรู้สึกออกมา-

แต่ละคนที่เลือกบัตรคำ ชัดเจนมาก –

"ชัดเจน" ในที่นี้หมายถึง มีเหตุการณ์ สถานการณ์ เรื่องราวในชีวิตและองค์กรเป็น “ข้อมูล-ฐานข้อมูล” ในการตัดสินใจ  

ครั้นแต่ละคนพอเล่าออกมา ถึงแม้เจ้าตัวจะไม่เฉลยหรือบอกกล่าวว่า “ทำหน้าที่อะไร”  ผมก็ทายได้เลยว่า แต่ละคนมีหน้าที่ หรือสถานะใดในองค์กร  เพราะเรื่องที่เล่านั้นสัมพันธ์กับหน้าที่อย่างไม่ต้องสงสัย  ซึ่งมีทั้งในสายงานการเงิน พัสดุ การศึกษา บุคคล ป้องกันสาธารภัย  ตลอดจน “สายบริหาร”

โดยเมื่อแต่ละคนบอกเล่าเรื่องราวเสร็จสิ้น  ผมจะทำหน้าที่่สรุปความ และเชื่อมร้อยเรื่องราวอื่นๆใน "เชิงบวก" เข้ามาหนุนเสริมไว้  ก่อนส่งเวทีไปยังคนถัดไป 

แต่ที่แน่ๆ  ผมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่วิพากษ์  หรือถามทักเชิงลึกถึงเรื่องราวของแต่ละคน เพราะเจตนาหลักๆ คือสร้างกระบวนการนี้ให้แต่ละคนได้ “เปิดเปลือย ร่ำระบาย แสดงแนวคิด ความรู้สึกของตนเองที่มีต่อองค์กรและเพื่อนร่วมงาน” เป็นหัวใจหลัก 

เช่นเดียวกับการไม่เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้วิพากษ์ เสริมหนุนเรื่องราวของกันและกัน  

แต่ก็ชัดเจนว่า  แต่ละคนต่างตั้งใจฟังเรื่องราวของกันและกันเป็นอย่างดีเยี่ยม  ซึ่งขณะที่เล่า ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังบางคนถึงขั้นมีน้ำตาคลอ ทั้งในมิติ

  • ปลื้มปริ่มดีใจ 
  • อาทร  เห็นใจ  
  • อึดอัด หนักหน่วง 

    และเมื่อฟังด้วยหัวใจ  จะสัมผัสได้ว่า  สิ่งที่สะท้อน หรือสื่อสารออกมานั้น คือปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้น -เป็นอยู่ในองค์กร หรือแม้แต่ในชุมชน อาทิเช่น

    • ความสำเร็จเชิงนโยบาย  
    • ความรักในองค์กร
    • การเติบโตแบบก้าวกระโดดขององค์กร  
    • การย่ำยืนอยู่กับที่ หรือลังเลไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง  
    • การขาดทักษะการเรียนรู้  
    • การแบกหามปริมาณงานอันล้นบ่า  
    • การแบกรับเรื่องราวแทนเพื่อนร่วมงาน  
    • การสร้างนวัตกรรมทั้งเพื่อสมาชิก  เพื่อองค์กร เพื่อชุมชน



    บัตรคำ : บันเทิงเริงปัญญา เยียวยาคน เยียวยาองค์กร

    ท้ายที่สุดแล้ว  ผมไม่ได้ถามผู้เข้าร่วมกระบวนการหรอกนะว่า “ได้เรียนรู้-ได้อะไรจากกิจกรรม”  แต่สรุปเจตนาให้รับรู้ว่า  ...

    • ฝึกทักษะการทบทวนชีวิต  ทบทวนประสบการณ์และเรื่องราวองค์กรของตนเอง  เสมือนการถอดบทเรียนตัวเอง และจัดกระทำเป็นฐานข้อมูลของตนเอง
    • ฝึกการวิเคราะห์เรื่องราวเชื่อมโยงกับสื่ออันเป็นสำนวนสุภาษิตคำพังเพยแบบไทยๆ  เสมือนการเลือกทำงานบนฐานข้อมูลและความรู้
    • ฝึกการสื่อสารสาธารณะอย่างสร้างสรรค์  ผ่านบัตรคำ ผ่านเรื่องเล่า  ผ่านการบรรยาย  เพื่อเป็นพื้นฐานของการปรับแต่งทัศนคติในการอยู่ร่วมกัน - ทำงานร่วมกัน เสมือน “คนบ้านเดียวกัน” ที่ “สุขและทุกข์ร่วมกัน”

    หรือแม้แต่การขมวดเป็นวาทกรรมที่ผมชอบพูดบ่อยๆ คือ “จัดการความรักคู่ความรู้ – ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้” และ “ใจนำพาศรัทธานำทาง”


    นี่คืออีกหนึ่งกระบวนการของการจัดการเรียนรู้ที่ผมนำมาใช้ในเวทีการถอดบทเรียนฯ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ณ เทศบาลตำบลหัวนา อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู

    เป็นกระบวนการเรียนรู้ง่ายๆ กระชับๆ  ทะลุถึงข้อมูลผู้คน ข้อมูลองค์กรไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ  และที่สำคัญคือเป็นกระบวนการที่มีประโยชน์ต่อผู้คนในเวทีได้เป็นอย่างดี  ทั้งในแง่ของการเยียวยาและเสริมพลัง  หรือแม้แต่การ SWOT องค์กรแบบกรายๆ ด้วยเช่นกัน

    ภาพ : เทศบาลตำบลหัวนา 

    เขียน : พฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2562 
    มหาสารคาม

    หมายเลขบันทึก: 673103เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท