ประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน ๘. ส่งเสริม Creativity และ Critical Thinking ในอุดมศึกษา



บันทึกชุด บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน นี้    เป็นการสะท้อนคิดของผม จากการไปร่วมประชุม Creativity and Critical Thinking Skills in School : Moving the Agenda Forward. An international conference organised by the OECD Centre for Educational Research and Innovation (CERI)   24-25 September 2019 - London, UK.   Nesta HQ - 58 Victoria Embankment, EC4Y 0DS (๑) โดยไปกับทีม กสศ.   มี ดร. ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. เป็นหัวหน้าทีม  

หลังอาหารเที่ยง ของวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๒ เป็น plenary เรื่อง Fostering creativity and critical thinking in higher education มีวิทยากร ๓ ท่านจาก สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และเม็กซิโก    โดยมีโจทย์ว่า การบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของการศึกษา ต้องการการเชื่อมโยง (alignment) และต่อเนื่อง (continuity) ระหว่างการศึกษาระดับประถม มัธยม และอุดม    ถามว่าโอกาสและความท้าทายของอุดมศึกษาคืออะไร    โอกาสและข้อท้าทายเหล่านั้นมีความหมายต่อการศึกษาเพื่อการผลิตครูอย่างไร    จะเปลี่ยนแปลงอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริม CCT  และคุณภาพการศึกษาในภาพรวมอย่างไร    ผู้ดำเนินรายการคือศาสตราจารย์ Barbara Schneider, Michigan State University      

สหรัฐอเมริกา    

แน่นอนว่าวิทยากรหลักคือ ศาสตราจารย์ Carl Wieman  ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์    ที่ทำงานวิจัยสองด้านคู่ขนานมาตลอดชีวิตการเป็นอาจารย์ ๔๐ ปี    คือด้านฟิสิกส์พื้นฐาน กับด้านวิทยาศาสตรศึกษา     ท่านนำเสนอเรื่อง Fostering scientific Critical Thinking and Creativity in Higher Education    โดยพูดใน ๒ หัวข้อย่อยคือ (๑) งานวิจัยวิธีการสอนให้ได้ผลดี    ซึ่งหมายถึง ทำให้นักศึกษาคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์   และตัดสินใจโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์     ท่านมอง critical thinking กับ creativity เป็นส่วนประกอบที่เชื่อมโยงกัน หรือเป็นส่วนของกันและกัน    และ (๒) การเปลี่ยนแปลงระดับสถาบัน     เสนอการทดลองยกระดับการสอนในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ว่าเป็นไปได้    รวมทั้งเสนอปัจจัยส่งเสริมและปัจจัยขัดขวาง  

งานวิจัยทดลองกับอาจารย์สายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์    เชื่อมโยงกับจิตวิทยาการเรียนรู้    ทดลองเปรียบเทียบผลของการสอนสองแบบคือ แบบเดิม เน้นการบรรยาย    กับแบบใหม่ ให้ทำกิจกรรม (task) ฝึกตัดสินใจ โดยมีการให้คำแนะนำป้อนกลับบ่อยๆ    ดูผลที่สมรรถนะในการตัดสินใจอย่างนักวิทยาศาสตร์ (นักฟิสิกส์  นักชีววิทยา ฯลฯ)    ประมาณ ๑,๐๐๐ การทดลอง ในวิชา STEM ระดับมหาวิทยาลัย    ให้ผลสอดคล้องกันว่า การสอนแบบใหม่เกิดการเรียนรู้สูงกว่า  อัตราสอบตกและตกออกน้อยกว่า    เมื่อเทียบกับการวิจัยในโรงเรียน ระดับ ป. ๑ ถึง ม. ๖ พบว่าการวิจัยในโรงเรียนทำยากกว่า  มีปัจจัยรบกวน (confounding factors) มากกว่า    ส่อว่าหลักการพื้นฐานน่าจะยังใช้ได้  แต่ไม่ครบถ้วน    โปรดสังเกตนะครับ ว่านักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลมีธรรมชาติของวิธีคิดที่ไม่ด่วนสรุป เปิดช่องให้มีการค้นหาปัจจัยใหม่ๆ อยู่เสมอ   

ท่านเปรียบเทียบกระบวนทัศน์เก่า กับกระบวนทัศน์ใหม่เกี่ยวกับการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยว่า     กระบวนทัศน์เก่า มองว่าการเรียนเป็นการเอาสมองไปแช่ (หรืออบ-รม) ให้ดูดซับความรู้ จะดูดซับได้แค่ไหนขึ้นกับว่าสมองดีแค่ไหน    การจัดการเรียนรู้เน้นที่เนื้อหาความรู้  เน้นคัดเลือกคนสมองดี  และผ่านการฝึกมาจากโรงเรียนอย่างดี มาเรียน    ส่วน กระบวนทัศน์ใหม่ มองว่าสมองเปลี่ยนได้   การเรียนรู้ทำให้สมองเกิด transformation   มีผลการตรวจสมองด้วย fMRI พบว่า เมื่อให้คนสองกลุ่มตรวจภาพถ่ายรังสีของผู้ป่วย     สมองของนักรังสีวิทยาเกิดการทำงานของเซลล์ประสาทสมองกระจายสองข้างของสมอง    ในขณะที่สมองของนักศึกษาแพทย์แทบไม่เห็นการทำงานของเซลล์สมอง    สะท้อนว่าการฝึกฝนด้านรังสีวิทยามีผลเปลี่ยนแปลง (transform) การเชื่อมต่อใยประสาทสมอง    ท่านสรุปต่อว่า วิธีการสอนมีความสำคัญมาก    คือต้องฝึก ตามด้วยการสะท้อนคิด   

ท่านเล่าผลการวิจัยเปรียบเทียบการสอนในชั้นใหญ่ ๒๗๐ คน ของศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ ที่นักศึกษาให้คะแนนความสามารถด้านการสอนสูงมาก กับการสอนของผู้จบปริญญาเอกฟิสิกส์มาหมาดๆ แต่ได้รับการฝึกวิธีสอนแบบ research-based    โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันเรื่องเนื้อหาที่สอน เหมือนกัน    เวลาสอนเท่ากัน (๑ สัปดาห์)    และออกข้อสอบร่วมกัน    ผลคะแนนสอบเฉลี่ย ของกลุ่มสอนโดยศาสตราจารย์เท่ากับ 41+-1   ในขณะที่กลุ่มสอนโดยผู้จบปริญญาเอกใหม่เอี่ยม เท่ากับ 74+-1 (๒)    ผลงานวิจัยชิ้นนี้ลงในวารสาร Science เชียวนะครับ     

ผลงานวิจัยดูอัตราการสอบตก และการตกออก ในนักศึกษาที่เรียนวิชา computer science   ที่สอนโดยอาจารย์ ๔ คนชุดเดียวกัน  แต่สอนต่างวิธี    คือในนักศึกษากลุ่มที่หนึ่งสอนโดยวิธี “standard instruction”   ในนักศึกษากลุ่มที่สอง สอนโดย “scientific teaching”    พบว่าอัตราสอบตกในกลุ่มที่หนึ่งเท่ากับร้อยละ ๒๐   ในกลุ่มที่สองเท่ากับร้อยละ ๗    ต่างกันสามเท่า (๓)     

ท่านเสนอผลงานวิจัยอีกหลายชิ้น และสรุปว่า วิธีสอนแบบใหม่แสดงในรูปที่ ๑   คือมีทั้งหมด ๔ ขั้นตอน คือ (๑) นักเรียนอ่านเอกสารการเรียนมาก่อน  (๒) ใช้เวลาสองสามนาทีให้นักเรียนถามข้อสงสัยจากการอ่าน   (๓) ใช้เวลา ๑๐ - ๑๕ นาที ให้นักเรียนแก้ปัญหาเป็นทีม  (๔) ใช้เวลา ๕ - ๑๐ นาที อาจารย์ตั้งคำถาม นักศึกษาให้คำตอบและเหตุผล     โดยท่านบอกว่ายังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ช่วยให้การเรียนรู้ได้ผลดี    ผมจึงขอเสนอเพิ่มเติมว่า ควรมีขั้นตอนที่ ๕ ในการทำ reflection ร่วมกันของนักศึกษา    ว่าข้อเรียนรู้ที่ได้คืออะไร คิดว่าเอาไปใช้ทำอะไร    ข้อที่อยากเรียนเพิ่มต่อจากนี้คืออะไร    หากจะใช้สอนนักศึกษารุ่นต่อไปมีข้อเสนอให้ปรับรุงตรงไหนบ้าง     ใช้เวลา ๕ - ๑๐ นาที    ซึ่งรวมแล้วก็ยังไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง     

 ปัจจัยอีกหลายอย่างที่ช่วยให้การสอนได้ผลดีขึ้นไปอีก แสดงในรูปที่ ๒   

การเปลี่ยนแปลงระดับสถาบันนั้น ท่านเสนอไว้อย่างละเอียดในหนังสือ Improve How Universities Teach Science : Lessons from the Science Education Initiative (๔)     ดังสรุปในรูปที่ ๓ ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้    โดยที่ค่าใช้จ่ายไม่เพิ่ม    และเมื่ออาจารย์เห็นผลดีของวิธีสอนแบบใหม่แล้วจะไม่หวนกลับไปสอนแบบเดิม    โดยต้องมีวิธีประเมินผลการสอนที่แม่นยำดังแสดงในรูปที่ ๔   ท่านให้เอกสารอ้างอิงสำหรับไปค้นคว้าต่อในรูปที่ ๕   

เม็กซิโก

ศาสตราจารย์ Wendy Diaz Perez, University of Guadalajara, Mexico    เสนอวิธีจัดการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่ในเมือง ฮาลิสโก (Jalisco) ซึ่งถือว่าเป็นเสมือน Silicon Valley ของเม็กซิโก    ในเมืองนี้มีพลเมืองเกือบ ๘ ล้านคน    เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่อายุกว่าสองร้อยปี    มีนักศึกษา เกือบสามแสนคน    เป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษาเกือบ ๑.๓ แสนคน    นักเรียนมัธยม ๑.๖ แสนคน (ส่วนหนึ่งเป็นสายอาชีวศึกษา)    อาจารย์เกือบ ๑.๗ หมื่นคน    เจ้าหน้าที่สายสนับสนุนอีกเกือบ ๑.๑ หมื่นคน   

เขาบอกว่ามหาวิทยาลัยนี้เป็น University Network    มี ๑๕ แคมปัส    ๕๓ โรงเรียน   และมี Virtual University Center อีกจำนวนหนึ่ง    

เรื่องราวที่เล่าจึงมีทั้งในโรงเรียนมัธยม และในมหาวิทยาลัย   

ในระดับมัธยม เน้นพัฒนา creativity, critical thinking, และ 21st Century Skills อื่นๆ    โดยเน้น phenomenon based learning  และ transversal learning ตลอดทั้งหลักสูตร    โดยบูรณาการรายวิชา    เน้นให้นักเรียนมองเห็นทั้งมุมของชีวิตจริง และมุมวิชาการ    พัฒนาวิธีคิดเชิงระบบ เน้นให้เห็น pattern ของสิ่งต่างๆ 

มีการเรียนแบบ project-based learning ที่มี ๕ ขั้นตอนคือ  (๑) เริ่มต้น   ตั้งคำถามว่าทำไมจึงทำโครงการนี้   (๒) สร้างไอเดีย   (๓) ผลิต  โดยวางแผน ผลิต และโปรโมท  (๔) ใคร่ครวญสะท้อนคิด  (๕) นำเสนอ (showcase)    เขาเรียกโครงการนี้ว่า CONNECT    โดยเรียกคนรุ่นใหม่ว่า connect generation     เป้าหมายของกิจกรรมมีหลายประการ ได้แก่ ความเท่าเทียมกันทางสังคม,  สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ระดับโลก,  เชื่อมโยงกับชีวิตจริง โลกแห่งความเป็นจริง,   พัฒนาความมั่นใจตนเอง,  สร้างแรงจูงใจ,   สอดคล้องกับชีวิตในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกภาษาอังกฤษ   

ในระดับอุดมศึกษา    มีการอบรมอาจารย์ด้านการเรียนการสอน  ด้านเทคนิค mentoring    และด้านอื่นๆ    มีการจัดประชุมวิชาการเรื่องวิธีสอนแนวใหม่    เรื่องการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนา CCT   

สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องการคือวิธีประเมินทักษะและผลการเรียนรู้อื่นๆ ที่ตั้งเป้าหมายไว้,    วิธีฝึกอาจารย์,    วิธีพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น,    และวิธีออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้    มหาวิทยาลัยมีแผนดำเนินการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ใน ๖ ปีข้างหน้า    เน้นที่ทำให้แคมปัสมีการจัดการเรียนรู้แบบ interdisciplinary    ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคืออาจารย์สอนดีไม่ได้รับการตอบแทน   

ฟังแล้วเห็นชัด ว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีสอนเกิดมากในระดับมัธยมศึกษา    เกิดน้อยในระดับมหาวิทยาลัย    ทั้งๆ ที่ศาสตราจารย์ คาร์ล ไวแมน บอกว่า วัดผลการเรียนรู้แบบใหม่ในนักศึกษามหาวิทยาลัยง่ายกว่าในนักเรียน        

สหราชอาณาจักร

Paul Sowden, ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา การเรียนรู้ และความสร้างสรรค์ แห่ง University of Winchester, England, UK    เสนอเรื่องแผนดำเนินการพัฒนา CCT ให้แก่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยวินเชสเตอร์ ในโครงการต่อไปของ โออีซีดี    คือโครงการการพัฒนา CCT ในอุดมศึกษา     ด้วยความเชื่อว่า CCT นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม    ข้อมูลที่นำมาเสนอ ได้จากกิจกรรมในช่วงเริ่มต้น    

เริ่มต้นด้วยการวิจัยเพื่อทราบสภาพปัจจุบันด้วยการสำรวจ (๑) กระบวนการเรียนการสอน  ผลลัพธ์การเรียนรู้  และประสบการณ์การเรียนรู้   ความรู้ความเข้าใจหรือการให้นิยาม CCT  (๒) วิธีสอนในปัจจุบันเพื่อพัฒนา CCT  และ (๓) อาจารย์เอาจริงเอาจังกับการจัดการสอนแบบดังกล่าวแค่ไหน    ตามด้วยการจัดประชุม กลุ่มอาจารย์ที่เอาจริงเอาจัง เพื่อหาข้อมูลเพิ่ม   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับวิธีการพัฒนา CCT ที่อาจารย์เหล่านั้นทำอยู่แล้ว    พบว่ามหาวิทยาลัยวินเชสเตอร์มี “สินทรัพย์” ความรู้ในการพัฒนา CCT อยู่แล้วไม่ใช่น้อย     

ผมประทับใจที่ท่านเล่าว่า ในการสำรวจและประชุม มีการถามความเห็นเรื่องการให้นิยามหรือความหมาย  และคุณค่า ของคำว่า creativity  และ critical thinking  และอาจารย์ให้คำตอบต่างๆ กัน    ขั้นตอนของการรับฟังเช่นนี้แสดงท่าทีเคารพหรือให้เกียรติแก่ผู้เข้าร่วมขบวนการ    เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเรื่องที่ยาก ซับซ้อน และนำไปสู่การเปลี่ยนวิถีปฏิบัติ   

ที่น่าสนใจคือ เขาถามความเห็นของนักศึกษาด้วย ว่าให้คุณค่าต่อ CCT มากน้อยแค่ไหน    เรื่องการ transform  รูปแบบของการเรียนการสอนนี้ ผมมีความเห็นว่า ต้องมีกลยุทธใช้ตัวแทนของนักศีกษามาร่วมทำหน้าที่ change agent ด้วย

ข้อค้นพบที่น่าแปลกใจอยู่ในรูปที่ ๖   คือการคิดอย่างมีวิจารณญาณไม่ค่อยไปด้วยกันกับความสุขสุดขีด (bliss)    และค้นพบความเข้าใจผิดเรื่อง CCT ดังในรูปที่ ๗   ความตื่นเต้นที่อาจารย์ประสบในการสอน ความสร้างสรรค์แสดงในรูปที่ ๘   และประสบการณ์ในการสอนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ แสดงในรูปที่ ๙

วิธีดำเนินการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนา CCT แสดงในรูปที่ ๑๐ – ๑๖   คือ  (๑) ครูดำเนินการเพื่อให้ศิษย์เกิดแรงบันดาลใจ (inspiration) ต่อกิจกรรมการเรียน ที่เน้นจัดแบบ problem-based learning,   (๒) จัดกิจกรรมในรูปแบบใหม่ๆ (novelty)  เช่นจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับบริษัทเต้นรำ (dance company)    เพื่อให้ศิษย์เข้าใจความหมายของท่าเคลื่อนไหวร่างกาย    ร่วมกับบริษัทการละคร เป็นต้น,     (๓) ทำให้ศิษย์คิดเรื่องการเรียนรู้ (meta-cognition) ที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาใช้คำว่า “การคิดเกี่ยวกับการคิด” หรือ “อภิปัญญา” (๕)    ท่านบอกว่ามีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยผิดคาด,   (๔) เปลี่ยนสภาพแวดล้อม ทั้งด้านพื้นที่และเวลา     เพื่อลด “destructive forces” ต่อการพัฒนา ในตัวนักศึกษา     และผมขอเพิ่ม socio-emotional environment ที่บรรดาคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจงใจร่วมกันสร้าง    เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย สำหรับนักศึกษาทดลองทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้เรื่องความสร้างสรรค์ และความคิดอย่างมีวิจารณญาณ    ซึ่งจะช่วยเอื้อให้นักศึกษามี engagement ต่อกระบวนการเรียนรู้ของตน,   (๕) ให้สิ่งท้าทาย,   (๖) ใช้การประเมินหลากหลายแบบ    โดยจะประเมิน “learning habit” ในชั้นเรียนด้วย    รวมทั้งต้องการหาวิธีประเมินที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ในมิติที่ต้องการ,   และ (๗) จัดกิจกรรมนอกหลักสูตร   และที่ท่านพูดแต่ไม่อยู่ใน powerpoint คือ (๘) การให้เรียนเนื้อหาใหม่ๆ     

ท่านบอกว่าโจทย์วิจัยในภาพรวมของทีม คือ ปัจจัยทั้ง ๘ มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร ในการส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา  

มหาวิทยาลัยวินเชสเตอร์เข้าร่วมโครงการ Creativity and Critical Thinking in Higher Education ของ OECD    โดยมีวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อตอบคำถามว่า  วิธีการใดใช้ได้ผล  ต่อใคร  เมื่อไร  และอย่างไร    ดังแสดงในรูปที่ ๑๗    ท่านแสดงรูปที่ ๑๘ เพื่อเสนอโมเดลสมดุลระหว่างการคิดเชื่อมโยง (associative thinking)  กับ การคิดวิเคราะห์เจาะลึก (analytical thinking)    ผมแปลกใจที่เขาไม่เอ่ยถึงการคิดแบบหมวกหกใบ (๖)    

โปรดสังเกตนะครับ ว่าศาสตราจารย์ Paul Sowden เป็นนักจิตวิทยา     เขามอบหมายให้นักจิตวิทยาการเรียนรู้ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้    เพื่อเน้นที่การคิด   เน้นการคิดแบบ associative thinking  ที่ผมเรียกว่า คิดแบบเชื่อมโยง    เพิ่มจากเดิมเน้นการคิดวิเคราะห์ (analytical thinking)    ซึ่งเป็นการคิดแยกแยะเจาะลึก     ประเทศไทยต้องการนักวิชาการด้านจิตวิทยา ที่สนใจจิตวิทยาการเรียนรู้ มาร่วมในขบวนการปฏิรูปการศึกษาของเรานะครับ    

ผมขอให้ข้อสังเกตว่า เพราะท่านศาสตราจารย์ โซวเดน มีพื้นฐานทฤษฎีการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง    ท่านจึงสามารถตั้งคำถามวิจัยที่ลึกอย่างที่ท่านเล่า    ทำให้การเข้าร่วมโครงการ Creativity and Critical Thinking in Higher Education ของ OECD เป็นช่องทางให้เกิดการทำงานวิชาการทั้งเชิงประยุกต์ หรือการพัฒนา    และทำงานวิชาการเชิงลึก หรือการวิจัยพื้นฐานด้านการเรียนรู้ คู่ขนานไปพร้อมๆ กัน     

คำหลักคำหนึ่งที่ท่านเอ่ยบ่อยๆ คือ “design process”    ในการศึกษาสมัยใหม่ ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต้องใช้ “design process” เป็นเครื่องมือ    อาจารย์ใช้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่จัดให้แก่นักศึกษา     นักศึกษาใช้เป็นกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ของตน ที่ตนเองเป็นผู้คิดและลงมือทำแล้วคิด (ใคร่ครวญสะท้อนคิด – reflection)  

ในช่วงถาม-ตอบ มีคนเสนอให้ทำวิจัยเปรียบเทียบผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวินเชสเตอร์ ที่เอาใจใส่เรื่องการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้อย่างจริงจัง  กับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอื่นที่ไม่เอาใจใส่เรื่องนี้เลย    ทำให้ Carl Wieman ชี้ว่า การทำการทดลองในนักศึกษามหาวิทยาลัยต้องตระหนักว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มประชากรพิเศษที่คัดสรรมาเป็นพิเศษ    ต่างจากประชากรนักเรียนในโรงเรียน ที่มีความหลากหลายเป็นธรรมชาติมากกว่า                

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๒




1

2

3

4

5

6

7

8

9

10

11

12

13

14

15

16

17

18

หมายเลขบันทึก: 673009เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2019 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2019 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท