ประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน ๔. ยกเครื่องระบบการเรียนรู้


บันทึกชุด บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน นี้    เป็นการสะท้อนคิดของผม จากการไปร่วมประชุม Creativity and Critical Thinking Skills in School : Moving the Agenda Forward. An international conference organised by the OECD Centre for Educational Research and Innovation (CERI)   24-25 September 2019 - London, UK.   Nesta HQ - 58 Victoria Embankment, EC4Y 0DS (๑) โดยไปกับทีม กสศ.   มี ดร. ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. เป็นหัวหน้าทีม  

ช่วงเวลา ๑๖.๐๐ - ๑๗.๑๕ น. วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๒ เป็นรายการอภิปรายโต๊ะกลม เรื่อง Reengineering Teaching and Learningเพื่อทำความเข้าใจการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   โดยวิทยากร ๕ คน  มาจากอังกฤษ ๒  อเมริกา ๒  และอิสเรล ๑   

Paul Collard แห่ง CCE, UK บอกว่าการเรียนการสอนต้องไปให้ถึง High Functioning classroom (ดูรูปที่ ๑)    แล้วฉายวิดีทัศน์ให้เห็นการเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนการสอนให้เป็นแบบ high functioning แก่นักเรียนวัยรุ่นที่ไม่ตั้งใจเรียน ไม่คิดว่าตนจะเรียนจบ    แล้วหลังจากนั้น ๑ ปี ไปสัมภาษณ์ครูและนักเรียนว่าผลการสอนแบบใหม่เป็นอย่างไร    สรุปได้ว่าครูเองก็ประหลาดใจว่านักเรียนกลุ่มนี้กลับมาตั้งใจเรียน    และนักเรียนก็บอกว่าตนชอบวิธีเรียนแบบใหม่และทำให้ตนสอบได้ (ได้เกรด ซี)

Andria Zafirakou, Alperton Community School, England, UK   เป็นครูสอนศิลปะ   และได้รับรางวัลครูดีเด่น    ในโรงเรียนที่นักเรียนเป็นเด็กยากจน  พ่อแม่เป็นคนต่างชาติอพยพเข้าไปอยู่ในอังกฤษ     บอกว่าระบบการเรียนรู้ที่ดี ต้องการทีมแกนนำ (leadership team)    มีสมาชิกจากทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน    เด็กๆ ต้องการผู้ใหญ่ที่เป็นต้นแบบ  (role model) ให้เด็กเข้าใจอาชีพต่างๆ    ช่วยเสริมแรงบันดาลใจต่อการเรียนเพื่ออนาคตของตนเอง    ความริเริ่มสร้างสรรค์เป็นธรรมชาติของเด็ก    รูปแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสร้างสรรค์ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเล็ก    โดยต้องบูรณาการอยู่ในหลักสูตรตามปกติ    และต้องทำทั้งโรงเรียน ไม่ใช่เฉพาะบางวิชา     ฟังคำพูดและท่าทางของครู Andria แล้วก็เห็นได้ชัดว่าเป็นครูที่รักเด็ก เอาใจใส่เด็ก    มีความสุขอยู่กับการเป็นครู  

Anne Fennell, San Diego Unified School District, USA  เป็นครูศิลปะ    บอกว่าเพื่อให้เกิด CCT และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในศิษย์ ครูมีหน้าที่ถาม    เธอใช้สไลด์ ๒ แผ่นอธิบายวิธีการใหม่ที่เธอใช้ (ดูรูปที่ ๒, ๓)    

Babara Schneider, Michigan State University, USA (2) เป็นศาสตราจารย์เชี่ยวชาญพิเศษที่ทำวิจัยด้านการศึกษามายาวนาน    เป็นทั้งนักการศึกษาและนักสังคมวิทยา    เล่าเรื่องการทำวิจัยร่วมกับฟินแลนด์เรื่อง optimal learning in science (3)    ที่นำไปสู่การพัฒนา Next Generation of Science Standards    มีการสร้าง highly developed and specified teacher materials, highly developed and specified student materials, คู่มือประเมิน ทั้งประเมินเพื่อพัฒนา และประเมินผล    รวมทั้งคู่มือพัฒนาครู      ที่ผมชอบมากที่ท่านพูดว่าต้องมีการพัฒนาครูผู้นำ (teacher leader) การเรียนรู้และพัฒนาตนเองของครู    ท่านบอกว่า งานวิจัยที่รัฐแคลิฟอร์เนียและมิชิแกน ในนักเรียน ๗ พันคน  และครูอีกจำนวนหนึ่ง    ทำให้องค์ความรู้ที่ไม่เคยได้มาก่อน    ได้เห็น transformative learning ทั้งในนักเรียนและในครู    ท่านจะเล่ารายละเอียดในวันรุ่งขึ้น

ผู้พูดคนสุดท้าย Zemira Mevarech, Bar-Ilan University, Israel (4)  พูดเน้นเรื่อง Meta-Creativity Pedagogy    บอกผลการวิจัยที่ท่านร่วมทำให้แก่ NASA เรื่องระดับความสร้างสรรค์ที่สูงเป็นเลิศว่าเด็กในช่วงอายุ ๕ - ๖ ปี มีถึงร้อยละ ๙๘   ลดลงเหลือ ร้อยละ ๓๐ เมื่ออายุ ๑๐ ปี   ร้อยละ ๑๐ เมื่ออายุ ๑๕   และเหลือร้อยละ ๒ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่    แสดงว่ามนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับคุณสมบัติสร้างสรรค์    และคุณสมบัตินี้จางลงตามอายุ     และเสนอ Meta-Creativity Pedagogy  ตามในรูปที่ ๔ และ ๕    เครื่องมือสอน creativity คือ CREATE ตามในรูปที่ ๔   ทดลองนำมาสอนนักเรียนทั้งระดับประถมและมัธยม    โดยให้โจทย์ แล้วให้นักเรียนคิดหาวิธีที่แปลกใหม่สุดๆ     ฝึกไประยะหนึ่งแล้ววัดความสร้างสรรค์ พบว่ากลุ่มทดลองความสร้างสรรค์เพิ่มมาก    กลุ่มควบคุมลดลงเล็กน้อย    ความหมายของ meta-creativity คือความเอาใจใส่หรือตระหนักรู้ในเรื่องความสร้างสรรค์    กิจกรรมที่ทดลองให้นักเรียนฝึกเป็นการให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ อย่างรู้ตัวว่าต้องการพัฒนาความสร้างสรรค์ของตน    เมื่อได้ผลการวิจัยเบื้องต้นว่าได้ผลดี    นักวิจัยอย่างศาสตราจารย์ซามิรา ก็ตั้งคำถามต่อว่า ความสร้างสรรค์ที่พัฒนาขึ้นจากชั้นเรียนจะอยู่ยั้งยืนยงหรือไม่    และจะนำไปใช้ในวิชาอื่นๆ ได้หรือไม่    ท่านชวนตั้งเครือข่ายวิจัยนานาชาติทำเรื่องนี้    ซึ่งผมยุ ดร. ไกรยส ให้หาทางเข้าร่วม     ผมติดใจวิทยากรสองท่านสุดท้ายที่นำเสนอด้วยวิญญาณของนักวิจัย เป็นอย่างยิ่ง 

ผู้ดำเนินการรายการ คือ ศาสตราจารย์ Bill Lucas แห่งมหาวิทยาลัย Winchester กล่าวนำด้วย powerpoint แสดงโมเดลของการเรียนการสอนที่พัฒนาความสร้างสรรค์    ผมจึงนำมาลงไว้ด้วย ดังในรูปที่ ๖ และ ๗     และขอเอารูปคณะวิทยากรมาลงไว้ในรูปที่ ๘

หลังการนำเสนอมีการอภิปราย  ประเด็นสำคัญที่ผมจับความได้คือ การดำเนินการในรูปแบบปัจจุบันหลากหลายอย่าง เป็นผลลบต่อการพัฒนาความสร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียน     เช่น หากดำเนินการอย่างไม่ระมัดระวัง  การประเมินอาจมีผลทำให้ครูถูกลดทอนความเป็นครู    เขาใช้คำว่า de-professionalize   ซึ่งผมคิดว่าวงการครูไทยตกเป็นเหยื่อของหลุมพรางนี้มาก   

มีการเสนออว่า การเรียนแบบ Design School จะช่วยสร้างความสร้างสรรค์แก่นักเรียน    และการเปิดโรงเรียนให้ผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่ครูเข้าไปร่วมกิจกรรมในโรงเรียนเป็นแนวทางหนึ่งของการยกเครื่องระบบการเรียนรู้                   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ 


                  

1 High Functioning Classroom

2 วิธีจัดการเรียนดนตรีให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน

3 การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการของครู

4 Meta-Creativity Pedagogy สร้าง Habit of Mind ด้วย CREATE

5 ผลการทดลองเบื้องต้นนำไปสู่คำถามวิจัย

6

7

8 คณะวิทยากร

หมายเลขบันทึก: 672172เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2019 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2019 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท