BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

๖. สมภารเจ้าวัด : หน้าที่


สมภารเจ้าวัด

๖. สมภารเจ้าวัด : หน้าที่               

หน้าที่ของเจ้าอาวาสตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ในมาตรา ๓๗ ได้บัญญัติว่า เจ้าอาวาสมีหน้าที่ ๔ ประการ และ หนังสือคู่มือพระสังฆาธิการ : ว่าด้วยเรื่องการคณะสงฆ์และการพระศาสนา ได้ขยายความไว้ในหน้า ๗๖-๘๑ ซึ่งผู้เขียนได้ประมวลมาดังนี้               

๑) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี                เฉพาะข้อแรก แยกออกเป็น ๓ ประเด็น ดังนี้

การบำรุงรักษาวัด นั่นคือ ก่อสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุง ตกแต่ง  วางแบบแปลนและแผนผัง ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งแรงเงินและแรงความคิด จึงจะทำให้สิ่งต่างๆ  ที่เป็นศาสนสถานและศาสนวัตถุของวัดได้รับการพัฒนาเป็นไปได้ด้วยดี                 

การจัดกิจการของวัด ซึ่งแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ การศาสนศึกษา  การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ เหล่านี้แผนกหนึ่ง และเจ้าอาวาสยังต้องจัดการในฐานะตัวแทนของวัด เช่น การรับทรัพย์สิน การอรรถคดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่เจ้าอาวาสต้องดำเนินการให้เป็นไปด้วยดี               

การจัดการศาสนสมบัติ หมายถึง ดูแลและรักษา การใช้จ่าย การจัดหาทรัพย์สิน การทำบัญชีสิ่งต่างๆ ของวัดให้เป็นไปด้วยดี ตามกฎกระทรวง                

๒) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีอยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม                ในข้อที่สองนี้ขยายความได้ ๒ ประเด็น ดังนี้                 

ปกครอง หมายถึง จะต้องคุ้มครองป้องกันทั้งบรรพชิตคือพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์คือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในวัดหรือสังคมภายในวัดมีความผาสุก กล่าวคือ มีทั้งความสุขสงบและสะดวกสบายพอสมควรตามครรลองครองธรรม               

สอดส่อง หมายถึง ตรวจสอบความเป็นไปภายในวัดและเอาใจใส่ดูแลให้ผู้ที่อาศัยอยู่ภายในวัดประพฤติปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ซึ่งเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคมเป็นต้น                 

๓) เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอน พระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์                ในข้อที่สามนี้ ขยายความได้ ๒ ประเด็น ดังนี้               

การจัดการศาสนศึกษา หมายถึง จัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม หรือส่งเสริมให้ผู้อยู่ภายในวัดศึกษาพระปริยัติธรรมตามสมควร เช่น ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณรก็ให้เรียนนักธรรม-บาลีและปริยัติสามัญ ถ้าเป็นศิษย์วัดก็ให้เรียนธรรมศึกษาและศาสนพิธี เป็นต้น               

การอบรมสั่งสอนพระธรรมวินัย หมายถึง ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนพระธรรมวินัย เช่น การทำวัตรสวดมนต์ในวันทั่วๆ ไป ในวันอุโปสถก็บอกศีลและแสดงธรรมต่อญาติโยม จัดให้มีการแสดงพระปาฏิโมกข์สำหรับพระสงฆ์ และจัดให้มีการทบทวนสิกขาบทหรือต่อศีลสำหรับสามเณรทุกกึ่งเดือน เป็นต้น                    

๔) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล                และในข้อที่สี่นี้ ขยายความลักษณะการอำนวยความสะดวกไว้ ๔ ประเด็น ดังนี้

-          สำหรับงานการกุศลประจำปีหรืองานจรของวัดโดยตรง

-          สำหรับผู้มาขอใช้อาคารสถานที่ของวัดจัดบำเพ็ญกุศลต่างๆ

-          ให้คำปรึกษาสำหรับผู้มาขอเพื่อจะจัดการบำเพ็ญกุศลในที่อื่น

-          จัดสร้างอาคารสถานที่ เช่น ศาลา เมรุเผาศพ เป็นต้น               

ตามที่ประมวลมานั้น เป็นเพียงหน้าที่ตามกฎหมายคณะสงฆ์และการขยายความของท่านผู้รู้เท่านั้น แต่ยังมีภารกิจอื่นซึ่งสมภารเจ้าวัด ควรจะกระทำ หรือ สามารถกระทำได้ซึ่งไม่อาจกล่าวได้ชัดเจนว่าเป็น หน้าที่” “มิใช่หน้าที่ หรือ เหนือหน้าที่ ซึ่งผู้เขียนจะละเว้นในส่วนนี้เพราะจะออกนอกประเด็นหัวข้อที่ตั้งไว้ เฉพาะหน้าที่ตามที่มีบัญญัติไว้นี้เท่านั้น ถ้าสมภารรูปใด สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ กล่าวได้ว่า สมภารรูปนั้นเป็นผู้ควรแก่การยกย่องสรรเสริญยิ่งนัก เพราะการจะกระทำหน้าที่ได้ตามภารกิจที่กำหนดไว้นี้ เป็นภารกิจยุ่งยากและมีปัญหามากมายที่จะต้องแก้ไขและนำพาให้ตลอดรอดฝั่งได้ สมดังคำพังเพยว่า ทุกข์สมภารเจ้าวัด นั่นเอง

อนึ่ง คู่กับหน้าที่ก็คืออำนาจ เพื่อให้การดำเนินการตามหน้าที่สามารถเป็นไปได้ เปรียบดังตำรวจจราจารถ้าไม่มีอำนาจเขียนใบสั่งแล้วคงจะไม่มีใครยอมปฏิบัติตาม ฉะนั้น เราไปดูอำนาจของสมภารเจ้าวัดตามกฎหมาย

คำสำคัญ (Tags): #สมภาร#เจ้าอาวาส
หมายเลขบันทึก: 67083เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 01:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท