อ่านหนังสือ #ชีวิตของประเทศ# บันทึกเสียงเพื่อคนตาบอด 8


    มีอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงความอัจฉริยะของอาจารย์วิษณุ เครืองาม ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ"ชีวิตของประเทศ" คือเคล็ดตำราหมอยาของหมอชั้นซึ่งเป็นหมอยาชาวบ้านสืบทอดมาจากคุณปู่ จากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่สมัยที่ปู่หมอชั้นได้เป็นหมอหลวงถือย่ามแดง ตะพดแดง จนถึงรุ่นหมอชั้นในต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง หมอชั้นพยายามเคี่ยวเข็ญถ่ายทอดตำราหมอยาให้แก่ใหม่(ลูกชาย) เพื่อสืบทอดความเป็นหมอต่อไป ความตอนหนึ่งว่า

"... สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ คนเราแม้นตาดู หูฟัง มือคลำ ปากท่องจำอยู่ดังนี้มันซึมเข้าไปในสมองเองแหละ

... เริ่มด้วยรู้จักมหาภูตรูปหรือธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ต่อจากนั้นต้องรู้จักเภสัชวัตถุ ว่าอะไรคือ ราก ดอก ใบ เปลือก และผลของยา ต้องรู้จักเภสัชทั้งห้า คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ต้องรู้ว่ายาอย่างไรควรเก็บวันใด เช้าหรือบ่าย แลต้องรู้จักเภสัชคณา ฤาการประสมเป็นหมู่ให้เข้ากัน และรู้จักเภสัชสรรพคุณ ว่าของสิ่งใดมีรสใด ขมฤาหวาน เค็มฤาเปรี้ยว ฝาดฤาเมาฤาจืด หวานนั้นดีแก่ผิว เนื้อกินแล้วจึงได้พี แต่เค็มนั้นออกทางผิวหนัง กินเค็มจึงมีเหงื่อ สุดท้ายต้องรู้จักเภสัชกรรม ฤาวิธีปรุง ว่าจะต้ม ฤาบด ฤาปั้นเป็นลูกกลอน การสั่งยาต้องเขียนเป็นตีนกา ช่องนี้น้ำหนักเป็นบาท ช่องโน้นเป็นสลึง เป็นเฟื้อง ทั้งหมดนี้เรียกว่าเภสัชทั้งสี่

... คนเราต้องรักษาทั้งกายและใจ จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ถ้าจิตทุรนทุรายกายจักเศร้าหมอง เจ็บน้อยจักกลายเป็นเจ็บหนัก เหมือนกายเจ็บหนักแต่จิตสงบยังจะพอยืดอายุอยู่ได้ นอกจากนั้นการให้ยา ต้องใช้ยาที่พิกัดร้อนแลเย็นเสมอกัน ร้อนไปก็ทุกขเวทนากระวนกระวาย เย็นไปก็สะท้าน จะรักษาคนไข้จึงต้องรู้จักพิกัดธาตุและพิกัดยา ให้ถึงพร้อมทุกพิกัด คนไข้จะได้สบายกายและใจ ตำราเรียกว่าเภสัชคณา ยาดีเพียงใดแต่พิกัดถ้าไม่เข้ากันก็หาทุเลาไม่ เขาถึงว่า ลางเนื้อชอบลางยา พิกัดธาตุคือส่วนของธาตุในร่างกายคนเราซึ่งมีสี่ธาตุ เตโชธาตุคือธาตุไฟ ทำให้ร่างกายอุ่น ร้อน หรือเย็น วาโยธาตุคือธาตุลม มากไปน้อยไป ฤาวิปริต ทำให้เกิดอาการเรอ ผายลม จุกเสียด แน่นเฟ้อในท้อง นอกท้อง เลือดลมแล่นหรือไม่แล่นหายใจขัด อาโปธาตุคือธาตุน้ำ มีอยู่ในน้ำดี เสมหะ บุพโพ โลหิต อัสสุ วะสา เขฬะ น้ำมูก ไขข้อ มูตร ปฐวีธาตุคือธาตุดินได้แก่ เกศา ขน เล็บ ฟัน ผิวหนัง บางทีต้องสอนให้คนไข้ทำกรรมฐาน จักได้ไม่กระสับกระส่าย ข้างฝ่ายพิกัดยาหมายถึง การเอาสิ่งของหรือยาหลายสิ่งรวมเข้าด้วยกัน มีหมวด สองสิ่ง สามสิ่ง สี่สิ่ง ห้าสิ่ง เจ็ดสิ่ง เก้าสิ่ง สิบสิ่ง แต่ละสิ่งแบ่งออกเป็นหลายอย่าง เช่น ของสองสิ่ง สิ่งละสามอย่าง เป็นชุดของยา ประกอบด้วย ดอกบุนนาค แก่นบุนนาค รากบุนนาค แลยังมีดอกมะซาง แก่นมะซาง รากมะซาง ยาที่เรียกว่าตรีสมอ มีสามอย่างคือ สมอไทย สมอเทศ สมอพิเภก เกสรทั้งห้า มีดอกบุนนาค ดอกบัวหลวง ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกมะลิ

... โกฐทั้งห้ามี โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา พิกัดยายังแบ่งออกเป็นจุลพิกัด คือดูสี ขนาด รูปร่าง ถิ่นกำเนิด อย่างกระเพรามีทั้งขาวแลแดง กระพังโหมมีทั้งใหญ่และน้อย อีกอย่างเรียกว่ามหาพิกัด คือการเอาของหลายอย่างมารวมกัน น้ำหนักไม่เท่ากัน แยกเป็นพิกัดเครื่องยา ดูจากน้ำหนักเช่น เป็นบาท สลึง เฟื้อง ถ้าเป็นพิกัดสมุนไพรดูจากราก เปลือก ใบ ดอก และผลของยาแต่ละพันธุ์

... ยิ่งตำรามหาโชตรัต คัมภีร์โรคนิทาน ตำราโอสถพระนารายณ์ รู้ไว้ใช้รักษาคนเจ็บก็ได้บุญ พระท่านว่า อโรคยาปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ การรักษาให้คนไม่มีโรคก็เหมือนการให้เขาได้ลาภ เราพลอยได้บุญด้วย

...ท้องเสีย ถ่ายไม่ทั่วท้อง ใช้เปลือกสะเดา ต้มกับรากสะเดา ให้ดีใส่รากมะไฟต้มไปด้วยก็ได้ ทุบๆแล้วต้มเอาน้ำแก่ๆดื่ม พออาเจียนอีกทีสองทีก็หาย ให้กินข้าวกับปลาแห้ง อย่าไปกินพวกต้มแกงรสเผ็ดจะผิดสำแดง กินน้ำมากๆ แต่ให้เป็นน้ำสะอาด ตักมาทิ้งไว้แล้วแกว่งสารส้มให้น้ําขุ่นตกตะกอน ช้อนเอาแต่น้ำใสต้ม ที่เขาเรียกว่า น้ำข้นอยู่ใน น้ำใสอยู่นอก อย่ากินสมอเทศ สมอไทยและมะขามป้อม เพราะของดังนี้เขาเอาไว้แก้ท้องผูก

... ของบางอย่างเป็นยาแรง ถ้ากินโดยไม่ระวังคนไข้อาจรับพิษเข้าตัว โรคจะกำเริบ ต้องทำให้อ่อนลง โดยการสะตุหรือประสะเสียก่อน บางทีต้องเจือน้ำเรียกว่ากระสายยา ... การเป็นหมอปรุงยาไม่ใช่ของง่ายเลย นึกว่าจะอาศัยแค่ความเป็นคนช่างสังเกตอาการคนไข้และช่างจดจำสรรพคุณพันธุ์ไม้ต่างๆว่า กิ่ง ดอก ใบ ราก เปลือก ฝัก เมล็ด เกสร ใช้รักษาโรคใดก็พอ แต่เอาเข้าจริงต้องเข้าใจมากกว่านั้น ต้องรู้จักยักย้ายถ่ายเทดัดแปลง มิฉะนั้นคงจะลองผิดลองถูกกับคนไข้ไปเรื่อยๆ

... หลอดลมอยู่ติดกับหลอดอาหาร คนโบราณเขาถึงไม่ให้กินไปพูดไป ร้องรำทำเพลงไป ฉวยพลาดท่าพลาดทาง อาหารไหลลงหลอดลม อุดช่องลม หายใจไม่ทัน ถ้าไม่ตายก็เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต นอนกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ น้ำก็เหมือนกันซดมากๆ ลงไปในปอดได้ สำลักได้ สำรอกได้ เขาถึงให้จิบ ปากแห้ง คอแห้งเขาให้กลั้วคอ ไม่ใช่มูมมามซดโฮกฮาก พระจึงสอนเสขิยวัตร การกินการนอนให้พึงระวัง เพราะไม่เพียงแต่รักษากิริยา ยังรักษาโรคป้องกันโรคอีกด้วย ยาบางขนานต้มกินยามร้อน บางขนานทิ้งให้เย็นจึงจะดี ยาบางขนานกินขมฤทธิ์แรง บางขนานเจือน้ำตาลกรวดน้ำตาลอ้อยฤาน้ำผึ้งก็ได้ ยาบางขนานกินเวลาท้องว่างยาเดินฤทธิ์เร็วแลแรงดี แต่บางขนานต้องกินก่อนกินข้าว บางขนานกินหลังกินข้าว ต้องหมั่นสังเกตสังกาให้ดี ลางเนื้อชอบลางยา ระวังวางยาผิดวางยาถูก ลูกเขาเมียใครตายลงจะลำบาก

... ถ้าคนไข้บอกอาการว่าแน่นท้อง ปวดท้อง ให้นึกว่าน่าจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง ถ้าลมเสียดแทงตามชายโครง ขัดเบาลมจับ ร้อนในอกเจรจาไม่ออกชักเท้ากำมือให้นึกถึงโรคอะไร กินข้าวไม่รู้รสอาหาร หนาวสะท้านตาเปียกแฉะให้นึกถึงโรคอะไร โรคหลายชนิดอาการใกล้เคียงกัน เมื่อฟังอาการคนไข้แล้วให้นึกถึงหลายๆโรค อย่าด่วนตัดทอนโรคใด แล้วค่อยๆตะล่อมซักไซ้ให้ลงโรคที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด หลังจากนั้นจึงวางยาให้ถูกกับโรค ถ้าสามวันเจ็ดวันยังไม่ผ่อนคลายก็ให้เปลี่ยนยาหรือวินิจฉัยโรคใหม่ เวลาวางยาให้ถูกกับอาการนั้น ต้องดูพื้นของคนไข้ว่า เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง โสดหรือมีลูกมีผัวแล้ว กินยาง่ายหรือยาก ฐานะความเป็นอยู่อย่างไร ถ้ายาแพงคนไข้ที่ยากจนก็จะไม่ซื้อกิน ลงท้ายเจ็บตายเปล่าๆ สู้ให้ยาที่สรรพคุณรองลงมาแต่ราคาถูกไม่ได้ ทั้งต้องซักประวัติให้ชัดว่า คนไข้เป็นชาติโทษ คือป่วยด้วยโรคเดียวกันนี้เมื่อหลายชั่วอายุคน หรือเป็นชาติโลกคือเพิ่งมาป่วยรวมความแล้วหมอยาต้องหูไว ตาไว จมูกไว ช่างสังเกต บางทียังต้องช่างเจรจา พูดจาโน้มน้าวอีกด้วย...

หมายเลขบันทึก: 670592เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท