สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๒๓. เพื่อศิษย์เรียนจบ



บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๒๓. เพื่อศิษย์เรียนจบ นี้ เป็นบันทึกแรก ใน ๓ บันทึก ภายใต้ชุดความคิดเพื่อความสำเร็จของนักเรียน(graduation mindset)    ตีความจาก Part Seven : Why the Graduation Mindset?          

สาระหลักของบันทึกนี้คือ ชุดความคิดมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อความสำเร็จของนักเรียน    ทำให้โรงเรียนของเด็กยากจนพัฒนาเป็นโรงเรียนคุณภาพสูงได้   

เป้าหมายสำคัญคือ นักเรียนทุกคนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงเกรด ๑๒ (สำหรับสหรัฐอเมริกา    ส่วนของไทยน่าจะถึง ม. ๓  เพราะการศึกษาภาคบังคับของเราถึง ม. ๓) เรียนสำเร็จทุกคน   สำหรับในสหรัฐอเมริกา    การจบเกรด ๑๒ อย่างประสบความสำเร็จหมายความว่า จบแล้วมีงานทำ หรือเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาได้    หรือกล่าวใหม่ว่า เป้าหมายคือนักเรียนทุกคนเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ    แล้วมีงานทำ หรือเรียนต่อ    ไม่มีนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษากลางคัน    ในขณะนี้ประเทศไทยที่เด็กออกจากการศึกษาภาคบังคับกลางคันประมาณร้อยละ ๒๐   หากเราประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในบันทึกนี้ เด็กไทยต้องเรียนจบ ม. ๓ ทุกคน  

“ครูเพื่อศิษย์” ทุกคน ต้องมีปณิธานมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายนี้    โดยเชื่อมั่นว่า สมองเปลี่ยนแปลงได้    มีวิธีการเปลี่ยนสมองของศิษย์ขาดแคลน ให้เรียนสำเร็จได้  

ในชีวิตจริง ครูที่สอนในโรงเรียนที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กขาดแคลน มักจะอยู่ในท่ามกลางสังคมของผู้คนที่ดูหมิ่นดูแคลนความสามารถของเด็กขาดแคลน    และคนในวงการศึกษาก็มักจะเอาแต่บ่นหรือกล่าวอ้างในความไม่พร้อม หรือความขาดแคลนของโรงเรียน    ผู้เขียน (Eric Jensen) แนะนำว่า ครูที่มีอุดมการณ์ “สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน” ต้องฝ่าด่านอุปสรรคเชิงกระบวนทัศน์ของสังคมโดยรอบให้ได้    โดยครูไม่สนใจเสียงบ่นหรือบรรยากาศท้อแท้ที่อยู่โดยรอบ   มุ่งทำงานเพื่อความสำเร็จในการเรียนของศิษย์ให้จงได้        

หลักฐานเชิงประจักษ์

ในสหรัฐอเมริกา มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีโรงเรียนในเขตยากจน เป็นร้อยหรืออาจถึงเรือนพันโรงเรียน    ที่ติดเกณฑ์เป็นโรงเรียนที่มีผลดำเนินการดีเด่น (high performing schools)    โดยที่โรงเรียนเหล่านี้ดำเนินการแตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ     ความแตกต่างนี้ไม่ได้อยู่ที่ศิษย์ แต่อยู่ที่ครู   ที่มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อการเรียนรู้ของศิษย์อย่างไม่ลดละท้อถอย   

ตัวอย่างกิจกรรมที่โรงเรียนในเขตยากจน แต่มีผลดำเนินการดีเด่น ทำเพื่อช่วยยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ได้แก่

  • ให้นักเรียนชั้นสูงกว่า ช่วยให้คำแนะนำ (mentoring) แก่นักเรียนชั้นต่ำกว่า    
  • ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่  ในการจัดหาติวเต้อร์ช่วยติวการบ้าน ๑ ชั่วโมงหลังเลิกเรียน โดยไม่เสียเงิน
  • มีโปรแกรมพลศึกษา และศิลปศึกษา ที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต  วินัยในตน  และการทำงานเป็นทีม
  • โปรแกรมการทำงานระหว่างเรียน  เช่นทำงานในโรงอาหารเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมศิลปะการปรุงอาหาร   เรียนทักษะการทำธุรกิจโดยทำงานในร้านค้าของนักเรียน   เรียนซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ  เป็นต้น
  • มีกิจกรรมหลังเวลาเรียน ให้นักเรียนได้พูดคุยซักถามนักธุรกิจในท้องถิ่น  หรือผู้นำชุมชน หรือนักแนะแนว
  • มีคณะกรรมการ ช่วยให้คำแนะนำการเตรียมตัวหาทุนเรียนต่อชั้นมัธยมปลาย  และการเตรียมตัวเรียนชั้น ม. ปลาย 

       โครงสร้างสำคัญ ๕ ประการ สำหรับโรงเรียนคุณภาพสูง

  1. 1. วัฒนธรรม “คาดหวังสูง  สนับสนุนเต็มที่” (High expectation, High support)
  2. 2. สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และมีวินัยเชิงบวก
  3. 3. มีผู้นำด้านการเรียนการสอนที่เข้มแข็ง
  4. 4. มีครูที่ทำงานหนัก เอาจริงเอาจัง และมีความสามารถ
  5. 5. หลักสูตรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ เน้นที่ทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และภาษา    

        มาตรการหลัก ๕ ประการ สำหรับโรงเรียนคุณภาพสูง

  1. 1. มีเวลาเรียนคุณภาพสูง ที่ไม่ถูกรบกวน จากงานธุรการหรืองานบริหาร  
  2. 2. มีการประเมินสม่ำเสมอ  เพื่อตรวจสอบผลการเรียน  และนำไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอน  
  3. 3. พ่อแม่เป็นผู้ร่วมเรียน
  4. 4. มีการพัฒนาครูเพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีของนักเรียน
  5. 5. ความร่วมมือที่แข็งแรงระหว่างครูด้วยกัน และระหว่างครูกับเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน   โดยผมขอเพิ่มเติมว่าผู้บริหารโรงเรียนและเขตพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมด้วย   

            ครูเพื่อศิษย์ ต้องมีชุดความคิดที่เข้มแข็ง ว่าศิษย์ขาดแคลนของตนสามารถเรียนจนจบชั้น และจบการศึกษาออกไปมีงานทำหรือเรียนต่อได้    โดยตัวครูเองทุ่มเทเต็มที่เพื่อช่วยให้ศิษย์บรรลุเป้าหมายดังกล่าว 

วิจารณ์ พานิช 

๑๑ พ.ค. ๖๒

     



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท