อาหารที่รับประทานส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ


ร่างกายของมนุษย์เรามีความสามารถประดุจโรงงานที่ผลิตและสั่งงานตลอดเวลานับ 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความอัศจรรยือย่างหนึ่งที่เรายังหาคำตอบไม่ได้เกี่ยวกับการทำงานที่สัมพันธ์กันอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเหลือเชื่อ และสิ่งที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจคือระบบการย่อยอาหารของร่างกายมนุษย์ ร่างกายทำอย่างไรถึงจัดการกับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป? สารอาหารสำคัญอย่างไรกับร่างกาย?

เพราะร่างกายของมนุษย์เปรียบเสมือนโรงงานที่ไม่มีหยุดพัก พลังงานที่สำคัญประดุจแหล่งจ่ายไฟอันใหญ่ก็คือ ‘อาหาร’ อาหารสำคัญกับร่างกายของคนเรามาก แต่เมื่อมองให้ลึก สารอาหารคือสิ่งที่สำคัญกว่าอย่างมาก เพราะเมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหว เมื่อนั้นมีการใช้พลังงาน และพลังนั้นมีวันหมด คนเราจึงต้องมีการรับประทานพลังงานเพื่อทดแทนในรูปแบบของอาหาร และอาหารมีหลากหลาย แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม


อาหารในหนึ่งมื้อควรมีสารอาหารที่ครบห้าหมู่ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่หรือแร่ธาตุ วิตามิน และไขมัน และควรผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ถูกสุขลักษณะอนามัย ไม่มีสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคเจือปน จึงนับว่าเป็นอาหารที่มีคุณภาพและได้คุณประโยชน์ที่ครบถ้วน ให้คุณค่าแก่ร่างกายเป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบัน ด้วยวัฒนธรรมที่ขยายกว้างและเป็นวัฒนธรรมที่ผสม เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งอุปโภคและบริโภคที่มากมาย อาหารที่มีวางจำหน่ายหรือหลักการปรุงย่อมแตกต่าง ในแต่ละเมนูมีคุณค่าอาหารที่ไม่เท่ากัน บางเมนูอาจได้สารอาหารไม่ครบถ้วน และบางเมนูจัดเป็นอาหารทำลายสุขภาพ ที่ส่งผลเสียต่อร่างกายและระบบย่อยอาหาร รวมทั้งระบบอื่นๆ ในร่างกายอีกด้วย

วัฒนธรรมตะวันตก อาหารมักประกอบไปด้วย โปรตีน นม แป้งและเนย ไม่นิยมมีพืชผักในมื้ออาหารมากนัก ส่วนประเทศไทยด้วยบความที่มีความสมบูรณ์และมีประเพณีการกินที่หลากหลาย เมนูอาหารส่วนใหญ่มักประกอบไปด้วยพืชผัก เนื้อสัตว์ และไขมัน จึงมีคุณค่าสารอาหารที่ครบถ้วนกว่า แต่มักจะทำการปรุงรสด้วยเครื่องปรุงมากมาย ทั้งซอสถั่วเหลือง พริก น้ำปลา ผงปรุงรสต่างๆ ซึ่งในบางครั้งมากเกินความจำเป็นที่ร่างกายควรได้รับ จนส่งผลให้ระบบไตทำงานอย่างหนัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ ที่ตามมาในอนาคต

ปัจจุบันมีผลสำรวจและสถิติมากมายปล่อยออกมา ผลสำรวจว่าอาหารที่คนเรากินนั้นมีอิทธิพลมาจากความอยาก รสชาติที่รับประทานส่วนใหญ่มีรสจัด หวานจัด และไขมันสูง ซึ่งมากเกินกว่าสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับในหนึ่งวัน เมื่อไม่ได้รับการเผาผลาญหรือจัดการที่ถูกต้อง พลังงานที่เหลือในส่วนนี้จะสะสมเป็นไขมัน หากมากเกินไปย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด กระดูกพรุน โรคไต หรือแม้แต่โรคลำไส้อักเสบ ซึ่งโรคเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการรับประทานและการใช้ชีวิตทั้งสิ้น

ดังนั้น หากวิเคราะห์ดูแล้ว การรับประทานอาหารไม่เพียงแต่ต้องคำนวนสารอาหารที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังต้องควบคุมไม่ให้เกิดการปรับปรุงรสชาติให้จัดเกินไป คือ หวานจัด เค็มจัด เผ็ดจัด และไขมันที่มากเกินความจำเป็น ทั้งยังต้องควบคู่ไปกับการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ มีการดูแลสุขภาพจิตและกายอย่างสม่ำเสมอ จึงจะนับว่าเป็นการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และยังผลให้เรามีสุขภาพที่ยั่งยืนและยาวนาน ยืดอายุระบบในร่างกายกายได้อีกเท่าตัวเลยทีเดียว

เครติดรูปภาพ

รูปที่ 1 : https://sites.google.com/site/sittichiteesittichi/xahar-sahrab-phu-sung-xayu

รูปที่ 2 : https://www.health2click.com/2018/07/11/%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82/


หมายเลขบันทึก: 668509เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2019 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2019 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท