การพัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก และสตรีในพื้นที่แม่ฮ่องสอน : เวทีประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก 3 ก.ย.62


ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดแม่ฮ่องสอน วานนี้ 3 ก.ย.62 รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ท่านประจวบ อาจารยพงษ์ มาเป็นประธาน ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและคุ้มครองเด็กมาร่วมกันคับคั่ง


ดีใจที่งานเด็ก เยาวชน มีความละเอียดอ่อนในมิติทางเพศสภาพ (gender) และเพศวิถี (sexuality) กว่าแต่ก่อน

ได้เรียนรู้ว่ามีผู้บริหารเพศชายในหน่วยงานระดับจังหวัดหลายท่านมีความตระหนักในปัญหาสังคมไทยและกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ให้อำนาจชายเป็นใหญ่ และท่านเหล่านี้ก็เต็มใจให้การสนับสนุน แม้จะต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงในการทำความเข้าใจกับพื้นที่

รู้สึกดีใจที่วิธีคิดเรื่องความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงเพศวิถีถูกนำไปขับเคลื่อนโดยหน่วยงานต่างๆ

แต่ในระดับปฏิบัติ ในการจัดกระบวนการ รวมถึงการติดตามประเมินผลโดยนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเด็ก เยาวชนและเพศสภาพ จะมียอดฝีมือหรือขุนพลแค่ไหน

ผมไม่แน่ใจว่าจะ "ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา" หรือเปล่า? อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก็คิดดี ก็ยังอยากให้กำลังใจ

มีจุดที่ผม ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านสวัสดิการเด็กในคณะกรรมการชุดนี้ ได้นำเสนอเพื่อเติมเต็มในที่ประชุมมีอยู่ 4 ข้อครับ


1. การสร้าง Role Model(s) สตรีผู้นำการเปลี่ยนเเปลงให้กับเด็กเยาวชนสตรี ทุกวันนี้เด็กผู้หญิงซึมซับแบบอย่างที่ไม่เหมาะสมมากมายจากสื่อและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว. การจะส่งเสริมบทบาทสตรีจำต้องให้เด็กผู้หญิงเรียนรู้คุณค่าของตัวเองมาแต่น้อยๆ อาจจะชี้ให้เห็นจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผู้นำสตรีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามในสังคมไทยเช่น ย่าโม. พระศรีสุริโยทัย. พระนางสุพรรณกัลยา พระนางจามเทวี สมเด็จย่า อำแดงเหมือน รวมถึงสตรีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล เช่น ฟอร์เลนส์ ไนติงเกล , มาลาลา ประวัติอันทรงคุณค่าของสตรีเหล่านี้มีอยู่ในทุกวงการ เราควรหาทางนำมาสร้างการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นหลังในรูปแบบต่างๆได้

2. การสร้างความเข้มแข็งหรือพัฒนาศักยภาพ (empowerment) ในเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียมทางเพศสภาพก็ดี เพศวิถีก็ดี ฯลฯ ไม่ควรมุ่งกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้หญิงโดดๆอย่างแต่ก่อน ในเมื่อเพศชายเป็นผู้มีอำนาจใหญ่ และถือครองสิทธิมากมาย จึงต้องเพิ่มสัดส่วนผู้ชายให้เข้ามาเรียนรู้ ปรับวิธีคิด ปรับพฤติกรรมมากขึ้น อย่าง “ความเป็นสุภาพบุรุษ” ที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพลเมือง อันนี้บูรณาการไปด้วยกันได้ไหม และทั้งหมดนึควรต้องมีตัวชี้วัด และติดตามผลการเปลี่ยนแปลงของเพศชายที่ร่วมกระบวนการตรงนี้ด้วย แต่ตรงนี้ต้องมีกลยุทธ์ และมีกลไกคนทำงานที่มีฝีมือพอด้วย คงต้องพัฒนาคนทำงานในเรื่องนี้พร้อมกันไปด้วย

3. การมีส่วนร่วมของศาสนา เราสามารถใช้พลังของศาสนาในการพัฒนาเด็ก เยาวชน ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าไปจัดค่ายคุณธรรม (อันนี้เห็นทำกันมาก) การเชิญพระมาอบรมเด็ก พ่อแม่ แต่นอกจากนี้ เราน่าจะได้ใช้พลังของศาสนาในแง่ของการฝึกสติในชีวิตประจำวัน การใช้สื่อการเรียนรู้ที่ ปัจจุบัน มีหนังสือ สื่อ ที่สอนเรื่องการเลี้ยงลูก ดูแลคนรัก ครอบครัว ตามแนวทางศาสนาที่เป็นเรื่องราวร่วมสมัยหลายประเภท เราจะยกเอาคำสอนของพระพุทธองค์ หรือพระศาสดาของศาสนาอื่นๆมาใช้ในการพัฒนาเด็ก เยาวชน ได้มากมาย ถ้าเราไม่ติดกรอบว่า บุญเป็นเรื่องการทำทานมากเกินไป ให้สังคมปรับจากอามิสบูชา เป็นปฏิบัติบูชากันมากขึ้น อันนี้ต้องช่วยกันสร้างเป็นกระแส

4. การออกกำลังกายและพื้นที่สร้างสรรค์ที่สตรีเข้าถึงและเป็นมิตรต่อสตรี ปัจจุบัน ผู้หญิงทั้งเด็กและผู้ใหญ่หันมาใส่ใจการออกกำลังกายเยอะขึ้น แต่ผู้หญิงมีวัฒนธรรมการออกกำลังกายมแตกต่างจากชาย แต่ในเรื่องการออกกำลังกาย สถานที่ออกกำลังกายส่วนใหญ่คำนึงถึงผู้ชายเป็นหลัก เช่น เวลาเปิดปิด ไม่สอดคล้องกับภาระงานของผู้หญิง ผู้หญิงก็ไปยาก จะไปวิ่ง ไปออกกำลังกายตอนค่ำ แสงไฟไม่พอ เส้นทางเปลี่ยว ก็สุ่มเสี่ยง จะทำอย่างไรให้เด็กผู้หญิงได้ออกกำลังกายโดยที่ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง อันนี้ก็ท้าทายความคิด

เป็นสี่ข้อที่ผมอยากบันทึกเอาไว้เป็นการเรียนรู้ที่ได้จากการทบทวนและสะท้อนในเวทีจังหวัด ถ้าหน่วยงานระดับจังหวัดไม่ขยับ ผมเองก็จะขยับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว กอปรกับว่าการนำเสนอแนวคิดนี้ อาจจะมีประโยชน์ต่อคนอื่นๆในโลกโซเชียลบ้าง จึงนำมาลงไว้ เผื่อใครหยิบเอาไปพัฒนา ปรับปรุง ต่อยอดได้ ไม่มีลิขสิทธิ์ครับ

หมายเลขบันทึก: 667776เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2019 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2019 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท