สื่อยุคปัจจุบันจะก้าวร่วมกันไปอย่างไร : มุมมองจากคนทำงานนักสื่อสารสุขภาวะชุมชน


วันที่ 15 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเป็นตัวแทนเครือข่ายงาน สสส. ประเด็นพหุชาติพันธุ์ของแม่ฮ่องสอน ไปประชุมเครือข่ายภาคีสัมพันธ์ สสส. ที่ลำปาง นอกจากจะนำเสนอความเคลื่อนไหวในแง่ด้านชาติพันธุ์ที่ทำงานภายใต้การสนับสนุนของ สสส. (และตระกูล ส.อื่นๆ) แล้ว ช่วงบ่ายของการประชุมมีการเปิดประเด็นการเรื่องสื่อสาร ที่พบว่า งาน สสส.และ ตระกูล ส. อื่นๆ ในภาคเหนือนี้ เราทำงานกันมาก็นาน ผลงานพื้นที่รูปธรรมก็มาก ทำอย่างไรจึงจะสื่อสารให้สาธารณชนรับรู้ให้มากกว่านี้ได้


โจทย์นี้ ตอบไม่ง่ายเลย จริงๆแล้วมันควรเป็นโจทย์วิจัยด้วยซ้ำ แต่ในแง่ของความคิดเห็นส่วนตัว ที่ไม่ถือว่าถูกหรือผิด เอาความจริงใจและประสบการณ์เท่าที่มี ผมจึงให้ข้อเสนอแก่ที่ประชุม ไป 4 ข้อ ตามนี้โดยสังเขปว่า

1) การจะตอบโจทย์นี้ได้ ต้องมีการศึกษาวิจัย หรืออย่างน้อยที่สุด ต้องวิเคราะห์ให้ลึกเพื่อให้สามารถก้าวย่างได้อย่างมีพลังและมั่นคง จริงๆแล้ว ภาคเหนือมีบริบททางประวัติศาสตร์ในการขับเคลื่อนสื่อภาคประชาชน สื่อวิทยุชุมชน มายาวนานพอสมควร ถ้าเราจะให้ “สื่อสร้างเสริมสุขภาวะ” ที่เราขยับกันอยู่นี้ตอบโจทย์ เราก็ควรนำเอาประวัติศาสตร์การทำงานที่ผ่านมามาสืบค้น ประมวล วิเคราะห์ เป็นต้นทุนในการวางแผนงานในปัจจุบันและอนาคตด้วย ดังนั้นการตอบแบบฉับพลันโดยไม่ศึกษา ไม่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์จึงอาจจะยังมีช่องโหว่อยู่มาก

2) หลักการ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ที่ต้องประกอบด้วยภาครัฐ/พลังนโยบาย , ภาคประชาชน/พลังพลเมือง , ภาควิชาการ /พลังความรู้ อย่างน้อย องค์ประกอบนี้เป็นสิ่งจำเป็น งานสื่อสารสุขภาวะ จำเป็นต้องมีสามองค์ประกอบนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ห่างออกไปมากในตอนนี้คือการมีส่วนร่วมกับภาควิชาการ

ภาควิชาการในที่นี้ ไม่ใช่ วิชาการในระดับเทคนิคการทำสื่อ ซึ่งเทคนิคการทำสื่อนั้น คนรุ่นนี้ฝึกตามกันได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ขาดนั้นเป็นอาจารย์ระดับหลักคิด ระดับทฤษฏีหรือปรัชญา ที่ไม่ใช่เป็นหอคอยงาช้าง แต่เป็นหลักคิด หลักปรัชญาที่สามารถทำงานปฏิบัติการได้อย่างมีพลังจริงๆ ตรงนี้ ภาคเหนือพอมีอยู่หลายท่าน สสส. และตระกูล ส.อื่นๆที่สนใจงานสื่อ (แบบไม่สุกเอาเผากิน) ควรต้องไปเชิญท่านเหล่านี้มาเป็นพลังทางวิชาการร่วม แต่ต้องร่วมในแบบแนวระนาบ คือจัดสมดุลไม่ให้ฝ่ายใฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป และต้องมีเงื่อนไขในแนวดิ่ง คือ เชื่อมประสานระหว่างสื่อรากหญ้า-สื่อชุมชน-สื่อสาธารณะ ในลักษณะหุ้นส่วน (partnership) ด้วย

3) เราต้องจำแนกว่าสื่อที่เราจะผลิตออกไปนั้น มุ่งผลลัพธ์แบบไหน ส่วนตัวผมคิดแบบเร็วๆ มองเห็นอย่างน้อยใน 3 รูปแบบ (platform) จะเป็นแบบประชาสัมพันธ์ (PR) หรือสร้างการรู้เท่าทัน (Literacy)

เป้าหมายสองอย่างนี้ กระบวนการต่างกัน งานพีอาร์ไม่ซับซ้อน ผู้ผลิตสื่อแค่รู้หลักการสื่อสารง่ายๆ ทำเทคนิคดีๆ ดึงดูดด้วยสิ่งต่างๆ แต่ถ้างานรู้เท่าทันนี่ กระบวนการมีส่วนร่วมคือหัวใจ บริบทแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน มันดิ้นได้ตลอด แต่ก็มีเสน่ห์ และน่าจะเป็นแนวทางที่เราควรผลักดันมากกว่า คือ น้ำหนักการผลิตสื่อเพื่องานประชาสัมพันธ์ควรจะน้อยกว่าผลิตเพื่อสร้างการรู้เท่าทัน เพราะการรู้เท่าทันนั้นยั่งยืนกว่างานพีอาร์ แต่แน่นอนว่าเราต้องลงทุนมากกว่า ต้องคิด ต้องหนุนเสริม รวมทั้งติดตามประเมินผล ฯลฯ มากกว่า แต่ทว่าคุ้ม

ในขณะเดียวกัน การทำสื่อนั้นยังเป็นอะไรที่มากกว่า PR และ Literacy คือมันเป็นแบบที่สาม เป็น Embody in inside หรือ Embed มันสร้างตัวตนข้างในคนทำงานสื่อไปพร้อมกัน ผลงานสื่อก็เหมือนศิลปะ มันไม่ได้แค่สะท้อนสังคม ชุมชน หรือเนื้อหาแบบตรงไปตรงมา แต่มันยังสะท้อนตัวตน ความรู้สึกนึกคิด ศักยภาพของคนที่ทำมันขึ้นมาด้วย มันพัฒนาคนทำงานสื่อนั้นๆไปพร้อมกัน ถามว่าตรงนี้ คนทำสื่อรู้สึกไหม เข้าใจไหมว่า ไม่ใช่แค่ชิ้นงาน แต่มันคือชีวิตของคุณที่สะท้อนออกมา ถามว่าวิทยากรเคยบอกคุณอย่างนี้ไหม (ตรงนี้ ตอนท้ายการประชุม มีน้องๆที่เป็นสื่อมวลชนรุ่นใหม่ๆในห้องบอกว่า ชอบประโยคนี้มาก เพราะพวกเขาก็มุ่งทำสื่อจนลืมนึกถึงความลึกซึ้งตรงนี้ไป)

คำถามก็คือ เราอยากให้สื่อสุขภาวะที่จะผลิตขึ้นมานี้ เป็นแบบไหน แน่นอน เราคงตอบเองล้วนๆไม่ได้ คงต้องหาคนในพื้นที่ กลุ่มเป้าหมาย นักวิชาการด้านสื่อ รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆมาร่วมกันวิเคราะห์ ซึ่งผมเชื่อว่า คำตอบแต่ละพื้นที่คงไม่เหมือนกันซะทีเดียว และจริงๆมันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น

4) ในส่วนที่ประชุม แทบทุกเวทีพูดกันมากคือการสร้างคนรุ่นใหม่ สร้างกลไกสื่อโดยให้มีอบรมคนทำสื่อ ผมเห็นว่าทำกันมาเยอะมาก แต่ทำไมผลการรวมกลุ่มในพื้นที่ รวมถึงชิ้นงานที่ออกมามันน้อย ตรงนี้ คงต้องมีการศึกษาประเมินออกมาเป็นแบบวิชาการด้วย ไม่งั้นเราก็ทำซ้ำรอยเดิมและย่ำอยู่กับที่ ส่วนตัวผมมองว่า ไม่อยากให้มองแค่การอบรมๆแล้วจบไป ให้เมล็ดพันธุ์ที่เราอบรมไปงอกตามมีตามเกิด ภายใต้โลกมรสุมปัจจุบันนี้ มันจะมีเมล็ดพันธุ์สักกี่เปอร์เซ็นต์ที่เหลือรอด จริงๆเราต้องมองคนที่มาเรียนรู้กับเราในสายตาของครู ไม่ใช่วิทยากร

ที่ผ่านมา เราคิดว่ามีวิทยากรเก่งๆแล้วจะสร้างสื่อมือดีให้กับพื้นที่ได้ ซึ่งไม่ถูกและไม่พอ เราต้องหาคนที่เป็นครู ที่ใส่ใจ และพร้อมจะผูกพันตัวเองกับพันธกิจสร้างคน สร้างสื่อ สร้างโลกน่าอยู่ และถ้าจะให้ดี เราต้องขยับครูเหล่านั้นให้เป็นโค้ชได้ด้วย โค้ชชิ่ง (Coaching) เป็นอะไรที่มากกว่าการสอน ส่วนโค้ชชิ่งเป็นอย่างไรนั้น ผมไม่ขอลงในรายละเอียดนะครับ แต่วิธีคิด (mindset) ของแกนนำในการสร้างสื่อ ถ้าไม่เปลี่ยนจากการเน้นอบรมแบบเดิมๆ ไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์ กระบวนการแบบครูและโค้ชนี้ ผมคิดว่ามันจะไปไม่รอด

ผมเขียนโน้ตนี้หลังจากการประชุมดังกล่าวผ่านไปได้เกือบเดือนแล้ว พอดีหาสมุดโน้ตที่ใช้ในวันประชุมวันนั้นไม่เจอครับ ก็เลยพิมพ์เก็บความเอาไว้ทบทวน

ที่รู้สึกฉงนใจคือ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้นอนน้อยติดต่อกันหลายวัน ขับรถมาถึงที่ประชุมนี่ใช้เวลาหกชั่วโมงแล้วเข้าประชุมเลย ร่างกายก็ยังโรยๆ สมองก็ยังล้าๆ ความเห็นทั้งสี่ข้อเหล่านี้มันหลั่งไหลออกมาได้อย่างไรก็ไม่รู้

ผมเพียงสูดหายใจลึกๆยาวๆ นิ่งๆ ระหว่างที่นั่งในที่ประชุมสักหนึ่งนาที นึกถึงสิ่งดีๆตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่เคารพ จากนั้นร่างหัวข้อหยาบๆที่จะพูดทั้งหมดลงบนกระดาษ เมื่อสมองลำดับหัวข้อชัดเจนแล้ว ก็พูดสิ่งเหล่านี้ออกมาจากหัวใจ

นี่อาจจะเป็นสภาวะที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ Chaiwat Thirapantu เรียกว่า โมเมนตัม (Momentum) หรือเปล่า ผมเองก็ไม่ทราบได้ แต่ผมรับรู้ได้จากสีหน้า แววตาและคำขอบคุณของน้องๆคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในแวดวงสื่อชุมชนว่า นี่เป็นเรื่องราวที่พวกเขาโหยหา สิ่งที่เล่านี้กระทบใจพวกเขาไม่น้อย

ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญ เลยถือโอกาสแชร์ความคิดและความรู้สึกในเวทีวันนั้น มายังมิตรสหาย เผื่อท่านใดสนใจนำไปปรับใช้หรือเสวนาต่อยอด เป็นคุณูปการต่องานวิจัย งานพัฒนาด้านสื่อ ด้านสุขภาวะชุมชนต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 667775เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2019 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2019 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท