สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๑๘. เพิ่มทักษะการเรียนรู้และคลังคำ



บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๑๘. เพิ่มทักษะการเรียนรู้และคลังคำ  นี้เป็นบันทึกสุดท้าย ภายใต้ชุดความคิดหนุนศักยภาพของนักเรียน(enrichment mindset)    ตีความจาก Chapter 15 :  Enhance Study Skills and Vocabulary         

สาระหลักของบันทึกนี้คือ หากครูสังเกตเห็นว่า นักเรียนบางคนเหม่อลอย  ท้อถอย  ขาดแรงจูงใจในการเรียน    ครูต้องเอาใจใส่ช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนคนนั้นเป็นพิเศษ    ในกรณีของโรงเรียนในพื้นที่ยากจน ห่างไกล    การใช้วิธีการตามในบันทึกนี้จะช่วยยกระดับนักเรียนทั้งชั้น 

ผลของความยากจนต่อสมองเด็กเริ่มตั้งแต่เยาว์    หากไม่แก้ไข ช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างเด็กขาดแคลนกับเด็กจากครอบครัวชั้นกลาง จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ     แต่หากมีการแก้ไขอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ป. ๒    เด็กจะมีผลการเรียนรู้เหมือนเด็กทั่วไป    ตรงกันข้าม หากไม่ได้รับการแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ผล    เด็กจะมีผลการเรียนรู้ต่ำกว่าชั้นเรียน และค่อยๆ ล้าหลังขึ้นเรื่อยๆ    นำไปสู่การออกจากระบบการศึกษาในที่สุด       

การฝึกทักษะการเรียนรู้มีเป้าหมายพัฒนาทักษะการเรียนรู้จากระดับ “มือใหม่” (novice) สู่ระดับ “เชี่ยวชาญ” (expert)     รวมทั้งมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพในการเรียนรู้ (cognitive capacity)     โดยมี “เครื่องมือพัฒนาสมอง” ๓ ชิ้นต่อไปนี้

ทักษะการเรียนรู้จำเพาะบริบท

ผลการวิจัยดูผลของการฝึกทักษะการเรียนรู้ มีทั้งที่ effect size ต่ำ    และที่ effect size สูง     ที่ effect size ต่ำ (๐.๔๕) มักเป็นการฝึกทักษะทั่วๆ ไป ไม่มีเป้าหมายเฉพาะ    ส่วนการฝึกที่ให้ effect size สูง (๐.๗๗ หรือสูงกว่า) ใช้เครื่องมือที่ดี เช่น คู่มือเรียนรู้ (study guide), วิธีเรียน (study procedures), เครื่องมือจัดระบบความรู้แบบก้าวหน้า (advanced organizers)     และฝึกทักษะการเรียนรู้ที่จำเพาะต่อวิชา (subject-specific skills)     

การฝึกทักษะการเรียนรู้มีความซับซ้อนเพราะปัจจัยต่อไปนี้

  • งานวิจัยดำเนินการไม่ตรงกัน ในเรื่องขั้นตอนหลัก  และกระบวนการ ของแต่ละเทคนิค  ทำให้เปรียบเทียบผลงานวิจัยยาก   
  • ในการใช้เครื่องมือช่วยการเรียนรู้แต่ละชนิด หากมีการประยุกต์ metacognition โดยให้ผู้เรียนหมั่นประเมินตนเอง  จะช่วยให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ดีขึ้น    หรือกล่าวใหม่ว่า ในการดำเนินการจริง มักใช้หลายเครื่องมือไปพร้อมๆ กัน  
  • การใช้เครื่องมือพัฒนาทักษะการเรียนรู้วิชาการและการคิด (cognition) มักมีผลต่อการเรียนรู้ด้านจิตใจ (affective) ด้วย    คือช่วยเพิ่มความเข้าใจตนเอง แรงจูงใจ และความานะพยายาม  
  • การทดสอบผลดำเนินการต่างกัน เช่น ทดสอบหนึ่งชั่วโมงให้หลัง หรือ ๑ เดือนให้หลัง มีผลต่างกัน

ตัวอย่างของเครื่องมือช่วยการเรียนรู้ที่ได้ผลดี ดำเนินการดังนี้

  1. 1. เชื่อมโยงวิธีเรียน เข้ากับเนื้อหา
  2. 2. สอนให้นักเรียนมีทักษะเรียนรู้วิธีเรียน (metacognition) ของตน   โดยให้มีความสามารถประเมินความลึกและความแม่นยำของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
  3. 3. ฝึกให้เรียนรู้ thinking map ชนิดต่างๆ เช่น bubble map, flowchart, mind map
  4. 4. เมื่อจบบทเรียน ทบทวนการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยคำถาม  เธอทำผลงานนั้นอย่างไร   เธอจะทำให้ได้ผลดีกว่านั้นได้อย่างไร
  5. 5. เชื่อมโยงความสำเร็จเข้ากับ ความพยายาม เจตคติ และกลยุทธการเรียน
  6. 6. ให้ฝึกทบทวนสาระจากความจำ (retrieval)  ไม่ใช่เพียงทบทวนการเรียน (study review)    

ครูฝึกแต่ละขั้นตอน ให้แก่นักเรียนทั้งชั้น    แล้วให้นักเรียนฝึกปฏิบัติเองเป็นคู่    เมื่อคล่องดีแล้ว ก็ให้ฝึกแก้ปัญหาเอง  

เครื่องช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยง

เครื่องมือที่คุ้นเคยกันดี เช่น การจดสาระสำคัญ  การสรุปประเด็น ให้ผลต่อ effect size สูงถึง ๑.๐    เครื่องมือช่วยให้นักเรียนเข้าใจโครงสร้างของเรื่องที่เรียน เช่น โครงเรื่อง (outline) ให้ effect size ๐.๕๘  

เครื่องมือช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยง (relational study aids) เช่น bubble map, mind map, Venn diagram เป็นต้น   มีประโยชน์มาก แต่มีการใช้น้อย  

ตัวอย่างเครื่องมือช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยงในการแก้ปัญหาของวิชาคณิตศาสตร์ชั้นประถม

       เจตคติเชิงบวก  ->  ทำความเข้าใจชนิดของปัญหา (บวก ลบ คูณ หาร)  ->  เลือกวิธี  -> ทดลองใช้ แล้วใช้  -> ตรวจสอบผลลัพธ์

ตัวอย่างเครื่องมือช่วยการเรียนคณิตศาสตร์ชั้นมัธยม

  1. 1. เริ่มด้วย เจตคติเชิงบวก “ฉันทำได้
  2. 2. ทำความรู้จักชนิดของปัญหา  เป็นปัญหาถ้อยคำ  ปัญหาปลายเปิด  ปัญหาปลายปิด  ปัญหาตรรกะ ฯลฯ
  3. 3. วิเคราะห์ปัญหา   สิ่งที่รู้แล้วคืออะไร  สิ่งที่ไม่รู้คืออะไร   ข้อจำกัดเป็นอย่างไร  มีอะไรบ้างที่ประมาณเอาได้
  4. 4. เลือกวิธี   ใช้ algorithm;  หรือใช้สูตร กราฟ  การคำนวณทางคณิตศาสตร์;  หรือแปลงเป็นเรื่องราวที่มีตัวละคร
  5. 5. ตรวจสอบผลงาน    ประเมินโดยทวนจากหลังไปหน้า   ตรวจสอบกับผลประมาณการ   ตรวจสอบประเด็นที่มักผิดบ่อย
  6. 6. ตัดสินใจ   หากผลลัพธ์ที่ได้ไม่ถูกต้อง  ทำขั้นตอนที่ ๒, ๓, ๔ ใหม่  ด้วยวิธีการใหม่  ทดลองหลายวิธี และละจากวิธีที่ไม่ได้ผล   อาจแบ่งโจทย์เป็นท่อนๆ แก้โจทย์ทีละท่อน   อาจถามเพื่อน
  7. 7. เป็นเจ้าของคำตอบ   หากคำตอบถูกต้อง  เฉลิมฉลองความสำเร็จ   ทบทวนทำความเข้าใจขั้นตอน   จดจำไว้ใช้ในโอกาสต่อไป

ครูพึงฝึกทักษะการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนตามบริบทที่จำเพาะ   ใช้เครื่องมือเรียนรู้ที่สะท้อนโครงสร้างเนื้อหา และความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละส่วนของเนื้อหา

ครูควรทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อพัฒนาคู่มือเรียนรู้ ๕ - ๗ ขั้นตอน สำหรับแต่ละสาระการเรียนรู้หลักของนักเรียนแต่ละระดับชั้น    สำหรับใช้บูรณาการอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อดึง (retrieving) ความรู้ออกมา ๑ วัน หรือ ๑ สัปดาห์ให้หลัง   หากทำโปสเตอร์ แสดงคู่มือดังกล่าวติดไว้ในห้อง จะช่วยได้มาก   โดยครูต้องหมั่นเอ่ยถึงคู่มือนี้บ่อยๆ      

ทักษะการเรียนรู้จำเพาะบริบทนี้ ต้องใช้ร่วมกับเครื่องมืออีกตัวหนึ่ง คือ การช่วยให้นักเรียนมีคลังคำทางวิชาการเพิ่มขึ้น 

       

สร้างทักษะเชิงถ้อยคำ

นักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจนมักมีคลังคำในสมองน้อยกว่าเพื่อนๆ ที่มาจากครอบครัวชั้นกลาง เป็นต้นเหตุของปัญหาการเรียน   นอกจากนั้น นักเรียนยากจนเหล่านี้ยังได้รับการกระตุ้นสมองน้อย    มีความอ่อนแอด้านภาษากว่าเพื่อนในชั้นที่มาจากครอบครัวชั้นกลาง โดยล้าหลังกว่าหลายปี    ที่อายุ ๗ ขวบ นักเรียนทั่วไปมีคลังคำ ๗,๑๐๐ คำ  แต่นักเรียนยากจนมีเพียง ๓,๐๐๐ คำ    ช่องว่างนี้แก้ไขได้โดยให้นักเรียนยากจนเรียนรู้คำใหม่วันละ ๕ คำ เพิ่มจากการเรียนตามปกติ เป็นเวลา ๔ - ๕ ปี    การเพิ่มคลังคำให้แก่นักเรียนขาดแคลนจึงมีความสำคัญมาก ต่อความสำเร็จในการเรียน    มีผลการวิจัยบอกว่า เมื่อครูให้นักเรียนขาดแคลนเรียนรู้คำใหม่ (ที่สอดคล้องกับบทเรียน) ๑๐ - ๑๒ คำต่อสัปดาห์ เป็นเวลา ๑ ปี มีผลเพิ่ม effect size ของผลการเรียน สูงถึง ๐.๙๕     

ต่อไปนี้เป็นเครื่องมือเพิ่มคลังคำให้แก่นักเรียน ๓ เครื่องมือ

        ให้ตัวอย่าง แล้วให้ฝึกใช้คำ  

                ครูใช้คำให้ดู (ฟัง) เป็นแบบอย่าง    โดยยกตัวอย่างประโยค แล้วให้นักเรียนทายความหมาย    หากนักเรียนบอกไม่ได้ ครูให้ประโยคใหม่   ให้ร่วมกับเพื่อนค้นความหมายในพจนานุกรม   จนเมื่อนักเรียนเข้าใจความหมายของคำแล้ว    ให้แต่งประโยคด้วยคำนั้นโดยทำร่วมกับเพื่อน   จนในที่สุดให้นักเรียนแต่งประโยคที่ใช้คำนั้นด้วยตนเอง    ลงท้ายด้วยการให้นักเรียนวาดภาพความหมายของคำนั้น 

          ใช้คำศัพท์ยากๆ

                       มีผลงานวิจัยเปรียบเทียบครูสองแบบ แบบแรกสอนโดยใช้ศัพท์พื้นๆ ทั่วๆ ไป   แบบหลังใช้ศัพท์สูงหรือยาก    พบว่าหลังจากผ่านไป ๑ ปี ผลการเรียนอ่านเอาเรื่อง ของนักเรียนที่ครูสอนแบบหลัง ดีกว่าอย่างชัดเจน  ตัวอย่างเช่น   

  • แทนที่จะพูดว่า ดีมากใช้คำว่า เลิศ แทน
  • แทนที่จะพูดว่า รถใช้คำว่า ยานพาหนะ
  • แทนที่จะพูดว่า น้องสาว ใช้คำว่ากนิษฐา

          สอนคำโดยตรง

                       เขาแนะนำวิธีสอนคำ ๖ ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  1. 1. สาธิต  ยกคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาอธิบายความหมาย และตัวอย่างการใช้
  2. 2. พูดทวนคำ   ให้นักเรียนอธิบายความหมายของคำตามความเข้าใจของตนเอง
  3. 3. อวัจนะภาษา  ให้นักเรียนอธิบายความหมายของคำหรือพยางค์ ด้วยรูป ภาพวาด สัญลักษณ์  กราฟ    และติดไว้ที่ผนังห้องส่วนที่แสดงคำ
  4. 4. เชื่อมโยง   ให้นักเรียนทำกิจกรรมที่ช่วยการจดจำคำนั้น
  5. 5. นักเรียนสอนกันเอง    ให้นักเรียนคุยกันเรื่องคำและความหมายของคำ เป็นครั้งคราว
  6. 6. เล่นเกม    ให้นักเรียนเล่นเกมที่ช่วยการฝึกใช้คำ  

                     มีผลการวิจัยบอกว่า การใช้ท่าทาง หรืออวัจนะภาษา ในการเรียนและฝึกใช้คำ เพื่อเพิ่มคลังคำ มี effect size สูงถึง ๒.๒๗ ในเวลา ๔ ปี    วิธีการคือ ให้นักเรียนจับคู่ กล่าวคำ แล้วแสดงท่าทางที่บอกความหมายของคำนั้น  

                    ครูหากุศโลบายให้นักเรียนเรียนคำศัพท์อย่างสนุกสนาน เช่น อาจกำหนดให้แต่ละสัปดาห์มี “ศัพท์แห่งสัปดาห์” ๑๐ คำ     ในสัปดาห์นั้น    เมื่อนักเรียนคนใดใช้คำที่เป็นคำแห่งสัปดาห์นั้น ให้นักเรียนทุกคนปรบมือ    ในสัปดาห์ถัดๆไป จัดทีมนักเรียน ให้ทำหน้าที่ทบทวนคำศัพท์ จากรายการคำศัพท์ที่ต้องเรียน  

เปลี่ยนวาทกรรม เปลี่ยนพฤติกรรม

ครูต้องเปลี่ยนวาทกรรมในสมองของตนเองจาก “เด็กบางคนได้เรียนรู้  แต่บางคนก็ไม่ได้    ถ้าเด็กพร้อม เขาจะเรียนรู้   เขาต้องรู้วิธีเรียนรู้ มิฉนั้นก็จะเรียนตามไม่ทัน”     ไปเป็น “ฉันเชื่อว่าสมองมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง   ฉันสามารถสร้างการเติบโตและเปลี่ยนแปลงให้แก่ตนเอง    แล้วจึงช่วยสร้างทักษะการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์”    เพื่อใช้พลังของ ชุดความคิดหนุนศักยภาพแก่ศิษย์ 

ใคร่ครวญสะท้อนคิดและตัดสินใจ

หากครูมีประโยคหลักว่า “มีอะไรอีกที่ฉันจะช่วยเพิ่มพลังการเรียนให้แก่ศิษย์” อยู่ในใจ    พฤติกรรมต่างๆ ตามที่ระบุในบันทึกนี้ก็จะตามมา    และจะสื่อสารไปยังนักเรียนว่าครูเชื่อในศักยภาพของนักเรียน    เป็นพลังใจให้นักเรียนมีความมานะพยายาม

 วิจารณ์ พานิช

๘ พ.ค. ๖๒
  

หมายเลขบันทึก: 666110เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2019 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2019 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท