ความสำเร็จเป็นเรื่องปริญญา​ (๒)


ความสำเร็จเป็นเรื่องปริญญา

ปริญญา​ เป็น​เครื่องหมายที่แสดงให้เห็นถึงระดับการศึกษา​ว่าจบอะไรมา​ การ​มีปริญญาด้านใดด้านหนึ่งเป็น​การรับรองความรู้ว่าเป็น​ผู้รู้​ในด้านนั้น​ การมีปริญญา​จึงผูกกับคำว่าความรู้ไปในที  แต่อย่างไรก็ตาม​ การได้มาซึ่งปริ​ญญานั้นเป็น​เครื่อง​หมาย​ที่​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​การ​ฝึก​ฝน​ตน​เองอีกด้วย​  ส่วนจะเข้มข้น​ แตกต่าง​กันในแต่ละที่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง​  แต่เน้นสำหรับ​ผู้ที่เรียนจริงจังเท่านั้นในที่นี้​ ใน​ส่วน​ของ​พระ​พุทธศาสนา​ปริญญา​  มีการให้ ความหมาย​ที่เน้นถึง​หลัก​สำคัญ​ไว้ว่ามีอยู่ ๓ เรื่องด้วยกันคือ

ปริญญา ๓ คือ การกำหนดรู้, การทำความรู้จัก, การทำความเข้าใจโดยครบถ้วน ดังนี้คือ

๑. ญาตปริญญา คือ กำหนดรู้ด้วยให้เป็นสิ่งอันรู้แล้ว, กำหนดรู้ขั้นรู้จัก, กำหนดรู้ตามสภาวลักษณะ คือ ทำความรู้จักจำเพาะตัวของสิ่งนั้นโดยตรง พอให้ชื่อว่าได้เป็นอันรู้จักสิ่งนั้นแล้ว เช่นว่ารู้ นี้คือเวทนา เวทนาคือสิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์ดังนี้ เป็นต้น

๒. ตีรณปริญญา คือ กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา, กำหนดรู้ขั้นพิจารณา, กำหนดรู้โดยสามัญลักษณะ คือ ทำความรู้จักสิ่งนั้นพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นว่า เวทนาไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ดังนี้เป็นต้น

๓. ปหานปริญญา คือ กำหนดรู้ด้วยการละ, กำหนดรู้ถึงขั้นละได้, กำหนดรู้โดยตัดทางมิให้ฉันทราคะเกิดมีในสิ่งนั้น คือรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ละนิจจสัญญาเป็นต้น ในสิ่งนั้น เสียได้

ปริญญา ๓ นี้ เป็นโลกียะ มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เป็นกิจในอริยสัจข้อที่ 1 คือ ทุกข์ ในทางปฏิบัติ จัดเข้าใน วิสุทธิข้อ ๓ ถึง ๖ คือ ตั้งแต่นามรูปปริเฉท ถึง ปัจจยปริคคหะ เป็นภูมิแห่งญาตปริญญา ตั้งแต่กลาปสัมมสนะ ถึง อุทยัพพยานุปัสสนา เป็นภูมิแห่งตีรณปริญญา ตั้งแต่ ภังคานุปัสสนาขึ้นไป เป็นภูมิแห่งปหานปริญญา

ปริญญาทั้ง ๓ นี้ไม่ใช่ปริญญาในแง่ของการศึกษาในระดับต่าง​ ๆ​ อย่างเช่น​ ระดับปริญญาตรี​ ปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่จะจบการศึกษาแล้วจะได้รับปริญญาเพราะบางครั้งเราอาจจะเข้าใจเป็นอย่างนั้น

ในส่วนของพระพุทธศาสนาการรับปริญญาก็คือการเข้าถึงปริญญาทั้ง ๓ ข้างต้นนี้เท่านั้นจึงจะกล่าวว่่าประสบผล​ มีความสำเร็จในชีวิต

ในพระพุทธศาสนาได้มุ่งเน้นของการได้รับปริญญาดังที่หลวงพ่อพุทธทาสได้กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่าปริญญาตายก่อนตาย​   การ​ตายก่อนตายของพุทธทาส​นั้นหมายถึงว่า​  เราต้องเข้าใจชีวิตของเรา​  ก็คือเราต้องสามารถละความโลภ​ ความโกรธ ความ​หลง​ลงให้สำเร็จ​เสร็จสิ้นตั้งแต่ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จึงได้ชื่อว่าได้รับปริญญาอย่างแท้จริง​  ซึ่งพุทธ​ทาสยังมีความเห็นบางอย่างในเรื่องของการศึกษาในปัจจุบันว่า​ ไม่มีการเน้นเรื่องในการปลูกฝังศีลธรรมให้เป็นคนดี แต่เน้นเพียงแค่คนที่สามารถพัฒนาสิ่งต่าง​ ๆ​ เพื่อตอบสนองในแง่ของจิตใจตัวเองเป็นหลัก​ ๆ​ คือตอบสนองสัญชาตญาณของตนเอง​  แต่ไม่ได้มุ่งเน้นในการยกระดับจิตใจของตนให้สะอาด​  สว่าง​ สงบให้มากขึ้น​  พูดง่ายๆ​ คือให้ลดละความโลภความโกรธความหลงเพื่อเป็นอยู่อย่างบุคคลที่เรียบง่าย​  กิน​ง่าย​  เป็นอยู่​อย่างเรียบง่าย​  หมายถึงว่า​ ตัดสิ่งที่เป็นเครื่องพันธนาการให้ได้มากที่สุด​  เป็นอยู่อย่างเรียบง่ายหมายถึง​  เป็นอยู่อย่างต่ำ​  กระ​ทำอย่างสูงก็คือ​  เป็นผู้มุ่งเน้น พัฒนา​ด้านจิตใจให้สูงขึ้น​  แต่ขณะเดียวกันการที่จะพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นนั้นก็ไม่ปฏิเสธสิ่งที่เนื่องด้วยกายก็คือยังอีกอาศัยด้านกาย​อยู่​   แต่ว่าให้​เป็นเพียงสิ่งที่ใช้ไม่ใช่เพื่อการตอบสนอง​

การรับปริญญาในพระพุทธศาสนานั้นก็คือการพัฒนาคุณภาพของร่างกายและจิตใจให้สูงขึ้นควบคู่​กันไปทั้งสองด้านนั่นเอง​  จึงได้ชื่อว่าได้รับปริญญาอย่างแท้จริง

ส่วนปริญญาในทางโลกนั้นก็สามารถที่จะนำมาพัฒนาทั้งด้านวัตถุและจิตใจได้ด้วย​  แต่การที่บางครั้งใจของของเรานั้นไปมุ่งในเรื่องวัตถุมากเท่าไหร่โอกาสที่จะพัฒนาจิตใจนั้นก็เป็นไปได้ยาก​  ดังนั้น​  พระพุทธศาสนาเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต​  คือหากยังเป็น​ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยด้านการเเสสงหาสิ่งที่จะตอบสนองความต้องการ​ด้านร่างกาย​เพียง​อย่างเดี​ยว​ สิ่งต่างๆเหล่านั้นมันก็มักจะฉุดรั้งเราเอาไว้​  แล้วเราก็ผูกตัวเองไว้กับสิ่งนั้น​  โอกาส​  เวลา​ที่จะพัฒนาจิตใจตัวเองนั้นเป็นไปได้ยาก​   แต่ไม่ได้หมายความว่าการที่เกี่ยวข้องด้วยสิ่งนั้นจะเป็นความเลวร้าย​ทั้งหมด​  ที่ไม่นำตนไปสู่การพัฒนาจิตใจของตนเองให้สูงขึ้น​  

เราจะเห็นได้ว่าพระอริยบุคคลในระดับต่าง​ๆ​ คือ​​โสดาบัน​  สกทาคามี​และพระอนาคามี​ ยังจะสามารถครองชีวิตอยู่ในเพศของฆราวาสหรือคฤหัสถ์​ได้อยู่​  อย่างเช่น​  อนาถบิณฑิกเศรษฐี​  หรือนางวิสาขา​ เป็นต้น​  คือบุคคลเหล่านี้ก็ชื่อว่ายังเป็นพระอริยบุคคล​   แต่ยังสามารถครองวิถีของคฤหัสถ์หรือฆราวาสได้อยู่​   ดังนั้นแล้วการรับปริญญาในพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้จำกัด เอาไว้สำหรับนักบวชเท่านั้น​   และวิธีการปฏิบัตินั้นเราจะเห็นได้ว่าเราต้องมีอาณาบริเวณหรือมีขอบเขตที่จะพัฒนาตนเองไปควบคู่กันได้อยู่​   ซึ่งประเด็นนี้แหละถือว่าเป็นประเด็นสำคัญของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากเลยซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการบริหารเวลาด้วย​ 

หลวงพ่อพุทธทาสได้กล่าวไว้ประโยคหนึ่งซึ่งน่าสนใจทีเดียวว่า​   การทำงานคือการปฏิบัติธรรม​  การทำหน้าที่เพื่อหน้าที่​   ทำความดีเพื่อความดี

ประเด็นนี้แหละถือว่าเป็นหัวใจของการใช้ชีวิตของคนเราก็ว่าได้ว่า​   การงานทุกอย่างนั้นเกี่ยวเนื่องกับชีวิตของเราทั้งนั้น​    ถ้าเราได้ตระหนัก​   ได้​ครุ่นคิด​ พิจารณาในสิ่งที่เราทำอยู่​  กับสิ่งที่เราทำได้อย่างเป็นปัจจุบัน​   ความโลภ​  ความโกรธ​   ความหลง​  ความคาดหวัง​   ความมุ่งหวังในชื่อเสียงเกียรติยศ​  หรือสิ่งของรางวัลต่างๆนั้น ก็มีโอกาสน้อยนักที่จะเข้ามาแทรกแซงในสิ่งที่เรากำลังทำ​   ขณะที่เราเป็นอยู่​  เพราะเราอยู่กับสิ่งที่เราทำสิ่งเฉพาะหน้าจริง​ ๆ​ โดยไม่ปล่อยใจเราไปคาดหวังซึ่งผลบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามขณะที่เรากระทำคือปัจจุบันได้ทำ​อะไรอยู่​  

ความเข้าใจ​ที่​สำคัญ​ของการรับปริญญาในทางพุทธศาสนานั้น   มุ่งเน้นให้เราได้ตระหนักในเรื่องของการใช้ชีวิตซึ่งผูกโยงอยู่กับปัจจุบัน​   อยู่กับการงานที่เราทำนั่นเอง​ 

หัวใจของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้น​   แม้แต่คำว่ากรรมฐาน​   มีความหมายว่า​ ที่​ตั้ง​ของการงาน​   การทำงานใดก็ชื่อว่า​ ทำกรรมฐาน​   และนัยของการงานนั้นก็ถือว่าเป็นการทำหน้าที่​  การทำหน้าที่คือการทำงาน​  การทำงานคือการปฏิบัติธรรม​  ซึ่งประโยคนี้พุทธ​ทาสภิกขุเคยกล่าวไว้ด้วย​ 

อย่างไรก็ดี​  การจะใช้ประโยชน์​ได้มากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราใช้หลักการ หรือ แนวทางเหล่านี้ไปเพื่ออะไร​   ถ้าเพื่อละความโลภความโกรธความหลง​  มีแนวทางเพื่อพัฒนา​ทั้งด้านกายและจิตใจให้ปกติ​  หรือมีเจตนาที่ดีแล้วก็ย่อมชื่อว่าทำกรรมฐาน​เช่นเดียวกัน​  ดังที่พุทธ​ทาส​ภิกขุ​เห็นว่า​  ไม่มีการงานใดสูงต่ำมากน้อยไปกว่ากัน​  ถ้าหากการงานนั้นเป็นไปเพื่อดำรงชีวิตอยู่หรือหล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ก็หล่อเลี้ยงในทางร่างกายก็อาศัยปัจจัย ๔ ส่วนการหล่อเลี้ยงทางจิตวิญญาณหรือจิตใจนั้นก็อาศัยธรรมะหรือว่าการใคร่ครวญพินิจพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ​ เป็นต้น​  ชื่อว่าเป็นการดำรงชีวิตของคนเราให้เข้าถึงความ​จริงของ​ชีวิตเป็น​การรับปริญญา​ตายก่อนตาย​ว่าเป็น​อย่างไร

หมายเลขบันทึก: 666108เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2019 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2019 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท