นิเทศนิสิตฝึกสอน_๐๙: โรงเรียนกมลาไสย ปีการศึกษา ๒๕๖๒ ครั้งที่ ๒


วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ ไปทำหน้าที่อาจารย์นิเทศก์การสอนของนิสิตฝึกสอน ว่าที่ครูวิทยาศาสตร์ ม.ต้น  นิเทศรวดเดียว ๓ คน แบบต่อเนื่อง ผม AAR ว่า การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ของนิสิตทั้ง ๓ คนนี้ ก้าวหน้าพัฒนาอย่างยิ่งยวด เกินกว่าที่คาดไว้ในใจมากนัก และที่น่าชื่นใจที่สุด ทั้งสามคน นำเอาข้อความเห็นและข้อเสนอแนะที่เคยเขียนไว้ในบันทึกก่อน ๆ  (ที่นี่ ที่นี่ และที่นี่)

คนที่ ๑

นิสิตสอนเรื่องระบบการลำเลียงของเสียออกจากร่างกาย

  • ผมสะท้อน ณ ขณะนั่งสังเกตการณ์อยู่หลังห้อง ถึงสิ่งที่ตนเองเห็น ดังนี้ว่า
    • เห็นชั้นเรียนที่สนุก เด็กมีความสุข และมีชีวิตชีวามาก ๆ 
    • เห็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ชัดเจน เป็นลำดับขั้น สะท้อนถึง การเตรียมตัวของคุณครูฝึกสอนที่ดีเยี่ยม  ... ผลที่เห็นชัดก็คือ ความมั่นใจของครู ความสนุกของครูผู้สอน หรือผมมักเรียกว่า เห็น "พลัง" ในตัวครู 
    •  เห็นการนำเอาสื่อการสอนที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ  ใช้เอกสารความรู้จากหนังสือของ สสวท. ซึ่งทำไว้ดีมากแล้ว ใช้เพาเวอร์พอยในการสื่อสารคำถามและประเด็นสำคัญ รวมถึง สรุปสาระสำคัญ และใช้คลิปวีดีโอให้เห็นภาพเคลื่อนไหวและเสียง ให้นักเรียนเห็นระบบขับถ่ายได้ชัดเจนสมจริงมาก 
    • เห็นการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ อย่างทั่วถึง  สะท้อนว่า ตลอดเดือนที่ผ่านมา เด็ก ๆ ได้ฝึกการทำงานเป็นทีมแล้วพอสมควร  
  • มีเทคนิคที่น่าสนใจมาก ๒ อย่าง ที่อยากเชียร์ให้นิสิตเขียนแลกเปลี่ยนไว้ในบันทึก  คือ  การใช้บอร์ดเกมในการช่วยสอน และ การใช้นิสิตลับในการสะท้อนผล .... แยบยลและได้ผลมาก

คนที่ ๒ 

นิสิตคนที่ ๒ สอนเรื่อง "เยื่อเลือกผ่าน" กับ "การแพร่" ต่อเนื่องจากครั้งก่อน ๆ ที่เรียนเกี่ยวกับเรื่ององค์ประกอบของเซลล์ไปแล้ว ครั้งนี้คุณครูนิสิตเอาโมเดลองค์ประกอบเซลพืชสัตว์จัดมาให้ดูด้วย ... ผมจำได้ว่า แต่ก่อนไม่เคยได้เรียนแบบนี้ ไม่อย่างนั้นคงชอบชีววิทยาไปแล้ว


เป็นการจัดการเรียนรู้ที่หาดูได้ยาก...

  • เป็นชั้นเรียนที่นักเรียนสนใจและตั้งใจเรียนมาก ๆ  
  • ผมเห็นกิจกรรมและกระบวนการที่สะท้อนถึงการเตรียมตัวที่ดีมากและประสบการณ์การสอน มีการใช้สื่อที่หลากหลายมาก ทั้งโมเดล ทั้งหนังสือเรียนจาก สสวท. ซึ่งมีรูปสวยเข้าใจง่าย และโดยเฉพาะการใช้เพาเวอร์พอยท์สื่อสานการดำเนินกิจกรรมกับนักเรียนอย่างเป็นขั้นตอน โดยเฉพาะการตั้งคำถาม ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มตอบ ผ่านกิจกรรม "บอร์ดโชว์" (แต่ละกลุ่มมีบอร์ด เพื่อเขียนคำตอบแล้วชูขึ้นให้คนกลุ่มอื่น ๆ เห็น) และกิจกรรมสะท้อนผลด้วยการสุ่ม "สายลับ"  .... จะลองเอาไปใช้ในการสอนบ้าง... 
  • เห็นการสอนอย่างเชื่อมโยงกับองค์ความรู้เดิมที่เรียนมาอย่างเป็นธรรมชาติ และซ้ำทวนประโยครอยต่อแห่งการเชื่อมโยงได้ดีมาก  (ครั้งก่อนเรียนเรื่องปฏิริยาระหว่างแป้งกับสารละลายไอโอดีนแล้วว่า จะเกิดอะไร สังเกตอย่างไร  ครั้งนี้เอาความรู้นั้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการสังเกตการแพร่ผ่านแผ่นเซลโลเฟน)
  • เด็กนักเรียนให้ความร่วมมือดีมาก การเด็กทั้งห้องมีส่วนร่วมกัน และเป็นบรรยายแห่งการเรียนรู้ที่ไม่อึกกระทึกเกินไป 
  • จุดเด่นที่สุดของการสอนครั้งนี้คือ การออกแบบให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทดลองและสังเกตการแพร่ของผ่านเยื่อเลือกผ่าน ... หากเป็นไปได้ ถ้ามีเวลาเพียงพอ คุ้มค่าต่อการเตรียมการ การเรียนด้วยการทดลองหรือลงมือทำแบบนี้ดีที่สุด 
  • หากจะต้องปรับการสอนนี้ จะมีเพียงจุดเดียวเรื่องการ สรุปผลการทดลอง  ให้เน้นว่า เด็ก ๆ ต้องเป็นผู้ช่วยกันสรุป ก่อนที่ครูจะสรุปตอนท้ายหรือประเมินด้วยคำถามต่อไป ... กรณีที่เด็ก ๆ สรุปไม่ได้ การตั้งคำถามนำหรือสนับสนุนให้เกิดการสรุปเป็นทางเลือกที่สองรองลงมา หากยังไม่สำเร็จ ก็เป็นการสรุปโดยให้เลือกจากตัวเลือก ... เหล่านี้ คุณครูจะต้องพิจารณาเองว่า จะใช้วิธีใดซึ่งขึ้นอยู่กับผู้เรียนโดยแท้ 
คนที่ ๓ 

นิสิตคนที่ ๓ สอนเรื่อง "โมเมนต์ของแรง" ระดับ ม.๓  ... เสียดายที่ไม่ได้อยู่ดูจนจบกระบวนการ เพราะจำเป็นต้องกลับมาสอนตอนช่วงบ่าย ... อย่างไรก็ดี ก็มีคำแนะนำและความชื่นชม เพื่อป้อนกลับให้ภูมิใจและพัฒนาต่อไป ดังนี้ครับ 

นิสิตสอนด้วยสื่อโปรแกรมสำเร็จรูป (แอพพลิเคชั่นบนมือถือ) วางลงบนจอฉายแบบ Visual ซึ่งก็ดูทันสมัยดี ดังภาพ แต่....

  • การสอนเรื่องนี้เตรียมอุปกรณ์เป็นคานจริง ๆ เลยก็ไม่ลำบาก และจะดีที่สุดสำหรับนักเรียน นักเรียนจะได้ร่วมกิจกรรมทดลองการห้อยถุงดินหรือทรายหรือวัสดุต่าง ๆ  ไว้ตรงตำแหน่งต่าง ๆ ของคานได้เลย  แล้วให้นักเรียนคาดเดากันดูว่าจะเลือกอะไรวางตรงที่ตำแหน่งที่กำหนดให้เพื่อให้คานสมดุล  ฯลฯ  
  • สิ่งที่อาจารย์ประทับใจและขอเชียร์ให้ทำต่อไป คือการออกแบบเครื่องมือและสื่อที่ส่งเสริมกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  คือ  มีขั้นตอนชัดเจนว่า ปัญหาคืออะไร  ให้ตั้งสมมติฐาน ให้ทดลองพิสูจน์ แล้วจบด้วยการอภิปรายสรุปผล
  • อาจารย์เห็นการเตรียมตัวที่ดี บุคลิกของใครก็ของใคร ของครูแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน  ดังนั้นการพัฒนาการทักษะการสอนของตนเอง ไม่ได้เริ่มที่ว่าจะต้องทำให้เหมือนใคร แต่ต้องเริ่มว่า ตนเองถนัดและมีบุคลิกแบบใด แล้วใช้จุดเด่นนั้นให้เต็มที่  และแก้ปัญหาจุดที่ยังไม่พอใจ ....
  • ปัจจัยอยู่ที่ ความแหลมคมในการวิเคราะห์ผู้เรียนและตนเอง การออกแบบกิจกรรมการสอนที่เหมาะต่อผู้เรียนและหัวเรื่องนั้น และความมั่นใจในตนเองของครู  
  • ความมั่นใจของครู จะเกิดขึ้นได้เมื่อ ครูภูมิใจในตนเอง ครูจะภูมิใจเรื่องใดก็ต่อเมื่อครูทำได้ คิดได้ และสอนได้ด้วยตนเองจริง ๆ   ทั้งหมดนี้ ต้องมาจากการฝึกฝน ลองเอาตนลองทำก่อน 
ขอให้กำลังใจ นิสิตทั้ง ๓ คนครับ เดือนหน้า อาจารย์จะมาดูความก้าวหน้าด้านการวิจัยนะครับ 
หมายเลขบันทึก: 665038เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2019 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2019 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท