วิธีการเลี้ยงเเมว


วิธีเลี้ยง

    แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์นิยมนำมาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนมากอีกชนิดหนึ่ง รอง จากสุนัข เมื่อเรานำมาเลี้ยงแล้ว คงต้องมีความรู้เกี่ยวกับแมวให้มากที่สุด เพื่อที่เราจะได้ปฏิบัติกับมันอย่างดี มีผลถึงสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของเจ้าเหมียวดีขึ้น

การเลี้ยงลูกแมวกำพร้าแม้ต้องมีตารางประจำวันในการให้อาหารที่เหมาะสม การขับถ่ายการเล่นและการนอนหลับ โดยต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกแมวต้องคำนึงถึง

1.โภชนาการและการหย่านม

2.สุขอนามัย

3.อุณหภูมิและความชื้น

4.การป้องกันโรค

5.การบำรุงและทำให้เข้ากับสังคม

โภชนาการและการหย่านม

    ลูกแมวจะได้รับน้ำนมน้ำเหลืองใน 12 ชั่วโมงแรก ลูกแมวจะดูดซึมภูมิคุ้มกันจากน้ำนมน้ำเหลืองได้ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกนับจากคลอด ในกรณีที่แม่แมวไม่สามารถเลี้ยงดูลูกแมวได้ ลูกแมวต้องดูดนมจากขวดหรือหลอดหยดตามแต่จะหาได้

    การให้อาหารแบบ หลอดผู้ให้ต้องได้รับการฝึกอย่างดี เพราะอาหารอาจเข้าสู่ปอดย่างไม่ตั้งใจทำให้หมดสติ การให้อาหารแบบหลอดจึงเสี่ยง อนุญาตให้ใช้เฉพาะในลูกแมวอ่อนแอซึ่งต้องอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์ ควรลูบหลังลูกแมวให้เรอระหว่างให้อาหารและหลังอาหาร โดยนำมันผาดไหล่ ให้ตัวตั้งตรงและตบหลังเบาๆ การให้น้ำนมจากขวดหรือหลอดต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการปอดบวมหรือการสำลักน้ำ

ใน 24-28 ชั่วโมงแรก ลูกแมวต้องการนม 1 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง แต่ละวันเพิ่มจำนวนขึ้น 0.5 มิลลิลิตร จนถึง 10 มิลลิลิตรต่อมื้อ จึงหยุดเพิ่ม ใน 1 วันลูกแมวควรได้รับอาหาร 6-9 มื้อ

ในช่วง 2 สัปดาห์ ให้อาหารลูกแมว 5-7 มิลลิลิตรต่อครั้ง

ช่วง 3 สัปดาห์ จะเริ่มให้อาหารอ่อน 3 เวลาต่อวัน และยังมีการให้นมจากขวดอยู่

ในสัปดาห์ที่ 4 ลูกแมวควรได้รับน้ำนมจากขวด 4-6 ครั้งต่อวันร่วมกับอาหารอ่อน 4-5 ครั้งต่อวัน ลดการให้อาหารช่วงกลางคืนลง

ลูกแมวจะกินอาหารแข็งได้เมื่ออายุ 7 สัปดาห์

สัญญาณแรกของการเจ็บป่วย คือ น้ำหนักลด น้ำหนักของลูกแมวจะเพิ่มขึ้น 50-100 กรัมต่อสัปดาห์ เมื่อลูกแมวอายุ 14 วัน น้ำหนักจะเพิ่มเป็น 2 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด ถ้าลูกแมวน้ำหนักไม่เพิ่มควรให้อาหารเพิ่มขึ้น

สุขอนามัย

    ลูกแมวเกิดใหม่จะไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ เพราะกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยังเจริญไม่สมบูรณ์ ลูกแมวต้องได้รับการกระตุ้นโดยใช้ผ้าขนหนูนุ่มๆ ชุบน้ำอุ่นลูบบริเวณทวารหนัก จะทำให้ลูกแมวปัสสาวะ อุจจาระภายใน 1-2 นาที โดยปกติลูกแมวอายุ 21 วัน จะขับถ่ายของเสียได้เอง หมั่นสังเกตปัสสาวะและอุจจาระของลูกแมว ปัสสาวะปกติควรมีสีเหลืองอ่อนหรือใส ถ้ามันมีสีเหลืองคล้ำหรือส้มแสดงว่าลูกแมวได้รับอาหารไม่เพียงพอ ปกติอุจจาระจะมีสีน้ำตาลจางหรือเข้ม อุจจาระสีเขียวแสดงถึงโรคติดเชื้อ ถ้าอุจจาระแข็งมากแสดงว่าให้อาหารทีละมากๆ แต่ให้ไม่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ท้องอืด มีแก๊ส หายใจไม่สะดวก

อุณหภูมิและความชื้น

    ลูกแมวเกิดใหม่ยังไม่สามารถรักษาความร้อนของร่างกาย หรือสั่นตัวเพื่อให้เกิดความร้อนได้ จึงต้องมีที่ให้ความร้อนแก่ลูกแมว เช่น ตู้อบ เครื่องทำน้ำอุ่น ซึ่งถูกออกแบบสำหรับลูกสัตว์เกิดใหม่ จะช่วยรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้เหมาะสมและควรระมัดระวังอย่าให้ความร้อนสูง เกินไป ควรมีเทอร์โมมิเตอร์ในบริเวณนั้นเพื่อคอยสังเกตอุณหภูมิ ในสัปดาห์แรกอุณหภูมิควรอยู่ที่ 85-90 องศาฟาเรนไฮต์ ความชื้น 55-65% พอ 3 สัปดาห์ลดอุณหภูมิลงเป็น 75 องศาฟาเรนไฮต์ ลองสังเกตถ้าลูกแมวมาอยู่รวมกันแสดงว่ามันหนาวไป แต่ถ้าลูกแมวอยู่ห่างกันคนละมุมแสดงว่าร้อนไป ลูกแมวที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำควรทำให้อบอุ่นอย่างช้าๆ ภายใน 2-3 ชั่วโมง จนลูกแมวมีอุณหภูมิร่างกายปกติ 97 องศาฟาเรนไฮต์

    ควรรักษาความชื้น โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำวางเหนือกล่องที่ลูกแมวอยู่ จะช่วยเพิ่มความชื้นได้ ไม่ควนเลี้ยงลูกแมวในที่อับชื้น หรือบนพื้นที่ผุพัง เพราะจะทำให้เกิดเชื้อรา ซึ่งอาจเกิดโรคทางเดินหายใจได้ การควบคุมอุณหภูมินั้นสำคัญกว่าในเรื่องความชื้น ลูกแมวควรอยู่ในที่ที่มีผิวสัมผัสที่ดี เช่น ผ้าห่ม ขนแกะ จะช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวของลูกแมว

การป้องกันโรค

    ลูกแมวอาจติดโรคได้ง่าย เช่น โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ถ้าหากไม่ได้รับน้ำนมเหลืองจากแม่ นมน้ำเหลือง 24 ชั่งโมงแรกหลังคลอดจะมีแอนติบอดีมากมาย ซึ่งแอนติบอดีจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ลูกแมวที่ไม่ได้กินนมน้ำเหลืองจะมีภูมิคุ้มกันโรคน้อย และควรฉีดวัคซีนให้ลูกแมวด้วย ลูกแมวอาจได้รับอันตรายจากพยาธิ จึงควรถ่ายพยาธิให้ลูกแมว เริ่มเมื่อลูกแมวอายุ 6 สัปดาห์ และถ่ายซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 8 และ 10สัปดาห์

การบำรุงและทำให้เข้ากับสังคม

    เราควรลูบขน กอด และให้ลูกแมวเล่นกับคนประมาณ 30-40 นาทีต่อวัน นอกเหนือจากการให้อาหารและทำความสะอาดให้มัน ลูกแมวต้องการการกระตุ้น ควรปูรองพื้นกล่องที่ลูกแมวนอนด้วยวัสดุอ่อนนุ่ม ลูกแมวจะอบอุ่นและหลับสบาย สิ่งสำคัญคือทำให้เหมือนลูกแมวเป็นสมาชิกในบ้านในช่วง 3-6 สัปดาห์ จำไว้ว่ามันยังเด็ก ต้องจับอย่างทะนุถนอม แต่ต้องเริ่มฝึกลูกแมวให้คุ้นเคยกับเสียง การขับถ่าย คนแปลกหน้า และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

วิธีดูแลลูกแมวตัวน้อย

    การรับแมวเหมียวตัวน้อยมาอยู่ในบ้านนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การดูแลให้เขามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงนั้นยากกว่าเป็นหลายเท่า คอลัมน์ Holistic Health Series ฉบับนี้จึงขอรวบรวม 10 วิธีการดูแลลูกแมวตัวน้อยมานำเสนอ เรื่องยากๆจะได้กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนรักแมวทุกคน

1. ให้อาหารที่ถูกต้อง 

    อาหารคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับเจ้าเหมียว (และสัตว์อื่นๆ) ฉะนั้นการเลือกสรรอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละช่วงวัยและความต้องการ พิเศษของสายพันธุ์คือสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม เพื่อพัฒนาการทางร่างกายจะได้เจริญเติบโตอย่างราบรื่นไม่มีติดขัด

ปัจจุบันนี้ท้องตลาดมีอาหารสำเร็จรูปนับไม่ถ้วนรอให้คุณหยิบไปให้เจ้า เหมียวตัวน้อยที่บ้าน คำแนะนำง่ายๆของเราก็คืออ่านฉลากข้างถุงให้เป็น ดูซิว่าอาหารดังกล่าวนั้นเหมาะสำหรับช่วงวัยใด สายพันธุ์ไหน ส่วนเรื่องรสชาตนั้นเจ้าเหมียวต้องเป็นฝ่ายตัดสิน

2. หาสัตวแพทย์ 

    แมวเด็กย่อมต้องการการดูแลจากสัตวแพทย์มากกว่าแมวโต ทั้งนี้ก็เพราะเขาจำเป็นที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำ เสมอ การมองหาสัตวแพทย์ประจำตัวจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ต้องรอให้มีปัญหาสุขภาพก่อนค่อยพาไปคลินิกอีกต่อไป

ปัจจัยที่คุณควรใช้ในการคัดเลือกสัตวแพทย์ประจำตัวนั้นขึ้นอยู่กับความ ต้องการของคุณเอง บางท่านอาจไม่หวั่นหากต้องเดินทางไกลเพื่อพบสัตวแพทย์ที่ศึกษาด้านแมวเหมียว มาโดยเฉพาะ บางท่านก็อาจเน้นที่ความสะดวกสบายใกล้บ้านเป็นหลัก ฯลฯ คำแนะนำของเราก็คือเลือกให้ตรงใจที่สุดเท่านั้นก็พอ

3. ขนสวย = สุขภาพดี

    จริงอยู่ว่าน้องเหมียวเป็นสัตว์รักสะอาด พวกเขาสามารถเลียขนเพื่อทำความสะอาดตัวเองได้ตั้งแต่ยังละอ่อน แต่คุณเองก็สามารถช่วยเหลือเขาในการทำความสะอาดตัวเองได้ง่ายๆเช่นเดียวกัน หมั่นช่วยเขาหวีขนบ่อยๆเพื่อกำจัดขนที่หลุดร่วง นอกจากจะช่วยเพิ่มสุขอนามัยให้เขาแล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ระหว่างกันและกันอีกทางหนึ่งอีกต่างหาก

4. ป้ายชื่อเพื่อความปลอดภัย 

    ว่ากันว่าแมวเหมียวนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าน้องหมา พวกเขาสามารถออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นวันๆได้โดยกลับมาเฉพาะตอนหิวข้าว ในเมื่อไลฟ์สไตล์ของเขาอยู่ไม่ติดบ้าน อะไรล่ะที่จะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าเหมียวของคุณจะปลอดภัยเมื่ออยู่ภายนอก

คำแนะนำของเราก็คือปลอกคอและป้ายชื่อค่ะ ใส่ให้เจ้าเหมียวของคุณตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อที่ว่าเวลาออกไปนอกบ้านคนอื่นจะได้รับรู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน ยิ่งไปกว่านั้นควรระบุรายละเอียดให้ชัดเจนลงไปในป้ายชื่อด้วยว่าเจ้าของคือ ใคร เบอร์ติดต่ออะไร เผื่อฉุกเฉินจะได้ตามได้

นอกเหนือการคล้องป้ายและปลอกคอแล้ว วิธีการเพิ่มความปลอดภัยอีกอย่างก็คือพาเขาไปแนะนำตัวกับเพื่อนบ้านที่ไว้ใจ ได้ เพื่อให้เขาเป็นหูเป็นตาเวลาเจ้าเหมียวของคุณออกไปป่วนนอกบ้าน จะได้ช่วยกันจับไว้ไม่ให้ไปไกลบ้านเกินไป

5. สั่งสอนตามสมควร 

    การเลี้ยงแมวเหมียวสักตัวนั้นไม่ใช่เรื่องยาก การฝึกพวกเขาให้เป็นแมวที่ดีนั้นยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมตามธรรมชาติของเขานั้นเป็นระเบียบอยู่แล้ว ขอแค่เวลาในการเอาใจใส่อย่างจริงจังจากคุณเท่านั้นก็เพียงพอ

โดยการฝึกที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตแมวบ้านก็คือการใช้กระบะทรายในการขับ ถ่าย หมั่นฝึกฝนตั้งแต่ยังเยาว์เพื่อสร้างการจดจำและนำไปสู่พฤติกรรมอันเป็นนิสัย เคล็ดลับที่เราอยากแนะนำก็คือหามุมเหมาะในการปลดทุกข์ ซื้อกระบะและทรายแมวจากร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงมาเตรียมไว้ ขั้นตอนต่อไปก็คือหมั่นจับเขาไปนั่งในกระบะเมื่อสังเกตเห็นว่าเขากำลังจะทำ ธุระ ทำซ้ำๆจนให้เขาก้าวเข้ากระบะไปทำธุระด้วยตนเอง เพียงเท่านี้บ้านคุณก็จะเป็นระเบียบเรียบร้อยได้อย่างง่ายๆ

6. แมวต้องฝนเล็บ 

    คุณอยากให้เฟอร์นิเจอร์เป็นรอยอันเนื่องมาจากพฤติกรรมฝนเล็บตามบรรพบุรุษ ของแมวเหมียวหรือเปล่า ถ้าคำตอบของคุณคือไม่ล่ะก็ หาซื้ออุปกรณ์ฝนเล็บมาให้เขาอย่างด่วน เพื่อที่ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านของคุณจะปลอดภัยจากการขูดขีดด้วยกงเล็บ

การเลือกซื้อที่ฝนเล็บสักชิ้นนั้นไม่มีอะไรยาก คุณสมบัติและประโยชน์ในการใช้สอยแปรผันตามขนาดและราคา บางชิ้นคุณสามารถนำไปตั้งเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งได้เลยในบ้าน เจ้าเหมียวก็สามารถนอนได้ฝนเล็บได้ ครบคุณสมบัติในชิ้นเดียว หรือบางชิ้นก็อาจเป็นแค่ที่ฝนเล็บอย่างเดียวเท่านั้น คุณจะเลือกอะไรก็ตามแต่ความสบายใจได้เลย

7. อย่าลืมการออกกำลังกาย 

    การออกกำลังกายสำคัญสำหรับทุกสิ่งมีชีวิต แมวเหมียวเองก็เช่นกัน หากเขาได้ยืดเส้นยืดสายอย่างเพียงพอ โรคภัยไข้เจ็บก็จะไม่ถามหา ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน การขับถ่ายบกพร่อง ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยส่งเสริมความเป็นมิตรให้เขาร่าเริงสดใสตลอดเวลาอีก ต่างหาก

ในเมื่อการออกกำลังกายนั้นมีผลดีมากมายขนาดนี้ คุณสมควรต้องส่งเสริมให้ถึงที่สุด จัดหาพื้นที่ในการออกกำลังกายให้เขา ซื้อหาของเล่นมาเตรียมพร้อม เพียงเท่านี้อาณาจักรสุขภาพของเหมียวก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆภายในบ้านของคุณเอง

8. เตรียมตัวเผื่อฉุกเฉิน 

    เพราะเราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าเหตุฉุกเฉินจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การเตรียมการไว้ก่อนจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ควรละเลย อย่าลืมติดต่อสอบถามสัตวแพทย์ใกล้บ้านให้เรียบร้อยว่าสามารถติดต่อได้ในกรณี ฉุกเฉินหรือไม่ หากไม่มีอย่าลืมหาคลินิกสำรองไว้ด้วย เวลาฉุกละหุกจะได้ไม่ต้องวุ่นวายอย่างไรล่ะ

9. ดูแลเขาให้ถูกต้องถูกวิธี 

    การป้องกันนั้นดีกว่าการรักษาเมื่อยามเจ็บป่วย ฉะนั้นเมื่อรับเจ้าเหมียวตัวน้อยเข้ามาอยู่ในอ้อมกอด อย่าลืมพาเขาไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนดนัดหมาย อายุเดือนครึ่งก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม สัตวแพทย์นัดเมื่อไหร่ต้องไปห้ามพลาดเป็นอันขาด เพราะวัคซีนแต่ละชนิดหมายความถึงการป้องกันโรคร้ายที่หากเป็นขึ้นมาล่ะก็จะ รักษาลำบาก ไม่ว่าจะเป็น โรคไข้หัดหวัดแมว โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว ฯลฯ

10. พิจารณาเรื่องทำหมัน 

    ข้อสุดท้ายที่เราอยากฝากก็คือการทำหมันแมวเหมียว หากคุณไม่อยากให้เขามีลูกมีหลานหรือเลี้ยงเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ล่ะก็ ตัดสินใจทำหมันไปเลยเมื่ออายุครบเกณฑ์ (ปัจจุบันนี้สามารถทำหมันได้ตั้งแต่อายุครบ 10 สัปดาห์) ซึ่งการทำหมันนั้นจะช่วยลดปัญหาพฤติกรรมฉี่เพื่อสร้างอาณาเขตในแมวหนุ่ม รวมทั้งช่วยให้เขาไม่ต้องออกไปเสาะหาคู่ครองนอกบ้าน อันเป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้ง่ายๆ สำหรับแมวสาวนั้นการทำหมันจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งเต้านม และลดพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อถึงช่วงเวลาผสมพันธุ์

เคล็ดลับการดูแลสุขภาพแมว

    แมวถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของหลายๆ ครอบครัว ซึ่งก็ต้องการการดูแลไม่ต่างจากคน ต้องให้ทั้งความรักและความเอาใจใส่ในสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องร่วมกันดูแล เนื่องจากถ้าดูแลไม่ดีก็ย่อมเกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคหวัดแมว พยาธิ หรือโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่อาจแพร่มาสู่คนได้ ซึ่งผู้เลี้ยงเองจะต้องดูแลให้ถูกวิธี เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

    แมวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีรูปร่างขนาดเล็ก ขนาดลำตัวยาว ช่วงขาสั้น และจัดอยู่ในกลุ่มของประเภทสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร มีเขี้ยวและเล็บแหลมคมสามารถหดซ่อนเล็บได้เช่นเดียวกับเสือ สืบสายเลือดมาจากแมวป่าที่มีขนาดใหญ่กว่า มีหลากหลายสายพันธุ์ ตามปกติแมวเป็นสัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยเหมือนสุนัข แต่ถ้าแมวกินอาหารได้น้อยและมีอาการซึมผิดปกติควรรอดูอาการประมาณ 1-2 วันก่อน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นค่อยพาไปหาหมอ ซึ่งปกติแมวธรรมดาบ้านเราก็จะมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 14-16 ปีเท่านั้น และเพื่อให้เขามีสุขภาพดีอายุยืนและอยู่กับเราไปยาวนาน นี่คือ 5 เคล็ดลับในการดูแลสุขภาพแมว

1. ควรพาแมวอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ ไปเริ่มฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคติดต่อสำคัญต่างๆ ทั้งโรคไข้หวัด แมว โรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงการถ่ายพยาธิในลำไส้ นอกจากนี้ ควรป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจทุกๆ เดือน และควรกำจัดหมัดและไรในหูด้วยการหยดยาเป็นประจำทุกเดือนด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

2. ทำหมันแมว ทั้งแมวตัวผู้และตัวเมียตั้งแต่เล็ก เพราะสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป เพื่อลดพฤติกรรมก้าวร้าวในการหวงอาณาเขต หรือการต่อสู้ในฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งการทำหมันในตัวเมียยังช่วยลดมะเร็งเต้านมได้อีกด้วย และยังช่วยลดการออกไปเที่ยวนอกบ้านในแมวเด็กได้ด้วย

3. การเลือกอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมให้กับลูกแมวเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรให้อาหารเม็ดสลับกับอาหารเปียก จะเลือกแบบที่เป็นกระป๋องหรือที่ผู้เลี้ยงปรุงเองก็ได้ หากเลือกแบบสำเร็จรูป ควรเลือกอาหารที่ให้คุณประโยชน์ครบถ้วน แนะนำแบบที่ทำจากปลาแท้ๆ มีโอเมก้า 3 และ 6 ช่วยบำรุงขนให้สวย มีสุขภาพผิวที่ดี แถมยังมีแคลเซียมเพื่อกระดูกและฟันแข็งแรง และมีทอรีนเพื่อดวงตาสดใส โดยต้องเลือกให้เหมาะกับขนาดและช่วงวัยของแมว และที่สำคัญอย่าลืมให้แมวได้กินน้ำอย่างเพียงพอด้วย

4. การเลี้ยงแมวนั้น ทางที่ดีควรฝึกให้อยู่ในบ้านตั้งแต่เด็ก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่อร้ายแรงต่างๆ ได้ เพราะนอกบ้านนั้นมีโรคมากมายที่แมวจะไปติดมาได้ ไม่ว่าจะเป็น ไวรัสเอดส์แมว ไวรัสลิวคีเมียที่เกิดจากการกัดกัน หรือโรคไข้หวัดแมว ที่จะมีอาการจาม น้ำมูกไหล ถ้าเราฝึกตั้งแต่เล็ก แมวก็จะชินและอยากอยู่บ้านมากกว่าแมวที่โตแล้วที่ยากที่จะฝึกให้อยู่บ้านได้ ซึ่งเราอาจหาของเล่น หรือสิ่งดึงดูดใจที่เจ้าแมวชอบไว้คอยหลอกล่อให้อยู่บ้านจะดีที่สุด

5. ไม่ควรเลี้ยงแมวไว้ในที่เดียวกันมากเกิน 3 ตัว เพราะการเลี้ยงรวมกันหลายตัวอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ทั้งแมวทะเลาะกัน หรือแมวไม่ได้รับการดูแลทั่วถึง จนอาจป่วยและไม่แสดงอาการ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และเผยแพร่เชื้อโรคไปยังแมวตัวอื่นๆ ได้ ดังนั้น การเลี้ยงแมวบ้านละไม่เกิน 3 ตัวก็เพียงพอ เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพและให้ความรักได้อย่างทั่วถึง




หมายเลขบันทึก: 663249เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2019 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2019 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนได้ละเอียดดีค่ะ ทาสแมวควรรู้ไว้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท