ชีวิตที่พอเพียง 3479. รับใช้สังคมโดยทำหน้าที่เอ็นจีโอ


เช้าวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ    โดยประชุมพร้อมกับคณะกรรมคณะการที่ปรึกษา และ คณะกรรมการบริหาร  โรงเรียนรุ่งอรุณ ทำให้เกิดความคิดในการเขียนบันทึกนี้

เวลานี้ ผมทำหน้าที่กรรมการมูลนิธิ รวม ๘ มูลนิธิ    ได้แก่  (๑) ประธานมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์  (๒) ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ   (๓) ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ  (๔) รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล  (๕) กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  (๖) กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ  (๗) กรรมการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ  (๘) ที่ปรึกษากรรมการมูลนิธิพูนพลัง 

ผมถือว่า เป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่ฝรั่งเรียกว่า public service    แต่ทำในฐานะภาคประชาชน (people sector)    ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะพัฒนาเป็นประเทศรายได้สูงสังคมดีได้    ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง และมีการรวมตัวกันทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม    ใครถนัดด้านไหน ก็รวมตัวกันทำประโยชน์สาธารณะในด้านนั้น    อย่างผม ๘ มูลนิธิที่ผมทำงานให้ รับใช้สังคมด้าน การวิจัย  การศึกษา  สาธารณสุข   และการช่วยเหลือนักเรียนยากจน

ทำงานด้านนี้แล้ว เกิดความสุข ความอิ่มใจ    เป็นการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อตนเอง

กล่าวอย่างนี้ก็ไม่ถูกนัก    เพราะในการทำงานนี้ ผมก็ได้รับประโยชน์ด้วย    นอกจากสุขใจ ช่วยให้มีสุขภาพดี แล้ว    ที่ผมได้ประโยชน์มากคือ ได้เพื่อน  ได้เรียนรู้    ช่วยให้ตามโลกทัน    ไม่ล้าหลังเพราะความสูงอายุ   

อย่างการประชุมคณะกรรมการโรงเรียนรุ่งอรุณในวันนี้    นอกจากวาระรับรองงบการเงินประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นวาระบังคับตามกฎหมายแล้ว วาระที่เหลือเป็นเรื่องการทำงานพัฒนาการศึกษา หรือการเรียนรู้ ของบ้านเมืองทั้งสิ้น    ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมสนใจ และมุ่งมั่นเรียนรู้ต่อเนื่อง   

เมื่อเข้าไปในห้องประชุม ผมขอ word file ของแฟ้มประชุม    เพราะอ่านแล้วมีสาระหลายเรื่องที่มีประโยชน์สมควรนำไปเผยแพร่   ครูโม (สุณิสา ชื่นเจริญสุข) กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิบอกว่า    รายงานการประชุมเป็นเสมือนตำรา สำหรับนำไปใช้ในการทำงาน    เมื่อเริ่มการประชุม ศ. กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ขอเอกสารส่วนรายงานการประชุม สำหรับเอาไปเก็บ     ท่านบอกว่ามีสาระเกี่ยวกับกลไกการเรียนรู้ที่สำคัญ  

มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ มีกิจการ ๓ ด้าน คือ (๑) บริษัทโรงเรียนรุ่งอรุณ  (๒) สถาบันอาศรมศิลป์  (๓) บริษัทสำนักพิมพ์สานอักษร    ส่วนที่ทำรายได้ดีคือโรงเรียนรุ่งอรุณ    ซึ่งมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณถือหุ้นร้อยละ ๙๐       

ปัจจัยแห่งสุขภาวะของชีวิตผู้สูงอายุ อย่างหนึ่งคือ การมีแวดวงสังคมที่ดี ที่ให้ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า     และได้เรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์    จากรูปของการประชุมที่เอามาให้ดู     จะเห็นว่า ผมโชคดี ที่ได้มีโอกาสไปอยู่ในแวดวงคนดี    คนเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม   

วาระเชิงสาระที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ กองทุนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา : โครงการผลิตสื่อเพื่อการศึกษาธรรมะในโรงเรียน    ขอใช้เงิน ๒.๐๖ ล้านบาท    โดยที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการคือ ๕.๖ ล้านบาท    โดยดำเนินการร่วมกับพระสงฆ์ กลุ่มพระไตรปิฎกศึกษา    ซึ่งผมมองว่า เป็นกิจกรรมพัฒนาคนในด้านจิตใจ    เป็นส่วนหนึ่งของ “การศึกษา” หรือ “การเรียนรู้”  

ในสายตาของผม กิจการทั้งสามของมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ    เป็นการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนโฉม (transform) การศึกษาไทย    หรือเพื่อยกระดับคุณภาพของพลเมืองไทย     ส่วนที่อยู่ในรูปของบริษัท ก็ไม่ได้มุ่งทำกำไรเพื่อนำไปแบ่งกัน    แต่มุ่งทำประโยชน์แก่สังคมเป็นเป้าหมายหลัก

วิจารณ์ พานิช  

๑๓ มิ.ย. ๖๒

1 บรรยากาศในห้องประชุม

2 อีกมุมหนึ่ง

3 อีกมุมหนึ่ง

4 นอกห้องประชุม

หมายเลขบันทึก: 663247เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2019 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2019 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บรรยากาศข้างนอกห้องดีจังค่ะอาจารย์

โชคดีที่ได้อ่านข้อคิดของอาจารย์ทุกวันด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท