เปลี่ยนโฉมมหาวิทยาลัย



ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๒    มีการนำเสนอการดำเนินการของคณะกรรมการวิชาการ ที่มี ศ. ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย เป็นประธาน    ทำให้ผมเกิดความคิดเขียนบันทึกนี้   

ท่านชี้ให้เห็นว่าตาม พรบ. กระทรวง อว. (๑)  อำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่เคยระบุว่า “ผลิตบัณฑิต” ได้เปลี่ยนเป็น “จัดการศึกษา”    เป็นการขยายหน้าที่ให้กว้างขึ้น   

ผมค้นพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ () และขอคัดลอกวัตถุประสงค์ของการอุดมศึกษามาลงไว้ ดังต่อไปนี้ 

 (๑) พัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาการหรือวิชาชีพที่ตนถนัด สามารถ ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้

(๒) พัฒนาบุคคลให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และทักษะ ที่จำเป็น เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ เข้าใจสังคมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อรองรับสังคมโลกที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ร่วมกันแก้ปัญหาสังคม และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

(๓) ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ และแผนด้านการอุดมศึกษา และต้องเชื่อมโยงกับการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่า เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทรัพยากรบุคคลของประเทศในการเข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้มีการศึกษาอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะในการประกอบอาชีพของบุคคลและการศึกษา ตลอดชีวิต

ศ. ดร. นักสิทธ์ ชี้ว่า ประเด็นสำคัญด้านการจัดการศึกษาคือ

  • การผลิตทรัพยากรมนุษย์ต้องสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้
  • จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรตลอดชีวิตการทำงาน

ท่านชี้ประเด็นสำคัญด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม ดังต่อไปนี้

  • ต้องสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และแก้ปัญหาของประเทศได้
  • ส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสร้างผู้ประกอบการใหม่    โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน
  • มหาวิทยาลัยสามารถตั้งบริษัทขึ้นเอง หรือร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการจัดตั้งบริษัท เพื่อนำผลงานไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
  • พัฒนานักวิจัย โดยร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

ท่านยังชี้เรื่องความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการดำเนินการภารกิจหลัก   ว่า ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย กับองค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชน ในการจัดการศึกษา วิจัย และสร้างนวัตกรรม    ซึ่งนี่คือการปฏิบัติภารกิจในแนว engagement    ดร. นักสิทธ์ท่านเน้นการทำงานของมหาวิทยาลัยแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ในลักษณะ IEE – Innovation, Engagement, Entrepreneur    เปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยแห่งศตวรรษที่ ๒๐ ที่เน้นทำงานแบบ TRT – Teaching, Research, Transfer 

เป็นความท้าทายที่มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ต้อง transform ตนเอง   

หลังจากคณะกรรมการนโยบายวิชาการเสนอจบและตามด้วยความเห็นเพิ่มเติมจากกรรมการสภาฯ แล้ว ก็ถึงการนำเสนอของคณะกรรมการนโยบายการเงินและทรัพย์สิน    ที่เมื่อฟังแล้วผมก็เกิดความคิดว่า มหาวิทยาลัยต้องใช้กลไกด้านการเงินในการ transform ระบบหลักของมหาวิทยาลัย    โดยเฉพาะระบบบุคลากร    ที่จะต้องหาทางดึงดูดคนเก่งและดีมาเป็นอาจารย์ และเป็นบุคลากรประเภทอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยให้จงได้    โดยที่มีแรงดึงดูดทั้งบรรยากาศการทำงาน  ค่าตอบแทน  และบันไดความก้าวหน้า     โดยที่ระบบค่าตอบแทนต้องมีความยืดหยุ่น และเอื้อให้คนที่มีความสามารถพิเศษจริงๆ ได้รับค่าตอบแทนที่สูงและแข่งขันกับ sector กำลังคนด้านอื่นได้    เป็นที่รู้กันว่า ระบบค่าตอบแทนในมหาวิทยาลัยเลียนแบบราชการ และเป็นระบบแห่งศตวรรษที่ ๒๐  

ระบบค่าตอบแทนบุคลากร ต้องเชื่อมโยงกับผลงาน    เน้นผลงาน IEE ที่ ศ. ดร. นักสิทธ์ เสนอ   

ผมเป็นประธานคณะกรรมการคลังสมองยุทธศาสตร์และการดำเนินงาน    ซึ่งหมายถึง strategic implementation เพื่อบรรลุเป้าหมายการ transform มอ. นั่นเอง    เราประชุมกันไปครั้งเดียว    ผมมอบให้เลขานุการคณะกรรมการ (ซึ่งก็คือท่านอธิการบดี ผศ. ดร. นิวัติ แก้วประดับ) เป็นผู้เสนอ    เพราะท่านจะต้องเป็นผู้ implement ข้อเสนอของคณะกรรมการชุดต่างๆ ให้เกิดผลในภาคปฏิบัติ   ท่านสรุปจากการประชุมคณะกรรมการเป็นการดำเนินการ ๓ ด้าน คือ

  1. 1. ระบบจัดการศึกษาใหม่เพื่อตั้งรับอนาคต
  2. 2. ลักษณะการบริหารงานช่วงเปลี่ยนผ่าน
  3. 3. การทำงานเป็นหนึ่งเดียวกันของทุกวิทยาเขต โดยใช้ digital platform    ซึ่งก็คือระบบข้อมูล

ผมเสนอให้ฝ่ายบริหารไปทำ Change Management Platform มาเสนอ    ให้เห็นภาพระยะยาว ๕ - ๑๐ ปี     ให้เห็นภาพเป้าหมายปลายทางและเป้าหมายรายทาง     และเห็นว่าเวลานี้ มอ. อยู่ตรงไหน    อีก ๕ ปีต้องการเคลื่อนไปอยู่ตรงไหน โดยทำอะไรบ้าง    และในเวลา ๓ เดือนข้างหน้าจะทำอะไรบ้าง เพื่อเคลื่อนไปสู่ตรงไหน    เพื่อให้สภาฯ ได้เห็นรูปธรรมของการดำเนินการ และผลที่เกิดขึ้น

จากการนำเสนอของคณะกรรมการทั้ง ๕ ชุด (คณะกรรมการนโยบายวิชาการ, คณะกรรมการนโยบายการเงินและทรัพย์สิน, คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานบุคคล, คณะกรรมการนโยบายติดตามและประเมินผล, และคณะกรรมการคลังสมองยุทธศาสตร์และการดำเนินงาน) เห็นได้ชัดเจนว่า  คณะกรรมการทุกชุดได้ชี้แนวทาง “เปลี่ยนโฉม” (transform) มอ. อย่างเฉียบคมและเชื่อมโยงยิ่ง

โจทย์ต่อไปคือการปฏิบัติ    สภามหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่เชิง strategic  และเชิง generative อย่างดียิ่ง    สภาฯ ต้องทำหน้าที่ติดตามและ empower ให้การบริหารมหาวิทยาลัยสู่การเปลี่ยนโฉม สู่มหาวิทยาลัยแห่งศตวรรษที่ ๒๑   และร่วมทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สภาพ ที่มีรายได้สูง สังคมดี ให้จงได้

วิจารณ์ พานิช

๔ มิ.ย. ๖๒

     

หมายเลขบันทึก: 662498เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2019 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2019 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท