๙๕๗. เครื่องมือ


การอ่าน...จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และต้องใช้บ่อยๆสำหรับการฝึกการอ่าน คิดและวิเคราะห์ เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักสังเกตและใช้เหตุผล

        ครูกับเครื่องมือเป็นของคู่กัน โดยเฉพาะเรื่องราวของการวัดและประเมินผล ในทุกสาระวิชา ต้องมีเครื่องมือและที่ครูคุ้นเคยคือแบบทดสอบ

    แบบทดสอบมีทั้งแบบปรนัยและอัตนัย ครูจะใช้แบบใดก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของวิชานั้นๆ ว่าต้องการวัดอะไร? ในบางทักษะอาจจะไม่ต้องวัดด้วยข้อสอบก็ได้..

        บางครั้ง..สื่อที่นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเราก็เรียกว่าเครื่องมือ เป็นตัวกลางที่ประสานเชื่อมโยงให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเรียนการสอน.

        การอ่าน...จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และต้องใช้บ่อยๆสำหรับการฝึกการอ่าน คิดและวิเคราะห์ เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักสังเกตและใช้เหตุผล

        บางทีก็เรียกว่าการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ เริ่มเห็นกันตั้งแต่ชั้น ป.๓ ส่วน ป.๑ และป.๒..เป็นขั้นพื้นฐานที่ต้องฝึกการอ่าน แต่ก็ต้องเรียนรู้การฟังจากครูมากเป็นพิเศษ

        วันนี้..ผมสอนแทนครู ป.๕ ที่ไปอบรมฯที่เขตพื้นที่ฯ ผมเริ่มให้นักเรียนอ่านตั้งแต่เช้า...อ่านเรื่อง”วันเข้าพรรษา” อย่างน้อยก็จะได้บูรณาการกับเทศกาลที่ใกล้จะมาถึง

        บทที่ใช้อ่านก็นำมาจากเครื่องมือของเขตและสพฐ.ที่เคยทดสอบการอ่านชั้นป.๕ มาหลายปีแล้ว ผมเก็บไว้แต่ก็ยังมีความทันสมัยอยู่เสมอ..

        นักเรียนอ่านแล้ว..ตอบคำถาม ๖ ข้อ เป็นข้อคำถามแบบอัตนัย นักเรียนต้องค้นหาคำตอบจากเรื่องที่อ่าน..งานนี้นักเรียนได้ทั้งอ่าน คิด และเขียน(ตัวบรรจง)

        ยิ่งให้อ่าน ผมก็ยิ่งค้นพบว่า เรื่องในหนังสือบันเทิงคดีหรือบทร้อยกรอง เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมการอ่าน คิด และวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี ผมลองใช้เรียบร้อยแล้ว

        จากเรื่อง”กล้วยหายไปไหน” ความว่า “ฉันโมโหลิง  เตะลิงแย่งกล้วย  โมโหเสียแย่  มีแต่เปลือกกล้วย  ฉันรู้ความจริง  ลิงเปล่ากินกล้วย  เพื่อนบ้านหลายคน  เห็นคนลักกล้วย  เป็นคนขุดดิน  ไม่ชอบกินกล้วย  ลูกเล็กของเขา  กินข้าวบดกล้วย  เขาเป็นคนจน  จนไม่มีกล้วย  ลูกเล็กหิวนัก  เขาจึงลักกล้วย”

        จงตอบคำถามต่อไปนี้

๑.  นักเรียนคิดว่าคนที่เตะลิงเพื่อแย่งกล้วยคืนเป็นคนนิสัยอย่างไร?

๒. ใครบอกกับคนเตะลิงว่าลิงไม่ได้ลักกล้วยของเขาไปกิน?

๓. จากเรื่องที่อ่านกล้วยของเขาหายไปไหน?

๔. เพราะอะไรเขาจึงต้องมาลักกล้วย?

๕. นักเรียนได้ข้อคิดอะไรบ้างจากเรื่องที่อ่าน?

๖. ให้นักเรียนหาคำจากเรื่องที่อ่านที่สะกดด้วยมาตราแม่เกอว มา ๑ คำ และนำคำที่ได้มาแต่งประโยค?

ขอบคุณเครื่องมือ..ที่ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า..เดินมาถูกทางและมีความสุขในการสอน ทำให้เด็กมีความสนใจใคร่รู้ และนี่คือเครื่องมือที่เข้าถึงการสอนได้ครบ ตอบโจทย์ทุกตัวชี้วัด กระบวนการที่ใช้เครื่องมือแบบนี้ เด็กจะประยุกต์ใช้ในวิชาอื่นๆได้อีกด้วย..

         ครูอย่าลืมนะครับ..เครื่องมือส่งเสริมการอ่าน หาได้รอบตัวครู อาจอยู่ในห้องสมุดหรือคลังข้อสอบที่ไหนสักแห่ง..เพียงแค่ครูเข้าใจและจัดระบบเครื่องมือให้ดี..ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้..จึงจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป.

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๕   กรกฎาคม  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 662464เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2019 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2019 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท