๙๕๕. อย่ามักง่าย...


วันภาษาไทยแห่งชาติมีเพียงวันเดียว..แต่เด็กต้องเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้องและเห็นความสำคัญของภาษาไทยทุกวัน..ครูจึงสำคัญที่สุด

        ผมเตือนครูอยู่เสมอ..และบอกครูด้วยว่าผมไม่ได้เก่งถึงแม้จะเรียนเอกภาษาไทย แต่ผมสนใจและเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูเก่งกว่าผมเพราะครูถนัดไอที มีความสามารถสูง

    เราเป็นครูโรงเรียนขนาดเล็ก..อย่าได้ถือว่าเป็นเวรเป็นกรรม ได้มีงานทำ มีโอกาสทำความดีมากกว่าอีกหลายคน ก็ทำซะ..ผมจึงมอบหมายให้เป็นครูประจำชั้น..

        เด็กก็เหมือนกัน...เขาก็ไม่ได้มีเวรมีกรรมที่ต้องมาเรียนโรงเรียนเล็กอย่างเรา..อยู่ที่เราต้องสร้างโอกาสที่งดงามให้กับเขา..ผมจึงให้ครูเตรียมการสอน..

        ทั้งที่รู้ว่าครู..เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน..ถนัดเป็นบางวิชา..อ่อนล้าในบางเรื่อง ซึ่งสพฐ.ก็รู้..จึงส่งครูอบรมสัมมนา..พัฒนา DLTV..มีสื่อแบบเรียนมาให้..ใช้คูปองครูเป็นเครื่องมือ..

        ครูจึงต้องพัฒนาตนเอง..โดยเฉพาะในด้านภาษาไทย..ซึ่งเป็นภาษาของชาติ ที่ใช้เป็นหลักในชีวิตประจำวันและเป็นหลักในการสื่อสารการเรียนการสอน

        ผมจะรับได้แม้จะได้ยินครูพูดผิดเพี้ยนไม่มีคำควบกล้ำ..แต่จะไม่ยอมปล่อยเลยไป ถ้าเห็นครู”มักง่าย” ไม่ใช่สื่อช่วยสอนบทร้อยกรองทำนองเสนาะ

        ชั้น ป.๑ – ชั้น ป.๖ บทอาขยานทั้งบทหลักบทรอง เป็นท่วงทำนองไพเราะน่าฟัง ก็ไม่ควรสอนแบบร้อยแก้วถูลู่ถูกัง ขาดความไพเราะเสนาะหู ค้นกูเกิลหรือยูทูปก็ได้

        นอกจากนี้..ยังมีบทดอกสร้อย กลอนเสภา กาพย์เห่เรือ โคลงสี่สุภาพ ฯลฯ รวมไปถึงเพลงพื้นบ้านที่สอดแทรกและเสริมอยู่ท้ายบทเรียน..ล้วนเป็นสิ่งที่ครูไม่ควรมองข้าม

        เด็กชอบภาษาดนตรีที่มีเสียงสูงต่ำอยู่แล้ว ครูรุ่นใหม่ก็สนใจฟังเพลงจากสื่อเช่นเดียวกัน จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากที่ครูจะใส่ใจค้นคว้าเพื่อพัฒนาวิชาชีพ

        เรื่องของภาษาที่มีท่วงทำนอง..ถ้าเด็กร้องหรือท่องผิดคีย์ มีความผิดเพี้ยน จะติดตัวเด็กไปตลอดชาติ..ครูจึงต้องเป็นต้นแบบ..ทำไม่ได้ก็ต้องหาต้นแบบมาเป็นตัวช่วย..

        วันภาษาไทยแห่งชาติมีเพียงวันเดียว..แต่เด็กต้องเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้องและเห็นความสำคัญของภาษาไทยทุกวัน..ครูจึงสำคัญที่สุด

        การไม่เห็นคุณค่าของภาษา..ไม่ใส่ใจในบทร้อยกรองในบทเรียน ทำให้บทอาขยานผิดเพี้ยน เป็นสิ่งครูไทยไม่ควรกระทำ เพราะทุกคำ..ที่นักปราชญ์ประพันธ์ไว้ ล้วนใส่ความสุนทรีย์ สร้างจินตนาการให้กับเด็ก สอนสำนวนลึกซึ้งกินใจให้เปรียบเทียบ

        ในทุกเรื่องราวล้วนมีคำสอนสอดแทรกคุณธรรมอันล้ำค่า..นับเป็นมรดกทางปัญญาที่ครูจะต้องช่วยกันสืบสาน สู่เด็ก จากรุ่นสู่รุ่น..อย่างถูกต้อง

        ผมไม่เคยเหนื่อยล้า ที่จะสอนเพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อยและเพลงพวงมาลัย ให้กับเด็กของผม แต่ผมจะเหนื่อยกับครูทุกครั้ง ที่เห็นครูเล่นโทรศัพท์แต่กลับสอนอาขยานไม่เป็น..ทั้งๆที่ทั้งหมดทั้งมวลมันก็อยู่ในมือครูทั้งหมดแล้ว

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑  กรกฎาคม  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 662401เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2019 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2019 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท