๙๔๗. หลากหลาย


ผมจึงมีความสุขที่จะสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้น ผ่านกิจกรรมเสริมประสบการณ์ทางภาษา กิจกรรมดนตรีและกีฬา ตลอดจนกิจกรรมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..ภายในรั้วของโรงเรียน..

         ผมเคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ทำสารคดีด้านการศึกษาช่องเนชั่น ๒๒  ออกอากาศเมื่อ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๙ คำพูดของผมมีอยู่ประโยคเดียวที่จำได้..

    “การบริหารจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ถ้าไม่หลากหลายก็ไม่ใช่โรงเรียน..”

        ผู้สื่อข่าวทวนคำพูดของผม..และนำไปเป็นประโยคเด็ด หรือคำพูดโดนใจของรายการ..ตอนหลังผมก็คิดได้..คือคิดว่าผู้สื่อข่าวเขาน่าจะงุนงงมากกว่า..กับคำว่าหลากหลาย

        เขาคงคิดว่ามันคงเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้..ในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่รอการยุบควบรวมตามนโยบายภาครัฐ ที่อยากประหยัดงบประมาณและมีข้อมูลซ้ำๆที่ย้ำว่าไม่มีคุณภาพ...ซึ่งมันก็จริง

         แต่ไม่เป็นไร..เราไม่ควรไปสู้รบปรบมือกับแนวคิดของนโยบาย แต่ควรอยู่กับงานและทำปัจจุบันให้ดีที่สุด..เพื่อความสุขที่อยู่ตรงหน้า..ของตัวเราและองค์กร

        อาจมีบางคนไม่เข้าใจคำว่า..หลากหลาย..ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ปลายทางด้วยซ้ำ ในความหลากหลาย ทำให้โรงเรียนไม่ตายซาก สร้างบรรยากาศให้น่าอยู่น่าเรียน

        ผมทำได้ในเชิงประจักษ์มาตลอด ๑๐ ปี ตั้งแต่ครูไม่ครบชั้น และอาคารเรียนมีไม่พอ ผมคิดว่าในวันที่ผมเริ่มต้น คือรากฐานสำคัญของวันนี้..

        ก่อนอื่น..ผมต้องคิดก่อนว่าผมถนัดอะไร?และสิ่งใดเป็นทักษะของผมที่ถ่ายทอดให้คู่ควรกับบริบทโรงเรียนเล็กๆ ผมหมายถึงความรู้และทักษะชีวิตที่ผมมีอยู่และต้องรีบแบ่งปันให้มากที่สุด...เพื่อความหลากหลายที่ผมหมายมั่นปั้นมือ..

        ผมคิดว่า..โรงเรียนต้องให้ความสำคัญกับการสอนภาษาไทย เพื่อการอ่านคล่องเขียนคล่อง..ที่นำไปสู่เครื่องมือการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ..

        ผมจึงเพิ่มเวลารู้ให้นักเรียน ด้วยกิจกรรมเสริมพิเศษที่ไม่ซ้ำซากจำเจ เพื่อให้นักเรียนสนใจ เกิดแรงบันดาลใจในการใฝ่รู้ใฝ่เรียน

        ดังนั้น...บทเพลงลูกทุ่งก็นำมาสอนภาษาได้ บทอาขยานก็ให้นักเรียนร้องเป็นเพลงมีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ จะนำเข้าสู่บทเรียนก็ใช้เพลง มีทั้งเพลงมาร์ชหนองผือ และเพลง”เพื่อพ่อลูกจะทำแต่ความดี”

        โรงเรียนมี”ครูตู้” ถ่ายทอดการสอนจากโรงเรียนวังไกลกังวล..ในจุดนี้ก็พิเศษสุดๆแล้ว..ที่ช่วยผลักดันให้เกิดความคิดที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้ผ่อนคลายและพักสายตา..

        ผมให้เด็กผู้ชายตีกลองยาว ให้เล่นดนตรีสากล  ปีการศึกษานี้วงดุริยางค์เริ่มขยับขยายให้กลายเป็นวงใหญ่ เล่นเพลงได้มากขึ้น วันนี้ผมเริ่มได้ยินเพลงกราวกีฬา หลังจากรอคอยมาเป็นเวลาหลายปี..

        ส่วนเพลงพื้นบ้าน..เป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่นก็ได้คัดตัวผู้เล่นเป็นที่เรียบร้อย พร้อมๆกับนักเรียนผู้นำกายบริหารมือเปล่าประกอบเพลงและผู้เล่นแม่ไม้มวยไทย..ที่เรียนอยู่ประถมปลาย..

        ผมไม่เคยทอดทิ้งงานเกษตรอินทรีย์ มีงานให้นักเรียนทำทุกวันทั้งรดน้ำพรวนดินและใส่ปุ๋ย.ถือเป็นกิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมือที่เป็นผลพลอยได้ คือช่วยให้นักเรียนลายมือสวยงาม

        พอถึงเวลา..นักเรียนที่ได้รับมอบหมายประจำวัน ก็จะได้เลี้ยงไก่ หน้าที่ใครคนนั้นก็ไปทำ นักเรียนต้องเก็บกวาดและล้างห้องน้ำเอง..นักเรียนก็จะรักความสะอาดและไม่ทำให้โรงเรียนสกปรก..ที่สุดแล้วนักเรียนจะทำงานเป็นและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

        ประเทศที่ก้าวหน้าอย่างประเทศญี่ปุ่น ในโรงเรียนจะไม่มีภารโรง นักเรียนจะถูกฝึกปฏิบัติให้ลงมือเอง “คุณภาพ”นักเรียนจึงอยู่ตรงนี้ อยู่ที่วิธีคิดและความหลากหลาย

        ที่ต้องทำอย่างบูรณาการในรูปแบบที่เป็นระบบ บางครั้งอาจต้องให้พี่ช่วยสอนน้อง..ประคับประคองและเอื้ออาทรต่อกัน..

        ในความสะอาดร่มรื่นและสวยงามของโรงเรียน นับเป็นต้นทุนสำคัญอย่างยิ่ง ที่ช่วยสร้างศรัทธาในการทำงานร่วมกัน สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานมาเรียนในที่ที่เหมาะสมและปลอดภัย..

        ผมจึงมีความสุขที่จะสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้น ผ่านกิจกรรมเสริมประสบการณ์ทางภาษา กิจกรรมดนตรีและกีฬา ตลอดจนกิจกรรมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..ภายในรั้วของโรงเรียน..

        บนความหลากหลายอาจต้องเหนื่อย แต่ก็คุ้ม เพราะเหนื่อยแต่กายแต่โดนใจทุกกิจกรรม..ทำงานเชิงเดี่ยวอาจจะดี แต่เหลียวซ้ายแลขวาอาจไม่เจออะไรเลย แล้วเราจะทำงานโรงเรียนไปเพื่ออะไร?

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๐  มิถุนายน  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 662208เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2019 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2019 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท