Reflection ความรู้ใหม่ในประสบการณ์การเป็นกระบวนกรร่วมกับอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์


ไม่ใช่สักแต่ใช้วิชา หากเราต้องพัฒนาการเชื่อมโยงปรัชญา แก่น หรือหลักวิชาต่างๆเหล่านั้น เพื่อยกระดับพื้นที่แห่งการเรียนรู้

ขอเพิ่มเติมบทสะท้อนการเรียนรู้ของผม เป็นความรู้ใหม่ที่ผมได้จากการร่วมเป็นทีมวิทยากรกับอาจารย์ชัยวัฒน์ และอุ๊ ใน ในเวทีฝึกอบรม โครงการ “สร้างพลังเครือข่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ของสำนักงาน พมจ.แม่ฮ่องสอน เมื่อ 10-12 มิ.ย. 62 นะครับ

แต่ก่อนจะเล่าถึงความรู้ ผมขอเล่าความรู้สึกก่อน จากคราวก่อนที่เล่าไปว่าทีแรกก็กังวลว่าจะทำได้ไม่ดี เพราะเป็นครั้งแรกที่ร่วมงาน พออาจารย์แนะนำให้ “ปลดล็อค” กรอบเนื้อหาออกไปแล้วหันมาสนใจเจตจำนง บริบท และทำตัวเป็นคุณเอื้อ คือ เอื้ออำนวยให้พลังของแต่ละคนในวงได้ส่งเชื่อมโยงส่งผ่านกันและกันเป็นเครือข่ายที่เกิดขึ้นอย่างลื่นไหล (Flow) นอกจากความรู้สึกโล่งใจและผ่อนคลายต่อกระบวนการ ต่อผู้เข้าร่วมเวทีแล้ว ยังส่งผลต่อความรู้สึกที่เรามีต่อทีมวิทยากรด้วยกันเองด้วยครับ เหมือนเราเปิดเข้าหากันง่ายขึ้น โดยในช่วงต้นๆของเวที การทำงานในแบบทีมอาจจะยังดูเงอะงะติดขัดบ้าง แต่พอรันกระบวนการไปสักพัก ก็เริ่มเนียนขึ้นเรื่อยๆ เหมือนจับทาง จับจังหวะ และหนุนเสริมกันในทีมได้

อันนี้คือความรู้สึกต่อทีมนะครับ

ในส่วนของความรู้ใหม่ มีหลายเรื่องครับ

1) เรื่องแรกคือ พลังการทำงานที่สอดประสานกันภายในทีม มีผลต่อสนามพลังการเรียนรู้ในเวทีเป็นอย่างมาก เราต้องประณีตละเอียดอ่อนไม่เพียงแต่กระบวนการ และผู้คนที่เข้าร่วมเรียนรู้ แต่หมายรวมถึงการพัฒนาทีมเวิร์ค พัฒนาความสัมพันธ์ของผู้คนที่อยู่ในทีมวิทยากรเดียวกันกับเราอีกด้วย

ตรงนี้ ผมอยากขยายความนิดนึงว่า ในการจัดเวทีต่างๆ คนและองค์กรมักจะพุ่งความสนใจไปที่วิทยากร ยิ่งบางงาน วิทยากรต่างคนต่างมา ไม่มีเวลาที่จะรู้จักหรือทักทายกันเลย ซึ่งเมื่อก่อนผมก็ไม่ค่อยสังเกตสิ่งนี้ แต่มาคราวนี้ผมพบว่าเบื้องหลังการทำงานของวิทยากร อ.ชัยวัฒน์ ผม อุ๊ คือ การทำงานหนุนเสริมซึ่งกันและกันในทีม บางช่วงที่ผมพูดไม่เห็นภาพชัด อาจารย์ก็จะช่วยเสริม หรือในช่วงที่ผมพูดอยู่หน้าห้อง อุ๊จะช่วยมองจากด้านหลังและด้านข้าง เช็คเสียง เช็คความรู้สึก อากัปกิริยาของผู้เข้าร่วมในจุดที่ผมมองไม่เห็น พอมีโอกาสเธอก็จะเดินมาบอกเบาๆให้เรารู้ว่า ต้องปรับอะไรบ้าง กระบวนการหนุนเสริมและปรับจูนอย่างนี้เกิดขึ้นตลอด อย่างเป็นธรรมชาติ และไม่ต้องนัดแนะ รวมถึงพลังจากจิตวิญญาณของอาจารย์ ของอุ๊ ของผมที่ถ่ายทอดออกไปในเวที สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนพลังจากทีมที่มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดสภาวะเหนี่ยวนำจากวงวิทยากร สู่วงผู้เข้าร่วมอบรม


2) เรื่องที่สอง คือ ไม่ใช่สักแต่ใช้วิชา หากเราต้องพัฒนาการเชื่อมโยงปรัชญา แก่น หรือหลักวิชาต่างๆเหล่านั้นเพื่อยกระดับพื้นที่แห่งการเรียนรู้

ตอนเช้า พออาจารย์พูดเรื่อง “Flow” ผมกลับไปบ้านได้สองวัน ไปอ่านหนังสือ “Micro Mastery” ที่ผมเคยโพสต์ลงในไลน์กลุ่มนี้ มีอยู่ย่อหน้าหนึ่งที่ผมอ่านเขาพูดถึงไอคิโด ผมเลยรู้เลยว่า Flow มันก็คือการกลมกลืน หรือ Harmony นั่นเอง ซึ่ง Harmony นี้อยู่ในหลักการสำคัญของวิชา ไอคิโด ด้วย ผมคิดว่า จริงๆในเวทีวันั้น ผมใช้ไอคิโดไม่ใช่แค่ช่วงที่เป็น Ice Breaking ที่เรียนรู้ปัญญาฐานกายและหลักการสมดุลเท่านั้น แต่จริงๆ ตัวตนของผมใช้ ไอคิโด ในแง่หลักการกับกระบวนการทั้งหมดเลยทีเดียว เพียงแต่ผมไม่มีเวลาใคร่ครวญ ณ จุดนั้น พอกลับมานิ่งๆว่างๆสักวันสองวันนี่หันกลับไปมอง เออ ตัวเรา ใช้หลักการ (แก่น) ปรัชญาที่อยู่ในไอคิโดบูรณาการลงไปเลย คือ ใช้ในระดับปรัชญาการสร้างวิถีทางแห่งพลังความรักและความกลมกลืน (Ai = ความรักความเมตตากรุณา , Ki = พลังจักรวาล ที่สอดประสานทั้งนอกและในอย่างลึกซึ้ง , Do = วิถีทาง ) ซึ่งจริงๆทุกวิชาที่แต่ละคนถนัดเป็นพิเศษก็น่าจะมีปรัชญาอยู่เบื้องหลัง ถ้าเราเข้าใจหลัก แก่น ปรัชญา ของวิชานั้นๆ เราจะสามารถ Connect มาใช้ในการจัดกระบวนการได้อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นลีลา เป็นสไตล์ของตัวเราเอง และได้ผลที่งดงาม


3) “ในเหมือนมีต่าง ในต่างมีเหมือน” เหมือนก็ได้ ต่างก็ดี แต่ในกระบวนการเรียนรู้เราต้องใช้ทั้งสองสิ่งนี้อย่างมีสมดุลและศิลปะจึงจะเกิดพลัง ในการจัดกระบวนการทั้งสามวันนี้ ผมสังเกตเห็นครับว่ามีการสลับไปมาระหว่างการสร้างพลังกลุ่มจากความเหมือนและจากความต่างอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่าง แรกเริ่มเปิดเวทีเราได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมได้จูนพลังกันในแง่ความเหมือน ไม่ว่าจะเป็น การเป็นคนบ้านเดียวกัน อยู่ในองค์กรเดียวกัน มีข้อจำกัดในชีวิตด้านต่างๆคล้ายๆกัน พอกระบวนการเล่นกับความเหมือนนี้เดินไปสักพัก เราก็นำเข้าสู่ความต่าง ที่ผู้เข้าร่วมเวทีค้นพบได้ด้วยตัวเอง ผ่านการสนทนาที่ลุ่มลึก การวาดภาพ ฯลฯ เป็นการค้นพบความแตกต่างที่มาจากพื้นฐานแห่งความเหมือนที่พวกเขาตระหนักรู้ร่วมกันมาก่อน ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ว่า ก่อนที่เราจะสร้างหรือจูงใจให้ใครยอมรับความแตกต่าง เราน่าจะต้องสร้างให้เขาคนนั้น หรือคนกลุ่มนั้น ตระหนักรู้ในความเหมือนของกันและกันก่อน ไม่ใช่จู่ๆ เวทีมาจัดพูดถึงความแตกต่างเลยความแตกต่างที่มองไม่เห็นจุดร่วมของความเหมือน มันหาที่ลงอย่างสันติไม่ได้ ที่น่าสนใจคือ จากการปูพื้นเรื่องความเหมือน สักพักพอเช็คความรู้สึกว่าไปต่อได้ เกิดเอกภาพแล้วจึงนำเข้าสู่ความต่าง หรือความขัดแย้ง พอเห็นความแตกต่างหลากหลายทางความคิดแล้ว เราก็นำผู้ร่วมกระบวนการเรียนรู้กลับเข้าสู่ความเหมือนอีก อย่างคำถาม “เรา” คิดอย่างไร “เรา” จะร่วมกันจัดการเรื่องนี้อย่างไร…..ตรงนี้ ผมเห็น Loop ของการเล่นกับความเหมือน และความต่าง ที่โลดแล่นอยู่ในกระบวนการทั้งสามวัน (ตอนทำ มองไม่เห็นนะครับ กลับมาใคร่ครวญ ทำตัวสบายๆ จิตว่างๆสักสองวันถึงคิดได้เขียนออก)

4)เพิ่มสัมผัสทางกายเพื่อเชื่อมหัวใจ สมองและเครือข่ายสังคม จริงๆแล้ว วิทยาศาสตร์ก็บอกว่า กาย ใจ สมอง มันเชื่อมต่อกัน ถ้าเราเพิ่มสัมผัสทางกายเพื่อเชื่อมหัวใจ สมองและเครือข่ายสังคม ในการอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยน่าจะเกิดสิ่งดีๆตามมา ”ในวันแรกที่ผมรับผิดชอบกระบวนการ นอกจากการสัมผัสร่างกายผ่านการล้อมวงจับมือเพื่อสื่อความปรารถนาดีต่อกันและกันในช่วงเช้าแล้ว เรายังมีกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าอบรมสัมผัสกันในช่วงบ่าย (โดยก่อนหน้านี้ ผมได้บอกอุ๊ว่าจะจัดกิจกรรมดังกล่าว อุ๊ได้เสริมผมว่าเธอเห็นด้วยที่ผมออกแบบกิจกรรมสัมผัสกายตรงนี้ไว้อย่างนั้น เพราะสัมผัสทางกายระหว่างคนเราเป็นการเรียนรู้แบบหนึ่งซึ่งจะเอื้อต่อการสร้างความสัมพันธ์ได้มากหากออกแบบดีๆ— ตรงนี้ผมแอบคิดถึงพระเอกเวลาพยายามจะแต๊ะอั๋งนางเอกทีละเล็กละน้อยก็เพราะอย่างนี้นี่เอง อิ อิ) ตอนบ่ายวันแรกนั้น ผมได้จัดกิจกรรมเรียนรู้เรื่องสมดุลและปัญญาฐานกาย จากการฝึกเทคนิควิชาไอคิโดเล็กๆน้อยๆ ซึ่งก็สร้างรอยยิ้มและสาระไปพร้อมกัน ทั้งยังมีการไปช่วยสอนกันและกันในวงด้วย ผมจึงได้ความรู้จากการทดลองทำและสังเกตว่า หากเราจะสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดี แน่นแฟ้นนั้น นอกจากจะออกแบบกิจกรรมคิดวิเคราะห์โดยใช้สมองแล้ว จะให้ดียิ่งขึ้น เราควรมีกิจกรรมที่ร่างกายได้สัมผัสกันอย่างสร้างสรรค์ เพิ่มขึ้นด้วยจริงๆแล้ว วิทยาศาสตร์ก็บอกว่า กาย ใจ สมอง มันเชื่อมต่อกัน ถ้าเราเพิ่มสัมผัสทางกายเพื่อเชื่อมหัวใจ สมองและเครือข่ายสังคม ในการอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยน่าจะเกิดสิ่งดีๆตามมา อันนี้เป็นอีกหนึ่งความรู้ที่ได้จากประสบการณ์เวทีนี้ครับ

5)มองให้เห็นวงจรและจังหวะแห่งพลัง สิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ผมได้เรียนรู้จากการร่วมงานกับอาจารย์ชัยวัฒน์และอุ๊ในเวทีนี้ก็คือ อาจารย์มักจะย้ำให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ภายใต้โครงสร้าง ให้เห็นพลังต่างๆที่อยู่ในกลุ่มในการร่วมกระบวนการ ตรงนี้ ผมสรุปเป็นความคิดของตัวเองครับว่า กระบวนกรที่ดี ต้องมองให้เห็นในสิ่งที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเนื้อ แต่มองได้ด้วยตาใน หรือสัมผัสด้วยใจ เหมือนวรรคทองในหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ที่ว่า “สิ่งสำคัญ ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”

ในช่วงที่แบ่งกลุ่มย่อย ล้อมวงคุยทำความรู้จักถึงชีวิตสี่ด้านของแต่ละคน แล้วสะท้อนกลับออกมาในวงใหญ่นั้น อาจารย์ชี้ให้เห็นการสะท้อนของน้องดรีมซึ่งเป็นบุคลากรรุ่นใหม่ของ พมจ. ที่สะท้อนออกมาได้อย่างมีพลังว่าเธอมองเห็นตัวเอง และกล้าที่จะเล่าเรื่องที่ปกติไม่กล้าเล่าที่ไหนออกมาได้อย่างน่าแปลกใจ ซึ่งอาจารย์ก็ถามต่อว่า แล้วใครเป็นคนเริ่มเล่าเรื่องในวงที่เธออยู่เป็นคนแรก เธอบอกว่าเป็นชาวบ้านแกนนำชื่อ ป้าวันดี

ตรงนี้ ผมได้ความรู้เพิ่มเติมเลยครับว่า ไม่ใช่จู่ๆคนเราจะส่งพลังออกมา มีบริบทแวดล้อมเองก็ไม่พอ เพราะทุกคนในห้องก็อยู่บริบทเดียวกัน แต่มันต้องมีจังหวะ มีลำดับของพลังงานที่ส่งต่อๆกันมาอย่างพอเหมาะพอดี พลังแห่งการสนทนาเหล่านี้มันอาจจะเสริมหนุน หรือคัดง้าง กันก็ได้ ตรงนี้ กระบวนกรต้องพยายามใช้ “ตาใน” ในการมองเห็น หรือมี Sensing ในการรู้สึก พลังชนิดเดียวกันที่ส่งถึงกัน ถ้ามีลำดับที่ต่างกัน มีเส้นทางที่ต่างกัน กฌส่งผลต่อส่วนรวมต่างกัน การออกแบบวงสนทนา หรือวงสื่อสารเรื่องใดๆก็ตาม ต้องคำนึงถึงรูปแบบของพลัง และลำดับของพลังเพื่อที่เราจะสามารถจัดการให้ไปในทิศทางที่เสริมหนุนไปด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นการสะท้อนถึงความรู้ที่ผมได้รับเพิ่มเติม อันเป็นความรู้จากประสบการณ์การเป็นวิทยากรร่วมในเวทีฝึกอบรม โครงการ “สร้างพลังเครือข่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ของสำนักงาน พมจ.แม่ฮ่องสอน เมื่อ 10-12 มิ.ย. 62 ที่สิบล้านบุรีรีสอร์ต จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีอาจารย์ชัยวัฒน์เป็นแกนกลางและวิทยากรหลักในการจัดอบรม ขอบคุณที่อาจารย์ถามมา คำถามของอาจารย์มีคุณค่าต่อการสืบค้นสะท้อนการเรียนรู้ภายในตัวตนของผมเป็นอย่างมาก เพื่อใช้ทบทวนในวันหน้าและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่สนใจ จึงขอนำมาบันทึกเป็นบล๊อกไว้ ณ ที่นี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 662161เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2019 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2019 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท