อำนาจรัฐและเศรษฐกิจชาวบ้านแบบหัวเก่าหัวใหม่


อำนาจรัฐและเศรษฐกิจชาวบ้านแบบหัวเก่าหัวใหม่

15 มิถุนายน 2562

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

สื่อต่างประเทศวิพากษ์การสืบทอดอำนาจหรือการขออยู่ของฝ่ายรัฐบาลต่อไว้มาก เช่น มีการบิดเบือนกฎหมายเพื่อเข้าสู่อำนาจ เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม [2]ทำให้เศรษฐกิจแย่ ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน แต่ฝ่ายรัฐอ้างเศรษฐกิจแย่เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา มาดูข้ออ้างของฝ่ายรัฐว่าไม่ใช่การสืบทอดอำนาจเพราะ “การสืบทอดอำนาจเป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่ง” เท่านั้น คือ (1) รัฐบาลมาจากกติกา คือเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่นักวิชาการเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรม [3](The Rule of Law) (2) บ้านเมืองต้องเดินไปข้างหน้าต้องมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาล ข้ออ้างนี้ไม่สมเหตุผลเพราะไม่ว่าใครมาบริหารประเทศก็ต้องเดินหน้า (3) รัฐบาลชุดเดิมย่อมมีความชอบธรรมในการสานต่อโครงการโดยขออาสาตัวเข้ามาทำงานต่อได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ความจำเป็นในระยะเปลี่ยนผ่าน [4] (Transition Period) ในงานโครงการใหญ่ของรัฐที่ได้วางรากฐานไว้ เป็นการดำเนินตาม “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” (4) มีการวางแนวทางให้นายทุนใหญ่เดินหน้าเศรษฐกิจไว้แล้วด้วยเงินทุนพัฒนาจำนวนมหาศาล แนวทางนี้ลืม “คนรากหญ้า” แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญกว่า   

มีข้อสังเกตว่า (1) มีกลุ่มผลประโยชน์ที่กุมอำนาจเศรษฐกิจ โดยอาศัยอำนาจตำแหน่งหน้าที่ของผู้สืบทอดอำนาจนี่น่ากลัวมากกว่า (2) ผู้สืบทอดอำนาจไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องผลประโยชน์ไม่ว่าทางตรงทางอ้อม ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นรัฐบาล และ (3) ที่สำคัญคือผู้สืบทอดอำนาจเชื่อมั่นว่าตนได้ทำถูกทางแล้วถือว่าถูกต้อง

คนหัวเก่าหัวใหม่ในสนามรบโซเชี่ยลมีอิทธิพลสูงสุด

วาทกรรมแห่งความร้าวฉาน (Hate Speech) [5] ที่ยุให้คนแตกแยกกัน มาจากสังคมที่แบ่งพวก แบ่งแยกความคิด [6] (กีฬาสี) นัยว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างคน “Analog” (หัวเก่า) [7] หรือพวกอนุรักษ์ (Conservative) พวกอีลีท (Elite) กับคน “Digital” (หัวใหม่) [8] หรือพวกหัวใหม่ (Progressive, Futurista) [9] คนหัวใหม่ในที่นี้ได้แก่ คนรุ่น Gen Z [10] เกือบทั้งหมดเป็น New Voters [11] (อายุ 18-25 ปี) และ พวกคนไม่มีรุ่นที่เรียกว่า Gen C [12] (คือ Gen Computer คือพวกโซเซียล) รวมประเมินจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาประมาณกว่า 7 ล้านคนคนสองกลุ่มนี้ต่อสู้กันในสนาม “Social Media” (เรียกย่อว่า “โซเชี่ยล”) เฉพาะเฟซบุ๊ค (Face book : FB) ทั่วโลกใช้ 2 พันล้านคน หรือร้อยละ 27 ของประชากรโลก [13] สถิติคนไทยเฟื่องฟูติดอันดับโลกที่ใช้ FB ซึ่งในโซเชียลก็มี “กองกำลังปันข่าวคุ้ยข่าว” (IO : Information Operation) [14] คอยจัดการพวกเห็นต่างทางความคิด จึงไม่แปลกที่กระแสการต่อต้านเห็นต่างของประชาชนง่ายมากไปตามกระแสโซเซียล ยกตัวอย่างการประท้วงกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ฮ่องกง หรือ การประท้วงต่อต้านของสองฝ่ายที่หนุนและไม่หนุนรัฐบาลทหารซูดาน เป็นต้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะมายิ่งนัก ว่ากันว่า “สังคมทุกวันนี้มีแต่คนวิพากษ์ วิจารณ์ และ คนป่วน เป็นส่วนมาก แต่มีคนที่ทำจริง ๆ ส่วนน้อย เพียงคนสองคน” อย่างไรก็ตามในความเห็นต่างนั้น ควรปรับให้เข้ายุคใหม่ที่ไม่ลืมของเก่าที่เป็นแบบอย่างที่ดี ที่บรรพชนได้สร้างให้ไว้ดีแล้ว

บริโภคนิยมและเศรษฐกิจพึ่งพิงทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้

เรื่องสำคัญที่สุดตอนนี้ลองไปถามดูตามบ้านนอก ชนบทที่มีเกษตรกร คนใช้แรงงาน คนรับจ้างฯ เป็น “เรื่องปากท้องของชาวบ้าน” เป็น “เศรษฐกิจในระดับชุมชนชาวบ้าน” แน่นอนว่า ก็คือ อปท. วาทกรรมให้ชาวบ้านมุ่งแต่แสวงหาโภคทรัพย์ที่ล้นพ้นเกินตัว เรียก “การบริโภคนิยม” (Consumerism) [15] ทำให้สังคมที่มีแต่ความเร่งรีบ อยากได้อยากหา มีความหวังแบบห่างไกล ยิ่งหามันยิ่งห่าง ความพอเพียงจะไม่เกิด จึงเป็นช่องทางอันดีของ “ทุนนิยม” (Capitalism) หรือ “ทุนนิยมเสรี” (Liberalism) หรือจะเรียกว่า “ทุนสามานย์” [16] (ทุนนิยมเสรีที่ไม่มีคุณธรรมก่อให้เกิดการผูกขาด) ก็แล้วแต่ ที่แข่งขันเพื่อเป็นเจ้าครอบครองเศรษฐกิจ เช่น การมุ่งสร้างตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยตามแผนปีละ 3.5

เมื่อชาวบ้านตื่นตัวในการบริโภคนิยมจะพ่วงไปถึงภาคราชการก็ต้องใช้เงินงบประมาณที่มากขึ้น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (Big Project) ล้วนพอกพูน “หนี้สินสาธารณะ” (Public debt) มากขึ้นทุกปี มีการใช้เงินในอนาคต (เงินกู้ และเงินสำรอง) เป็นจำนวนมาก ควบคู่ไปกับ “หนี้สินครัวเรือน” (Household Debt) ข้อมูลมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า [17] หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปีติดอันดับ 10 ของโลก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พฤษภาคม 2562 อยู่ที่ 77.7 ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน ยิ่งมองไม่เห็นทางว่า หนี้ครัวเรือนจะหลุดพ้นไปได้เมื่อใด เพราะหากประเทศเดินไปในลักษณะเช่นนี้ ชาวบ้านที่ไม่มีกำลังมากพอด้วยไม่มีทุน ขาดโอกาส ขาดศักยภาพ ไม่สามารถปรับตัวได้ทันเหตุการณ์ จะตกอยู่ในภาวะการครองชีพ (Cost of living) ที่ยากลำบากมากขึ้น ยิ่งใน “ภาวการณ์พึ่งพิง” [18] (Dependent) ภาคธุรกิจ ทุนต่างชาติ หรือทุนหมุนเวียนภาคธุรกิจที่ไม่มีความยั่งยืน ยิ่งทำให้ชาวบ้านไม่สามารถกำหนดแผนดำเนินชีวิตของตนเองได้

เศรษฐกิจชาวบ้านแย่ [19]ชาวนา ชาวไร่ เกษตร คนรับจ้าง แย่หมด ยากจน ค้าขายไม่ออก เพราะกลุ่มทุนยึดฐานไว้หมดแล้ว โอทอป เศรษฐกิจชุมชน ก็ทำแบบไฟไหม้ฟาง เฉพาะหน้า ไม่ยั่งยืน ชาวบ้านเป็นหนี้สินกับนายทุน ผ่อนรถ ผ่อนมอเตอร์ไชค์ หนี้ซื้อปุ๋ย สารเคมี หนี้กู้ ธกส. กู้กองทุนหมู่บ้าน ลูกหลานแย่ จะเรียนต่อสูง ๆ ก็ยาก ฯลฯ เศรษฐกิจระดับชุมชนพื้นบ้านไม่ขยายตัว ไปกระจุกที่ทุนใหญ่  ชาวบ้านในชนบท ลูกหลานไปทำงานภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ แล้วส่งเงิน กลับบ้านให้พ่อแม่บรรเทาหนี้สิน ธกส. สหกรณ์ ฯลฯ หนี้นอกระบบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุจำเป็น หรือบังเอิญ ที่สร้างสะสมพอกพูนเอาไว้ จนหมดทางเยียวยา ก็ต้องหาไปหารายได้เสริม แรงงานย้ายถิ่นจึงมีเป็นจำนวนมาก สังเกตง่ายมากจากปัญหาการจราจรรถติดในช่วงวันหยุดยาว แม้ในวันทำงานปกติก็รถติดเป็นช่วงในชั่วโมงเร่งรัดตอนเช้า และตอนเย็น มีการแย่งสาธารณูปโภคสาธารณูปการรถไฟ รถยนต์โดยสาร ฯลฯ และที่สำคัญคือ การคงพึ่งพิงระบบการลงทุน และทุนจากต่างชาติ ภาคราชการได้ภาษีเพิ่ม ชาวบ้านได้รายได้เพิ่ม แต่พอถึงจุดอิ่มตัว สินค้าผลิตยอดขายลดลง ธุรกิจปิดตัวลง คนที่พึ่งพิงระบบทุนจะตกงาน บางคนพอมีทุนรอนอยู่บ้าง ก็ไปเร่ขายของตามตลาดนัด ที่เกิดหลายนัดกระจายไปทั่วไปสร้างผลกระทบให้แก่ผู้ค้าประจำถิ่นที่ขายสินค้าไม่ออก [20]เพราะคนไปซื้อสินค้าตลาดนัดกันหมด สภาพทั่วไปจึงมีแต่คนขายของ แต่มีกำลังซื้อมีน้อยลง

ลัทธิบริโภคนิยมไม่เว้นในโครงการสำคัญของรัฐ เช่น โครงการเตาเผาขยะ โรงคัดแยกขยะ โรงบำบัดน้ำเสีย ของ อปท.ที่อยู่ใต้แผนงานที่เพ้อฝันตามนักวางแผนลัทธิบริโภคโดยมีเจ้าของธุรกิจนั้น ๆ ล็อคสเปคอยู่เบื้องหลัง เป็นความจริงที่ไม่ปฏิเสธ ปรากฏการณ์ “ขายโง่” หรือการเสีย “ค่าโง่” ของภาคราชการไทยจึงยังมีอยู่ หากเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อใดที่สังคมไทยจะถึง “จุดพอเพียงจุดสมดุล จุดที่ยืนอยู่บนทรัพย์สินและปัญญาของสังคมไทยได้เอง พึ่งพาทุนต่างชาติน้อยลง” เมื่อนั้นสังคมไทยจะมีความเข้มแข็งในตัวเอง 

ศาสตร์พระราชาเงินทองเป็นมายาข้าวปลาเป็นของจริง“ประโยชน์นิยม จิตนิยม หรือ สุขนิยม”

เศรษฐกิจพอเพียงตามรอยศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” จึงเป็นการคิดและเริ่มไปถูกทางได้ ทฤษฎี 3 ห่วง [21]ของเศรษฐกิจพอเพียงหากไม่ใส่ใจ นำเอามาใช้จริงมักไปไม่รอด ในการดำเนินชีวิตในโลกเศรษฐกิจพึ่งพิงทุนนอกเช่นนี้ หลักการ “เกษตรพึ่งพาตนเอง” [22]ที่อาจารย์ยักษ์ หรือ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ถือเป็นสรณะในการน้อมนำแนวทางตามระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาพัฒนาประชาชนเกษตรชาวไร่ชาวนาคนในระดับรากหญ้า เป็นแนวทางหนึ่งใน “การพัฒนาคน” ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ในท้องถิ่น เนื้อหาสาระเป็นการชี้ให้เห็นสภาพของจริง ความเป็นจริงที่เห็นว่า ความร่ำรวยเงินทองมากมายไม่เท่ากับการที่ชาวบ้านได้มีอยู่มีกินไม่อดอยากปากแห้ง ประเด็นการพัฒนาสังคมในแนวทางนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการสร้างรากฐานคนให้มั่นคง เมื่อรากฐานมั่นคง ระบบอื่นที่ตามมาย่อมมั่นคงสอดรับกันเป็นลำดับตามมา ไม่คลอนแคลนง่อนแง่น อย่างไรก็ตามแนวทางพัฒนาแบบนี้สวนทางกับการพัฒนาแบบทุนนิยมที่มีการใช้ต้นทุนสูง หวังผลกำไรมาก แต่ละเลยความเป็นคนที่มีชีวิตจิตใจ เมื่อท้องหิว สภาพวิถีความเป็นอยู่ที่ไม่ดี ย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศแน่นอน ปัญหานี้แก้ง่าย หากหันมามองข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพราะ คนท้องถิ่นอยู่ในท้องถิ่น ไม่ได้ไปประกอบอาชีพหรือดำรงชีพนอกท้องถิ่นเลย

มีคำถามว่าประเทศไทย ควรจะเดินทางไปทิศทางใด “ประโยชน์นิยม จิตนิยม สุขนิยม” [23]ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงนำแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” [24](Sufficiency Economy) คือ ความสมดุลทั้งทางด้าน การอุปโภคการบริโภค สังคมสงบสุข ลดการเบียดเบียน ความสมดุลของความอยู่ดีมีสุข ของคนในชาติ แต่ข้อเท็จจริงในหลายกรณีภาครัฐกลับนำพาสังคมไทยเดินเข้าสู่กระแสทุนนิยม อ้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economics Growth) ในการลงทุน การค้า การอุตสาหกรรม การก่อสร้างเส้นทางคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และตลาดการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ที่เอื้อเวทีทุนนิยม ที่สวนทางกับ “สุขนิยม” ของพ่อหลวง และสวนทางกับ “จิตนิยม” ทางศาสนาไปมาก

ท้องถิ่นถามหาการปลดล็อกเลือกตั้ง

เมื่อมีข่าวว่าจะมีการเลือกเลือกตั้งท้องถิ่นในปีนี้หรือต้นปีหน้า ตามกำหนดวันที่กระทรวงมหาดไทยจะกำหนด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ก็ได้จัดโครงการประชุมอบรมความพร้อมเลือกตั้งทันที [25]โดยจ้างสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการ แม้ว่า สถ. จะมีสถาบันที่มีหน้าที่จัดการฝึกอบรมเฉพาะแล้วก็ งบค่าลงทะเบียนราคาสูงหัวละ 7,900 บาท [26]รวม อปท. ทั่วประเทศ 7,852 แห่ง ๆ ละ 3 คน คิดเป็นจำนวนงบประมาณแล้วมหาศาลทั้งสิ้นประมาณ 186 ล้านเศษบาท แกนนำข้าราชการส่วนท้องถิ่นสงสัยในความสมประโยชน์คุ้มค่าควรแก่การอบรมหรือไม่ เพียงใด โดยเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาว เปลืองงบประมาณ ผู้ไปอบรมไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ไม่ถ่ายทอด เป็นการไปรับความรู้ส่วนตัวเฉพาะตัวไป ที่เป็นตามกระแสชั่วครั้งชั่วคราว มีการทักท้วงมาหลายครั้งแล้ว แต่เป็นเพียงกระแสที่ไม่มีการติดตามผล เพราะการดำเนินการจัดการอบรมฯ ก็ยังคงเช่นเดิม ไม่เห็นมีการแก้ไข หรือดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ

การปลดล็อกการแขวนบุคลากรท้องถิ่นตามมาตรา 44 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ให้กลับไปรับตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่เดิม หลังจากหัวหน้า คสช. ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่มานานถึง 4 ปีเศษแก่นักการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการสายบริหารฯ อบจ. เทศบาล อบต. รวม 15 ราย [27] แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การแขวนตำแหน่งมีระยะเวลาที่ยาวนานมากเป็นความไม่เป็นธรรม ทำให้เสียขวัญกำลังใจในการทำงาน [28] ยิ่งอปท.ถูกกลืนอำนาจโดยปริยายจากบทบาทปลอมของ สถ. ที่ไม่ได้กำกับดูแลอย่างแท้จริง ทำให้เกิดปัญหาเดิมในระดับพื้นที่ทุกพื้นที่ ถูกทับถมทวีมากขึ้น เพราะนักการเมืองท้องถิ่นต่างฝ่ายต่างมีสังกัดมีฐานอำนาจของตน เหมือนกันเพียงอยู่ในพื้นที่เดียวกันเท่านั้น หากมีความแตกแยกกันมากย่อมถูกแทรกแซงมาก สำหรับนักการเมืองต่อให้มีกฎหมายจำกัดห้ามไว้ปัญหาจริยธรรมก็ยังคงอยู่ [29] เพราะระเบียบกฎหมายถือว่ายังไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นทาง การแก่งแย่งอำนาจกันในพื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างแย่งกันเอาอำนาจมาอยู่ในมือเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้น อย่าเพิ่งหวังว่าการซื้อเสียงในท้องถิ่นจะหายไป เชื่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเฉพาในพื้นที่ชนบทและพื้นที่สำคัญ เมืองใหญ่ อิทธิพล การผูกขาดอำนาจฯ ยังคงปรากฏเทคนิคการซื้อเสียงที่ต่างกันไปเฉพาะที่เฉพาะแห่ง ยังเป็นปัญหาช่องว่างอยู่ว่า “ระบบผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ที่จัดขึ้นใหม่จะขจัดการซื้อขายเสียงได้เพียงใด นักเลือกตั้งคนใดจะซื้อเสียงได้ ซื้อไม่ได้ ยังมีองค์ประกอบอื่นอีก รวมการต่อรองเกมส์การเมืองแลกผลประโยชน์ เรียกว่า “พวกรู้ทางกันแล้ว” 

การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เป็นแนวคิดที่ดีของนักวิชาการ แต่ความเป็นจริง อำนาจไม่ได้ไปอยู่ในมือของกลุ่มประชาสังคมท้องถิ่น [30](Civil Society) จริงๆ แต่มันกลับไปอยู่ในกลุ่มทุนธุรกิจ กลุ่มอำนาจในท้องถิ่น ที่มีบทบาทครอบงำท้องถิ่นมาก่อน อำนาจที่บอกว่ากระจายไปแล้วจึงไปเสริมให้คนกลุ่มนี้ครอบงำมากยิ่งขึ้น ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งที่ผ่านมาไม่ว่า กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ต่างเอื้อต่อระบบทุนมาก แม้จะมีกฎหมายบริหารบุคคลท้องถิ่น ก.จังหวัด ก.กลาง และ สภา อปท. ที่ให้บทบาทการตัดสินใจในรูปของ “คณะกรรมการ” ก็ตาม

ในหลายกรณีกลับเป็นว่ากรรมการเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำ ชี้นำที่มองไม่เห็นฯ ทำให้ขาดอำนาจอิสระในการตัดสินใจอย่างที่ควรจะเป็น เช่น คณะกรรมการ ก.จังหวัด ในการจัดการสอบแข่งขัน แม้แต่การสอบคัดเลือก (รวมคัดเลือก) ที่ผ่านมาเป็นตัวชี้วัดอย่างดีว่า มันมีกระบวนการทุจริตไม่ชอบจริง ๆ ไม่เชื่อลองไปหาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองหรือสอบถามกันเองก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่เมือง (จังหวัด) ใหญ่เมืองเล็ก

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 66 ฉบับที่ 40 วันเสาร์ที่ 22  - วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2562, บทความพิเศษ หน้า 9  & ท้องถิ่นถามหาการปลดล็อกเลือกตั้ง, สยามรัฐออนไลน์, 22 มิถุนายน 2562, https://siamrath.co.th/n/8600

[2]An unequal sequel, The leader of the Thai junta tortures the rules to remain in power, A jerry-rigged parliament affirms Prayuth Chan-ocha as prime minister, The Economist, BANGKOK, Jun 6th 2019, https://www.economist.com/asia/2019/06/06/the-leader-of-the-thai-junta-tortures-the-rules-to-remain-in-power

& ดิอีคอนอมิสต์ วิเคราะห์ รัฐบาลใหม่ คือ “ตอนใหม่ที่ไม่เท่าเทียม” ของการเมืองไทย, 11 มิถุนายน 2562, https://www.bbc.com/thai/thailand-48598197 

เผยแพร่บทวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองของไทย โดยให้ชื่อว่า “ตอนใหม่ที่ไม่เท่าเทียม หัวหน้าคณะรัฐประหารบิดเบือนกฎหมายเพื่อสืบทอดอำนาจ” ... วอชิงตันโพสต์ ระบุประชาธิปไตยจอมปลอมของไทย ยังไม่คู่ควรกับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ … “ปล้นโอกาส” (robbing)…

[3]คำว่า นิติรัฐ (Rechtsstaat)มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมัน หมายความสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า การปกครองโดยกฎหมาย มิใช่การปกครองโดยอำเภอใจของผู้ปกครอง ประเทศที่เป็นนิติรัฐ จึงต้องมีกฎหมายเป็นหลักในการปกครองประเทศ ผู้ปกครองประเทศจะกระทำการใด ๆ หรือดำเนินการใด ๆ ได้ต้องมีกฎหมายรองรับ จะกระทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้

คำว่า นิติธรรม (Rule of Law) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ มีความหมายโดยสรุปว่า แม้ประเทศอังกฤษจะยอมรับความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภาในการออกกฎหมาย แต่ไม่ใช่รัฐสภาจะออกกฎหมายอย่างไรก็ได้ กฎหมายที่ออกจะต้องเป็นกฎหมายที่ตั้งอยู่บนหลักนิติธรรมด้วย (ดร. กำชัย จงจักรพันธ์)  

[4]“ช่วงเปลี่ยนผ่าน” หรือ “ระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน” ในความหมายที่ว่า เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากการทำการงานแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง หรือ ช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ต้องอาศัยการตัดสินใจอย่างที่สุด เช่น ช่วงที่ต้องข้ามผ่านระหว่างวัยเรียนสู่วัยทำงาน หรือ ยุคประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นต้น 

ดู พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ระยะเปลี่ยนผ่าน, มติชน, 15 มีนาคม 2559, https://www.matichon.co.th/columnists/news_70998

... ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หรือ transitional justiceนั้น ถูกจุดประเด็นขึ้นมาในช่วงหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และการสลายการชุมนุมที่มีคนตายมากมายที่แยกราชประสงค์เมื่อหลายปีก่อน ในตอนนั้นคำว่าความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน กับความจริงเพื่อความปรองดอง เป็นคำยอดฮิต มีการพูดถึง และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาค้นหา...   

[5]ในช่วงนี้คนใน social media มีพฤติกรรมการใช้วาจารุนแรงขึ้น มีการรุมยิงด้วยภาษาต่อผู้ที่เห็นต่าง มีการใช้ชุดความคิดแบบเดียวกันหรือคล้ายกัน มีการใช้สัญลักษณ์ในแนวทางเดียวกัน ช่วงเวลาใกล้ๆ กัน ในคนหลากหลายวัย นั่นก็คือ รูปแบบ weaponization of social media : พลโทเจิดวุธ คราประยูร

Hate Speechหมายถึง วาจาที่สร้างความเกลียดชัง, ประทุษกรรมทางวาจา, วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง ฯลฯ  ซึ่งไม่ได้หมายเฉพาะวาจาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการกระทำหรือพฤติกรรมทุกอย่างด้วย ผู้คนที่มีความขัดแย้งต่างจะเห็นกันเป็นศัตรู โดยสื่อมีบทบาทอย่างมาก ยิ่งในโลกออนไลน์ (โซเชี่ยล) ยิ่งทวีคูณง่ายมาก

ดู Hate Speech วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง ?!, ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 22 กุมภาพันธ์ 2557, https://news.mthai.com/general-news/312218.html

& Hate Speech เบื้องต้นสำหรับคนไทย (ฉบับเต็ม), ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ, 19 กุมภาพันธ์ 2557, https://www.youtube.com/watch?v=8AKcSTY0TEc  

[6]รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่าโดยสัดส่วนรวมๆ ของมนุษย์หรือสังคมมันก็ผสมๆ กันไป ไม่มีหัวก้าวหน้า 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีอนุรักษ์นิยม 100 เปอร์เซ็นต์ จากประวัติศาสตร์ เราจะเห็นถึงร่องรอยการปะทะระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับก้าวหน้ามาโดยตลอด

ฝ่าย Progressiveเป็นพวกคนหัวก้าวหน้าบางทีก็เรียกตัวเองว่าเป็นพวก “ลิเบอรัล” (Liberal) หรือ Neo-Liberal หรือเป็นคนที่อยู่ในยุคเสรีนิยมเบ่งบาน นอกจากนี้พวก “ลิเบอรัล” ก็ถือเหมาเอาว่าตัวเองเป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย” ด้วย เช่นพวก "นิวเดม" (New Democracy) ที่อีกฝ่ายมองว่าเป็น "พวกซ้าย"

ซึ่งตรงข้ามกับ “คอนเซอร์เวทีฟ” (Conservative) ฝั่งอนุรักษนิยมที่ส่วนใหญ่จะเป็น "พวกขวา"  แต่พวกหัวเก่าไม่ใช่พวกหัวโบราณ ฝ่าย Conservative นั้นอาจจะรวมตั้งแต่พวกที่มีความคิดชาตินิยม รัฐนิยม และจารีตนิยมอย่างเป็นระบบ มาจนถึงพวกต่อต้านคอร์รัปชัน ถือศีลกินผัก เป็นอาสาสมัครในวันหยุด เป็นต้น

ดู  “เสกสรรค์ “ ชี้เมืองไทยคิดขัดแย้งสองกลุ่ม ฝ่ายอนุรักษ์ฯที่ผูกขาด “ความเป็นคนดี” ฝ่ายหัวก้าวหน้า”ขยายแนวร่วมไม่ได้มาก”, 9 มีนาคม 2561, http://www.thansettakij.com/content/266831

& ประวัติศาสตร์อนุรักษ์นิยมไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, มติชน, 12 สิงหาคม 2559, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_248057

& ก้าวหน้าไหว้สงฆ์ อนุรักษ์ไหว้ทุน, 11 ตุลาคม 2555, ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ (หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ 5Qs พฤษภาคม 2554), https://waymagazine.org/ก้าวหน้าไหว้สงฆ์-อนุรัก/

[7]เปรียบเทียบคนเหมือนกับ TV Analog ที่เปลี่ยนเป็น Digital คนหัวเก่าและหัวใหม่มาเจอกัน ความไม่ลงรอยทางความคิดจึงเกิดขึ้น! “หัวเก่า” ความหมาย คนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบสิ่งแปลกใหม่ คนล้าสมัย ไม่ ... เป็นสำนวนใหม่ เปรียบคนที่ไม่ทันสมัยกับเต่า ซึ่งเป็นสัตว์ที่ทำอะไรช้า

คนอังกฤษอเมริกัน คิดว่า ไม้ที่ปักอยู่ในเลนมักจะจมปลักอยู่อย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นสำนวนอังกฤษ “a stick-in-the-mud” จึงหมายถึง คนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เคยคิดเคยทำอะไรก็ยังคงคิดหรือทำอยู่เช่นนั้น จึงเป็นคนล้าสมัย อาจจะหมายถึงไม่ก้าวหน้าได้ด้วย สำนวนนี้บางทีใช้เป็นคุณศัพท์ได้ เช่น stick- in-the-mud ideas คนไทยมีความคิดต่างไปจากคนอังกฤษอเมริกันในเรื่องนี้ คนไทยเปรียบไม้ที่ปักอยู่ในเลนกับคนที่มีใจโลเลไม่แน่นอน ไม่มั่นคง เอนเอียงไปมาได้ง่าย ดังไม้ที่ปักอยู่ในดินเหลว

ดู สำนวนภาษาอังกฤษ”a stick-in-the-mud” “หัวเก่า”, เรียนรู้ภาษาอังกฤษไปด้วยกัน พร้อมรับ AEC, 25 มีนาคม 2556,

http://www.engisfun.com/สำนวนภาษาอังกฤษa-stick-in-the-mud/

[8]ดู ทวี สุรฤทธิกุล, การเปลี่ยนผ่านสู่ “ประชาธิปไตยใหม่” (จบ), สยามรัฐ, 10 มิถุนายน 2562, https://siamrath.co.th/n/83773

ประชาธิปไตยใหม่คือ “โลกใหม่” ที่คนรุ่นใหม่อยากสร้าง... ทางออกน่าจะเป็นการสร้าง “ประชาธิปไตยที่ทั่วถึง” โดยคนรุ่นเก่าควรจะต้องเข้าใจคนรุ่นใหม่ให้ดีกว่านี้ เพราะถึงอย่างไรคนรุ่นนี้ก็ต้องถูกคนรุ่นต่อๆ ไปมาปกครอง เป็นวัฏจักรไปดังนี้แลฯ

[9]คำว่า Futuristaนั้นหมายถึง คนที่มีแนวคิดหรือหัวคิดก้าวหน้า มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและไม่กลัวความท้าทาย เป็นศัพท์ที่มีรากศัพท์มาจากฝั่งละตินที่มีมุมมองแบบปัจเจกบุคคล และในบางครั้งอาจหมายถึงคนที่มีเซ้นส์ทางแฟชั่นในสไตล์ Futuro swag

ดู ระวังจะตกเทรนด์!! 5 คำศัพท์เลือกตั้ง ฟังแล้วงง แต่โคตรสำคัญ รู้ไว้ไม่เสียเปรียบ, 20 มีนาคม 2562, https://undubzapp.com/คำศัพท์เลือกตั้ง/

[10]แนวใหม่ (2558) Gen Zอายุปัจจุบันคือ 10-24 ปี เพราะเกิดช่วง พ.ศ. 2538-2552 (ปี 1995-2009) ซึ่งในการแบ่งรุ่น (Generation) เดิม (2556) มีความเหลื่อมล้ำอายุคาบเกี่ยวกันเล็กน้อย 2-3 ปี โดยเฉพาะในช่วงตอนปลายของ Gen Y Gen Z เพราะมีการเพิ่ม Gen Alpha (ลูกของ Gen Y Gen Z) โดยคิดอายุช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่ 15 ปี มิใช่คิดที่ 20 ปี ดังนี้

Generation Yอายุปัจจุบันคือ 25-42 ปี เกิด พ.ศ.2520-2537 ปี 1977-1994 (เดิมแบ่งไว้เกิด พ.ศ. 2523-2540 ปี 1980-1997 ร่นถอยไป 3 ปี)

Generation Zอายุปัจจุบันคือ 10-24 ปี เกิด พ.ศ. 2538-2552 ปี 1995-2009  (เดิมแบ่งไว้เกิดหลัง พ.ศ. 2540 ขึ้นไป คือตั้งแต่ปี 1998 ร่นถอยไป 2 ปี)

และ Gen Alpha อายุปัจจุบันคือ แรกเกิด-9 ปี เกิด พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป ( ปี 2010 +)

ดู ทำความรู้จักเด็กยุค Generation Alpha, Healtygamer, Dr.Chanvit, 2 เมษายน 2558, http://www1.si.mahidol.ac.th/Healtygamer/information/article/85385 

& มาดูกัน... คน 8 เจเนอเรชั่น คุณอยู่ในกลุ่มไหนนะ?, 18 มีนาคม 2556,  https://hilight.kapook.com/view/83492 

[11]ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมี New Voterจำนวนมากถึง 8.3 ล้านคน หมายถึง ผู้เลือกตั้งที่มีอายุ 18-25 ปี ซึ่งถือเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ (first time voter) หมายถึง กลุ่มผู้ที่เกิดระหว่างปี 2537-2544 ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แต่ยังไม่เคยได้เลือกตั้ง และกลุ่มที่จะมีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปี 2562

ข้อสังเกต  Generation Yอายุปัจจุบันคือ 25-42 ปี เกิด พ.ศ.2520-2537 ปี 1977-1994 และ Generation Z อายุปัจจุบันคือ 10-24 ปี เกิด พ.ศ. 2538-2552 ปี 1995-2009  จะพบว่า คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจะอยู่ในคนรุ่น Gen Z เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียน่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้ แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วในแง่ของวิถีชีวิต รสนิยมและแนวคิดของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างไร

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 95 วรรคแรก บัญญัติว่า

"บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(1) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง

(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง"

[12]Gen C or Gen Computer เป็นคำใหม่ที่ Google และ Nielsen บัญญัติ ใช้สำหรับเรียกกลุ่มคนยุคใหม่ที่ไม่ได้แบ่งตามอายุเหมือน 7 เจเนอเรชั่นข้างบน แต่จัดกลุ่มตามพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งนี้ คนที่จะถูกจัดเข้ากลุ่ม Gen-C นั้น ก็คือคนกลุ่ม Baby Boommer และ Gen-X ที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง หันมาสนใจเทคโนโลยีมากขึ้น ไปจนถึงขั้นเสพติดการเชื่อมต่อ แต่ไม่รวมคนกลุ่ม Gen-Y เป็นพวก Gen-C ด้วย นั่นเพราะคนกลุ่ม Gen-Y ปกติก็จะมีการเชื่อมต่อโลกไร้สายเป็นประจำอยู่แล้ว 

ดู มาดูกัน... คน 8 เจเนอเรชั่น คุณอยู่ในกลุ่มไหนนะ?, 2556, อ้างแล้ว

[13]ด้วยจำนวนผู้ใช้โซเซียลจำนวนมาก ดังนั้นการใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียน่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนกลุ่ม Generation Zที่มีอายุน้อยนี้ แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วในแง่ของวิถีชีวิต รสนิยมและแนวคิดของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างไร จากจำนวนประชากรโลกทั้งหมดที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลก ซึ่งปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการว่าประชากรโลกมีจำนวนราว ๆ 7,300 ล้านคน ณ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2021  

ดู ประชากรโลก, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/ประชากรโลก  

[14]IO : information operation ( การปฏิบัติการด้านข่าวสาร, การใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตและอิเล็กโทรนิกส์ จิตวิทยามวลชนเพื่อสร้างอิทธิพลในการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม) ปัจจุบันมี Big Data เก็บรวบรวมข้อมูล และประมวลวิเคราะห์ข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ (: พลโทเจิดวุธ คราประยูร)

“Information Operations”(เรียกย่อว่า Info Ops หรือ IO) เป็นการนําเอาพันธกิจการปฏิบัติการทางทหารหลายประการมาบูรณาการเพื่อสร้างอิทธิพลหรือผลกระทบต่อการคิดและตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม “IO” เป็นส่วนหนึ่งของ “Information Warfare” หรือ “สงครามสารสนเทศ” ซึ่งบางท่านเรียกว่า “สงครามข่าวสาร”, “Cyber War” หรือ “Net War” ก็ได้ โดยคำว่า “Information Operation” หรือ “การปฏิบัติการสารสนเทศ” นั้นเป็นหลักการที่ออกเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาในปี 2003

ดู การปฏิบัติการข่าวสารในยุคแห่งสงครามสารสนเทศ, กองบรรณาธิการ วารสารถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, 19 พฤษภาคม 2559, https://www.tci-thaijo.org/index.php/ndsijournal/article/view/57063

[15]การบริโภคในลัทธิบริโภคนิยมเป็นการบริโภคที่ผู้บริโภคมุ่งเสพเพื่อแสวงหาความสุขสำหรับตนเป็นสำคัญ มิใช่การบริโภคเพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐาน มิใช่การบริโภคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น (บริโภคด้วยตัณหา) บริโภคนิยม (Consumerism) ลักษณะของลัทธิบริโภคนิยม 3 ประการ คือ (1) ทัศนคติที่จะใฝ่เสพมากกว่าใฝ่ผลิต  (2) พฤติกรรมแบบอวดมั่งอวดมี  (3) ระบบการทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นบุญกุศล การนิพพาน หรือแม้เศษกระดาษ แฮนด์บิล ก็ทำให้มีราคาด้วยการปลุกกระแสขึ้นมาให้ต้องบริโภคซื้อ แม้วัฒนธรรมก็ยังซื้อได้  ดังนั้น  ลัทธิบริโภคนิยมจึงเป็น  ลัทธิของสำเร็จรูป  คือ ได้มาอย่างง่าย ๆ ไว ๆ  ไม่ต้องทำอะไรเอง  ใช้เงินซื้อ ไม่ต้องอาศัยการปฏิบัติหรือการลงแรง (ดร.ธีรัตม์ แสงแก้ว, )

“บริโภคนิยม” เป็นคำที่ มีความหมายครอบคลุมมากกว่า การซื้อ การขาย สินค้า แต่รวมถึง วัฒนธรรม สังคม วิถีชิวิต การพักผ่อนหย่อนใจ บริโภคนิยม ไม่ใช่การหลงใหลฟุ้งเฟื้อในการบริโภค แต่เป็นการ นิยม หรือ ปรารถนา (desire)

บริโภคนิยม และ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะการบริโภค ไม่ได้เป็นเรื่องของ ความพอเพียง เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มนุษย์ยังไม่เคยมีความพอเพียง ในสมัยกรีกโรมันก็มีแนวคิด “ความฟุ่มเฟือย (Luxuria)” ที่ว่า “ความหรูหราฟุ่มเฟือย” เป็นการแสดงถึงความอ่อนแอ

บริโภคนิยม และ วัตถุนิยม คล้ายกัน วัตถุนิยม หมายถึงการกินอาหารเพราะติดในรสอร่อย ต้องการเครื่องปรับอากาศ เพราะมันให้ความเย็น หรือต้องการรถเบนซ์ เพราะไปไหนมาไหนสบาย ไม่เหนื่อย นี่เป็นความสุขอันเนื่องจากประสาททั้งห้า แต่บริโภคนิยมลึกกว่านั้น จุดหมายของการบริโภคมิใช่ความสุขทางประสาททั้งห้าเท่านั้น แต่ต้องการมากกว่านั้น คือ เมื่อได้บริโภคแล้ว คุณรู้สึกว่าคุณได้เป็นอะไรบางอย่าง

ดู ชลิดา แย้มศรีสุข, แนวคิดลัทธิบริโภคนิยม ในท้องถิ่น และการล่มสลายของท้องถิ่น (The concept of consumerism and the collapse of local), นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองและการจัดการ มหาวิทยาลัยบูรพา, http://202.28.109.66/journalfiles/mcu59_2_03.pdf

[16]คำจำกัดความที่สั้นที่สุด ทุนนิยมสามานย์ คือ ทุนนิยมเสรีที่ไม่มีคุณธรรม ( ก่อให้เกิดการผูกขาด ) (: Can ไทเมือง, 2551)

เป็น “ทุนนิยมเสรี” ที่มีรูปแบบพฤติกรรมต่างๆที่ได้แสดงออก ทั้งทางด้านธุรกิจและการเมืองที่หลอมรวมกันทำให้เกิดการเรียกขาน “ระบอบทักษิณ” คือ “ทุนสามานย์” ประชาธิปไตยไทยจึงอ่อนแอเพราะมีผลประโยชน์ของทุนสามานย์และบรรษัทลงทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ที่สมคบกับทุนสามานย์ในประเทศเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ของคนในชาติที่เสพเงื่อนไขของทุนในนาม “บริโภคนิยม”

ดู วรนันท์ บุนนาค, ทุนนิยมสามานย์ในสังคมไทย, 15 มิถุนายน 2551, https://www.gotoknow.org/posts/188141

& เศรษฐกิจบ้านเมืองภายใต้ระบอบอุปถัมภ์และอนุรักษ์นิยมจึงเป็นลักษณะ “รวยกระจุก จนกระจาย”  โดยเฉพาะ 2 กลุ่มทุนใหญ่ที่ไม่ได้แค่ “ผูกขาด” แต่ “กินรวบ” ทั้งการค้า การลงทุนและการส่งออกคือ “กินรวบครบวงจร” ซึ่งมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่ม “ขุนศึก-ศักดินา”

ดู ทุนสามานย์ โดย นายหัวดี, ในโลกวันนี้, 16 มกราคม 2561, http://www.lokwannee.com/web2013/?p=294510  

[17]หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปีไทยติดอันดับ 10 ของโลก, 7 มิถุนายน 2562, https://news.mthai.com/economy-news/736623.html     

[18]ในที่นี้คือการพึ่งพาหรือพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ Economic Dependency

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัยอย่างตะวันตก (Modernisation Theory)ก่อนถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 ทฤษฎีการทำให้ทันสมัยเป็นมุมมองกระแสหลักที่ครอบงำทิศทางการพัฒนาของโลกที่สาม หลังจากนั้นก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอันเนื่องจากผลในเชิงทำลายล้างของการพัฒนาในโลกที่สาม ทำให้มีการปรับแก้ทฤษฎีการทำให้ทันสมัยกันขนานใหญ่ และกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) ที่เรียกร้องให้ปฏิเสธจนถึงขั้นให้ทุบทิ้งทฤษฎีการทำให้ทันสมัย อย่างไรก็ดี เหตุการณ์และการแลกเปลี่ยนทางความรู้ความคิดอย่างขนานใหญ่ก็ได้นำไปสู่การปรับขยาย ทฤษฎีพึ่งพิง อันมีผลทำให้เกิดทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) ขึ้นมา การปรากฏตัวของประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในระดับสูง (High-performing Asian Economies/HPAEs) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Pacific Asia) สามารถอธิบายได้ด้วยกรอบความคิดของทฤษฎีระบบโลก

ดู เชษฐา พวงหัตถ์, ทำความเข้าใจเรื่องการพัฒนาผ่านข้อถกเถียงทางทฤษฎี, สำนักวิจัยและพัฒนา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์, 2558, Journal of Social Development Vol.17 No. 1/2015,ThaiJO, https://www.tci-thaijo.org/index.php/jsd/article/download/37427/31138/

[19]มีข้อมูลโดยประมาณว่า รัฐได้แจก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรคนจน) ไปแล้ว 14 ล้านคน จากเดิมที่มี 11 ล้านคน

[20]การเปิดจุดตลาดนัดที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน ผิดกฎหมายในพื้นที่ คือ “ปิดถนนเปิดตลาดนัด” เช่นบางแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปิดถนน 4 เลน เพื่อขายของ 2 เลน ถนนจึงเหลือให้รถวิ่งได้เลนเดียว เป็นปัญหาของฝ่ายราชการที่บังคับกฎหมาย แต่ไม่แก้ไข กลับปล่อยให้ชาวบ้านทำผิดกฎหมาย

[21]หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข, www.tupr.ac.th/sufficency3.php

3 ห่วง คือ ทางสายกลาง ห่วงที่ 1 คือ พอประมาณ ห่วงที่ 2 คือ มีเหตุผล ห่วงที่ 3 คือ มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง

2 เงื่อนไข ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เงื่อนไขที่ 1 เงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขที่ 2 เงื่อนไขคุณธรรม

[22]พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาเพื่อการพัฒนาการเกษตรแบบพึ่งตนเอง (Self Reliance) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 โดยทรงเน้นให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือตนเองเป็นหลักสำคัญ และมีพระราชประสงค์เป็นประการแรก คือ การทำให้เกษตรกร สามารถพึ่งตนเองได้ในด้านอาหาร ก่อน เป็นอันดับแรก เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ แนวพระราชดำริที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ทรงพยายามเน้นมิให้เกษตรกรพึ่งพาอยู่กับพืชเกษตรแต่เพียงชนิดเดียว เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายสูง เนื่องจากความแปรปรวนของราคา และความไม่แน่นอน ของธรรมชาติ ทางออกก็คือ นอกจากจะปลูกพืชหลายชนิดแล้ว เกษตรกรควรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากภาคเกษตร เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งดำเนินงานสนับสนุนงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัจจุบัน (สำนักงาน กปร., 2542)

ฉายา อ.ยักษ์ มหา'ลัยคอกหมู  ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง  ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้นำแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ ก่อนขยายผลสู่เครือข่ายทั่วประเทศ อ.ยักษ์ ตัดสินใจจัดอบรมทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง ครั้งแรกในปี 2541

ดู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร, ทฤษฎีการพัฒนาการเกษตรแบบ “พึ่งตนเอง” และ “เศรษฐกิจพอเพียง”, https://web.ku.ac.th/king72/2542-09/res05_01.html

& สวน “อาจารย์ยักษ์” จิตวิญญาณที่พอเพียง, Baanlaesuan, 29 เมษายน 2562, https://www.baanlaesuan.com/49505/gardens/sufficiency-economy

&  'วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ กับความหวังของเกษตรกรในตำแหน่ง”เสนาบดี”, 28 พฤศจิกายน 2560, http://www.komchadluek.net/news/people/303756

[23]ประโยชน์นิยม (utilitarianism)หมายถึง แนวคิดที่เชื่อว่าคุณค่าทางศีลธรรมเป็นการกระทำที่ขึ้นอยู่กับการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม กล่าวคือ เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความสุขหรือความพอใจขึ้นในบุคคลโดยทั่วไป ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของผลลัพธ์นิยม หรือการยึดถือคุณค่าทางศีลธรรมขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก (วิกีพีเดีย)

จิตนิยม (Idealism)ถือว่าคุณค่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เช่น ความดี ความงาม ความถูก ความผิด จะต้องมีอยู่จริง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่สมมติขึ้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ตัดสิน

คำว่า “จิตนิยม” ใช้ในทางอภิปรัชญา แต่ถ้าใช้ในทางจริยศาสตร์มีการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย อีกศัพท์หนึ่งว่า “อุดมคตินิยม

สุขนิยม (Hedonism)ลัทธินี้ถือว่าความสุขสบาย (pleasure) เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรแสวงหา ไม่มีอะไรอีกนอกจากความสุขสบายของชีวิตที่มนุษย์ต้องการ

Hedonism เป็นหลักคำสอนของ ปรัชญา ที่พิจารณา ความสุข เป็น วัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมาย ของชีวิต ดังนั้น hedonists อยู่เพื่อเพลิดเพลินกับความสุขพยายามหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด

[24]เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ : วิกิพีเดีย   

[25]หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0807.2/ว 1823 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2562, การจัดฝึกอบรม “การบริหารราชการท้องถิ่น ภายใต้พระราชบัญญัติท้องถิ่นที่กำหนดใหม่” ห้วงมิถุนายน - กันยายน 2562 เป้าหมาย 5 ตำแหน่งคือ นายก ประธานสภา ปลัด หัวหน้าสำนักปลัด และนิติกร ค่าลงทะเบียนคนละ 7,900 บาท, http://dn.core-website.com/public/dispatch_upload/backend/core_dispatch_194553_1.pdf

& หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0807.2/ว 1027 ลงวันที่ 9 เมษายน 2561, โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ห้วงพฤษภาคม - กันยายน 2561 เป้าหมาย 3 ตำแหน่งคือ ปลัด หัวหน้าสำนักปลัด และหัวหน้าส่วนการกองคลัง ค่าลงทะเบียนคนละ 7,900 บาท, www.lpdi.go.th/myFile/file1_27042018_10.38.32.pdf  

[26]อปท.ข้องใจ กรมท้องถิ่นสั่งจ่ายเงินหัวละ 7.9 พันบาท อบรมความพร้อมเลือกตั้ง, 4 มิถุนายน 2562, https://www.matichon.co.th/politics/news_1522894  

เพราะสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย จัดอบรมเตรียมพร้อมเลือกตั้ง โดย เนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ ครอบคลุมทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ บรรยายโดยวิทยากรคุณภาพจากสำนักงาน กกต. และ ป.ป.ช. โดยตรง อบรม 3 วัน ค่าลงทะเบียน 1,800 บาท  

[27]ปลดล็อก มาตรา 44 คืนตำแหน่ง 15 นักการเมืองท้องถิ่น  นายก อบจ.ปทุมฯ-เลย รับอานิสงส์, 7 มิถุนายน 2562,  https://www.matichon.co.th/politics/news_1528679   

หมายเหตุ ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 มีการออกคำสั่ง คสช.ไปทั้งหมด 456 ฉับ ยกเลิกไปแล้วเพียง 246 ฉบับ

[28]อดีตบิ๊กส.ท.ท.จี้คสช.ใช้ ม 44 เลิกแขวนผู้บริหารท้องถิ่น หลังปลดล็อคบางกลุ่ม, 12 มิถุนายน 2562, https://www.msn.com/th-th/news/national/อดีตบิ๊กสททจี้คสชใช้-ม-44-เลิกแขวนผู้บริหารท้องถิ่น-หลังปลดล็อคบางกลุ่ม/ar-AACLd9i  

[29]จริยธรรมของ “นักการเมือง” สะท้อนจริยธรรมของ “ประชาชน”?!, ผู้จัดการออนไลน์, 11 มิถุนายน 2562, https://mgronline.com/south/detail/9620000055644 

ในขณะนี้ประชาชนไทยต่างเบื่อหน่ายกับพฤติกรรมของนักการเมืองและผู้ประกอบการทางการเมืองทั้งหลาย ที่มิได้มุ่งหมายบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร แต่มีพฤติกรรมไปในทางแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว เห็นประโยชน์พรรคและพวกสำคัญกว่าทุกข์สุขของประชาชน

[30]การพัฒนาทางวัฒนธรรม (Cultural Development)ซึ่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของประชาสังคม (Civil Society) ที่มีพลังในฐานะเป็นวิถีทางที่พลเมืองสามารถแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์และการมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันได้อย่างเสรี

ประชาสังคม หรือ Civil Society เป็นแนวคิดที่มีเป้าหมายเพื่อการมีสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง ด้วยเป็นแนวคิดที่กว้าง จึงมีผู้ให้คำนิยามไว้หลากหลาย โดยทั่วไปประชาสังคม หมายถึง พื้นที่หรือส่วนของสังคมที่มีประชาชนเป็นผู้แสดงบทบาทหลัก พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่ภาครัฐ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมีกฎหมายรองรับ และภาคธุรกิจเอกชนที่เน้นดำเนินงานโดยมุ่งแสวงหาผลกำไรในพื้นที่ประชาสังคม ประชาชนทั่วไปเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการที่เป็นอิสระจากภาครัฐ และอยู่นอกบริบทการแข่งขันทางการเมือง ซึ่งกลุ่มและผู้กระทำการทางสังคม อาจมีวัฒนธรรม วิถีชีวิต วิธีคิดอันหลากหลายมาร่วมกันในกิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิด สร้างเอกลักษณ์และความเห็นร่วมกัน รวมถึงต้องมีจุดมุ่งหมายร่วมในการพิทักษ์หรือเพิ่มพูนผลประโยชน์สาธารณะบางประการให้กับสังคม โดยลักษณะของพื้นที่ดังกล่าวสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจระหว่างสามพื้นที่ดังกล่าวนี้ด้วย : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท