โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ช้างป่าปล่อยกับเกษตรกรรม


โสภณ เปียสนิท

..............................

    เดือนมิถุนายนของปีพุทธศักราช 2562 ฟ้ายังครึ้มๆ ฝนยังคงตกบ้างตามฤดูกาล ใจของเกษตรกรอยากจะปลูกต้นไม้ ที่สร้างประโยชน์ หรือก่อให้เกิดรายได้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้กระมังที่เกษตรเชิงเดี่ยวจึงได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศ เรียกว่า เกษตรตัณหานิยมก็ย่อมได้ เห็นปีนี้เขาปลูกอ้อยได้ราคาดีก็พากันปลูกอ้อย เห็นเขาปลูกมันได้ราคาดีก็พากันปลูกมัน ผลลัพธ์ก็คือ ความต้องการขายมีมาก ความต้องการซื้อลดลงราคาก็เลยถูกลง จนบางครั้งบางคราราคาไม่พอค่าจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิต

                หมู่บ้านท่ามะนาว วังด้ง กาญจนบุรี แม้อยู่ในอำเภอเมืองแต่ก็เป็นเขตชายแดนห่างไกลจากตัวเมืองราว 30 กิโลเมตร ขับรถก็ราวครึ่งชั่วโมง ชุมชนนี้มีประชากรราว 200 กว่าครัวเรือน นับรายหัวได้ราว 400 กว่าคน แต่เดิมเป็นชุมชนเก่าแก่ กำเนิดจากการเดินทางของคนในเมืองกาญจนบุรีเอง และคนต่างถิ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่นชาวราชบุรีกลุ่มนักปลูกพืชผักผลไม้ เมื่อมีความต้องการไม้ทำรั่วบ้าน ทำค้างไม้ให้ผัก ทำบ้านเรือน มักเดินทางไปล่องไม้ คือไปตัดไม้ตามที่ต้องการในป่าเมืองกาญจน์ โดยเดินทางเรือไปตามลำน้ำแควใหญ่ขึ้นไปเหนือตัวเมือง เจอไม้ตรงไหนตรงตามที่ต้องการก็แวะพักตั้งชมรมตัดไม้กันเป็นกลุ่มๆ บางคนกลุ่มก็ค้างคืนไม่นาน บางกลุ่มก็ค้างกันเป็นเดือนๆ เพื่อให้ได้ไม้ครบตามที่ต้องการ

            อีกส่วนหนึ่งมีนายทุนตั้งโรงงานกระดาษขึ้นที่ตัวเมืองกาญจน์เพราะเห็นว่า เมืองนี้มีไม้ไผ่เยอะ เกิดอาชีพตัดไม้รวกไม้ไผ่ขายโรงงานกระดาษ เกิดการตั้งชมรมระยะยาวขึ้นตลอดแนวลำน้ำแควใหญ่ เมื่อไม้ไผ่ไม้รวกไม้ใช้สอยอื่นๆ หร่อยหรอลง ชมรมเหล่านี้ก็ขยับขยายขึ้นไปเหนือน้ำเรื่อยๆ จนเข้าป่าไกลเข้าไปเรื่อยๆ ท่าน้ำตรงท่ามะนาวมีต้นมะนาวป่าอยู่เหนือชายหาด ชาวบ้านล่องแพไม้ไผ่ แพไม้ซุงผ่านขึ้นล่องบ่อย จนจำท่าน้ำแห่งนี้ได้ดี นานเข้าจึงมีการตั้งหมู่บ้านจับจองที่ดินเป็นของแต่ละครอบครัว แรกๆ อยู่กันเองแบบหมู่เพื่อนหมู่ญาติสองสามครอบครัว นานเข้าครอบครัวเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นหมู่บ้านท่ามะนาว

            สมัยนั้นยังมีสัตว์ชุกชุม เคยมีคนพบเสือที่ริมฝั่งน้ำแควใหญ่ตกใจกันแทบตาย ช้างป่าอยู่ป่าลึกไม่เข้ามารบกวนพืชผักของชาวบ้าน วันเวลาเดินรุดหน้าไปไม่เคยหยุดพัก ไม่เคยรอใคร ผ่านไปนานกว่าสามสิบปี เกิดมีช้างสองพวกขึ้น พวกหนึ่งอยู่ป่าลึกไกลหมู่บ้านไม่ค่อยเข้าหาคน เห็นคนที่เป็นต้องหลบลี้หนีหายเข้าป่าลึกไปอีก ส่วนช้างป่าแปลกปล่อยอีกพวกหนึ่งไม่มีหนีผู้คนไม่หนีหมู่บ้าน แต่กลับวนเวียนอยู่กับคน อยู่กับหมู่บ้าน

เช้ายามแสงเงินยวงส่องฟ้าในบางวัน ช้างบางตัวเพิ่งอิ่มจากการกินพืชผักของชาวบ้านเดินทางเข้าแอบในป่าย่อมๆ ท้ายหมู่บ้าน ครั้งหนึ่งชาวบ้านปากทางเข้าป่ายืนอยู่หน้าบ้านยามเช้าตรู่เพื่อรอตักบาตรพระ เช้าวันนั้นมีหมอกลงเล็กน้อยทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนเท่าที่ควรนัก ขณะรออยู่นั่นเอง ฝากด้านซ้ายมีเสียงรถใหญ่กำลังวิ่งมาบนถนนสายเอราวัณ-กาญจนบุรี ด้านขวาพระเณรสองสามรูปกำลังเดินบิณฑบาตโปรดญาติโยมศรัทธาสาธุชนมาตามทาง

ฝั่งตรงข้ามช้างใหญ่กำลังจะข้ามถนนเพื่อเข้าไปหลบในป่าท้ายหมู่บ้าน รถสิบล้อแล่นผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันสังเกตว่าข้างทางมีช้างกำลังข้ามถนน รถเลยไปแล้วช้างข้ามถนนทันที พระเณรเห็นช้างต่างร้อง เฮ้ย...แล้วก้าวถอยหลังกลับกันเพื่อตั้งหลัก คนรอกำลังจะใส่บาตรเห็นช้างเดินตรงรี่เข้ามาใกล้ จึงร้องเฮ้ย ด้วยเสียงอันใด สายตามองไปที่หน้าช้างเห็นว่ากำลังหลับตาแบบสะลึมสะลือเดินตรงรี่มาที่เขา เมื่อได้ยินเสียง เฮ้ย ช้างลืมตาขึ้นและเดินเร็วๆ ด้วยอาการตกใจ ตัวคนใส่บาตรเองก็ถอยหลังกรูดเข้าบ้าน ช้างเดินก้าวเท้ายาวกลับเข้าป่าอย่างรวดเร็ว ผลที่เห็นได้ชัดก็คือ พระไปทาง โยมไปทาง ช้างตกใจไปอีกทาง

สามสิบกว่าปีผ่านมานี้ ช้างยังคงเดินเผ่นพ่านอยู่ในหมู่บ้านทุกค่ำคืน กลยุทธป้องกันช้างกินพืชผักของชาวบ้านคือ การจุดพลุไล่ช้าง จุดไปไล่ไปจนปัจจุบันช้างปรับตัวให้เคยชินกับพลุไปได้แล้ว แรกๆ ช้างได้ยินเสียงพลุก็เดินหนีหลบไปอย่างง่ายๆ ตอนหลังๆ มานี่เห็นว่า ช้างยิ่งไม่ค่อยตกใจเสียงพลุ บางคราเมื่อได้ยินเสียงแล้วกลับหันกลับมามองคนยิงพลุแบบจ้องหน้านิ่ง ต้องค่อยๆ กดดันโดยยืนนิ่งแล้วตะโกนไล่ให้ได้ยิน นานเข้าเขารำคาญก็จะค่อยเดินออกจากไร่ไปทีละตัวสองตัว ต้องค่อยๆตามกดดันเดินตามไปจนกว่าจะพ้นจากหมู่บ้าน แต่เผลออีกไม่นานช้างก็กลับมาอีก

ส่วนผมจากบ้านท่ามะนาวมานาน ใกล้เกษียณคิดจะกลับไปปลูกต้นไม้ในที่พ่อแม่ให้ไว้ เจอช้างที่แอบมากินน้ำหลังบ้านอยู่บ้าง แต่ที่สำคัญ เจอรอยเท้าช้างเกือบทุกเช้าว่ามาเดินรอบบ้านยามค่ำคืนเกือบทุกคืน แรกๆ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ว่าไม่นานก็พบว่ามีปัญหาไม่น้อย เพราะต้นไม้ที่ปลูกไว้ เพาะไว้ถูกเหยียบบ้างหักบ้างที่ละต้นสองต้นไปเรื่อยๆ ไม่นานต้นไม้เกือบทุกต้นค่อยๆ หายไป บางต้นปลูกมาสองปีถูกเหยียบตาย บางต้นปีเดียวตาย บางต้นยังไม่ทันได้โตก็ตายเสียก่อน

พยายามคิดหาวิธีอยู่กับช้างป่าปล่อยเหล่านี้อย่างไรดี ปลูกต้นไม้อย่างไรไม่ให้มีปัญหากับช้างปล่อยเหล่านี้ คิดเรื่องเรื่องที่ดิน อยากทำเป็นร่องเป็นคูเพื่อมิให้เขาเดินได้สะดวกนัก เดินแบบขึ้นๆลงๆ ขุดกว้างสักเมตรเศษ ลึกสักเมตรเศษรอบไร่ คิดเอาว่า ถ้าช้างเดินข้ามอาจต้องระมัดระวังอาจพลาดพลั้งตกลงไปในหลุมขนาดนี้ดี แบบนี้ก็เป็นวิธีที่สร้างความลำบากให้ช้างได้เล็กน้อย

แต่ยังต้องประกอบด้วยวิธีอื่นๆ ต่อไป คิดเรื่องการปลูกพืชไร่พืชสวนผสมกันไปโดยให้เป็นกลุ่มกันไว้ เพื่อให้ช้างไม่เดินเหยียบโดยบังเอิญ ไม่หักโดยบังเอิญ แต่หากจะตั้งใจหักกินหักเล่นคงห้ามไม่ได้ เรียกว่าเป็นการลดความเสียหายได้ส่วนหนึ่ง เพราะเปิดทางเดินไว้ให้ช้างเดินได้อย่างสบาย หลบเอาไม้ต้นเล็กไว้กลางกลุ่ม ไม้ใหญ่เหนียวทนไว้ด้านนอกคุ้มครองไม้เล็ก เช่นปลูกมะขามไว้รอบนอก ปลูกผักหวานป่า ผักชนิดอื่นๆ ไว้รอบในมีทางเดินผ่านได้สะดวกโดยช้างไม่จำเป็นต้องแทรกเข้าไปเดินเหยียบต้นไม้เล็กที่กำลังจะเติบโต

คิดเรื่องการปลูกพืชไร่พืชสวนที่ไม่เป็นที่สนใจของช้างจนเกินไปนัก เช่นปลูกต้นมะขามเพราะช้างไม่ชอบยุ่งกับต้นมะขามเพราะทั้งเหนียวและอึดทน ปลูกต้นมะขามกินยอดโดยปลูกระยะห่างกันราวหนึ่งเมตรไว้รอบๆไร่ ตัดยอดให้สั้นขนาดแค่เอวไว้เสมอเพื่อให้ช้างเดินรอดเข้ามาภายในไม่สะดวกนัก เพราะต้นมะขามโตขนาดแขนมีความสั้นขนาดหนึ่งเมตรช้างไม่อาจจะเดินรอดเข้ามาได้ง่ายนัก เดินแล้วต้องเบียดอาจเจ็บพุงได้ ปลูกไม้กินยอดเป็นแนวยาวแบบมะขามสลับเรียงกันไป เช่นน้อยหน่าหนึ่งแถวเรียงตามแนวมะขาม ชะอมหนึ่งแถวเรียงตามแนวเดิม ขี้เหล็กอีกหนึ่งแถว มะรุมอีกหนึ่งแถว ต้นสักหนึ่งแถว ต้นยางนาหนึ่งแถว ต้นพยุงหนึ่งแถว ตัดสั้นกินยอดบ้าง ปล่อยยาวต้นสูงบ้าง อาจทำให้ช้างเบื่อที่จะเดินได้บ้าง

อีกอย่างหนึ่งช้างชอบลักกินน้ำหลังบ้าน ดั่งนั้นเราหาภาชนะใส่น้ำไว้ห่างๆ บ้านเพื่อดึงดูดใจเขาไม่ต้องเข้ามาใกล้ๆ บ้านก็สามารถลักกินน้ำได้อย่างสะดวก ไม่จำเป็นต้องข้ามแนวคูแนวต้นไม้เข้ามาใกล้ เป็นอันว่าเราลดแรงดึงดูดใจช้างให้เข้ามาในเขตพื้นที่ของเราน้อยลงไปเรื่อย สร้างความยุ่งยากลำบากในการเดินเข้ามาในเขตเรามากขึ้น อาจทำให้ปัญหาเรื่องช้างทำลายพืชพันธุ์ไม้ลดลงไม่มากก็น้อย

แต่มีผู้มีประสบการณ์เรื่องช้างในพื้นที่มายาวนานพูดหลังจากผมเสนอแนวคิดนี้ว่า “รู้จักช้างน้อยไป” เล่นเอาผมงง เพราะไม่ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับช้างมากนัก จึงพยายามคิดเอาชนะช้างด้วยวิธีเช่นนี้ แต่ก็เอาน่า คิดดีกว่าไม่ได้คิด คิดต่ออีกนิดก็ได้ว่า เมื่อเราทำแนวต้นไม้เตี้ยๆ อย่างเหนียวเช่นมะขามไว้แล้ว เราลองเอารวดหนาม หรือรวดขนาดใหญ่พอประมาณถักร้อยไปตามแนวไม้เหล่านั้นอีกชั้นหนึ่ง การที่ช้างจะเดินผ่านแนวมะขามนั้น ยังต้องผ่านแนวรวดนี้ด้วย

หากยังไม่พอ ต้องปลูกต้นไม้ใบใหญ่เลี้ยงมดแดงไว้เก็บไข่อีกชั้นหนึ่งก็ดีเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยช้างก็หวาดๆ มดแดงอยู่ไม่น้อย หากเป็นไปได้ก็เพิ่มเลี้ยงผึ้งประกอบไปด้วย ได้น้อยมากก็ว่ากันอีกที เพราะเท่าที่มีประสบการณ์ที่เห็นมา แถวเมืองกาญจนบุรีเลี้ยงผึ้งไปไม่ค่อยรอด เพราะอาหารผึ้งไม่พอกับผึ้งจำนวนมาก และศัตรูของผึ้งในธรรมชาติมีมาก เช่นจิ้งจกตุ๊กแกชอบกินผึ้ง แถมยังมีกิ้งก่าแจมเข้าไปอีก ต่างค่อยจ้องว่าจะมีผึ้งเผลอมาให้กินบ้างไหม นกกระติ้ว ทางเมืองกาญจน์เรียกนกอีติ้ว

ลองไปศึกษาจากดิกชั่นนารีพบว่า ชื่อของเขาตรงตัวกว่าของหมู่บ้านท่ามะนาว ฝรั่งเรียกนกชนิดนี้ว่า บีอีทเตอร์ แปลเป็นไทยได้ว่า นกกินผึ้ง นกชนิดนี้ชอบกินผึ้งเป็นพิเศษ จากการสังเกตนกชอบดักกินนกตอนขากลับจากไปหาเกษตรดอกไม้มาแล้ว เพราะว่า ผึ้งไปแบกอาหารมารัง น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นบินได้ช้ากว่าตอนขาไป อีกอย่างอาหารที่ผึ้งนำกลับรัง เป็นอาหารที่นกกินผึ้งแล้วได้ของแถมไปด้วยในตัว หรืออาจทำให้การกินผึ้งของนกชนิดนี้ได้รสชาติที่นัวกว่า อร่อยกว่ากินผึ้งอย่างเดียว ดังนั้นที่ไหนมีผึ้งมาสร้างรังรวมกันไว้เป็นจำนวนมากที่นกสังเกตได้อย่างชัดเจน ที่ตรงนั้นจะมีนกอีติ้วมาเกาะเรียงรายสอดส่ายสายตาไปมาโฉบไปโฉบมา ทุกครั้งคราที่บินจากคอนและกลับมาที่คอนที่ปากจะมีผึ้งติดมาทุกครั้ง เพราะความเร็ว และความเม่นยำในการจิกคาบผึ้งไม่ค่อยพลาด ถ้าพลาดบ้างก็มีจิกซ้ำเอาผึ้งไปเก่าคอนกินจนได้ ดั่งนั้นไม่นานผึ้งก็เหลือจำนวนลดลง และร้างรังไปในที่สุด แต่ถ้าจะให้ดีก็แค่พอมีผึ้งอยู่บ้างสักรังสองรัง ไม่เป็นที่สังเกตของนักเหล่านี้มากนัก

อีกอย่างผึ้งเหล่านี้กินดื่มเกสรดอกไม้ ซึ่งมีอยู่มากในฤดูฝน แต่พอถึงฤดูร้อน เมืองกาญจนบุรีร้อนจัดร้อนมากร้อนนานจนเกินกว่าพืชดอกจะทานทนได้ ต่างพากันร่วงโรยหายไป ฝนมาใหม่จึงค่อยขยายพันธุ์ขึ้นมาอีกครั้ง ผึ้งที่ท่ามะนาวจึงไม่ค่อยจะรอด ไม่อาจจะพากันขยายรังให้เจริญเติบโตไปได้เรื่อยเหมือนที่อื่น

อีกวิธีหนึ่งคือเลือกปลูกพืชที่ไม่เร้าใจช้าง หรือที่ช้างไม่ชอบกิน เช่นที่ผมได้เขียนถึงไว้แล้วข้างต้น มะขาม มะขามป้อม ขี้เหล็ก สะเดา มะรุม ผักหวานป่า มะขามเทศ มะม่วงหิมพานต์ ชนิดนี้ผมยังไม่มีประสบการณ์ แต่ได้นำมาปลูกไว้แล้วหลายต้นอยู่ เพื่อทดสอบดูว่าช้างจะชอบกินหรือไม่ อาจทราบในอีกสองสามปีต่อไป เพราะเพิ่งจะปลูกในปีนี้เอง กว่าจะโตรู้ผลว่าช้างชอบหรือไม่ต้องรออีกนาน

พูดเรื่องแนวทางการทำเกษตรกรรมร่วมกับการอยู่ร่วมกับช้างป่าปล่อย ช้างที่ไม่ชอบหาอาหารกินในป่า แต่กลับชอบกินอาหารในไร่ เพื่อเป็นแนวทางแห่งความหวังไว้ ซึ่งอาจไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และไม่ใช่แนวทางที่ชาวบ้านจะทำกัน เนื่องจากเป็นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่แตกต่างออกไปจากวิถีชีวิตเกษตรกรรมเชิงเดียวโดยทั่วไป


หมายเลขบันทึก: 662061เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2019 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2019 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท