ดูแลเด็กอารมณ์อ่อนไหว?


บันทึกครั้งก่อนทำความเข้าใจกับเด็กอารมณ์อ่อนไหว 

ครั้งนี้มาแบ่งปันวิธีการการดูแลเด็กอารมณ์อ่อนไหวกัน

1. ตั้งสติก่อนstart เสมอ

2. เข้าใจธรรมชาติของลูก (ซึ่งเล่ายาวไปแล้วในครั้งก่อน ใครยังไม่ได้อ่านคลิกอ่านก่อนได้จ้า

3. สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ต่างๆ ของตัวเอง ให้คำศัพท์เกี่ยวกับความรู้สึกอารมณ์ลูกได้เรียนรู้ เพื่อใช้พูดสื่อสารได้ จะได้ไม่อึดอัดคับข้องใจมากนัก (ในการสอนก็สอนอย่างเป็นธรรมชาติเนาะ ไม่ต้องถึงขนาดนั่งโต๊ะ ท่องศัพท์?)

4. สอนให้ลูกเห็น เข้าใจ ยอมรับ ว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าดี ร้ายเป็นธรรมชาติ เป็นธรรรมดา เรายังเป็นมนุษย์ไม่ใช่พระอรหันต์ และมนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย

5. สอนวิธีการดูแลอารมณ์ให้ลูกเรียนรู้ เช่น อาจใช้นิทานสอน มีมากมายในท้องตลาด ที่เวลาเกิดอารมณ์ไม่ปกติจะมีวิธีการอย่างไร เลือกสอนให้้เหมาะกับวัยและจริตลูกเรา

6. รับฟังอย่างลึกซึ้งและพูดสะท้อนความรู้สึกลูกออกไปอย่างจริงใจ เวลาที่ลูกมาเล่าระบายให้เราฟัง งดใช้ปากเวลาที่ต้องใช้หู ใช้หัวใจและหูรับรู้อย่างมีสติ งดตัดสิน งดพูดแทรก งดคำแนะนำ ฯลฯ(ใครยังไม่เข้าใจวิธีการฟังอย่างลึกซึ้ง ไปค้นต่อในกูเกิ้ลได้ค่ะ)

7. อ่อนโยนและเข้าใจ อย่าทำหน้่าเป็นอาวุธ (จริงๆ หากเราเข้าใจลูกจริง การแสดงออกจะสอดคล้องกับหัวใจ)

8. ให้เวลาลูกปรับตัว อย่ารีบผลักดันให้ลูกต้องเผชิญ หากลูกยังไม่พร้อม

9. บอกลูกล่วงหน้า เตรียมความพร้อมทางใจไว้ก่อน ให้ลูกได้ทำใจว่าเขาอาจได้เจอกับใคร อะไร อย่างไรในการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เช่น ไปโรงเรียนใหม่ ไปเจอกลุ่มผู้คนใหม่ๆ ข้อมูลตรงนี้ส่วนตัวจะระวังอย่างมาก เพราะหากพูดแบบโลกสวยเกินไป พอไปเจอจริงๆ ไม่ใช่อย่างที่คิดไว้ ก็พลาดเป็นแผลใจอีก

10. มีศรัทธาต่อลูกเสมอ เชื่อว่าเขาสามารถผ่านไปได้ในแต่ละเรื่องราว โดยมีเราเป็นที่พักใจและคอยให้กำลังใจ

11. เปิดโอกาสให้ลูกได้รับผิดชอบตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง เขาจะได้มีความภูมิใจ มั่นใจในตัวเอง

12.ชื่นชมและให้กำลังใจ (ศึกษาการสื่อสารเชิงบวกไว้นะคะ)

13. ขอโทษ คำนี้ ท่องจำไว้และพูดอย่างจริงใจ ให้เหตุผลได้ถ้าลูกพร้อมฟัง และเราพร้อมพูด คือ เด็กอารมณ์อ่อนไหว บางทีคำพูดของเราที่หวังดี แต่อาจขาดความเข้าใจเขา ก็อาจทำร้ายบาดใจลูกได้

14. อย่าบอกว่าเราเข้าใจ ถ้าไม่แน่ใจ ไม่พูด เช่นเราฟังเรื่องราวลูกแล้ว ก็ยังไม่เข้าใจว่าเขารู้สึกอะไร อาจถามได้ว่า "แล้วลูกรู้สึกอย่างไร" หรือถ้าไม่แน่ใจใช้การเดาใจถามได้ เช่น แม่คิดว่าลูกกำลังรู้สึกโกรธเพื่อนหรือเปล่าคะ ลูกอาจตอบว่าไม่ใช่ เขาแค่รู้สึกหงุดหงิด ยังไม่ถึงกับโกรธ ถ้่าเราฟันธงไปเลยว่า ลูกโกรธเพื่อนมากเลยเนาะ แล้วไม่ตรงใจ บางทีเด็กอ่อนไหว ก็จะพาลโกรธเราแทน ที่แม่ไม่เข้าใจความรู้สึกเขา มาด่วนสรุปตัดสินเขาอีก (รายละเอียดเล็กๆ ที่เคยโดนมาแล้ว?)

15.ให้ความรัก ความเข้าใจ ก่อนให้ความรู้เสมอ

16. ไม่สอนหรือดุ ลูกต่อหน้าคนอื่นๆ (ให้เกียรติลูก)

17.แสดงออกชัดๆ ว่าเขาคือคนที่เรารัก เป็นคนสำคัญ เช่น กอด หอม บอกรัก ชื่นชม

18.เวลาที่ลูกเกิดอารมณ์อ่อนไหว ในกรณีที่เราอยู่ด้วย อย่าทิ้งลูกไว้ลำพัง อาจอยู่ข้างๆ ให้เขาอุ่นใจ รู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ว่าเราอยู่ข้างเขาเสมอไม่ว่าเขาจะเจออะไร บางคนอาจคิดว่า ให้เวลาเขาได้อยู่กับตัวเองลำพัง เขาอาจจะดีขึ้น จากประสบการณ์พบว่า ควรอยู่ข้างๆ อย่างสงบเย็นจะดีกว่่ามากค่ะสำหรับเด็กอารมณ์อ่อนไหว

19. ให้เวลา ให้พื้นที่เขาได้ผ่อนคลาย ชาร์จพลังใจในแบบของเขาบ้าง เช่น ลูกกลับมาจากโรงเรียน เขาต้องไปเผชิญ ใช้พลังชีวิตมากมาย กับเด็กอารมณ์อ่อนไหว เขามักใช้พลังชีวิตในการใช้ชีวิตกับผู้คนมากกว่าปกติ กลับมาเขาก็อยากพักเงียบๆ เล่นเงียบๆ คนเดียวบ้าง ไม่ต้องรีบให้เขาต้องไปทำอะไร เล่นกับเพื่อนบ้าน ให้เวลาเขาได้พักชาร์จพลังก่อนนะ

20.หาโอกาสพาลูกๆ ของเราไปใกล้ชิดรับพลังจากธรรมชาติบ้างนะคะ มันช่วยได้นะ

21. โปรดระวัง คำพูด การกระทำของเรา เด็กอารมณ์อ่อนไหว มักไว และมโนเยอะ(ตีความไปไกลมาก)

22.สังเกต ว่าอะไรเป็นสิ่งเร้า หรือกระตุ้นลูกเรา เพื่อช่วยลดสิ่งกระตุ้นที่มากเกินไป

***ต้นแบบที่ดีมีค่ากว่่าคำสอนใดๆ

ปล.เหล่านี้เป็นการแบ่งปันจากการฟัง อ่านและทำมานะคะ คร่าวๆ อาจได้แค่แนวทาง ไม่ต้องยึด อ่านแล้วลองพิจารณาแล้วลองนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม เด็กอ่อนไหวแต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกันเนาะ และเด็กอารมณ์อ่อนไหว ก็สามารถเติบโตแข็งแรงได้ในแบบของเขาค่ะ แรกๆ เราอาจช่วยประคองเขา ในวันหนึ่งเขาจะประคองใจตัวเองและยังสามารถช่วยประคองใจผู้อื่นได้ดีด้วยนะคะ?

หมายเลขบันทึก: 661937เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2019 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2019 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท