7Q ที่นักเรียนควรมี


7Q ที่ทุกควรพึงมี

1.IQ (Intelligence Quotient) “ความฉลาดทางสติปัญญา”เป็นความสามารถในการคิด วิเคราะห์ การคำนวณ และการใช้เหตุผล ความสามารถด้านสติปัญญา การเรียนรู้ จดจำด้านวิชาการ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การแก้ปัญหาเชิงตรรกะ และการคิดวิเคราะห์ การทดสอบ IQ วัดได้ด้วยแบบทดสอบ คน IQ สูง มักเป็นผู้เรียนเก่ง ฉลาด ทำอาชีพที่เกี่ยวกับการใช้ความคิด ความจำ เช่น แพทย์ วิศวกร นักการเงิน เป็นต้น IQ มี องค์ประกอบหลายด้านทั้งพันธุกรรม การฝึกฝนตนเอง และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก ตลอดจนความรักและความเอาใจใส่จากพ่อแม่ คนปกติก็จะมี IQ กันอยู่ที่ประมาณ 90-110 อย่างไรก็ตามไอคิวมีผลต่อการประสบความสำเร็จในชีวิตเพียง 20% เท่านั้น

2.EQ (Emotional Quotient) “ความฉลาดทางอารมณ์”เป็นความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ตนเองและผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์และยับยั้งชั่งใจตนเองและแสดงออกอย่างเหมาะสม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรอคอย รู้จักกฎเกณฑ์ระเบียบวินัย มีจิตใจร่าเริงแจ่มใส และมองโลกในแง่ดี การเจริญพรหมวิหาร4(เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา)จะช่วยเสริม EQได้การรู้จักควบคุมตนเอง เข้าใจอารมณ์ มีวินัยบังคับใจตนเอง ไม่แสดงออกตามอารมณ์พาไป คน EQ สูง จะมีมนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับคนอื่นง่าย ทำงานเป็นทีมได้ สร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นและรักษาให้ยืดยาวได้ รู้จักเห็นอกเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งอารมณ์สำคัญที่ต้องควบคุมให้ได้คือความก้าวร้าว ความต้องการทางเพศ ความกลัว และการมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น ความสำคัญของ Q ตัวนี้คือคนที่มีอยู่สูงจะสามารถทำงานเป็นทีมได้ดี มีความคิดอยากจะทำในสิ่งดีๆ เข้าอกเข้าใจคนอื่นและมีความเห็นใจคนอื่นๆ รวมทั้งมีความอ่อนโยนอยู่ในตัวมากอีกด้วย เขาจะสามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเองให้เป็นในแนวทางที่อยู่ร่วมกับสังคมได้ดีนั่นเอง

3.MQ (Moral Quotient) “ความฉลาดทางศีลธรรม จริยธรรม”คือมีความประพฤติดี รู้จักผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีจริยธรรม เป็นแนวคิดที่มุ่งตอบคำถามว่าการที่เรามีคนที่ IQ ดี EQ สูง แต่ถ้ามีระดับจริยธรรมต่ำก็อาจใช้ความฉลาดไปในทางที่ไม่ถูกต้องก็เป็นได้ MQ จึงเน้นเรื่องการปลูกฝังความดีงาม ซึ่งตรงกับหลักศาสนาหลายศาสนาที่สอนให้คนเป็นคนดี การมีจริยธรรมและศีลธรรมส่วนตัว ส่งผลต่อการควบคุมตนเองให้มีระเบียบวินัย รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ซื่อสัตย์ กตัญญู มีความรู้ผิดถูกสำนึกชั่วดี อ่อนน้อมถ่อมตนและมีสัมมาคารวะ ซึ่ง MQ ไม่สามารถฝึกฝนหรือ ขัดเกลาได้ในเวลาสั้นๆ แต่เกิดจากการสั่งสมและปลูกฝังตั้งแต่เด็กและฝังลงใต้จิตสำนึก เมื่อถูกกระตุ้น(ตอนเป็นผู้ใหญ่) MQ จะแสดงออกมา แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่เคยถูกปลูกฝัง MQ มาก่อน เมื่อถูกกระตุ้นก็อาจไม่สามารถเป็นคนดีได้มากนัก

4.SQ (Social Quotient) “ความฉลาดในด้านการเข้าสังคม”ความฉลาดทางสังคมที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพราะมนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมสังคมด้วยกัน ไม่คิดว่าตนเองเหนือกว่าใคร ต้องมีใจเปิดกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อีกทั้งต้อง ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีความสามารถในการเข้าสังคม มีมนุษยสัมพันธ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีการวางตัวและบุคลิกภาพในการเข้าสังคม รวมถึงภาษากาย (body language) ขณะพูดกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม ตรงต่อเวลาและมีมารยาททางสังคมด้วย SQ อาจมีความใกล้เคียงกับ EQ แต่ต่างกัน เพราะ SQ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการวางตัวในสังคม มีการแต่งตัว การพูดจา ส่วน EQ เป็นเรื่องของอารมณ์และมนุษยสัมพันธ์ไม่มีเรื่องของการแต่งตัว เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทั้งสองตัวนี้ก็เกื้อหนุนกัน เพราะหากเป็นคนที่ EQ และ SQ สูง ก็จะได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่า

5.CQ(Creativity Quotient) “ความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์” มีความคิด จินตนาการหรือแนวคิดใหม่ๆในรูปแบบต่างๆ เช่น การ เล่น งานศิลปะ และการประดิษฐ์สิ่งของ นักวิจัยพบว่าการเล่นและทำกิจกรรมที่ส่งเสริมจินตนาการเช่น การเล่นศิลปะ การหยิบจับของใกล้ตัวมาเป็นของเล่น การเล่านิทาน เป็นต้น จะทำให้มี CQ ดี มีความสามารถในการสร้างสรรค์จินตนาการ รู้จักคิดฝัน (ทางบวก) เป็นที่มาของความคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative) จินตนาการ เป็นการพัฒนาสมองซีกขวา คนที่มีพลังในการจินตนาการจะเป็นผู้สามารถสร้างสรรค์งานใหม่ สิ่งใหม่ๆ คนที่มีพลังในการจิตนาการจะเป็นผู้กล้าลองผิด ลองถูก และพร้อมจะเผชิญปัญหา แต่ถ้าเป็นคนที่ใช้พลังด้านจินตนาการด้านลบ หรือในทางที่ผิด อาจกลายเป็นคนหุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว ขาดการไตร่ตรอง ต่อต้านสังคมและคนรอบข้าง ยึดติดอยู่ในโลกแห่งความฝัน

6.PQ(Play Quotient) “ความฉลาดในการเล่น”เกิดจากความเชื่อที่ว่าการเล่นพัฒนาความสามารถของเด็กได้หลายด้าน ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย ความเฉลียวฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์และสังคม PQ จึงเน้นให้พ่อแม่เล่นกับลูก ถึงกับมีคำพูดที่ว่าพ่อแม่ เป็นอุปกรณ์การเล่นที่ดีที่สุดของลูกเพื่อส่งเสริมให้ลูกมีทักษะในการเล่น รู้จักการวางแผน การเคลื่อนไหว การตัดสินใจ การทำงานเป็นหมู่คณะ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย (สร้างได้ตั้งแต่ยังเด็ก)

7.AQ(Adversity Quotient) “ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา” คือมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวในการเผชิญปัญหาได้ดี และพยายาม เอาชนะอุปสรรคความยากลำบากด้วยตัวเอง ไม่ย่อท้อง่ายๆ มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย ไม่ใช่เรื่องที่ต้องจำนน การมีน้ำอดน้ำทนในการเอาชนะอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิต, ความพยายามควบคุมสถานการณ์และแก้ไขสถานการณ์และกล้าเผชิญอุปสรรคด้วยตนเอง, มุมมองปัญหาที่ต้องแก้ไขว่ามีจุดจบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง, อดทนและทนต่อปัญหาต่างๆ ได้ มีงานวิจัยพบว่าคนที่มี AQ สูงหรือมีจิตใจชอบการต่อสู้ จะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย หากเจ็บป่วยก็จะฟื้นตัวเร็วกว่าผู้ที่ AQ ต่ำ ที่รู้สึกพ่ายแพ้ท้อแท้อยู่ตลอดเวลา หากเป็นมากอาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 661786เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2019 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2019 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท