[review] รีวิว The Killing of a Sacred Deer (2017) เจ็บแทนได้ไหม


[review] รีวิว The Killing of a Sacred Deer (2017) เจ็บแทนได้ไหม จัดได้ว่าเป็นสุดยอดหนังปรัชญา จิตวิทยาระทึกขวัญ ชวนสงสัย แม้จะยากต่อการตีความ แต่จะมีตอนจบที่ชวนฉงน แต่ก็ทำให้เราดูสนุกได้ไม่ยาก

กำกับโดย Yorgos Lanthimos เขียนบทโดย Lanthimos และ Efthymis Filippou นำแสดงโดย Colin Farrell, Nicole Kidman, Barry Keoghan ดัดแปลงจากบทละครเรื่อง Iphigenia in Aulis โดยยูริพิดีส หนังเปิดเรื่องด้วนการผ่าตัดหัวใจ จากนั้นก็ตัดเข้ามาที่ศัลยแพทย์ได้สนทนากับชายวัยรุ่นคนหนึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ เขาทั้งสองกินอาหารด้วยกัน หมอได้ให้นาฬิกากับชายคนนั้น

หมอมีครอบครัวที่อบอุ่น มีภรรยาแสนสวยมีลูก 2 คน คนโตคือผู้หญิง คนเล็กคือผู้ชาย แต่เขาก็ยังแบ่งความสัมพันธ์อันดีไปให้กับชายหนุ่ม ชายหนุ่มที่ครั้งหนึ่งพ่อของเขาเป็นคนไข้ของหมอแต่กลับเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการผ่าตัดหัวใจ ด้วยเหตุผลนี้นี่เองหมอจึงทำดีกับชายหนุ่มคนนั้นเป็นการชดใช้ ชายหนุ่มมีความต้องการที่จะพบหมอบ่อยมากขึ้น จนทำให้หมอรู้สึกว่าต้องตีตัวออกห่าง แต่หารู้ไม่ว่าการตีตัวออกห่างนั้นได้สร้างความโกรธแค้นให้กับชายหนุ่มเป็นอย่างมาก และหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับครอบครัวของหมอ โดยเกิดขึ้นกับลูกของเขาทั้งสองคน คืออาการอัมพาตอย่างไม่มีสาเหตุ เป็นอาการเจ็บป่วยที่ทางการแพทย์ก็ไม่อาจหาสาเหตุได้ ภายหลังหมอจึงรู้ว่าทั้งหมดนั้นเกิดจากชายหนุ่มที่โกรธแค้นเขา อันเนื่องมาจากการที่เขารักษาพ่อของชายหนุ่มจนทำให้เสียชีวิตนั่นเอง

ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่าที่ผมสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เพราะโปสเตอร์ ในภาพมีผู้ชายคนหนึ่งกำลังยืนมองเตียงพยาบาล 2 เตียง ส่วนนี้จะอยู่ในด้านล่างสุดของ poster มีพื้นที่ประมาณไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของโปสเตอร์เป็นพื้นที่ว่างจากเตียงสูงขึ้นไปแต่ไม่เห็นเพดาน เห็นแต่ผนังด้านข้างที่มีแถบสีดำคาดตามทางยาว แถบสีดำอยู่ด้านหลังของชายในธปสเตอร์ด้วย เพียงแค่นี้เราก็พอจะเดาโทนของเรื่องได้ว่า เป็นหนังมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้กำลังควบคุมหรือคุกคามผู้ชายในโปสเตอร์ ในขณะเดียวกันชายผู้นี้กำลังยืนมองเตียงพยาบาล 2 เตียง แสดงถึงความเจ็บป่วยความอ่อนแอและความไม่ปลอดภัย เรียกได้ว่าแค่โปสเตอร์หนังก็สื่อถึงสัญลักษณ์ไว้อย่างมากมายเลยทีเดียว

หนังค่อย ๆ แสดงความคุกคามทีละนิด บรรยากาศไว้วางใจไม่ได้ เคลือบแคลงใจ ชวนสงสัยตลอดเรื่อง โดยเฉพาะมาร์ตินตัวละครชายหนุ่มที่เข้ามาตีสนิทกับหมอสตีเวน เมอร์ฟี่ ในช่วงแรกเขาดูเป็นคนปกติ ทำอะไรแบบปกติ แม้จะไม่ได้แสดงความคุกคามมากแต่บรรยากศทั้งหมดส่งให้ตัวละครนี้น่ากลัวมากขึ้นไปทีละขั้น และยิ่งหนังเฉลยว่าเขาคือตัวการคุกความครอบครัวหมอสตีเวน มาร์ติน ชายหนุ่มก็กลายเป็นตัวละครที่อันตรายมาก ทั้งจากการกระทำ คำพูด เป็นแสดงถึงความไม่ปกติทางจิตรุนแรง หนังสร้างความงุนงงให้กับเราในตัวละครนี้มาก เพราะหนังไม่ได้ทำให้เราเห็นแน่ชัดว่ามาร์ตินทำอะไรกับครอบครัวนี้กันแน่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเขานั้นทำให้ครอบครัวนี้มีการปรับสมดุลภายในครอบครัว ทำให้ครอบครัวนี้ต้องเสียสละ ทำให้คนในครอบครัวนี้รู้จักการให้อภัย และทำให้คนในครอบครัวนี้ต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง

นอกจากหนังจะเล่นกับภัยร้ายที่คุกคามทางร้ายกายแล้ว ยังเล่นกับภับร้ายที่คุกคามทางจิตใจไปพร้อมกันด้วย ยิ่งท้าย ๆ ด้วยแล้ว โอ้โห เจ้ามาร์ตินนี้ขึ้นแท่นตัวอันตรายติดอันดับท๊อป 100 ในโลกภาพยนตร์ได้เลย

นอกจากบทแล้ว ดนตรีประกอบและมุมกล้องก็มีส่วนสำคัญที่ส่งให้หนังน่ากลัวขึ้นไปอีกขั้น ดนตรีประกอบในช่วงระทึกขวัญจะใข้เป็นเสียงกลอง เสียงคีย์บอร์ดเสียงสูงกระตุ้นประสาท แสดงถึงความไม่ไว้วางใจได้ดีมาก ไปจนสูงสุดของอารมณ์ด้วยการขับร้องประสานเสียงแบบโอเปร่า ส่วนมุมกล้องมุมสูง (bird eye view) แสดงถึงการถูกควบคุม มุมกล้องที่ซูมเข้า (zoom in) แสดงถึงการถูกคุกคาม

หนังสร้างความอึดอัดให้คนดูผ่านกับตัวละครหมอ สตีเวน เมอร์ฟี่ มาก ที่ในช่วงแรกไม่ตัดสินใจทำอะไรเลย ไม่หนักแน่นแม้จะอยู่ในฐานะหัวหน้าครอบครัว ออกไปทางไม่เอาไหนซะด้วย ผิดกับ แอนนา ตัวละครภรรยาของเขาที่ดูจะมีความหนักแน่นกว่า กล้าทำอะไรมากกว่า กล้าแลกกับหลาย ๆ อย่าง

แต่เมื่อถึงการตัดสินใจขั้นสุด แอนนากลับเป็นคนปล่อยให้สามีเป็นผู้ตัดสินใจ เธอแม้จะดูหนักแน่นและเฉียบขาด แสดงความเป็นผู้นำครอบครัวได้ไม่แพ้กับสามี แต่ในความแข็งแกร่งนั้นก็มีความอ่อนแอ และอ่อนโยน เธอพร้อมที่จะให้อภัย อาจเป็นการแสดงถึงการไถ่บาปให้กับสามีของเธอด้วยก็เป็นได้

เมื่อหนังดำเนินมาถึงจุดสูงสุดหมอ สตีเวน จากคนที่ดูไม่กล้าจะตัดสินใจทำอะไร กลับกลายเป็นว่าเขาได้ตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างที่เด็ดขาดมากเป็นการแสดงถึงสถานะของหัวหน้าครอบครัว อย่างเฉียบขาด เขาต้องแสดงความเสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ แม้การเสียสละส่วนน้อยนั้นจะเป็นการสละอันแสนเจ็บปวดมากที่สุดก็ตาม และที่สำคัญการเสียสละส่วนน้อยของเขานั้น ยังเป็นการแสดงถึงการไถ่บาปอันยิ่งใหญ่ บาปที่เขาได้ทำกับครอบครัวครอบครัวหนึ่ง อาจจะดูเหมือนเป็นการย้อนแย้ง แต่นั่นก็เป็นการแสดงให้เห็นถึง ความปกติของสามัญมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิด การแสดงความเป็นผู้นำ การตัดสินใจรวมถึงการแสดงความรู้สึกผิดบาป และการไถ่บาป

นอกจากนี้ยังมีหลายจุดที่ทำให้รำคาญใจ ทั้งนี้เกิดจากความตั้งของคนเขียนบทและผู้กำกับที่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น อาจจะต้องการสื่อว่าทุกการตัดสินใจของคนเรานั้นไม่มีสิ่งใดที่มันง่ายดาย ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีเหตุผล ต้องใช้ความคิดอย่างรอบคอบ มีการทบทวนบ่อยครั้งในการตัดสินใจเสมอ และบางคนอาจมีการตัดสินใจใหม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา บางคนอาจตัดสินใจไม่ได้ หรือกว่าจะตัดสินใจได้ก็ทำให้เหตุการณ์เลวร้ายจนไม่อาจแก้ไขได้ด้วยซ้ำ

ในหนังมีความน่าสงสัยมากตรงที่มาร์ตินทำอย่างไรกับคนในครอบครัวหมอจนไม่สามารถเดินได้ และไม่มีคำอธิบายทางการแพทย์ด้วย เพราะไม่ว่าจะตรวจอย่างไรก็ไม่อาจหาสาเหตุเจอ ยิ่งดูก็ยิ่งอยากรู้ว่าเขาทำยังไง อาจจะตีความในแง่การเป็นสัญลักษณ์ว่า การที่คนในครอบครัวเป็นอัมพาตไม่สามารถเดินได้นั้นอาจจะเป็นจากการไม่กล้าตัดสินใจของผู้นำครอบครัว ทำให้คนในครบครัวทำอะไรต่อไม่ได้ ก็เปรียบเสมือนกับคนที่ไม่สามารถเดินไปไหนต่อได้นั่นเอง การตัดสินใจของคนเพียงคนเดียว อาจจะส่งผลกระทบต่ออีกหลาย ๆ ตัดสินใจดีอีกหลายคนก็รอดไป ตัดสินใจพลาดอีกหลายคนก็ตายไป เหมือนที่หนังเปรียบเทียบให้เห็นว่าการยิงปืนนัดเดียวอาจทำให้หลายคนต้องตาย แต่หากดูแบบไม่ตีความ หนังยิ่งดูยิ่งสร้างความสงสัย ยิ่งอึดอัด ยิ่งอยากรู้ว่าตอนจบจะเป็นยังไง

หนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์หลายระดับ คือความสัมพันธ์แบบครอบครัว หมอ ภรรยาและลูกทั้งสอง ความสัมพันธ์แบบสามีภรรยา หมอกับภรรยา ความสัมพันธ์ในแบบที่อธิบายไม่ได้ หมอกับมาร์ติน จะเห็นได้ว่าหนัง ได้แสดงความสัมพันธ์ทั้งหมดนั้นไม่ได้มีเพียงด้านเดียว ทุกความสัมพันธ์ มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ทุกรูปแบบของความสัมพันธ์ย่อมมีการยอมรับ การปรับตัว การปรับความสัมพันธ์ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับมาร์ตินนั้น หนังไม่ได้อธิบายอะไรกับเราเลยว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์กันแบบไหน ซึ่งในโลกปัจจุบันความสัมพันธ์แบบนี้มีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเกิดกับคนรักหรือคนที่เราไม่รักก็ตาม

อีกจุดหนึ่งที่ไม่อาจพูดข้ามไปได้เลยคือ ฉากเปลือย ในเรื่องนี้จะเห็นตัวเอก 3 คนในเรื่องอยู่ในสภาพเกือบเปลือยไปจนถึงเปลือย หมอสตีเวนอยู่ในสภาพเปลือย แอนนาอยู่ในสภาพเกือบเปลือย ส่วน คิม ลูกสาวคนโต อยู่ในสภาพกึ่งเปลือย การเปลือยนั้นอาจแสดงถึงสัญลักษณ์หลายระดับอย่างแรกที่สุดคือสัญลักษณ์เรื่อง sex แอนนาและคิม อยู่ในสภาพพร้อมจะมีเซ็กส์ แต่ทั้งสองกับเลือกที่จะนอนกลับหัวไว้ปลายเตียง ทั้งสองคนนอนรอให้ฝ่ายชายก็ทำแต่ฝ่ายชายกับไม่กระทำ อาจแสดงว่าเป็นเซ็กที่ไม่เป็นไปตามปกติ ส่วนการเปลือยทั้งหมดของหมอ สตีเวน อาจหมายถึงการปลดปล่อยหรือการยอมรับบางอย่างอย่างไม่มีเงื่อนไข ในฉากเปลือยนี้ขอชมนิโคล คิดแมนว่า แม้เธอจะอายุปาไปห้าสิบกว่าแล้ว แต่หุ่นเธอยังสวยเฉียบอยู่เลย

และเมื่อหนังเดินทางมาถึงตอนจ บบอกได้เลยว่าถึงกับอึ้งจนตาค้าง และคำถามมากมายค้างไปในหัวสามวัน ผู้กำกับใช้ความสุดโต่งของเขาที่เลือกจะไม่อธิบายอะไรเลย ทิ้งทุกอย่างเอาไว้ให้คนดูได้ตีความเอาเอง ราวกับเป็นโจทย์ไปเปิดปลายเอาไว้ให้ทุกคนเข้ามาตอบ โดยที่คำตอบนั้นไม่มีถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด และหรืออาจจะมีเพียงคำตอบเดียวหรือหลายคำตอบด้วยก็ได้

สมควรได้ที่ The Killing of a Sacred Deer เจ็บแทนได้ไหมได้รับรางวัลสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานในปี 2017

และสุดท้ายนี้ชื่อภาษาไทยเจ็บแทนได้ไหม เห็นแล้วทำให้อดถึงเกิร์ลกรุ๊ปยุค 90 ของไทย T-Skirt ทีสเกิร์ตไม่ได้เลยจริง ๆ

9/10

วาทินศานติ์สันติ

Movie Station สถานีหนัง

#หนังระทึกขวัญ #หนังจิตวิทยา #หนังปรัชญา

หมายเลขบันทึก: 661058เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2019 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2019 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท